เมื่อรัฐจะยกที่ดินกรรมสิทธิ์ของประชาชนให้เหมืองแร่
โดย : สุรพงษ์ กองจันทึก
         ท่านรู้สึกอย่างไร หากทราบว่าใต้พื้นดินที่บ้านท่านปลูกสร้างอยู่มีการทำเหมืองแร่โดยท่านไม่มีสิทธิคัดค้าน และหากบ้านท่านเสียหาย ผู้ประกอบการเหมืองแร่ไม่ต้องรับผิดชอบ เว้นแต่ท่านพิสูจน์ได้ว่าความเสียหายมาจากเหมืองแร่

      ปัจจุบันมีการแก้ไขพระราชบัญญัติแร่ซึ่งการแก้ไขที่สำคัญ คือ การเอื้อประโยชน์ให้ผู้ประกอบการเหมืองแร่สามารถทำเหมืองแร่ผ่านใต้ที่ดินของส่วนราชการและเอกชนได้ โดยเจ้าของหรือผู้ครอบครองไม่สามารถคัดค้านและไม่ได้ค่าชดเชย ดังร่างพระราชบัญญัติแร่มาตรา12 เขียนว่า ก่อนออกประทานบัตรทำเหมืองใต้ดิน ถ้าปรากฏว่าการทำเหมืองใต้ดินผ่านที่ดินของส่วนราชการหรือเอกชนรายใด ให้กรมทรัพยากรธรณีแจ้งให้ส่วนราชการหรือเจ้าของหรือผู้ครอบครองนั้นทราบ โดยผู้ยื่นคำขอประทานบัตรนั้นเป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย

      นอกจากนี้ยังยกเลิกหลักแดนกรรมสิทธิ์ของบุคคลในที่ดิน ดังร่างพระราชบัญญัติแร่มาตรา 13 เขียนว่า แดนแห่งกรรมสิทธิ์ของบุคคลตามประมวลกฏหมายแพ่งและพาณิชย์ มิให้คลุมถึงสิทธิการทำเหมืองใต้ดินหรือสิทธิในแร่ที่อยู่ใต้ดินรวมตลอดถึงสิทธิในการใช้สอยพื้นที่ใต้ดินในระดับความลึกที่กำหนดตามมาตรา 50 ทวิ (50 เมตรลงไป)เพื่อประโยชน์ในการทำเหมืองใต้ดิน

      หลักแดนกรรมสิทธิ์ในประมวลกฏหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1335 บัญญัติว่า ภายในบังคับแห่งบทบัญญัติในประมวลกฏหมายนี้หรือกฏหมายอื่น ท่านว่าแดนแห่งกรรมสิทธิ์ที่ดินนั้นกินทั้งเหนือพ้นพื้นดินและใต้พื้นดินด้วย ซึ่งหมายความว่าภายใต้พื้นดินลึกลงไปถือเป็นกรรมสิทธิ์ของเจ้าของที่ดินด้วย กรรมสิทธิ์ในที่ดินนี้เป็นสิทธิของบุคคลในทรัพย์สินที่รัฐธรรมนูญให้การคุ้มครองและรับรอง โดยบัญญัติไว้ในกฏหมายรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 มาตรา 48 ว่า สิทธิของบุคคลในทรัพย์สินย่อมได้รับความคุ้มครอง ขอบเขตแห่งสิทธิและการจำกัดสิทธิเช่นว่านี้ ย่อมเป็นไปตามที่กฏหมายบัญญัติ

