กะเหรี่ยงคือใครมาจากไหน
ตำนานการเกิดของกะเหรี่ยง กะเหรี่ยงก่อนรัตนโกสินทร์
การอพยพครั้งใหญ่สู่ไทย กะเหรี่ยงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์
กะเหรี่ยง-กรมป่าไม้ใครบุกรุกใคร
กะเหรี่ยงทำลายป่าจริงหรือ?
กะเหรี่ยงทำลายป่าจริงหรือ?
เชิงอรรถ
" กะเหรี่ยง " ความสัมพันธ์อันยาวนานกับไทย


การอพยพครั้งใหญ่สู่ประเทศไทย

        การอพยพเพื่อหนีภัยจากพม่าครั้งนี้เป็นการอพยพครั้งใหญ่ที่สุดและกระเทือนจิตใจชาวกะเหรี่ยงมากที่สุด มีนิทาน ตำนาน และเพลงบอกเล่าถึงการอพยพครั้งนี้มากมาย

       เล่ากันว่า วันหนึ่งกะเหรี่ยงไปเที่ยวป่าพบปลากั้งซึ่งถือว่าเป็นบรรพบุรุษทางมารดาของพม่า อยู่ในแอ่งน้ำในลำห้วยก็คิดแกล้ง เอามีดแทงตาปลากั้งบอดทั้งสองข้าง พวกพม่ารู้เข้าก็โกรธมาก จึงไล่ฆ่าฟันพวกกะเหรี่ยงและกะหร่างแตกกระสานซ่านเซ็นหลบหนีเข้ามาอยู่ในเมืองไทย บางส่วนหนีไปอยู่กับพวกมอญเมืองทวายที่บ้านกุสะร่อง(15) ถูกพม่าขับไล่ก็อพยพมาสู่เมืองไทย บ้างเล่าว่าเดิมอยู่ในประเทศพม่าที่เยิงประซิ่ง ต่อมาย้ายไปที่ภูเขากะปูตุ้ง เมืองทวาย เมื่อถูกพม่ารบกวนจึงอพยพเข้ามาในเขตประเทศไทย(16)

       การอพยพครั้งนี้มีเพลงผูกเป็นคำกลอนร้องให้เด็ก ๆ ฟังว่า "เย่อโอค้องทะเว เยอเฌ้ทองคู้หล่งพะดู๊ เยออองเฆ่โอ้ซ่ายค้อง" พอแปลได้ว่า "เรานี้อยู่เมืองทวาย เราข้ามภูเขาใหญ่มาอยู่เมืองไทย" (17)

       มีเพลงเล่าถึงการอพยพอย่างเศร้าสร้อย ร้องกันอย่างกว้างขวางทั้งกะเหรี่ยงในอำเภอบ้านไร่ จังหวัดอุทัยธานี อำเภอด่านช้าง จังหวัดสุพรรณบุรี และอำเภอศรีสวัสดิ์ จังหวัดกาญจนบุรีว่า "กาลาเล้อหยู่พู้ป่งก้อง ทัยฆะโอ๊ไส์ค้องลองนอง เม่ยเกมิ้งนาหมิที่ลอง นองทองถ่ายกล่งค้วยเก่อบ่ง" พอแปลได้ว่า "สมัยก่อนนั้นถูกมอญรุกราน อพยพมาอยู่เมืองไทยพวกหนึ่ง นอนตอนกลางคืนน้ำตาร่วง นึกถึงอดีตที่เจดีย์ขวยเก่อบง"(18)

       ตำนานเล่าว่ามีหม่องกาย หม่องโช และพู้เซิงละเป็นหัวหน้าในการอพยพเข้ามาอยู่เมืองไทย ฝ่ายพระเจ้าแผ่นดินไทยได้ทราบว่าพม่าไล่กะเหรี่ยงหนีมา จึงส่งทหารไทยไปรับ ทหารไทยไปรับก็พบกับพวกกะเหรี่ยง หัวหน้าทหารไทยจะขอผู้หญิงกะเหรี่ยงมาเป็นเมียคืนละคน พวกกะเหรี่ยงทราบก็ไม่พอใจแต่ไม่รู้จะทำอย่างไรที่จะไม่ต้องให้ผู้หญิงกะเหรี่ยงไปเป็นเมียทหารไทย พู้เซิงละจึงคิดแก้ไข โดยเอา "ลองคุเดิ่ง"(19) (มีลักษณะเป็นวงแหวนทองเหลือง เป็นของศักดิ์สิทธิ์ประจำเผ่า) ออกมาแช่น้ำ บันดาลให้เกิดลมฝนพายุใหญ่

       เมื่อเกิดการผิดปกติเช่นนี้หัวหน้าทหารไทยจึงถามว่า การที่จะขอผู้หญิงกะเหรี่ยงมานอนด้วยนั้นผิดประเพณีอะไรหรือไม่ พู้เซิงละตอบว่าผิดประเพณีมาก หัวหน้าทหารไทยก็เข้าใจ ผู้หญิงกะเหรี่ยงจึงไม่ต้องมาเป็นเมียหัวหน้าทหารไทย

