"ที่ห้วยคลิตี้ยังมีตะกั่ว "
โดย :  ศศิน เฉลิมลาภ
ภาควิชาธรณีวิทยา มหาวิทยาลัยรังสิต




       ผมเข้าพื้นที่ หมู่บ้านคลิตี้ล่าง ที่กลางเทือกเขาต้นน้ำเหนือเขื่อนศรีนครินทร์ เพื่อไปดูกรณีเกิดการปนเปื้อนของตะกั่ว จากโรงแต่งแร่ที่ไหลลงห้วยคลิตี้มา 2 ครั้ง เมื่อเดือนกุมภาพันธ์และเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ตามคำชวนของพี่หนอน สุรพงษ์ กองจันทึก ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษากะเหรี่ยงและพัฒนา หลังจากที่ทราบข่าวมาตั้งแต่ต้นปี 2543 จากนั้นก็มีโอกาสได้เข้าร่วมประชุมกับคณะกรรมการแก้ไขปัญหานี้ ที่มีกรมควบคุมมลพิษประสานงาน 2 ครั้ง ทำให้มีความรู้สึกว่าผู้ปฏิบัติหน้าที่ที่เป็นข้าราชการของเราก็ยังมีลักษณะเดิมๆอยู่เสมอ นั่นคือการปัดภาระ และทำให้ผ่านๆไป แน่นอนว่าข้าราชการเหล่านี้ไม่มีจิตสำนึกที่จะช่วยเหลือคนตามหัวใจของมนุษย์ ทุกคนก็แค่ทำ ตามคำสั่งของเจ้านายหรือทำตามหน้าที่ไปเรื่อยเปื่อย และที่สำคัญคือต้นเหตุของปัญหาก็ยังไม่ต้องรับผิดชอบใดๆ กรณีตะกั่วที่คลิตี้ก็เป็นเหมือนวรรณกรรมเพื่อชีวิตอีกร้อยพันเรื่องที่ยังคงเป็นเรื่องที่เกิดขึ้น ได้จริง ที่คนรวยและคนรัฐย่อมไม่เห็นว่าชาวบ้านคนไม่มีเงินเป็นพวกเดียวกับเขา ดังนั้น หากเขาจะยื่นมือช่วยเหลือหลังจากเก็บประโยชน์ไปหมดแล้วก็คงเป็นความเมตตาประหนึ่ง โยนกระดูกที่แทะแล้วให้หมากิน ผมคิดอย่างนี้จริงๆ....

       รายงานที่ผมศึกษาแทบทุกฉบับอ้างถึงต้นแห่งปัญหาว่าเกิดจากการที่คันขอบของบ่อน้ำทิ้งของโรงแต่งแร่ตะกั่วใกล้หมู่บ้านคลิตี้บน ซึ่งอยู่ต้นน้ำเหนือหมู่บ้านคลิตี้ล่างราว 10 กิโลเมตรพัง จากผลของพายุฝนหลังเกิดดีเปรสชันเมื่อฤดูฝนปี 2541 ทำให้น้ำทะลักลงห้วย แต่จากการที่ผมเข้าไปดูก็บอกไม่ได้ว่าพังจริงหรือไม่ เพราะเข้าไปหลังจากนั้นมากแล้ว แต่จากการสอบถามพูดคุยกับฝ่ายชาวบ้านก็บอกว่าไม่เคยเห็นว่าขอบบ่อพัง แต่น้ำยาลอยแร่ล้างแร่ ก็ไหลลงลำห้วยมาตลอดก่อนหน้านี้เป็นสิบๆปี ปลาตายและใช้น้ำไม่ได้เนื่องจากน้ำยาพวกนี้ เมื่อมีการร้องเรียนก็เคย มีคำสั่งปิดโรงแต่งแร่อยู่ครั้งสองครั้ง แล้วก็เปิดใหม่ และแน่นอนว่าก็ทำเหมือนเดิม

        เท่าที่ผมได้ไปดู เห็นสภาพบ่อก็น่าหวาดเสียวในเรื่องน้ำทิ้งของโรงแต่งแร่จริงๆ คิดถึงหนังเรื่อง Erin ที่คุณจูเลีย โรเบิร์ต แสดงเป็นเจ้าหน้าที่บริษัททนายความฟ้องบริษัทที่ปล่อยโครเมียมออกสู่สิ่งแวดล้อมจากบ่อน้ำทิ้งที่ไม่มีการ ปูลาดพื้นก็เห็นว่าคล้ายกันมาก เห็นภาพชัดเจนเลย เพราะบ่อที่นี่ก็เป็นบ่อดินขุดเสริมคันดินธรรมดาๆ แล้ว ก็ไม่เห็นระบบบำบัดใดๆ บ่อนี้อยู่บนเนินเขาติดห้วย เคยมีหนังสือถ่ายรูปท่อน้ำทิ้งลงห้วยให้เห็นด้วย แต่ตอน นี้โรงแต่งแร่เอาท่อที่ว่าออกไปแล้ว

        นอกจากนี้ใกล้ๆบ่อก็มีหินปูนโผล่ขึ้นมาให้เห็น แสดงว่าข้างล่างแถวๆบ่อนี้เป็นหินปูนก็เป็นที่รู้ๆกันอยู่ว่าหินปูน เป็นหินที่มีโอกาสเกิดถ้ำเป็นทางน้ำอยู่ใต้ดินและน้ำจากบ่อก็ย่อมซึมลงไป ส่วนจะไปออกที่ไหนก็แล้วแต่ทางน้ำใต้ดิน อาจไปออกที่ห้วยใกล้ๆ หรือที่ เขื่อนศรีนครินทร์ก็ได้

  • กะเหรี่ยงที่คลิตี้กับสถานการณ์ตะกั่ว...

