โรคภูมิแพ้

ร่างกายมนุษย์มีระบบภูมิคุ้มกันธรรมชาติซึ่งทำหน้าที่คล้ายทหารชายแดน คอยสอดส่องดูแลไม่ให้ข้าศึก เช่น เชื้อโรคหรือหนอนพยาธิเข้ามารุกราน โรคภูมิแพ้เป็นพยาธิสภาพที่ร่างกายมีการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันดังกล่าวมากเกินควร โดยจะดำเนินการกำจัดสิ่งแปลกปลอมซึ่งเรียกว่าสารก่อภูมิแพ้อย่างเข้มแข็ง จนเกิดอันตรายต่อเนื้อเยื่อบริเวณที่เกี่ยวข้อง บรรดาอาการที่เป็นผลจากการกำจัดสิ่งแปลกปลอมโดยภูมิคุ้มกันของร่างกายนี้เรียก ว่าอาการแพ้ ซึ่งมีอยู่หลากหลายตามวิถีทางที่สารก่อภูมิแพ้เข้าสู่ร่างกาย การเกิดอาการแพ้ต่อสิ่งใดจะต้องมีการกระตุ้นภูมิคุ้มกันโดยสิ่งนั้นล่วงหน้ามาก่อนระยะหนึ่ง ทั้งนี้จะโดยรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม ทำให้ร่างกายตระเตรียมสิ่งต่างๆ สำหรับต่อต้านสิ่งนั้นเก็บไว้ใน ร่างกาย เช่น สร้างแอนตี้บอดี้ หรือกระตุ้นเซลเฉพาะบางประเภท เมื่อสิ่งแปลกปลอมชนิดเดิม เข้าสู่ร่างกายในเวลาต่อมาจีงเกิดปฎิกริยาภูมิแพ้ขึ้นและเป็นเหตุให้เกิดอาการแพ้ต่างๆ ตามมา อาการแพ้ส่วนใหญ่เกิดจากผลของสารสื่อหลายชนิดที่หลั่งมาจากเซลซึ่งมีส่วนร่วมในการกำจัดสิ่งแปลกปลอม สารสื่อชนิดหนึ่งที่มีบทบาทสำคัญโดยเฉพาะในระยะต้นของการแพ้มีชื่อว่า ฮิสตามีน และยังมีสารสื่ออีกหลายชนิดที่มีความสำคัญเช่นกัน เช่น พรอสตาแกลนดินและ ลิวโคไทรอีน เป็นต้น มีปัจจัยหลายประการที่มีอิทธิพลต่อการเกิดโรคภูมิแพ้ เช่น ปัจจัยทางพันธุกรรม พบว่าถ้าหาก บิดาหรือมารดาเป็นโรคภูมิแพ้บุตรหนึ่งในสามมักเป็นโรคภูมิแพ้ แต่ถ้าทั้งบิดาและมารดาเป็น โรคภูมิแพ้บุตรทุกคนมีโอกาสเป็นโรคภูมิแพ้ด้วย นอกจากนั้นยังมีปัจจัยอย่างอื่นอีก เช่น ภาวะฮอร์โมนบกพร่อง การติดเชื้อไวรัส การสูบบุหรี่ จะทำให้มีโอกาสเกิดโรคภูมิแพ้ได้ง่าย เป็นต้น ปัจจุบันประมาณ 20-25% ของประชากรทั่วไปมักเกิดอาการแพ้ต่อสิ่งต่างๆ ที่อยู่รอบตัว เช่น ละอองเกษร ไรฝุ่น หมัดบนตัวสัตว์ โปรตีนจากนม ไข่หรือถั่ว ยางพืช แมลงและพิษของมัน ตลอดจนยาที่ใช้รักษาโรค
อาการแพ้ที่พบบ่อย
