COMPLAIN OR OPINION

19 พฤศจิกายน 2544 :: จารุวรรณ ยั่งยืน

"ความประหม่า...อีกมุมที่ต้องระวัง!!!"

ดิฉันนั่งอ่านอีเมลล์ของคุณวีรพันธ์ โตมีบุญ เพื่อนรุ่นพี่จากหนังสือพิมพ์เดลินิวส์และผู้ดำเนินรายการวิทยุทางคลื่น 90.5 MhZ ซึ่งหลงไปอ่านเรื่อง "ใครว่าสอบใบผู้ประกาศยาก!!!.ของดิฉันเข้าเลยอดรนทนไม่ไหว(ตกเป็นเหยื่อ อิอิ) ต้องส่งอีเมลล์มาทักท้วงและเล่าถึงประสบการณ์ การทดสอบ...ซึ่งทำให้ดิฉันนั่งหน้างง ไปตลอดเวลาการอ่าน กระทั้งเมื่อตั้งสติได้ ถึงได้ถึงบางอ้อ อ้อ!!ที่แท้เรา 2 คน มีจุดเริ่มต้นของการยื่นเรื่องเพื่อขอทดสอบที่แตกต่างกันค่ะ

"การยื่นคำขอเพื่อทดสอบใบผู้ประกาศตามที่ระเบียบกรมประชาสัมพันธ์ว่า ด้วยการออกใบรับรองเป็นผู้ประกาศของสถานีวิทยุกระจายเสียง และวิทยุโทรทัศน์ พ.ศ. 2543 กำหนดให้ยื่นคำขอตามแบบที่กรมประชาสัมพันธ์กำหนด ที่กองงานคณะกรรมการกิจการวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์แห่งชาติ (กองงาน กกช.) กรมประชาสัมพันธ์ โดยมีหนังสือนำส่งจากผู้อำนวยการสถานี นายสถานี หรือหัวหน้าสถานีถึง ผู้อำนวยการ กองงานคณะกรรมการกิจการวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์แห่งชาติ ในกรณีนักศึกษาหรือผู้เข้ารับการอบรมสถาบันการฝึกอบรมของกรมประชาสัมพันธ์หรือ สถาบันการศึกษาที่เปิดสอนหลักสูตรด้านสื่อสารมวลชน ให้มีหนังสือนำส่งจากผู้อำนวยการสถาบัน คณบดีหรือหัวหน้าภาควิชาด้านสื่อสารมวลชน สำหรับสมาชิกของสมาคมนักวิทยุและโทรทัศน์แห่งประเทศไทย และสมาคมนักจัดรายการข่าววิทยุ โทรทัศน์และหนังสือพิมพ์ ให้มีหนังสือนำส่ง จากนายสมาคมหรือเลขาธิการสมาคม"

เพราะรายละเอียดการทำหนังสือส่งตัวในการยื่นเรื่องเพื่อขอสอบมีข้อปลีกย่อยที่แตกต่างกัน(ตามกรรมตามวาระ:) ประสบการณ์ที่เกี่ยวข้องกับสอบใบผู้ประกาศของคนที่มาจากต่างที่มาเลยแตกต่าง

ดิฉันคิดไปเองนะคะว่าคุณวีรพันธ์ จะต้องใช้วิธีการสมัครเข้ารับการอบรมจากสถาบันการฝึกอบรมของกรม ประชาสัมพันธ์ก่อน เพื่อฝึกการอ่านที่ถูกต้องจากสถาบันจนจบหลักสูตรซึ่งเป็นวิธีที่ ผู้ที่ไม่ได้ ทำงานในสถานีวิทยุ/โทรทัศน์ (ยังไม่มีสังกัดว่างั้นเหอะ)และไม่ได้เรียนจบด้านสื่อสารมวลชน หรืออาจเรียนจบ ด้านสื่อสารมวลชนแต่ช่วงเวลาที่เรียนไม่ได้คิดจะทดสอบใบผู้ประกาศต้องเลือกใช้(ด้วยความจำใจหรือเปล่า?) เพื่อให้ได้มาซึ่งใบรับรองและลายเซ็นต์จากผอ.สถาบัน และนำไปใช้ขอยื่นเรื่อง เพื่อขอทดสอบผู้ประกาศต่อไป ...