            ชาวบ้านเล่าว่า เมื่อก่อนโรงแต่งแร่ปล่อยน้ำเสียมาก โดยเฉพาะช่วงหน้าฝนที่น้ำห้วยเยอะ ก็ปล่อยปนๆกับน้ำฝน แต่ ช่วงหลังๆ นี้ปล่อยตลอดทุกหน้า จนเดือดร้อนกันไปทั่ว น้ำยานี้เหม็นมากได้กลิ่นกันตลอด แต่ก็ไม่รู้จะทำยังไง ผมนึกภาพออกเลยนะครับหมู่บ้านนี้เข้าได้ทางเดียวถ้าจะเอารถเข้าไป มีสภาพเป็นทางดิน ทางดินนะครับไม่ใช่ ทางลูกรังอัดแน่น ทางดิน 10 กิโลฯ จากถนนลูกรังบ้านคลิตี้บน ซึ่งถนนลูกรังนี้เข้ามาจากแถวทางไปสังขละบุรีใกล้ หมู่บ้านเกริงกะเวียเป็นระยะทางจากถนนใหญ่นี้ไกล 40-50 กิโลฯ

            จากสภาพที่เล่า หมู่บ้านนี้จึงเกือบจะถูกตัดขาดจากภายนอกโดยสิ้นเชิงในช่วงหน้าฝน รถแต๊กๆ เข้าออกแค่จาก คลิตี้ล่างมายังคลิตี้บนก็ใช้เวลาหลายชั่วโมง แล้วถ้าเดินจะขนาดไหน ดังนั้นไม่ต้องพูดถึงว่าจะมีใครใส่ใจกับคน ที่นี่ มีบ้างก็พวกรวยๆที่มีรถโฟร์วีลเป็นของเล่น แต่งรถตลุยไปพังถนนหรือพังเครื่องแข่งกัน แล้วเอาเศษสตังค์ที่เหลือ ซื้ออะไรติดมือไปทำเป็นมอบให้คนกะเหรี่ยงที่นี่ พอให้เกิดอารมณ์อุดมการณ์

            กะเหรี่ยงที่นี่อยู่ตรงนี้มาเป็นสิบเป็นร้อยปีแล้ว ต้นไม้ที่ปลูกรอบบ้านใหญ่โตร่มรื่น หมู่บ้านสวยบริสุทธิ์จริงๆ มีหน่วยสังคมสงเคราะห์เข้าไปช่วยก็ไม่ได้ทำอะไรจนน่าเกลียด กำลังดีทีเดียว ชาวบ้านปลูกข้าวไร่เอาไว้กิน ปลูกนั่นนิดนี่หน่อยพอขายเก็บเงินไว้ใช้ทั้งปี ปีหนึ่งใช้เงินไม่กี่สตังค์ เพราะไม่ต้องซื้ออะไร ผักปลาหามีที่ห้วย แต่ถ้านอกจากนี้ก็ไม่มีอะไรเหมือนกัน

            สมบัติที่สำคัญของคนกะเหรี่ยงที่นี่คือควาย ควายตัวโตๆนี่เเหละ เลี้ยงไว้บ้านละหลายๆ ตัวช่วงทำนาก็เอาไว้ใช้ พอ เสร็จนาก็ปล่อยเดินหากินแถวห้วย ถ้าบ้านไหนอยากได้ของอะไรหรือมีงานแต่งงานก็เอาควายไปขายเอาเงินมาใช้ รวมทั้งหมู่บ้านที่มีประมาณ 40 ครัวเรือนก็มีควายเป็นร้อยตัว

            ช่วงที่ผมเข้าไปเห็นควายอยู่ตัวเดียว เพราะที่เหลือทยอยตายหมด ผมจำไม่ได้แล้วว่าอาการตอนมันตายชาวบ้าน เล่าว่าเป็นอย่างไร แต่ก็อาการคล้ายๆกัน พอคิดเอาว่าเกิดจากที่มันกินน้ำแร่ เจ้าหน้าที่จากสาธารณสุขก็บอกว่า ถ้าคนยังไม่ตายแล้วควายจะตายจากตะกั่วได้อย่างไร เราก็คิดเอาเองว่าควายมันเลือกกินน้ำไม่เป็นนี่หว่าว่ามันขุ่น จากน้ำยาแร่แค่ไหน แล้วมันก็แช่อยู่ทั้งวัน ตามประสาควาย มันจะรอดเหรอ ถ้าผมคิดถูกก็แสดงว่าผมคงรู้มากกว่า ควายอยู่บ้างเหมือนกัน จริงไหมครับเจ้าหน้าที่สาธารณสุขทั้งหลาย

            เจ้าหน้าที่ที่ศูนย์สงเคราะห์ชาวเขาเองบอกว่าก็มีพี่หนอน ศูนย์กะเหรี่ยงฯ นี่แหละ ที่เข้ามาช่วยเหลือและวิ่งเต้นจน เกิดการสั่งปิดโรงแต่งแร่ตั้งแต่เมือปี 2541 มาจนถึงทุกวันนี้ สภาพน้ำก็ค่อยๆดีขึ้น จากที่เคยตรวจวัดโดยสารพัด กรมกองจนยอมรับกันว่ามีค่าตะกั่วปนเปื้อนเกินค่ามาตรฐานที่จะเกิดอันตรายเป็นร้อยเท่า พันเท่า โดยเฉพาะ ที่ตะกอนท้องน้ำยิ่งเยอะเข้าไปใหญ่ สภาพน้ำที่ดีขึ้นนี้ก็เกิดจากน้ำปนตะกั่วไหลไปลงเขื่อนศรีนครินทร์หมด แล้วนั่นแหละ...