เนื่องจากสารก่อภูมิแพ้ทั่วไปฟุ้งกระจายอยู่ในอากาศ ระบบทางเดินหายใจจึงเป็นส่วนที่มีโอกาส เกิดอาการแพ้ได้บ่อยที่สุด โดยสารก่อภูมิแพ้ที่เข้าไปในทางเดินหายใจส่วนบนจะทำให้เกิดอาการ จาม คัดจมูก น้ำมูกไหล หรือเรียกว่าโรคเยื่อบุจมูกอักเสบจากภูมิแพ้หรือไข้ละอองฟาง ถ้าหาก สารก่อภูมิแพ้พลัดเข้าไปในทางเดินหายใจส่วนล่างก็จะเกิดอาการหลอดลมเกร็งตัวและหายใจ มีเสียงหวีด หรือเรียกว่าโรคหอบหืด ถ้าสารก่อภูมิแพ้เข้าสู่ทางเดินอาหารด้วยการรับประทาน จะทำให้เกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน ปวดเกร็งท้อง และท้องเดิน ถ้าสารก่อภูมิแพ้เข้าทางผิวหนัง ด้วยการสัมผัสจะทำให้เกิดอาการผิวหนังอักเสบ ผื่นคัน ปื้นบวมและลมพิษ ที่สำคัญถ้าสารก่อ ภูมิแพ้เข้าทางกระแสเลือดโดยตรง เช่น การฉีดยาหรือสารวินิจฉัยโรคบางตัวเข้าหลอดเลือดดำ จะทำให้เกิดอาการแพ้อย่างฉับพลันรุนแรงทั่วร่างกายซึ่งเรียกว่าการช้อคจากภูมิแพ้ ในกรณีที่ รุนแรงมากๆ ระบบต่างๆ ของร่างกายจะถูกกระทบกระเทือนอย่างหนักจนถึงกับเสียชีวิตได้
การรักษาอาการแพ้ที่ถูกต้องมีแนวปฎิบัติอย่างไร?
โดยหลักการทางทฤษฎีควรจะรักษาอาการแพ้โดยวิธีหลีกเลี่ยงต้นเหตุของการแพ้ เช่น ละออง เกษร ยางพืช อาหาร หรือยาที่แพ้ เป็นต้น แต่ในทางปฏิบัติเรามักไม่ทราบชัดว่าสารก่อภูมิแพ้ ที่แท้จริงคืออะไร หรือทราบแต่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ดังนั้นโดยทั่วไปการรักษาอาการแพ้เฉียบ พลันที่ไม่รุนแรง เช่น เยื่อบุจมูกอักเสบ ผื่นคัน ลมพิษเฉียบพลัน จึงมักรับประทานยาแก้แพ้หรือ ที่เรียกว่ายาแอนตี้ฮิสตามีนเป็นหลัก ยานี้จะออกฤทธิ์ยับยั้งผลต่างๆ ที่เกิดจากสารสื่อฮิสตามีน อย่างไรก็ตามปัจจุบันบริษัทยาหลายแห่งพยายามพัฒนายารักษาอาการแพ้ที่ออกฤทธิ์ยับยั้งผล ของสารสื่ออื่นๆ ด้วย
ในกรณีที่เกิดอาการแพ้เฉียบพลันอย่างรุนแรงจากการฉีดยาหรือถูกแมลงพิษรุมกัดต่อย ควรใช้การฉีดยาต่อต้านการแพ้ เช่น อดรีนาลิน สเตอรอยด์ หรือยาแก้แพ้เข้าทางหลอดเลือด และอาจต้องใช้เครื่องช่วยหายใจถ้าหากมีอาการหลอดลมเกร็งตัวอย่างมาก การรักษาเช่นนี้ต้องอยู่ในความดูแลของแพทย์
ในกรณีอาการแพ้เรื้อรัง เช่น การเกิดผิวหนังอักเสบจากการสัมผัสกับเครื่องประดับโลหะ ผงซักฟอก หรือสารจากโรงงานอุตสาหกรรม นอกจากจะใช้ยาแก้แพ้ตามปรกติแล้วควรจะใช้ครีมต้านอาการแพ้ชนิดสเตอรอยด์ทาบริเวณที่เป็นเพื่อบรรเทาอาการอักเสบ เนื่องจากอาการแพ้เรื้อรังนั้นส่วนใหญ่เกิดจากผลของสารสื่ออื่นหลายชนิดนอกเหนือจากฮิสตามีน การใช้ยาแอนตี้