ไม่ใช่เรื่องง่ายๆเลยนะคะสำหรับขั้นตอนการขอทดสอบผู้ประกาศ เพราะฉนั้นหากมีใครที่กำลังเรียนด้านสื่อมวลชนหลงเข้ามาอ่าน จงรีบใช้ความเป็นนิสิตนักศึกษา ให้เป็นประโยชน์ค่ะเพราะราคาและความยากของขั้นตอนแรกในการขอใบรับรองเพื่อ ขอทดสอบจากกรมประชาสัมพันธ์ย่อมเยากว่าวิธีการอื่นๆโดยเฉพาะหากต้องผ่านการอบรมจากสถาบันต่างๆ ที่ฝึกสอนการอ่านนั้น แว่วๆมาว่า ค่าอบรมแพงไม่ใช่เล่น และมีการสอน อะไรบ้างดิฉันไม่ทราบ....แต่สัญญาค่ะว่าจะแอบกระซิบถามคุณวีรพันธ์ให้ในวันหน้า)

คำแนะนำและข้อท้วงติงของคุณวีรพันธ์ ดิฉันเห็นด้วย 1000%ค่ะ โดยเฉพาะเรื่อง ของ ความประหม่า เป็นอีกมุมที่ต้องพึงระวังเป็นอย่างยิ่งสำหรับผู้เข้าทดสอบค่ะ


>>>>>>>>_ _ _ _ _ _ _ _ _ _ _ _!

คุณจารุวรรณ
มีข้อทักท้วงเล็กน้อยครับ ในฐานะของคนที่เคยสอบไม่ผ่าน จนสอบผ่าน แล้วไม่ไปรับ (จนกระทั่งมันหมดอายุแล้วค่อยไปเอา)

ก่อนสอบเคยเข้ารับการอบรม โดยวิทยากรจากกรมประชาสัมพันธ์ ติวเตอร์คนสำคัญคือ คุณประพจน์ สาครบุตร ระหว่างติวนั้น เมื่อทดลองอ่าน ในห้องประชุม ปรากฎว่า ผอ.กองวิชาการ ซึ่งเป็น กรรมการสอบผู้ประกาศคนหนึ่งเอ่ยปาก ชมและบอกด้วยว่า ถ้าเข้าสอบละก็พี่ให้ผ่าน

พอไปสอบก็ไม่ผ่านครับ!!!

แต่ผมรู้สึกเป็นคุณกับการที่สอบไม่ผ่าน ซึ่งก็ตรงกับที่คุณประพจน์เคยบอกไว้ว่าคนสอบได้ อาจเป็นคนโชคไม่ดี เพราะไม่รู้ว่าเราบกพร่องอะไร

ผมว่ากรรมการเขาเก่งครับ สามารถจับผิดเราได้แม้กระทั่งในสิ่งที่เราไม่รู้ตัว และวางใจได้ในความตรงไปตรงมาของกรรมการ เพราะมาทราบตอนหลังว่า กรรมการท่านหนึ่งเคยเป็นเพื่อนเล่นกับญาติผู้ใหญ่ คนหนึ่งตั้งแต่เด็ก แต่ท่านก็กรุณาให้ความเมตตา ปล่อยให้เราโชคดีได้รู้ว่าการสอบไม่ ผ่านมันมีประโยชน์อย่างไร

สิ่งที่กรรมการบางท่านเตือนว่าอย่าประหม่า มักเป็น สิ่งที่เราไม่คิดว่ามันเป็นสิ่งสำคัญ

แต่ในฐานะที่เคยสอบและเคยสอบถามจากคนที่เข้าสอบ (ชุดที่เข้าสอบวันนั้นพร้อมกัน10คน มีรอดมาคนเดียวและตลอดทั้งวันรู้สึกประมาณ 50คนได้ รวมแล้วก็ไม่กี่คน) ผมพบว่าปัญหาสำคัญอยู่ที่ว่า "ประหม่า"

คนส่วนใหญ่รู้แต่ว่าเข้าไปแล้วขอให้อ่าน อ่านให้มันพ้นๆไป ผมไม่ทราบว่า....
คุณจารุวรรณสังเกตหรือเปล่าว่ามีบางคนเข้าไปนั่งแล้วอ่านไม่ออกเอาเลยก็มี!!!