  • การศึกษาเรื่องตะกั่วในพื้นที่และความคิดของหน่วยงานรัฐ...

            เรื่องตะกั่วกับเขื่อนศรีนครินทร์ นี่ไม่ค่อยมีใครสนใจกัน แต่มีการตรวจวัดศึกษากันมานานเนื่องจากบริเวณพื้นที่รับน้ำ เหนือเขื่อนเป็นแหล่งแร่ตะกั่วใหญ่ของประเทศก็เลยมีเหมืองแร่อยู่หลายแห่งตั้งนมนานมาแล้ว แร่ตะกั่วที่ขนมา แต่งแร่ที่คลิตี้นี่มาจากเหมืองบ่องามทางเหนือขึ้นไปนอกนั้นก็มีเหมืองเคมโก้ ที่ทำแร่ส่งไปโรงแต่งอีกโรง แต่ ชาวบ้านก็รู้ๆ กันว่าเจ้าของก็เป็นพวกๆเดียวกันหมด

            น้ำที่ไหลลงเขื่อนศรีนครินทร์จึงมีตะกั่วอยู่นานแล้วและก็สะสมอยู่ใต้เขื่อน มีรายงานของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อม ตั้งแต่ปี 2531 ก็บอกว่าน้ำที่ออกจากเขื่อน มีค่าตะกั่วเกินมาตรฐานหลายเท่า ดังนั้นคนกินน้ำแม่กลองก็ช่วยกันกิน ตะกั่วมาเป็นสิบปีแล้ว

            ความขัดแย้งเรื่องการพัฒนาทรัพยากรมาใช้แล้วสิ่งแวดล้อมหรือชุมชนฉิบหายนี่เป็นเรื่องโลกแตก เถียงไปก็คงมีคน ว่า ว่าตัวเองก็ใช้ตะกั่ว ใช้ทรัพยากรเหมือนกัน ตัวผมเรียนมาทางธรณีวิทยาแล้วดันมาว่ามากล่าวเหมืองแร่ โรงแต่งแร่ ก็โดนรุ่นพี่ในกรมทรัพยากรธรณีที่เป็นกรรมการแก้ไขปัญหานี้ด้วยโกรธเอา ผมโดนถามหลังจากประชุมเรื่อง คลิตี้ว่าเรียนอะไรมา คือคล้ายๆว่าถ้าเป็นนักธรณีทำไมไม่ช่วยเหมือง และที่ผมทำงานนี้เป็นการขัดขวางการพัฒนา ทรัพยากรธรณี

            อ้าว ถ้าอย่างนี้วงการธรณีวิทยาก็แย่นะครับ ถ้าคนเรียนแบบนี้มาต้องคิด ต้องทำเหมือนกัน รู้ตรงกัน หรือไม่รู้เหมือนกัน อย่างนี้ไม่ดีครับขาดความหลากหลายย่อมขาดความแข็งแรง ผมเรียนจบมาตั้งนานแล้วและก็รู้เรื่องอื่นเพิ่มนอกจาก ธรณีวิทยาที่ใช้หากินอีกตั้งเยอะ และก็เลือกวิถีชีวิตแล้วว่าเราจะทำอะไรเพื่ออะไร ดังนั้นของอย่างนี้ขึ้นกับพื้นฐาน ความคิดของแต่ละคน ผมคิดว่าขุดแร่ใช้ก็ต้องทำให้มันดี ถ้าค่าใช้จ่ายมันเพิ่มก็แสดงว่าทรัพยากรมันมีต้นทุนทาง สิ่งแวดล้อม ดังนั้นหากมันจะแพงขึ้น กำไรน้อยลงมันก็เป็นเรื่องถูกต้อง ถ่วงดุลกันไป ถ้าไม่คุ้มก็อย่าไปทำมัน

            ชีวิตคนและระบบนิเวศสำคัญและอยู่กันไปอีกนาน ต้องใช้อีกนาน ตะกั่วนี่ใช้แล้วก็ทิ้งไปเลย คิดดูดีๆ นะครับ อยากบอกคนคิดอย่างนี้ว่า เรียนจบเสียทีครับ แล้วเอาเรื่องจริงๆ มาคิดพิจารณาว่ากันตามความคิดของตัวเอง เมื่อ ขัดแย้งกันก็ว่าตามเหตุตามผล ช่วยกันคิด ช่วยกันเถียงเดี๋ยวสิ่งที่ถูกต้อง ที่พอดีก็ค่อยๆออกมาเอง โลกต้องถ่วงดุล กันหลายๆด้าน มันถึงจะเจริญโดยไม่ฉิบหาย หรือฉิบหายก็ช้าหน่อย ฝ่ายผมสู้พี่ไม่ได้หรอกครับเพราะโลกทั้งโลก มันบริโภคนิยม ขอพวกผมถ่วงเท้าไว้ซักนิดเถอะครับก่อนจะจ้ำอ้าวๆไปโดยไม่ดูอะไรเลย