ฮิสตามีนเพียงอย่างเดียวมักไม่ค่อยได้ผล
ในกรณีที่ผู้ป่วยทราบต้นเหตุการแพ้แต่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ อาจใช้วิธีการรักษาทางระบบ อิมมูนด้วยการปรับภูมิคุ้มกันให้คุ้นเคยกับสารก่อภูมิแพ้นั้นอย่างช้าๆ โดยเริ่มฉีดสารก่อภูมิแพ้ดังกล่าวเข้าใต้ผิวหนังครั้งละน้อยและค่อยๆ เพิ่มขนาดฉีดซ้ำต่อไปหลายๆ ครั้งด้วย กำหนดเวลาที่เหมาะสม ร่างกายจะปรับตัวให้ชินกับสารก่อภูมิแพ้ได้ระดับหนึ่ง อย่างไรก็ดี การรักษาเช่นนี้ใช้เวลาและค่าใช้จ่ายสูงและต้องกระทำโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ แต่ไม่ว่าจะรักษาโดยวิธีใดก็ตาม ผู้ที่ทราบว่าตนเองแพ้อะไรต้องพยายามหลีกเลี่ยงต้นเหตุของ การแพ้ให้ได้มากที่สุด ในกรณีที่เกิดอาการแพ้ระหว่างรับประทานยา ควรหยุดยาที่รับประทาน ถ้าหากเป็นยาที่ไม่ค่อยจำเป็น แล้วรีบปรึกษาแพทย์ผู้รักษาหรือเภสัชกรอย่างเร่งด่วนเพื่อหาสาเหตุและการแก้ไขอาการแพ้ดังกล่าว
ยาแก้แพ้คืออะไร มีกี่ประเภท?
ยาแก้แพ้หรือยาแอนตี้ฮิสตามีนคือยาที่ป้องกันหรือลดอาการแพ้อันเกิดจากผลของสารฮิสตามีน
ต่อเนื้อเยื่อต่างๆ ของร่างกาย แบ่งเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ โดยอิงตามผลข้างเคียงหลักของยา
แก้แพ้ ได้แก่
ยาแก้แพ้ที่ทำให้ง่วง (รุ่นเดิม) ซึ่งใช้กันแพร่หลายมานาน ราคาถูก และมีขายอยู่มากมายหลายตัวยา เช่น Chlorpheniramine Diphenhydramine Hydroxyzine Tripolidine เป็นต้น
ยาแก้แพ้ที่ไม่ทำให้ง่วง (รุ่นใหม่) ซึ่งมีการใช้มากขึ้นเรื่อยๆ ราคาแพง และมีขายอยู่เพียงไม่กี่ตัวยา ได้แก่ Terfenadine Astemizole Loratadine และ Cetirizine
ประโยชน์ของยาแก้แพ้โดยทั่วไปใช้รักษาอาการภูมิแพ้ต่างๆ เช่น ผื่นคัน เยื่อบุจมูกอักเสบ เยื่อตาอักเสบ ลมพิษ
เฉียบพลัน ใช้ป้องกันอาการโรคภูมิแพ้ชนิดเยื่อบุจมูกอักเสบที่เกิดเฉพาะฤดูกาล ช่วยระงับหรือลดอาการแพ้ต่างๆ ที่เกิดขึ้น เช่น การจาม คัดจมูก น้ำมูกไหล คันผิวหนัง และมักใช้ร่วมในการรักษาอาการโรคหวัด อาการเมารถเมาเรือ โดยรับประทานยาก่อนเดินทางประมาณครึ่ง-หนึ่งชั่วโมง เพื่อให้ยา ถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดได้มากพอ ช่วยให้หลับง่าย ใช้แทนยานอนหลับโดยไม่จำเป็นต้องมีใบสั่งแพทย์
มีหลักการและข้อควรระวังการใช้ยาแก้แพ้อย่างไร?