       หลังจากนั้นพวกกะเหรี่ยงได้พยายามติดต่อกับพระเจ้าแผ่นดินเพื่อจะขออยู่ในเมืองไทย พระเจ้าแผ่นดินไทยก็ปรึกษากับพวกขุนนาง พวกขุนนางให้ความเห็นว่าไม่ควรรับไว้เพราะเป็นพวกที่มาจากเมืองนอกต่างเผ่าต่างภาษา แต่พระเจ้าแผ่นดินไทยทรงเห็นใจตรัสว่า "ยามเมื่อเขาชะตาตกเราควรช่วยเหลือเขา เมื่อเราชะตาตกเขาคงจะช่วยเหลือเราได้" จึงตกลงรับพวกกะเหรี่ยงให้อยู่ในเมืองไทย โดยให้อยู่ที่ลำห้วยตะเพินคี่ จังหวัดสุพรรณบุรี ลำห้วยคอกควาย จังหวัดอุทัยธานี แม่น้ำแควใหญ่ (โลโหว่) อำเภอสังขละบุรี อำเภอศรีสวัสดิ์ จังหวัดกาญจนบุรี จังหวัดราชบุรี จังหวัดเพชรบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และที่อยุธยา(20)

       บ้างเล่ากันว่าเมื่ออพยพหนีมาอยู่เมืองไทยนั้น พบคนไทยกลุ่มหนึ่งมีอาชีพตัดไม้ไผ่ ไม้ท่อน พูดคุยกันไม่ค่อยรู้เรื่อง เพราะกะเหรี่ยงพูดไทยไม่ได้ สื่อสารกันได้ความว่า กะเหรี่ยงอดข้าวกันมาก บางคนตายระหว่างทาง คนไทยจึงต้มข้าวต้มให้กินเพราะย่อยง่าย แล้วพากะเหรี่ยงบางคนไปเฝ้าพระเจ้าแผ่นดิน (21)

       เมื่อได้เข้าเฝ้าแล้ว พระเจ้าแผ่นดินไต่ถามว่าเป็นใครมาจากไหน แต่งตัวแบบนี้ไม่เคยเห็นเลย ตัวแทนกะเหรี่ยงก็บอกว่าพวกเราไม่ใช่ไทย ไม่ใช่พม่า ไม่ใช่ฝรั่ง และไม่ใช่กะเหรี่ยงสะกอด้วย เป็นกะเหรี่ยงโป เมื่อก่อนอยู่ที่เมืองทวายในพม่า แต่ถูกพม่ารังแก เลยต้องหนีมาพึ่งไทย แล้วบอกด้วยว่ากะเหรี่ยงเป็นพี่คนโต ไม่เคยทำนาเคยแต่อยู่ในป่า เพราะฉะนั้นจะอยู่เมืองไทยคงอยู่ไม่ได้ ขอกลับไปอยู่ป่า แล้วตัวแทนกะเหรี่ยงก็ลากลับไปเมืองกาญจนบุรี ชวนพวกกะเหรี่ยงขึ้นตามลำน้ำลำห้วยอยู่ตามที่ต่าง ๆ (22)

       บางพวกเดิมพวกเขาอยู่บ้านเมกะวะ เขตเมืองม่อละแม่ง ประเทศพม่า ได้เข้ามาอยู่ในเขตไทยที่ห้วยช่องกะเปีย (ซองกาเลีย) อำเภอสังขละบุรี เมื่อ 212 ปีมาแล้ว ต่อมาพวกกะเหรี่ยงบ้านเดียวกันในเขตพม่าอพยพติดตามมาอยู่ร่วมด้วย ภายหลังต่างแยกย้ายออกไปตั้งบ้านเรือนอยู่ต้นลำธารต่าง ๆ

       เมื่อมีจำนวนมากเข้าเจ้าเมืองกาญจนบุรีจึงแต่งตัวหัวหน้ากะเหรี่ยงให้เป็นเจ้าเมืองสังขละบุรี ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น พระยาศรีสุวรรณคีรี (ภวะโพ่) บรรดาบุตรหลานเหลนได้เป็นเจ้าเมืองสืบแทนต่อมาอีก 3 คน จนมีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง มีนายอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้านใน ร.ศ.120 พระยาศรีสุวรรณคีรี (ทะเจียงโปรย) ผู้สืบตระกูลคนที่ 4 ได้รับแต่งตั้งให้เป็นนายอำเภอ จนถึง พ.ศ.2467 จึงลาออกจากราชการรับเบี้ยบำนาญ(23)
หน้าต่อไป > >
© 2000-2001 by Karen Studies and Development Centre. Report technical problems to [email protected] . This document was build on: 22/06/2001 . Best view in IE4x or higher,800x600 pix.Font Medium.
Hosted by www.Geocities.ws