            มาถึงไม่นานนี้ก็ยังมีความพยายามจะบอกว่าน้ำตะกั่ว ดินตะกั่ว นี้ไม่ได้มาจากโรงแต่งแร่อย่างเดียว เพราะพื้นที่นี้ เป็นแหล่งศักยภาพแร่ตะกั่วดังนั้นก็อาจเป็นธรรมชาติของพื้นที่ที่จะต้องมีปนบ้าง แต่ผมก็ไม่เคยเห็นว่า จะมี แผ่นดินที่ไหนที่เป็นพิษขนาดนี้ ตะกั่วปนเปื้อนเกินค่ามาตรฐานมากขนาดนี้แสดงว่าแถวนั้นเป็นแหล่งแร่ครับ และถ้าเป็นอย่างนั้นจริงก็ดี จะได้ทำเหมืองแร่กันรวยไปเลยทุกที่ แต่มันไม่ใช่หรอกครับเพราะที่คลิตี้บนก็ไม่ได้มีคน มีอาการชัดขนาดนี้ สารพัดหน่วยงานเจาะดินเก็บน้ำตรวจ มันก็ชัดเจนครับว่าไม่ได้มีตะกั่วสูงทั่วไปแต่มีเฉพาะ ที่ลำห้วยหลังโรงแต่งแร่ที่สูงผิดปกติ ตามผลของกรมควบคุมมลพิษล่าสุดนี่ยืนยันได้

            ยังดีที่กรมควบคุมมลพิษสำรวจข้อมูลและเชื่อว่า ภาวะปนเปื้อนมาจากโรงแต่งแร่ ก็มีการศึกษาความเหมาะสม ในการฟื้นฟูแต่ปัญหามาก ส่วนทางฝ่ายสาธารณสุขก็มีท่าทีแปลกๆ คือก็เห็น ก็เชื่อนะครับว่าโรงแต่แร่ปล่อยสาร ตะกั่วออกมาให้ชาวบ้านกิน แต่ก็ไม่ค่อยจะช่วยเหลือชาวบ้านซักเท่าไหร่เลย นอกจากนี้ก็มีกรมป่าไม้เข้ามาเกี่ยวข้อง อีกกรมหนึ่ง คือพื้นที่นี้เป็นป่าสงวนและติดกับเขตรักษาพันธุสัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ที่เป็นมรดกโลกนะครับ น้ำก็ไหล ต่อลงไปอุทยานแห่งชาติลำคลองงู และอุทยานเขื่อนศรีนครินทร์ แต่ก็ไม่เห็นว่าจะมีการตัดสินใจอย่างไร จะให้ฝังหรือ ไม่ให้ฝัง ก็ไม่ตัดสินใจ...

  • วันนี้ยังมีตะกั่วในตัวชาวบ้าน...

            การเป็นพิษจากตะกั่วของคนคลิตี้ล่างถึงขั้นมีคนตายไปแล้ว และกำลังป่วยกันหลายคนนะครับ แต่อาการก็ต่างๆ กันไปตามลักษณะของโรคพิษตะกั่ว แต่ก็เข้าเค้าตามตำรานะครับ คือมีอาการบวม อาการปวดข้อ ปวดท้อง เด็กๆ ก็พัฒนาการช้าหลายคน ออกปัญญาอ่อนไปเลยก็มี เด็กเกิดใหม่ก็ตายง่ายและมีอาการผิดปกติทางพันธุกรรม เช่น มือมี 6 นิ้ว คราวนี้ไอ้อาการแบบนี้มันก็วินิจฉัยไม่ได้ว่าเกิดจากพิษตะกั่วแน่ๆ คืออาจเกิดจากสาเหตุอื่นก็ได้ แต่ยังไงผลของการตรวจเลือดของชาวบ้านแทบทั้งหมู่บ้านจากทางสาธารณสุขตั้งหลายครั้งก็พบว่าชาวบ้านมีค่า ตะกั่วในเลือดสูงมาก

            ค่าตะกั่วในเลือดที่สาธารณะสุขถือเป็นโรคพิษตะกั่วเฉียบพลันนี่คือ 40 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร เฉียบพลันนี่เกิดจาก รับตะกั่วเต็มๆ แบบจากโรงงานแบตเตอรี่อะไรประมาณนี้ แต่กับชาวบ้านที่ค่อยๆ รับจากน้ำ รับจากปลาก็ต้อง เป็นแบบเรื้อรังนะครับ ไงๆ ก็ถือว่าทุกคนเป็นโรคพิษตะกั่วเพราะในเลือดที่ตรวจมีกัน 30 - 40 กว่า ทุกคน อันนี้เป็นผลตั้งแต่การตรวจครั้งแรกเมื่อปี 2541