ต้องเริ่มรับประทานยาก่อนผจญกับสารก่อภูมิแพ้ และควรรับประทานยาอย่างต่อเนื่อง ตลอดเวลาที่ผจญกับสารก่อภูมิแพ้ เพื่อไม่เปิดโอกาสให้ฮิสตามีนที่เกิดจากปฏิกริยาภูมิแพ้ออกฤทธิ์ได้ โดยทั่วไปยาแก้แพ้จะใช้ได้ผลดีกับการป้องกันมากกว่าการระงับอาการแพ้ ดังนั้นในบางกรณีอาจต้องรับประทานยานานหลายเดือน เช่น อาการแพ้ฝุ่นละออง ในอากาศ
ปรับขนาดยาให้เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละรายไป โดยเริ่มจากขนาดต่ำก่อนแล้วค่อยๆ เพิ่มขึ้นจนได้ผลเป็นที่พอใจ โดยมีผลข้างเคียงน้อยที่สุด เมื่อเกิดการชินยาแก้แพ้ที่ใช้ให้เปลี่ยนไปใช้ยากลุ่มใหม่ เนื่องจากการชินยาส่วนใหญ่
มักจะเกิดกับยาในกลุ่มเดียวกันด้วย
ผลไม่พึงประสงค์ของยาแก้แพ้ที่ทำให้ง่วง (รุ่นเดิม) มีเช่นใดบ้าง?
ผลไม่พึงประสงค์ของยาแก้แพ้ที่ทำให้ง่วง (รุ่นเดิม) ผลต่อระบบประสาทส่วนกลาง เนื่องจากยาแก้แพ้รุ่นเดิมส่วนใหญ่ผ่านเข้าสมองได้ดี โดยทั่วไปจึงมีผลข้างเคียงทำให้ง่วงซึมแม้ในขนาดยาที่ใช้รักษาตามปรกติ การเกิดอาการง่วงซึมนี้จะมากน้อยตามชนิดยาและการตอบลนองของผู้ใช้ยาแต่ละ บุคคล โดยที่ยา Diphenhydramine Doxylamine และ Hydroxyzine ทำให้เกิดอาการง่วงซึมได้มาก ดังนั้นไม่ควรใช้ยาแก้แพ้ร่วมกับการดื่มสุรา หรือยากดประสาทอื่นๆ เช่นยานอนหลับ ยาคลายกังวล อย่างไรก็ตามผู้ใช้ยาบางรายโดยเฉพาะเด็ก ทารกอาจเกิดผลกระตุ้นประสาทได้ ทำให้มีอาการตื่นเต้น กระวนกระวาย หรือ รุนแรงถึงชักถ้าใช้ขนาดยาสูงเกิน ดังนั้นจึงควรใช้ยาแก้แพ้กับเด็กทารกด้วยความ ระมัดระวังเป็นพิเศษ ตัวอย่างยาที่มีผลกระตุ้นประสาทได้แก่ Chlorpheniramine Tripolidine เป็นต้น
ผลต่อระบบประสาทส่วนปลาย ทำให้เกิดอาการปากคอแห้ง ทางเดินหายใจแห้ง ตาพร่า หัวใจเต้นเร็ว อึดอัดหน้าอก ท้องผูก ปัสสาวะไม่ค่อยออก ยาซึ่งมีผลเด่นชัด ได้แก่ Chlorcyclizine Cyclizine เป็นต้น และไม่ควรใช้กับผู้ป่วยโรคหอบหืด
ปัสสาวะคั่ง หรือเป็นต้อหิน หรือใช้ร่วมกับยาต้านโรคจิต ยาต้านซึมเศร้า ผลต่อทางเดินอาหาร ทำให้เบื่ออาหาร จุกเสียดยอดอก คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเดิน พบบ่อยในผู้ที่ใช้ยาแก้แพ้ Pyrilamine Tripelennamine อย่างไรก็ดีในปัจจุบันยา
