งานหลง งานวัดคืนสุดท้ายที่บ้านมะพร้าว ชายผืนป่าตะวันตกกาญจนบุรี


       ทำไมต้องหลง หลงอะไร งานบุญภูมิปัญญาของ ชาวกะเหรี่ยง ที่เข้ามาอาศัยอยู่ที่บ้านมะพร้าว อ.ศรีสวัสดิ์ จ.กาญจนบุรี สืบตำนาน การทำบุญย้อนยุคของงานวัดเมื่อ 30 ปี การสร้างความสามัคคี ให้คนในชุมชนแสดง พลังด้วยค่าย กลไม้ไผ่จำนวน 7 ชั้นเรียงร้อยเป็นทางเดินให้สลับซับซ้อนบนพื้นที่ เกือบสองไร่ในเขตวัด เพื่อจำลองอุบาย ในการประพฤติกรรมดี ของผู้ทำบุญ ให้ตั้งมั่นว่าจะนำดอกไม้ เข้าไปถวายพระ โดยกำหนด สมาธิในการเดินเข้า ไปยังดงประตูกลเขาวงกตไม้ไผ่ขัดสาน หากบุคคลใดมีความดี มีสมาธิ จะสามารถเดินไปยังจุดหมายได้ง่าย ไม่ติดขัด ประมาณว่า การทำงานหรือคิดสิ่งประสงค์จะสะดวกราบรื่น แต่หากบุคคลนั้นเกิดเดินหลง วนอยู่กับค่ายกลไม่สามารถหาทางออกไปได้ ก็ประหนึ่งว่า เป็นผู้ที่ยังมีจิตใจหมกหมุ่น ทำการงานสะดุด จึงควรหมั่น สร้างคุณงามความดีให้จงหนัก นั่นเป็นอุบายที่ให้คนเข้าวัด หวนระลึกถึงพุทธประวัติ สมัยพระเวสสันดร ครั้งเมื่อพระนางมัทรีย์ต้องใช้ความอุตสาหะ และสมาธิแน่วแน่ในการฝ่าบ่วงกรรมเขาวงกต เพื่อทำทานบารมีในการต้องสูญเสียกัญหาและชาลี เมื่อครั้งชูชก เดินทางมาขอทานบุตรและธิดาดังกล่าว ชายป่าตะวันตกที่บ้านมะพร้าว เป็นชุมชนของกะเหรี่ยงที่อพยพเข้ามาอาศัยในประเทศไทย ซ่อนตัวกลางป่า ในอุทยานแห่งชาติ ห้วยแม่ขมิ้น เรื่องราวของชาวบ้านดูจะเนิ่นนานและล่าช้า กว่าสังคมเมืองทุกวันนี้

       คืนนี้เป็นคำคืนที่เสียงกลองโบราณ จากฝีมือนักหวดต่างถิ่นมือฉมังดังลั่น เร่งฝีเท้าให้ชาวบ้านมาร่วมงานบุญ เสียงผู้ประกาศชาวกะเหรี่ยง เชิญชวนผู้คนเข้างานผ่านเครื่องขยายเสียงในภาษาท้องถิ่น กลับจุดความสงสัยแกมประหลาดใจ แก่แขกแปลกหน้าต่างเมืองว่า มีงานอะไรกันในป่าแห่งนี้หนอ ค่ำคืนนี้มีละครพม่า หรือกะเหรี่ยง ดั้นด้นเดินทางมาจากบ้านท่าใหม่ อำเภอสังขละ พระเอกหนุ่มรูปหล่อเสียงดี พร้อมพรรคพวกจากคณะ ชูคอยหล่าอีก 18 ชีวิตมาชูโรงของงานวันหลงให้คึกคัก ชาลีอ๋อ เล่าให้ฟังว่า ละครนี้จะเล่นเฉพาะชายแดนไทย พม่า กาญจนบุรี ราชบุรี และตาก เท่านั้น "เราเล่นเป็นเรื่องสั้นๆ เน้นสนุกๆ หรือชีวิตที่ตลกๆ ดัดแปลงจากละครในทีวี เริ่มเล่นตอน 4 ทุ่มจนสว่าง คืนหนึ่งก็ 5 เรื่องเป็นอย่างต่ำ จะมีไหว้ครู รำถวายเจ้าที่ แล้วจึงเริ่มท้องเรื่อง" ความสนุกสนานก็จะเป็นเรื่องของการร้องเพลง ซึ่งเป็นเพลงของชาวกะเหรี่ยงที่หาฟังยาก ส่วนการรำจะเหมือนกับรำพม่า มีจังหวะรวดเร็ว ไม่เหมือนของไทย แต่คล้ายมอญมากกว่า