      การจำกัดสิทธิของบุคคลในทรัพย์สิน ที่ไม่สามารถมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินของตนเองในความลึกตั้งแต่ 50 เมตรลงไป ซึ่งกฏหมายรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 มาตรา 48 รับรองไว้นั้น ไม่สามารถทำได้ ดังกฏหมายรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 มาตรา 29 บัญญัติว่า การจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้จะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฏหมายเฉพาะเพื่อการที่รัฐธรรมนูญนี้กำหนดไว้และเท่าที่จำเป็นเท่านั้น และจะกระทบกระเทือนสาระสำคัญแห่งสิทธิและเสรีภาพนั้นมิได้ ข้อยกเว้นที่จะจำกัดสิทธิและเสรีภาพ กระทำได้เมื่อครบองค์ประกอบ 3 ประการ จะขาดอย่างใดอย่างหนึ่งมิได้ คือ 1. ต้องเป็นการกระทำเพื่อการที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ 2. เท่าที่จำเป็นเท่านั้น 3. จะกระทบกระเทือนสาระสำคัญแห่งสิทธิและเสรีภาพมิได้

      ในกรณีร่างพระราชบัญญัติแร่นี้ ไม่เข้าแม้องค์ประกอบเดียว กล่าวคือ ไม่เป็นการกระทำเพื่อการที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ ไม่มีความจำเป็นอย่างยิ่งยวดใดใดเลย เนื่องจากผู้ได้ประโยชน์เป็นผู้ประกอบการธุรกิจเอกชน และกระทบกระเทือนต่อสาระสำคัญแห่งสิทธิและเสรีภาพโดยตรง เพราะสูญเสียสิทธิในทรัพย์สิน ดังนั้นร่างพระราชบัญญัติแร่ย่อมขัดต่อกฏหมายรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 มาตรา 29 และมาตรา 48 ซึ่งคุ้มครองและรับรองสิทธิเสรีภาพในทรัพย์สินของบุคคล นอกจากนี้ร่างพระราชบัญญัติแร่ฉบับดังกล่าว ยังละเลยการมีส่วนร่วมของบุคคล องค์กรเอกชน องค์กรท้องถิ่น ในการร่วมจัดการทรัพยากรท้องถิ่น ซึ่งกฎหมายรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 ได้บัญญัติถึง สิทธิของบุคคล ชุมชนดั้งเดิม และอำนาจหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ดังนี้
      มาตรา 46 บุคคลซึ่งรวมกันเป็นชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมย่อมมีสิทธิอนุรักษ์หรือฟื้นฟูจารีตประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่น ศิลปะหรือวัฒนธรรมอันดีของท้องถิ่นและของชาติ และมีส่วนร่วมในการจัดการ การบำรุงรักษา และการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุลและยั่งยืน ทั้งนี้ ตามที่กฏหมายบัญญัติ
      มาตรา 56 สิทธิของบุคคลที่จะมีส่วนร่วมกับรัฐและชุมชนในการบำรุงรักษา และการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพ และในการคุ้มครอง ส่งเสริม และรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม เพื่อให้ดำรงชีพอยู่ได้อย่างปกติและต่อเนื่อง ในสิ่งแวดล้อมที่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพอนามัย สวัสดิภาพ หรือคุณภาพชีวิตของตน ย่อมได้รับความคุ้มครอง ทั้งนี้ ตามที่กฏหมายบัญญัติ
      มาตรา 59 บุคคลย่อมมีสิทธิได้รับข้อมูล คำชี้แจง และเหตุผล จากหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่น ก่อนการอนุญาตหรือการดำเนินโครงการหรือกิจกรรมใดที่อาจมีผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อม สุขภาพอนามัย คุณภาพชีวิต หรือส่วนได้เสียสำคัญอื่นใดที่เกี่ยวกับตนหรือชุมชนท้องถิ่น และมีสิทธิแสดงความคิดเห็นของตนในเรื่องดังกล่าว ทั้งนี้ ตามกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนตามที่กฏหมายบัญญัติ
      มาตรา 79 รัฐต้องส่งเสริมและสนับสนุนให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการสงวน บำรุงรักษา และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพอย่างสมดุล รวมทั้งมีส่วนร่วมในการส่งเสริม บำรุงรักษา และคุ้มครองคุณภาพสิ่งแวดล้อมตามหลักการพัฒนาที่ยั่งยืน ตลอดจนควบคุมและกำจัดภาวะมลพิษที่มีผลต่อสุขภาพอนามัย สวัสดิภาพ และคุณภาพชีวิตของประชาชน
      มาตรา 290 เพื่อส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นย่อมมีอำนาจหน้าที่ตามที่กฏหมายบัญญัติ