เหล่านี้มีการใช้น้อยมาก ผลกระตุ้นปฏิกริยาภูมิแพ้ ผู้ใช้ยาบางรายเมื่อใช้ยาแก้แพ้แล้วแทนที่อาการภูมิแพ้จะ ทุเลากลับลุกลามมากขึ้น ทั้งนี้มิใช่ยานั้นไม่มีฤทธิ์หากแต่เป็นผลจากการที่ยาแก้แพ้ นั้นทำตัวเป็นสารก่อภูมิแพ้เสียเองทำให้เกิดปฏิกริยาภูมิแพ้ต่อยาขึ้นมา รูปแบบยาแก้แพ้ที่เสี่ยงต่อการเกิดการแพ้ยาสูงคือยาใช้เฉพาะที่ เช่น ครีมแก้คัน ยาหยอดตา เนื่องจากมีโอกาสสัมผัสกับเนื้อเยื่อในความเข้มข้นสูงเป็นเวลานาน อาการแพ้ที่เกิดขึ้นได้แก่ ผิวหนังอักเสบ ผิวหนังไวต่อแสง ยาซึ่งมีผลดังกล่าวได้แก่ Pyrilamine Tripelennamine
ผลต่อทารกในครรภ์ ยาแก้แพ้บางตัว เช่น Cyclizine Chlorcyclizine มีผลทำให้ การพัฒนาอวัยวะของทารกในครรภ์ผิดปรกติ ดังนั้นจึงไม่ควรใช้ยาแก้แพ้เหล่านี้ ระหว่างตั้งครรภ์โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงสามเดือนแรก ผลต่อระบบเลือด ในบางกรณียาแก้แพ้ทำให้เกิดอาการพิษต่อระบบเลือด เช่น เม็ดเลือดขาวจาง ขาดเม็ดเลือดขาวบางชนิด เป็นต้น อาการเหล่านี้มีโอกาสเกิดน้อยมาก และมักกลับสู่สภาพปรกติเมื่อหยุดใช้ยาซึ่งเป็นต้นเหตุ
ผลไม่พึงประสงค์และอันตรกริยาของยาแก้แพ้ที่ไม่ทำให้ง่วง (รุ่นใหม่) มีเช่นใดบ้าง?
ผลไม่พึงประสงค์และอันตรกริยาของยาแก้แพ้ที่ไม่ทำให้ง่วง (รุ่นใหม่) ยาในกลุ่มนี้มีความจำเพาะเจาะจงในการออกฤทธิ์ ดังนั้นจึงมีผลไม่พึงประสงค์ต่อระบบอื่นของ ร่างกายน้อย อีกทั้งยาเหล่านี้ส่วนใหญ่ไม่ผ่านเข้าสมองจึงไม่ทำให้เกิดอาการง่วงซึม อย่างไรก็ดี การใช้ยาเหล่านี้มีข้อควรคำนึงหลายประการ คือ
ยาแก้แพ้ที่ไม่ทำให้ง่วงจะมีประสิทธิภาพดีเฉพาะอาการทางภูมิแพ้เท่านั้น ส่วนยาแก้แพ้ที่ทำให้ง่วงมีฤทธิ์หลายอย่างที่สามารถใช้รักษาอาการอื่นๆ ได้อีก เช่น น้ำมูกไหล เมารถ
เมาเรือ นอนไม่ค่อยหลับ เป็นต้น ยาแก้แพ้ที่ไม่ทำให้ง่วง Astemizole ออกฤทธิ์ช้ามากแต่มีฤทธิ์อยู่ได้นาน ดังนั้นผู้ป่วยจะ
ต้องรับประทานยานี้ต่อเนื่องหลายวันจึงจะเริ่มเห็นผล จึงไม่ควรใช้ Astemizole รักษาอาการแพ้แบบเฉียบพลัน เช่น ลมพิษ ผื่นคัน เป็นต้น นอกจากนี้การใช้ Astemizole ติดต่อกันนานๆ อาจทำให้น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นได้ ประการสำคัญการใช้ยาแก้แพ้ที่ไม่ทำให้ง่วงบางตัว ได้แก่ Terfenadine และ Astemizole กับผู้ป่วยที่เป็นโรคตับหรือใช้ร่วมกับยาซึ่งยับยั้งการทำลายยาของตับ เช่น ยาปฏิชีวนะ Erythromycin ยาต้านเชื้อรา Ketoconazole หรือ Itraconazole อาจทำให้ระดับยาแก้แพ้ในเลือดสูงจนเกิดพิษทำให้หัวใจเต้นเร็วผิดจังหวะซึ่งบางครั้งรุนแรงถึงเสียชีวิต จึงถือเป็นข้อห้ามใช้ของยาแก้แพ้ที่ไม่ทำให้ง่วง