       ก่อนเล่นก็ต้องแต่งหน้าทาแก้ม ให้สวยงาม มีเครื่องประดับแต่ไม่แพง พอให้ดูสดใส "ตอนนี้ลำบากเหมือนกัน คนดูน้อย ค่าจ้าง 5,000 บาทต่อหนึ่งคืน ฉากก็ธรรมดา เครื่องดนตรีก็เก่าใช้กันมาเป็นสิบปี

       เด็กรุ่นใหม่ๆ ก็ไม่นิยมมาฝึก เพราะไปหัดร้องเพลงคาราโอเกะสนุกกว่ากัน ก็เลยต้องเอาลูกหลานมาหัด เนื่องจากความนิยมมันเฉพาะ ต้องทำใจ และต้องฟังภาษากะเหรี่ยงได้ถึงจะสนุก" ชาลีอ๋อเล่าให้ฟัง สินใจ เด็กสาวชาวกะเหรี่ยง วัย 17 สะท้อนความเป็นมาของงานนี้ว่า เป็นงานวัดที่คนจัดต้องรวมความตั้งใจสูงเป็นพิเศษ "บ้านมะพร้าวเพิ่งจัดได้สองครั้งเท่านั้นเอง ความตั้งใจก็อยากจะจัดให้ถึงสามครั้งแล้วค่อยเลิกหรือหยุดไปสักระยะ แล้วรอให้มีโอกาสความพร้อมของชาวบ้านยิ่งขึ้น มีกิน มีงาน มีเงินพอ ที่จะสร้างงานบุญให้ยิ่งใหญ่ ปีที่ผ่านมาเราก็นำงานหลงให้ชาวบ้านช่วยสานไม้ไผ่เป็นทางเดิน วนไปวนมา เราทำได้ สามชั้นก็หมดงบประมาณ

       ชาวบ้านเข้าร่วมและสนใจกับการเดินหลงอย่างมาก" "มาปีนี้ก็ตั้งใจนำคนมาสานไม้ไผ่กันล่วงหน้ากันสามเดือน ตัดไผ่ไปเป็นร้อยๆ ลำ ใช้พื้นที่กว่าไร่ด้านท้ายวัด สร้างทางเดิน กะว่าจะต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 30 นาที แต่ถ้าคนไม่เคยเดิน สองชั่วโมงก็หาทางออกไม่ได้ ยิ่งมืดๆ แล้วก็ต้องเรียก ให้กรรมการวัด มาช่วยนำทาง มันสนุกอีกแบบ เรื่องนำดอกไม้ไปไหว้พระเป็นบุญที่คนมาวัดก็ต้องมาทำบุญ" เธอเล่าต่อว่า ร้านค้าที่มาร่วมงานก็ต้องหาไฟฟ้ากันเอง ปัญหาของที่นี้ก็เรื่องไฟ จุดเทียน จุดตะเกียง หรือร้านไหนมีรถมา ก็ต้องสตาร์ทรถเพื่อชาร์ตไฟกันเอาเอง "มีปาเป้า สอยดาว ตักลูกบอล และออกร้านขายของทั่วไป แต่ที่นี้จะเป็นของถูกๆ ไม่แพง พ่อค้าก็เร่ขายของตามงานวัดแถวชายแดน" สินใจบอก ก่อนจะขอตัวกลับไปยังเขาวงกตไม้ไผ่สาน

© 2000-2001 by Karen Studies and Development Centre. Report technical problems to [email protected] . This document was build on: 22/06/2001 . Best view in IE4xor higher,800x600 pix.Font Medium.
Hosted by www.Geocities.ws