            แม้ว่าผลการตรวจเลือดและมีผู้แสดงอาการได้รับพิษตะกั่วหลายคนในหมู่บ้านแต่ก็ไม่เห็นมีความช่วยเหลืออะไรมาก นัก ทั้งๆที่มีคุณหมอก็เข้าไปจับชาวบ้าน จับเด็ก เจาะเลือดเก็บไปตรวจตะกั่วกันบ่อย จนเด็กๆ กลัวหมอ และชาวบ้าน ก็ไม่อยากเอาด้วย เพราะเจาะไปตลอดแล้วก็เปิดเผยผลครั้งเดียว ที่สำคัญก็คือไม่เห็นมีการรักษาอะไร แล้วก็บอกว่า ตะกั่วขับออกเองได้ทางเหงื่อ แต่จริงๆ แล้วทำไมไม่บอกว่าตะกั่วจะถูกดูดซึมสะสมอยู่ในกระดูกละครับ การตรวจ วินิจฉัยก็ดูๆ ก็เฉไปมานะครับ ทำไมไม่ออกมาบอกกันเสียที ยอมรับกันเสียที ว่าชาวบ้านเกือบหมดหมู่บ้านเป็นโรค พิษตะกั่วเรื้อรัง ชาวบ้านที่ป่วยปรากฏอาการก็มีหลายคน ผลทางเลือดสูงทุกคน บางคนมีเส้นดำๆ เห็นที่เหงือกตรง ตามตำราเลย อยู่ในแหล่งมลพิษก็อยู่ นอกจากนี้ยังเห็นว่ามีการนำชาวบ้านเอกซเรย์ด้วยนี่ครับ พบเส้นสะสมตะกั่วใน กระดูกไหมครับ ทำไมไม่เอาออกมาให้ดูเลยว่าไม่มี แต่พอขอดูก็ไม่ให้...

            สำหรับการรักษาชาวบ้านถึงวันนี้ไม่เห็นว่าสาธารณสุขได้ทำอะไรเป็นรูปธรรมขึ้นมาเลย นอกจากนำยาขับพิษ ตะกั่วมาให้เฉพาะเด็กเล็กๆ กิน อยู่ 7-8 คน ส่วนใหญ่พอพ่อแม่เอายาให้กินเด็กก็ท้องเสีย กินไม่ได้ แล้ว ก็ไม่ทำอะไรอีก มีผู้ใหญ่ที่ป่วยๆ หลายคน ตัวอย่างที่พูดถึงกันเรื่อยๆคือ นางมะนุเมียที่คลอดลูกแล้วรกติดท้อง 3 วัน รอดตายมาได้จากนั้นก็บวม ปวดท้องแทบตาย กะเสือกกะสนออกมาหาหมอทีหนึ่งก็เป็นวันสองวัน รถแต๊กๆติดหล่ม ทางแฉะก็ต้องลงมาช่วยเข็น หมอที่เมืองกาญจ์ ก็บอกว่าเป็นโรคไตหาสาเหตุไม่ได้

            พี่หนอนพามะนุเมียกับชาวบ้านอีก 2-3 คน มารักษาที่ราชวิถี หมอบอกเป็นโรคพิษตะกั่ว ก็ให้ยารักษา กลับไปดีขึ้น ทันตาไม่เห็นว่าจะยากเย็นอะไร ชาวบ้านที่มารักษาที่ราชวิถีนี่ดีขึ้นทุกคนครับ ผลคือชาวบ้านดีขึ้นแต่หมอที่รักษา จะเป็นพิษเสียเองครับโดนกดดันจากทั้งในและนอกวงการ ทำไมคนดีมีความรู้ ช่วยเหลือคนต้องมีสภาพแบบนี้ด้วย ก็รู้ๆกันชาวบ้านที่เห็นมะนุเมียดีขึ้นเขามีความหวังครับ เขาบอกว่าคนในหมู่บ้านที่มีอาการแบบนี้มีเยอะ ตายไปหลาย คนและไม่มีความหวัง ชาวบ้านคิดว่าถ้าได้รักษาแบบมะนุเมียก็จะไม่ตาย ตอนนี้ชาวบ้านเขารู้สึกแล้วครับว่ามีทางรักษา ใครรักษาได้ช่วยหน่อยเถอะครับ ถ้าไม่มีเงินก็ต้องคิดแหล่ะว่าต้นเหตุอยู่ไหน ใครจะมีน้ำยาพอที่จะไปทำให้เขารับ ผิดชอบได้บ้าง ...

            ตอนนี้เห็นว่ามีเงินช่วยเหลือจากเหมืองแร่มาให้ล้านหนึ่ง ตอนมีพิธีรับได้ข่าวว่าหมอๆ แถววุฒิสภามั่ง ใครมั่งมายืน ให้เห็นกันเยอะ กลายเป็นภาพว่าทางเหมืองนี่ดีครับ ช่วยชาวบ้านดีจริงๆ แล้วก็เห็นบอกว่าเขายินดีร่วมมือทุกอย่าง ก็ช่วยเหลือบ้างร่วมมือบ้าง แล้วทำไมผู้เกี่ยวข้องไม่รีบขอความรับผิดชอบจากเขาละครับจะทำอะไรก็อ้างว่าแพง ว่าใช้งบประมาณมาก กรมทรัพย์ฯ ก็ดูจะมีความใกล้ชิดสนิทมากกันจนคล้ายว่าช่วยเหลือปกป้องกันดูอบอุ่นจริงๆ ถ้ามีคนของรัฐซักกรมซักกองมาช่วยชาวบ้านจนๆ ให้ได้แบบนี้บ้างก็คงจะดี

  • การฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ในวันนี้และที่ผ่านมา
            มาถึงเดือนพฤษภาคม-มิถุนายนนี้ กรมควบคุมมลพิษมีผลงานครับ ตอนนี้เห็นว่าจะเอาหินไปขวางห้วยเป็นเขื่อนไว้ที่ หนึ่ง จริงๆแล้วต้องบอกว่าทำใหม่เพราะเคยมีการทำทีหนึ่งแล้วเมื่อ 2541 โดยขุดๆ ตะกอนริมตลิ่งพอเป็นพิธี มาโปะไว้ที่ใกล้เหมือง ตอนนั้นค่าตะกั่วในห้วยสูงขึ้นมาอีกเพราะมันฟุ้ง แสดงว่าพอขุดห้วยเอาตะกอนทิ้งก็ฟุ้งละลาย แต่ก็มีความพยายามจะบอกว่าตะกอนตะกั่วละลายน้ำได้น้อยมาก เมื่อมันตกลงแล้วก็ปล่อยให้ธรรมชาติบำบัดไปเอง

            คิดงั้นมันไม่ง่ายไปหน่อยหรือครับ เพราะสัตว์น้ำมีวงจรอยู่กับตะกอนเหล่านี้ก็สะสม เพิ่มปริมาณเพิ่มความเข้มข้นใน เซลไปตามลำดับห่วงโซ่อาหาร ก็ที่หมู่บ้านชาวบ้านก็กินอาหารโปรตีนจากปลาในห้วยนี่เป็นหลัก ผู้เกี่ยวข้องก็ได้แต่ห้าม กินปลา ห้ามกินปลา ช่วงก่อนนี้พี่หนอนหาเงินซื้อโปรตีนเกษตรไปให้ชาวบ้านกินอยู่บ้าง แต่หมดแล้วก็หมดเลย แต่หดหู่นะครับสำหรับคนที่ไม่ชอบแล้วต้องทนกินโปรตีนเกษตรทุกมื้อ แต่อย่างไรก็ตามตอนนี้หมดแล้วครับชาวบ้าน จะทำอย่างไร

            มีอยู่ครั้งหนึ่งที่ผมเข้าไปคุยกับชาวบ้าน เกือบทุกครอบครัวเลยก็บอกว่าตอนนี้หยุด กินปลาจากห้วยแล้วแต่ก็มีหลายคนโดยเฉพาะคนหนุ่มๆ บางทีทนอดอยากไม่ไหวต้อง ไปหาปลากันมาบ้าง พี่หนอนเช็คผลเลือดชาวบ้านที่มีค่าตะกั่วสูงก็พบว่าคนที่หาปลา กินปลาเยอะๆ นี่มีแนวโน้มว่าพบผลเลือดมีตะกั่วสูงกว่าคนอื่นๆ

            คราวนี้จะทำอย่างไรดี เรื่องการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ ที่กรมควบคุมมลพิษทำอยู่ผมก็ว่า ถูกต้องส่วนหนึ่งครับ คือมีแผนที่จะทำฝายกั้นห้วยเพื่อกันตะกอนฟุ้งขึ้นไหลไปตาม ลำน้ำมายังหมู่บ้าน

            ผ่านไปเขื่อนศรี คือเขาจะยกระดับน้ำให้สูง น้ำนิ่งตะกอนจะตกหน้าเขื่อนแล้วค่อยๆมาขุดออก ผมไม่ทราบว่า ตอนนี้ตกลงดำเนินการอะไรแค่ไหนเพราะเมื่อตอนการประชุมครั้งสุดท้ายก็ยัง ไม่ตกลงว่าจะขุดตะกอนตลอด ลำห้วย หรือขุดเฉพาะจุด จะใช้วิธีสูบแบบสูบทรายได้ไหมเพื่อลดการฟุ้ง

            เห็นมีแผนเสนอให้ทำฝายนี่เป็นระยะถี่ๆ โดยทำดักไว้ทีละช่วง ส่วนจะห่างเท่าไหร่ก็เห็นมี มีรายงานการศึกษาของ ดอกเตอร์เยอรมันเล่มใหญ่บอกไว้แล้ว และพอทำเขื่อนหินดักตะกอนแล้วค่อยไล่สูบจากโรงแต่งแร่ลงไปทางหมู่บ้าน เมื่อสูบออกแล้วน้ำจากทางต้นน้ำก็ค่อยมา ค่อยๆ ฟื้นระบบนิเวศขึ้นทีละช่วง แต่ไม่รู้ว่าจะทำแค่ไหน เห็นบอกว่าติดทาง ป่าไม้ว่ากลัวเป็นการทำลายระบบนิเวศของลำน้ำ แต่ผมคิดว่าทียังงี้เพิ่งจะเป็นห่วงทั้งๆที่มันก็แย่ตั้งแต่เอาตะกั่วลง มาแล้ว ไม่เหลือปลาซักกี่ชนิด จะเหลือก็แต่พวกทนตะกั่วอยู่เท่านั้น

            ที่บอกว่าจะขุดจะสูบตะกอนนี่ผมก็กลัวใจกรมควบคุมมลพิษจริงๆ เพราะว่าไม่เคยรับปากเลยว่าจะเอาออกตลอด ลำห้วย เพราะบอกว่าป่าสมบูรณ์ถ้าเข้าไปขุดตลอดทำยาก ป่าเสียหาย ผมว่าก็ใช้เรือใช้ท่อเข้าไปก็ไม่น่ามีปัญหา เพราะแต่ละช่วงก็มีทางดินตัดเข้าหาห้วยเป็นระยะอยู่แล้ว ถ้าจะทำแค่เป็นจุดๆจะลดตะกั่วไปได้แค่ไหนเชียว แล้วสภาพป่าแถวห้วยนี่ยังดีครับ และฟื้นตัวเร็วมากหากมีที่กระทบบ้างแต่ไม่นานก็จะกลับสภาพได้ มีเงื่อนไขว่าต้อง ไม่มีผู้ฉวยโอกาสตัดไม้นะครับ

