จดหมายติดต่อหน่วยงาน
โดย : เครือข่ายแก้ไขปัญหาพิษสารตะกั่วต่อสุขภาพและสภาพแวดล้อม บริเวณแม่น้ำแม่กลองตอนบน


วันที่ 14 สิงหาคม 2544 เรื่อง : ขอความกรุณาแก้ไขปัญหาพิษสารตะกั่วต่อสุขภาพและสภาพแวดล้อมบริเวณห้วยคลิตี้ จังหวัดกาญจนบุรี


ที่ 0163/2544
เครือข่ายแก้ไขปัญหาพิษสารตะกั่วต่อสุขภาพและสภาพแวดล้อม
บริเวณแม่น้ำแม่กลองตอนบน
211/2 ซ.งามวงศ์วาน 31 อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000





14 สิงหาคม 2544


เรื่อง ขอความกรุณาแก้ไขปัญหาพิษสารตะกั่วต่อสุขภาพและสภาพแวดล้อมบริเวณห้วยคลิตี้ จังหวัดกาญจนบุรี

เรียน ประธานคณะกรรมาธิการการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สภาผู้แทนราษฎร

........... จากการที่โรงแต่งแร่คลิตี้ ของบริษัทตะกั่วคอนเซ็นเตรทส์ (ประเทศไทย) จำกัด ปล่อยน้ำเสียปนเปื้อนสารตะกั่วและสารเคมีแต่งแร่ลงสู่ลำห้วยคลิตี้เป็นเวลากว่า 20 ปี จนเป็นข่าวตามหน้าหนังสือพิมพ์และโทรทัศน์มาตั้งแต่ เดือนเมษายน 2541 จนปัจจุบันนั้น การดำเนินการแก้ไขปัญหาเป็นไปอย่างเชื่องช้ายิ่ง แม้การดำเนินการของหน่วยงานรัฐจะผ่านมาแล้วกว่า 3 ปี แต่ปัญหาต่างๆยังคงไม่ได้รับการแก้ไขเท่าที่ควร อาทิ ตะกอนตะกั่วในลำห้วยคลิตี้ กว่าหนึ่งหมื่นห้าพันตันยังไม่ได้นำออกเพื่อฝังกลบอย่างถูกต้องกิจการทำเหมืองแร่ตะกั่วโดยรอบเขตทุ่งใหญ่นเรศวรยังมีการเปิดดำเนินกิจการอยู่ ชาวบ้านหมู่บ้านคลิตี้ล่างและหมู่บ้านข้างเคียงยังเจ็บป่วย ผิดปกติ และตะกั่วในเลือดสูง
........... เครือข่ายแก้ไขปัญหาพิษสารตะกั่วต่อสุขภาพและสภาพแวดล้อม บริเวณแม่น้ำแม่กลองตอนบน ซึ่งประกอบด้วยภาครัฐบาล องค์กรพัฒนาเอกชนด้านสิ่งแวดล้อม องค์กรพัฒนาเอกชนด้านสาธารณสุข และองค์กรท้องถิ่น เห็นว่าปัญหาบริเวณลำห้วยคลิตี้เป็นปัญหาที่สำคัญยิ่ง ควรจะได้รับการแก้ไขอย่างจริงจังและรวดเร็ว จึงใคร่ขอเสนอความเห็นเพื่อพิจารณาในการเร่งรัดการดำเนินการต่อไปดังนี้

........... ข้อเสนอต่อกรมทรัพยากรธรณี
........... 1. ต้องยกเลิกประทานบัตรกิจการเหมืองแร่ทุกแห่งโดยรอบเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่ นเรศวร
........... 2. ต้องยกเลิกใบอนุญาตแต่งแร่ของโรงแต่งแร่ทุกแห่งโดยรอบเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร
........... 3. ต้องแก้ไขบริเวณที่เป็นหรือเคยเป็นเหมืองแร่ โรงแต่งแร่ ให้ปลอดมลพิษ