ทั้งนี้ในสหรัฐอเมริกาบริษัทผู้ผลิตได้ถอนยา Terfenadine ออกจากตลาดแล้ว ส่วนในประเทศไทยปัจจุบันยังคงมีจำหน่ายอยู่ ข้อเสียอีกอย่างของยาแก้แพ้ที่ไม่ทำให้ง่วงคือมีราคาแพงกว่ายาแก้แพ้ที่ทำให้ง่วงนับสิบ เท่าดังนั้นโดยสรุปยาแก้แพ้ที่ไม่ทำให้ง่วงจึงเหมาะสำหรับการใช้เฉพาะกรณีที่จำเป็น มักใช้เมื่อผู้ป่วยเกิดอาการง่วงซึมมากจากยาแก้แพ้รุ่นเดิมหรือเมื่อผลข้างเคียงดังกล่าว เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน เช่น ในกรณีเด็กนักเรียน ยาม คนขับรถ หรือเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย ซึ่งบุคคลเหล่านี้ต้องการความตื่นตัวและสมาธิ ในการทำงาน นอกจากนี้ยังเลือกใช้กับผู้ป่วยสูงอายุซึ่งทนต่อผลข้างเคียงของยา แก้แพ้รุ่นเดิมไม่ได้
นอกจากยาแก้แพ้แล้ว จะใช้ยาอะไรรักษาอาการแพ้ได้อีกบ้าง?
ยาอื่นๆ ที่ใช้รักษาอาการแพ้โดยเฉพาะอาการแพ้ชนิดเยื่อบุโพรงจมูกอักเสบ ได้แก่ ยาป้องกันการหลั่งสารสื่อต่างๆ รวมทั้งฮิสตามีนจากเซล เช่น Cromolyn sodium ซึ่งต้องให้โดยการพ่นเข้าจมูก หรือ Ketotifen ยาพ่นจมูกชนิดที่เป็นสเตียรอยด์ เหมาะสำหรับใช้ลดอาการแพ้ในระยะหลัง โดยจะลดการหลั่งน้ำมูกและอาการบวมของเยื่อบุโพรงจมูก ยาลดน้ำมูก ซึ่งจะช่วยหดหลอดเลือดที่เลี้ยงเยื่อบุโพรงจมูก ทำให้จมูกโล่ง หายใจ สะดวก ใช้ได้ทั้งชนิดรับประทานและชนิดพ่นจมูก สำหรับยาชนิดนี้ควรใช้เป็นครั้งคราว ไม่ควรใช้ต่อเนื่องเป็นประจำเนื่องจากจะทำให้อาการคัดจมูกกลับรุนแรงขึ้น คนที่เป็นโรคภูมิแพ้หากต้องใช้ยารักษาอาการแพ้ติดต่อกันนานๆ จะมีผลเสียอย่างไร?
การใช้ยาแก้แพ้เป็นประจำติดต่อกันนานๆ เช่น กรณีการป้องกันการแพ้ฝุ่นละอองในอากาศ โดยทั่วไปไม่มีผลเสียร้ายแรง อย่างไรก็ดีควรคำนึงถึงปัจจัยประกอบเหล่านี้ในการเลือกยา ความสะดวกในการใช้ ควรจะเลือกยาที่รับประทานวันละน้อยครั้ง ผลไม่พึงประสงค์ระยะยาว แม้ว่าผลข้างเคียงบางอย่างจะลดลงเมื่อใช้ยาไป
นานๆ เช่นอาการง่วงซึม แต่ถ้าต้องใช้ความตื่นตัวในการดำเนินชีวิต ประจำวัน ควรเลือกยาที่มีผลข้างเคียงด้านนี้น้อย
การชินยา ซึ่งทำให้ยาที่ใช้อยู่เดิมไม่ได้ผลและต้องเปลี่ยนไปใช้ยาตัวใหม่ ความคุ้มค่า ยาแก้แพ้รุ่นใหม่แม้จะมีข้อดีกว่ายารุ่นเดิม แต่ส่วนใหญ่ราคา แพงและอาจมีข้อเสียที่ยังไม่ทราบในขณะนี้ ดังนั้นการเลือกใช้ยารุ่นใหม่ ต้องมีเหตุผลสนับสนุนเพียงพอ
เมื่อเป็นหวัดต้องใช้ยาอะไรบ้าง และควรปฎิบัติตนอย่างไร?