            มีอีกเรื่องคือเรื่องจะเอาตะกอนตะกั่วไปทิ้งที่ไหน ในที่ประชุมผมต้องยอมเขาครับ คือ ตะกั่วนั้น ขุดมาจากภูเขาใน ทุ่งใหญ่ฯ มาแต่งแร่ที่คลิตี้บน ไหลมาคลิตี้ล่าง พอจะขุดทิ้งก็จะเอามาฝังที่ริมน้ำแถวนี้ ตามแผนนี้ของกรมควบคุม มลพิษมันก็ไม่ค่อยแฟร์เท่าไหร่ ทำไมไม่ขนออกไปฝังกลบที่อื่น เช่นที่ของเจ้าของโรงแต่งแร่เองนั่นแหล่ะเหมาะ แถวบ้านเขาเลยยิ่งดี แต่ก็มีคนแย้งว่าไม่อยากให้เอาของเสียเคลื่อนย้ายไปไกลๆ เพราะจะเป็นการกระจายปัญหา ก็เป็นอันว่า กรมป่าไม้คงต้องอนุญาตให้กรมควบคุมมลพิษดูดตะกอนตะกั่วขึ้นมาฝังแถวๆ ป่าสงวนนี่นะครับ ชาวบ้าน อยู่ไป ก็ต้องระวังครับอย่าไปขุดเล่น

            แผนการฝังใกล้ห้วยนี่ผมไปดูมาครับปรากฏว่าเป็นพื้นที่ที่มีหินทรายรองรับ หินทรายนี่ซึมน้ำดีครับ แต่เจ้าหน้าที่กรม ควบคุมมลพิษยืนยันครับว่ามีการตรวจสอบค่าการซึมน้ำแล้วว่าใช้ได้ ผมก็ไม่ทราบแล้วละครับ เรื่องนี้ก็แล้วแต่ท่าน จะตัดสินใจแต่ผมว่ามันไม่พอครับหลุมที่จะขุดไว้ฝังตะกอนถ้าจะลอกตลอดลำห้วยคงต้องทำเพิ่มอีกเยอะครับ คราวนี้เห็นบอกว่าใช้งบมาก ผมก็จะคอยดูครับว่าเงินที่ใช้แก้ปัญหาตรงนี้จะเป็นเงินใคร ต้นเหตุจะมีโอกาสมา รับผิดชอบให้สมบูรณ์หรือไม่

            แต่แผนที่เล่ามานี้ยังไม่แน่นอนนะครับว่าจะทำดีแค่ไหน เพราะไม่ชัดเจนแล้วนี่ก็ฝนอีกแล้วอาจจะต้องหยุดกันไปอีก ก็ได้ งานนี้ฝากความหวังไว้ที่กรมควบคุมมลพิษ จะมีหวังไหมก็ไม่รู้

            ปัญหานี้ยังไม่หมด เนื่องจากที่โรงแต่งแร่แม้จะปิดไปแล้วแต่ยังมีกองแร่อยู่เยอะมาก ที่เห็นว่าเคยมีการสั่งให้สร้างโรง ปกคลุมเสียก็ไม่มีการทำ เมื่อฝนตกก็ชะลงห้วยตลอด เมื่อมีผู้เสนอให้ขนไปแต่งแร่ที่โรงแต่งอื่น ก็มีกรมทรัพย์คอย ชี้แจงให้ว่าผิดกฎหมายการเคลื่อนย้ายแร่ ซึ่งป้องกันการทำแร่เถื่อน

            แหมทำไมมันยุ่งมากขนาดนี้ ทำไมกฎหมายไม่เป็นเครื่องมือสำหรับคนใช้เพื่อที่จะทำอะไรให้มันดีขึ้นได้ คนเป็น ผู้ใช้กฎหมายแต่มักเอากฏหมายมาคิดเรื่องเฉพาะประโยชน์ตัวเอง ดูแล้วเซ็งจริงๆ แต่เรื่องนี้ท่านอาจารย์สุรพล (สุดารา) ก็เคยเสนอทางออกว่าก็ควรจะใช้กฎหมายของเสียอันตรายขนออกไปได้แต่ไม่รู้ว่าจะเข้าใจกันแค่ไหน เห็น แต่คอยถือโอกาสเสนอต่อใบอนุญาติให้โรงแต่งแร่ซะเลย อะไรจะเข้าทางเท้าได้ขนาดนั้น

            แล้วยังมีเคราะห์ซ้ำกรรมซัดเรื่องอื่นนะครับ คือมีอยู่ครั้งหนึ่งที่ผมไปเจอคณะสำรวจของเหมืองเคมโก้ร่วมกับกรม ทรัพยากรธรณีกำลังเจาะสำรวจแหล่งแร่สังกะสีแหล่งใหม่กันอยู่ที่ริมฝั่งห้วย บริเวณนี้อยู่เหนือคลิตี้ล่างขึ้นมา 4 กิโล เมตรเป็นที่เคยทำเหมืองมาก่อนสมัยนานมากแล้วตอนนี้อาจจะมาฟื้นกันใหม่ แถวๆนี้เป็นภูเขาลูกเล็กๆมีบ่อเหมือง เก่าอยู่ด้วย ผมเข้าใจว่าทางกรมควบคุมมลพิษก็เล็งที่นี่เอาไว้ฝังกากตะกอนที่จะเอาขึ้นมาที่หนึ่งเหมือนกัน ก็ไม่รู้ว่า ถ้าเปิดเหมืองอีกจะจัดการเรื่องการปล่อยตะกอนมลพิษลงห้วยได้หรือไม่ ชาวบ้านก็ต้องลุ้นเอาเอง