........... ข้อเสนอต่อกรมควบคุมมลพิษ
........... 1. ในพื้นที่ที่เคยเป็นเหมืองแร่หรือโรงแต่งแร่ กรมควบคุมมลพิษต้องเข้าไปตรวจสอบและฟื้นฟูสภาพแวดล้อม ให้ปลอดมลพิษ
........... 2. ในกรณีพื้นที่ที่เคยเป็นโรงแต่งแร่คลิตี้ และบริเวณลำห้วยคลิตี้ กรมควบคุมมลพิษต้องเข้าควบคุมพื้นที่ ประกาศเป็นเขตอันตราย และเร่งฟื้นฟูสภาพแวดล้อม
........... 3. สารตะกั่วที่ปนเปื้อนตลอดลำน้ำคลิตี้ราว 20 กิโลเมตร ต้องนำออกให้ได้มากที่สุด โดยใช้เครืองจักรดูดออกเช่นเดียวกับตะกอนปากแม่น้ำ การฝังกลบต้องได้มาตรฐาน คือ มีการปรับเสถียร ปูพื้นและห่อด้วยพลาสติก ฯ พื้นที่ฝังกลบต้องเป็นพื้นที่ในกรรมสิทธิ์ของบริษัทผู้ก่อมลพิษ ไม่ใช่ใช้พื้นที่ป่าในการฝังกลบ

........... ข้อเสนอต่อกรมป่าไม้
........... 1. ต้องตรวจสอบและดำเนินคดีต่อกิจการเหมืองแร่ที่กระทำผิดกฏหมายป่าไม้ เช่น กรมป่าไม้ไม่อนุญาตให้ใช้พื้นที่ป่าในกิจการเหมืองแร่แล้ว แต่ยังบุกรุกพื้นที่ป่า ขุดดินทำให้เสียสภาพ ฯ
........... 2. เข้าไปควบคุมพื้นที่ป่า เพื่อป้องกันการบุกรุกเพิ่ม เร่งทำการฟื้นฟูสภาพ เพื่อให้กลับสู่สภาพป่าดังเดิม
........... 3. ไม่อนุญาตใช้พื้นที่ป่าในกิจการเหมืองแร่เพิ่มเติม

........... ข้อเสนอต่อกรมอนามัยและกรมการแพทย์
........... 1. ต้องรักษาชาวบ้านที่มีอาการผิดปกติทุกคนอย่างเร่งด่วน ไม่ว่าอาการจะเกิดจากพิษสารตะกั่วหรือไม่
........... 2. ต้องลดระดับตะกั่วในเลือดของชาวบ้านทุกคน
........... 3. การรักษาชาวบ้านต้องรักษาแบบองค์รวม คือรักษาทั้งชุมชน ไม่ใช่เพียงรักษาเฉพาะราย
........... 4. ต้องส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่เพื่อศึกษาวิจัยหาข้อมูลการเจ็บป่วยของชาวบ้านอย่างละเอียด
........... 5. ต้องแจ้งผลการตรวจระดับตะกั่วในเลือดแก่ชาวบ้าน ซึ่งตรวจมากว่าหนึ่งปีแล้ว รวมทั้งให้ยาลดสารตะกั่วในเลือด ตามคำร้องขอของชาวบ้าน

จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณาดำเนินการต่อไป
ขอแสดงความนับถือ

(นายสุรพงษ์ กองจันทึก)
ผู้ประสานงานเครือข่าย







เครือข่ายแก้ไขปัญหาพิษสารตะกั่วต่อสุขภาพและสภาพแวดล้อม บริเวณแม่น้ำแม่กลองตอนบน

1. โครงการประชาสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
2. มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค
3. มูลนิธิสุขภาพไทย
4. มูลนิธิสืบนาคะเสถียร
5. มูลนิธิคุ้มครองสัตว์ป่าและพรรณพืชแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์
6. มูลนิธิโลกสีเขียว
7. มูลนิธิฟื้นฟูชีวิตและธรรมชาติ
8. ศูนย์ศึกษากะเหรี่ยงและพัฒนา
9. กลุ่มอนุรักษ์กาญจน์
10. กลุ่มศึกษาและรณรงค์มลภาวะอุตสาหกรรม
11. กลุ่มอนุรักษ์วังศาลา กาญจนบุรี
12. ชมรมรักษ์กาญจน์ สถาบันราชภัฏกาญจนบุรี
13. เครือข่ายชาวไทยเชื้อสายกะเหรี่ยงภาคตะวันตก
ประสานงาน : นางสาวพจศนา บุญทอง โทรศัพท์ / โทรสาร 9525060-2

© 2000-2001 by Karen Studies and Development Centre. Report technical problems to [email protected]. This document was build on: 22/06/2001 . Best view in IE4x or higher,800x600 pix.Font Medium.
Hosted by www.Geocities.ws

1