โครงการท่อส่งก๊าซธรรมชาติไทย-มาเลเซีย
และ
โรงแยกก๊าซธรรมชาติไทย-มาเลเซีย


(1) โครงการท่อส่งก๊าซธรรมชาติไทย-มาเลเซีย

ได้แก่โครงการก่อสร้างท่อส่งก๊าซธรรมชาติจากแหล่งเจดีเอ ซึ่งอยู่กลางทะเลมาขึ้นฝั่งและเข้าโรงแยกก๊าซ ฯ ที่อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา และท่อส่งก๊าซผลิตภัณฑ์จากโรงแยกก๊าซ ฯ วางผ่านพื้นที่ อ.จะนะ อ. นาหม่อม อ.หาดใหญ่ และ อ.สะเดา เข้าสู่ประเทศมาเลเซียบริเวณด่านจังโหลน ต.สำนักขาม จากนั้นต่อไปยังรัฐเคดาห์ ในตอนเหนือของมาเลเซีย รวมระยะทางทั้งหมด 375 กิโลเมตร การดำเนินโครงการแบ่งเป็น 2 ระยะ โดยระยะที่ 1 คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในระยะเวลาประมาณ 22 เดือนนับจากวันลงนามในสัญญาก่อสร้าง และระยะที่ 2 คาดว่าจะแล้วเสร็จประมาณปี 2552

หมายเหตุ:ข้อมูลระยะทางจากอีไอเอและภาพที่ตีพิมพ์ในเอกสารเผยแพร่ของทีทีเอ็มแตกต่างกัน

รายละเอียดโครงการ:
  • วางท่อส่งก๊าซธรรมชาติในทะเลขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 34 นิ้ว จากแหล่งจักรวาลในแปลงสำรวจเอ 18 ไปยังบ้านตลิ่งชัน อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา รวมเป็นระยะทาง 277 กิโลเมตร มีความสามารถในการส่งก๊าซธรรมชาติสูงสุดประมาณวันละ 1,020 ล้านลูกบาศก์ฟุต (เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2545 รัฐบาลไทยมีมติให้ย้ายจุดขึ้นท่อไปบ้านในไร่ อำเภอจะนะ แทนจุดเดิม)
  • วางท่อส่งก๊าซธรรมชาติบนบกขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 36 นิ้ว จากอำเภอจะนะจังหวัดสงขลา ไปยังชายแดนไทย-มาเลเซีย ที่อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา รวมเป็นระยะทาง 89 กิโลเมตร มีความสามารถในการส่งก๊าซธรรมชาติประมาณวันละ 750 ล้านลูกบาศก์ฟุต และวางต่อไปจนเชื่อมกับระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติของ Petronas ในรัฐเคดาห์ ประเทศมาเลเซีย รวมเป็นระยะทาง 9 กิโลเมตร มีความสามารถในการส่งก๊าซธรรมชาติสูงสุดประมาณวันละ 750 ล้านลูกบาศก์ฟุต
  • วางท่อส่งก๊าซปิโตรเลียมเหลวขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 8 นิ้ว จากโรงแยกก๊าซธรรมชาติไทย-มาเลเซีย ขนานไปกับท่อส่งก๊าซธรรมชาติจนถึงชายแดนไทย-มาเลเซีย รวมเป็นระยะทาง 89 กิโลเมตร มีความสามารถในการส่งก๊าซปิโตรเลียมเหลวประมาณวันละ 1,166 ตัน และวางต่อไปจนถึงเมือง Prai ในรัฐปีนัง ประเทศมาเลเซีย รวมเป็นระยะทาง 150 กิโลเมตร มีความสามารถในการส่งก๊าซปิโตรเลียมเหลวประมาณวันละ 1,166 ตัน
ระยะที่ 1
ระยะที่ 2
  • วางท่อส่งก๊าซธรรมชาติในทะเลขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 28 นิ้ว จากแปลงเอ 18 ไปยังจุดรับก๊าซธรรมชาติของ ปตท. ในแปลงบี 17 รวมเป็นระยะทาง 55 กิโลเมตร

(2) โครงการโรงแยกก๊าซธรรมชาติไทย-มาเลเซีย

โรงแยกก๊าซธรรมชาติไทย-มาเลเซียที่จะก่อสร้างที่อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา ประกอบด้วยหน่วยแยกก๊าซธรรมชาติ 2 หน่วยซึ่งมีกำลังผลิตหน่วยละ 425 ล้าน ลบ.ฟ./วัน รวมแล้วเต็มโครงการจะสามารถแยกก๊าซได้ 850 ล้าน ลบ.ฟ./วัน การดำเนินการก่อสร้างโครงการแบ่งเป็น 2 ระยะได้แก่

  • ระยะที่ 1 - โรงแยกก๊าซธรรมชาติหน่วยที่ 1 มีขนาดกำลังการผลิตวันละ 425 ล้านลูกบาศก์ฟุต คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในระยะเวลาประมาณ 26 เดือนนับจากวันลงนามในสัญญาก่อสร้าง
  • ระยะที่ 2 - โรงแยกก๊าซธรรมชาติหน่วยที่ 2 มีขนาดกำลังการผลิตวันละ 425 ล้านลูกบาศก์ฟุต คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2552

โครงการทั้งสองนี้ดำเนินการโดยบริษัททรานส์ ไทย-มาเลเซีย จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่างการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย (ปตท.) และบริษัทเปโตรนาส จำกัด ฝ่ายละ 50%

ทั้งนี้ ประมาณการณ์เงินลงทุนรวมสำหรับสองโครงการจำแนกตามระยะที่ 1 และ 2 เท่ากับ 28,640 ล้านบาท และ 11,300 ล้านบาท

Hosted by www.Geocities.ws

1