บรรยากาศมันก็ไม่เอื้อ โผล่เข้าไปนั่งปุ๊บ เงยหน้าขึ้นมาเจอป้า (น่าจะเป็นคนคนละกับที่ส่งอีเมลล์ถึงกันอยู่)คนหนึ่ง ทำหน้ายกมือขึ้นแล้วก็โบก เป็นสัญญานให้อ่าน
ผมและคนอีกไม่น้อยพอถึงตอนนี้ก็จ้ำพรวดเลย

ผมอ่านถูกต้องแต่ปัญหาสำคัญก็คือเสียงจะหายไปตอนท้าย เมื่อกลับมาตั้งหลักใหม่ อีกปีครึ่ง กรรมการท่านหนึ่ง ที่จะคอยยืนติวอยู่ หน้าห้องจะบอกจุดที่ต้องแก้ไข แต่สิ่งที่ผมเตรียมมาคราวนี้ก็คือ ผมจะอ่านให้ดีที่สุด ที่สำคัญคือจะไม่สนใจ เข้าไปถึงจะไม่รีบอ่าน ป้าอยากจะโบกมือก็เชิญ ผมกำหนดไว้ว่า แกจะต้องโบกมือตามที่ผมต้องการ ไม่ใช่ผมอ่านตามที่แกโบกมือ เพราะฉะนั้น ผมก็นั่งหายใจลึกๆ เข้าออกอยู่สักพักหนึ่ง แล้วผมก็เป็นฝ่ายโบกมือ และส่งยิ้มให้แก

ผมแอบเห็นว่ามีกรรมการคนหนึ่งปีนมาดูด้วยว่า เกิดอะไรขึ้นผมถึงไม่อ่าน ผมไม่ทราบและไม่ได้บอกว่านี่เป็นวิธีที่ถูก แต่ผมทำอย่างนี้และผมสอบได้มาแล้ว วันดีคืนดีผมยังอุตริไปอบรมและทดลองสอบใหม่ กับ
กก.คนหนึ่งที่ถือว่า เฮี๋ยบไม่ใช่เล่น (หัวหน้างานการสอบ ผู้หญิงเสียงแหบๆ) กับโครงการของสถานีวิทยุศึกษา ในการอ่านหนังสือลงเทปให้คนตาบอด

สอบแล้วก็ไม่ได้ทำ เพราะรู้สึกหมั่นไส้รัฐบาล เนื่องจากผมอ่านหนังสือให้สมาคมคนตาบอดฟรีๆ มาตั้งนาน วันดีคืนดี มีงบมิยาซาว่า มากระตุ้นเศรษฐกิจ เขาก็จ่ายเงินค่าอ่านให้ ซึ่งผมรู้สึกมันเลวร้าย ทำลายความมุ่งมั่นต่อการตอบแทนสังคมบนขีดความสามารถอันน้อยนิด ที่มีด้วยเงินไม่กี่บาทเลยไม่ทำ ผมเลยไปไกลครับ

อย่างไรก็ตาม กรุณาย้ำกับศิษย์ของท่านอาจารย์ป้าด้วยว่า พยายามลดความประหม่าลงมา และอย่ากลัวผิด ตอนที่ผมอบรมนั้น บทที่ให้อ่าน ข่าวต่างประเทศ มีชื่อ ผู้นำสำคัญของโลกที่เราคุ้นชื่อแต่พอจะอ่านเอาเป็นการเป็นงานก็ยังขลุกขลัก อันได้แก่ เอลิจา อิเซตเบโกวิช อีกคนคือ นายเสียง ลาแปรส โฆษกรัฐบาลกัมพูชา ซึ่งถ้าใครออกเสียงว่า เสียง ลา แป-รด ละก็ตก ต้อง เสียง ลา-แปรด

ผมอ่านได้... เพื่อนที่เข้าอบรมด้วยกันผิดหมด
ต่อมาฟังข่าวกรมประชาสัมพันธ์ ก็อ่าน ลา - แป-รด เหมือนกัน !!!





>> กลับไปหน้าเดิมค่ะ...:)

| HOME | WORK'S EXPERIENCE | SIGN &VIEW GUESTBOOK |

© 2001 "Complain or Opinion" Created and Published by JaRuWaN yUnG-yUeN All rights reserved.
 
Hosted by www.Geocities.ws

1