  • อีกหนึ่งความคิด : ย้ายชาวบ้านออกไปจากหมู่บ้าน...
            นอกจากนี้ก็มีความคิดจะย้ายชาวบ้านออกไปจากถิ่นฐานโดยคิดว่าแผ่นดินทั้งหมู่บ้านมีพิษมาก ก็รู้ๆกันว่าถ้าย้ายไป จะเป็นอย่างไร มีใครที่จะรับผิดชอบเขาให้ครบวงจร ทั้งอาหาร ที่อยู่ วิถีชีวิต อย่างมากก็เอาเงินโยนมานิดหน่อย ก็แบกขนกันไป แล้วก็เป็นหมู่บ้านร้าง เพราะฉะนั้นก็เปิดโรงแต่งแร่ทำต่อได้ไม่กระทบใคร มีโอกาสเป็นไปได้ใช่ ไหมครับที่ประเทศนี้

            แล้วอีกอย่าง ค่าตะกั่วในดินบริเวณหมู่บ้านก็ไม่ได้มีมากอะไรถึงขนาดนั้น ถ้าผู้เกี่ยวข้องแค่มีน้ำยาตัดสินใจให้ต้น เหตุรับผิดชอบ ฟื้นฟูลำห้วยจริงจัง เร็วๆหน่อย ทีเวลาขนแร่ออกไปมากมายมหาศาลยังทำได้ ช่วงที่ฟื้นฟูก็เอาข้าว เอาปลาให้เขากินบ้าง ยากเกินไปไหมถ้าจะทำจริงๆ

  • สุดท้าย
            ปัญหาของห้วยคลิตี้นี้ดูเหมือนจะไม่ได้รับความสนใจจากทุกฝ่ายแม้แต่สื่อ มากนัก เพราะสภาพปัญหาไม่หวือหวา เหมือนข่าวอื่นๆ แต่ผมคิดว่ากรณีคลิตี้เป็นตัวอย่างความไม่เอาไหนของหลายๆหน่วยงานที่ไม่สามารถแก้ไขปัญหา ทั้งที่ต้นเหตุ หาผู้รับผิดชอบหรือแม้แต่ช่วยเหลือชาวบ้านผู้ถูกกระทำ คุณหมอที่เกี่ยวข้องบางท่านก็รู้สึกว่า ที่คลิตี้นี้ ได้รับความสนใจมากแล้วจากทางสาธารณสุข แต่ก็ไม่รักษาพยาบาลให้เป็นรูปธรรมแต่อย่างใด

            ผมได้เข้ามาสัมผัสกับชาวบ้าน กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้วรู้สึกหดหู่รันทด ประชาชนที่อื่นๆถ้าไม่มีปัญหามาเกิด ที่บ้านตัวเองก็ไม่รู้หรอกครับว่าจะรู้สึกอย่างไร ลองถ้าตัวเองท้องแล้วคลอดยาก รกติดอยู่ในท้อง 3 วันแทบจะตาย เหมือนมะนุเมียหรือปวดท้อง ซีดตายไปเหมือบุญชัย คิดถึงชีวิตสยุมพรที่เครียดฆ่าตัวตายทิ้งอรทัยลูกสาววัยขวบกว่า ที่มีตะกั่วในเลือด 35.42 ไมโครกรัมต่อเดซิลิตรให้อยู่สู้ชะตากรรม ยังมียะเสอะที่เสีย ไม๊ซะเรียลูกสาววัย 15 ปี ไป โดยก่อนตายต้องทนทรมานกับการปวดการบวม อยู่ 3 ปี และเด็กอย่างโจหล่อพ่อ เด็กอ้วนน่ารักแต่พิการทางสมอง และเจ้าหนุ่มอายุ 15 อย่างโจทิไผ่ที่มีรูปลักษณ์เหมือนเด็ก 8-9 ขวบ อยู่ๆก็กระโดดลงจากบ้านสูงโดยไม่กลัวความสูง และความเจ็บ ....

            และมีเด็กเล็กอย่างธวัชชัยที่มีนิ้วมือ นิ้วเท้าข้างละ 6 นิ้วเป็นน้องชาย ของเด็กหญิง ดาริกา ที่มีอาการผิดปกติที่อวัยวะสืบพันธุ์ และเด็กหัวโต อย่างตุ๊กตาขวบกว่าแล้วยังไม่มีวี่แววจะยืนเดินได้ และ…….และ…….และ……

            ความผิดปกติเกิดขึ้นกับคนในชุมชนมากขึ้นเรื่อยๆ ชาวบ้านสิ้นหวัง หวาดกลัว มีหมู่บ้านแห่งชะตากรรมแบบนี้จริงๆ ครับ ผมไปดูไปเห็นมาแล้ว จริงๆ...

    © 2000-2001 by Karen Studies and Development Centre. Report technical problems to [email protected] . This document was build on: 22/06/2001 . Best view in IE4xor higher,800x600 pix.Font Medium.
  • Hosted by www.Geocities.ws