      กฏหมายตามวรรคหนึ่งอย่างน้อยต้องมีสาระสำคัญดังต่อไปนี้
     (1) การจัดการ การบำรุงรักษา และการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่อยู่ในพื้นที่
     (2) การเข้าไปมีส่วนในการบำรุงรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่อยู่นอกเขตพื้นที่ เฉพาะในกรณีที่อาจมีผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของประชาชนในพื้นที่ของตน
     (3) การมีส่วนร่วมในการพิจารณาเพื่อริเริ่มโครงการหรือกิจกรรมใดนอกเขตพื้นที่ซึ่งอาจมีผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อม หรือสุขภาพอนามัยของประชาชนในพื้นที่

      นอกจากละเลยการมีส่วนร่วมของประชาชน และการกระจายอำนาจทั้งในระดับบุคคลและระดับองค์กรแล้ว ร่างพระราชบัญญัติแร่ยังรวบอำนาจให้รัฐมนตรีเพิ่มขึ้นดังมาตรา 9 และตัดอำนาจของนายอำเภอให้คงเพียงพนักงานเจ้าหน้าที่ทรัพยากรธรณีท้องที่เท่านั้นดังมาตรา 12 ยิ่งกว่านั้นยังกำหนดให้ผู้ถือประทานบัตรไม่ต้องรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นกับบุคคล ทรัพย์สิน หรือสิ่งแวดล้อม ที่อยู่นอกเขตพื้นที่ของเขตเหมืองแร่ และให้ผู้ได้รับความเสียหายหรือหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องเป็นผู้พิสูจน์ความเสียหาย ว่าเกิดขึ้นจากผลการทำเหมือง ดังมาตรา 14 ซึ่งขัดกับหลักกฏหมายสิ่งแวดล้อม ที่กำหนดให้ผู้ก่อให้เกิดความเสียหายเป็นผู้พิสูจน์ แม้ในพื้นที่นอกเขตเหมืองแร่ เพื่อเป็นการคุ้มครองบุคคล รัฐและสิ่งแวดล้อม

      ในมาตรา 13 ยังกำหนดให้ทำเหมืองแร่ใต้ดินในเขตป่าสงวนแห่งชาติ เขตอุทยานแห่งชาติ หรือเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ได้ด้วย ซึ่งป่าอนุรักษ์เหล่านี้มีความสำคัญอย่างยิ่งยวด เจตนารมย์ของกฏหมายอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 และกฏหมายสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 ก็เพื่อมุ่งรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อประโยชน์อย่างยั่งยืนของสาธารณชน การให้ทำเหมืองแร่ใต้ดินในเขตป่าอนุรักษ์เพื่อประโยชน์ของผู้ประกอบการเอกชน ย่อมขัดต่อเจตนารมณ์ของกฏหมายป่าไม้ทั้งสองฉบับ เห็นได้ชัดเจนว่าร่างพระราชบัญญัติแร่ เอื้อประโยชน์ต่อผู้ประกอบการธุรกิจเอกชนเหมืองแร่ โดยไม่คำนึงถึงสิทธิเสรีภาพของบุคคล สิทธิในทรัพย์สิน สิทธิในการมีส่วนร่วม และผลประโยชน์ร่วมกันของสาธารณะ ควรที่สมาชิกวุฒิสภาและผู้เกี่ยวข้องจะต้องรีบปรับปรุงแก้ไข ก่อนที่กฏหมายแก้ไขพระราชบัญญัติแร่ฉบับนี้จะประกาศใช้
© 2000-2001 by Karen Studies and Development Centre. Report technical problems to [email protected] . This document was build on: 22/06/2001 . Best view in IE4xor higher,800x600 pix.Font Medium.
Hosted by www.Geocities.ws