หวัดเกิดจากการติดเชื้อไวรัสที่ทางเดินหายใจอย่างเฉียบพลัน โดยมีอาการน้ำมูกไหล จาม ไอ เจ็บคอ ปวดศีรษะ มึนงง ปวดกล้ามเนื้อ ในเด็กมักจะเป็นไข้ ปัจจุบันยังไม่มีการรักษาที่ต้นเหตุ ซึ่งได้ผลดี ส่วนใหญ่ใช้เพียงการรักษาตามอาการที่เกิดเท่านั้น โดยให้ยาหลายประเภทร่วมกัน ได้แก่
ยาลดน้ำมูก ส่วนใหญ่ใช้ยาหดหลอดเลือดที่เลี้ยงเยื่อบุจมูก
ยาแก้ไอ ยาขับหรือยาละลายเสมหะ ชนิดเม็ดหรือน้ำ
ยาแก้ปวด ลดไข้ ส่วนใหญ่ใช้พาราเซตามอล
ยาแก้แพ้ ส่วนใหญ่เป็นยาแก้แพ้ที่ทำให้ง่วงเนื่องจากมีฤทธิ์อื่นช่วยลด น้ำมูกด้วย
คาเฟอีน เพื่อกระตุ้นจิตอารมณ์และต้านฤทธิ์ทำให้ง่วงซึมของยาแก้แพ้
ยาเหล่านี้ควรใช้เฉพาะช่วงที่มีอาการ เมื่ออาการใดทุเลาลงแล้วอาจหยุดยา สำหรับอาการนั้นได้
ในกรณีของเด็กหรือผู้ที่มีสุขภาพอ่อนแอ อาจใช้ยาปฏิชีวนะเพื่อป้องกันการติดเชื้อแทรกซ้อนจากแบคทีเรีย โดยต้องใช้ยาครบขนาดติดต่อกัน ประมาณ 3-5 วัน ไม่ว่าอาการหวัดจะทุเลาแล้วก็ตาม
เพื่อความสะดวกในการใช้ยาเหล่านี้หลายตัวมักจะผสมรวมอยู่ในยาเม็ดเดียวกัน ซึ่งทำให้ไม่ สามารถเลือกยาหรือปรับขนาดยาแต่ละตัวให้เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละรายได้ ในท้องตลาด จะมีสูตรตำรับการผสมหลากหลายแตกต่างกันซึ่งยากต่อการตัดสินใจเลือก โดยเนื้อแท้แล้ว การรักษาอาการของหวัดควรจะเลือกใช้ยาเฉพาะกับอาการที่เป็นเท่านั้น และที่สำคัญหมั่น บำรุงรักษาสุขภาพทั้งกายและใจให้ดี เช่น รับประทานอาหารให้ครบถ้วน ออกกำลังกาย แต่พอเหมาะ นอนพักผ่อนให้เพียงพอ สรวมเสื้อผ้าที่ให้ความอบอุ่นแก่ร่างกาย หลีกเลี่ยงความเครียดและปัจจัยอื่นที่ลดภูมิคุ้มกันของร่างกาย ถ้าปฏิบัติตนได้เช่นนี้โรคหวัดก็จะทุเลา
และหายไปอย่างรวดเร็ว

กลับ

   
 
Hosted by www.Geocities.ws

1