COMPLAIN OR OPINION

30 กันยายน, 2000:: by ศิวพร ญานวิทยากุล

"อักขรวิธี(2)"
ในเมื่อเราพูดกันในเรื่องการเป็นผู้ประกาศ ผู้ดำเนินรายการ รายงานข่าว โดยการใช้เสียง เป็นภาษาไทย ก็ขอยึดรูปแบบและประสบการณ์การออกเสียงถ้อยคำเป็นภาษาไทยนะคะ

การออกเสียงหรือพูดนั้น อาจพูดอย่างไม่มีแบบแผนหรือมีแบบแผนก็ได้ ก็คือ พูดตามความถนัดของตน ไม่ต้องคำนึงถึงศิลปะการพูด เนื้อเรื่อง อักขรวิธี อะไรทั้งสิ้น พูดอย่างธรรมชาติ อย่างอิสระ ส่วนการพูดอย่างมีแบบแผน ส่วนใหญ่ไม่ได้ใช้ในชีวิตประจำวันทั่วไป มักใช้กับบุคคลกลุ่มหนึ่ง ต้องเตรียมตัว เรื่อง และวิธีที่จะพูดให้ดี ว่าจะพูดเมื่อไหร่ และอย่างไรจึงจะเหมาะสม

เขาเล่ากันว่า ประวัติการพูดในบ้านเรา ไม่มีการบันทึกไว้อย่างแน่ชัด แต่ที่มีการบันทึกเป็นหลักฐาน ส่วนใหญ่เป็นพระราชดำรัส พระบรมราโชวาท ของพระเจ้าแผ่นดิน ซึ่งหลักฐานว่าเริ่มมีพูดอย่างมีวิธีการและมีแบบแผน เมื่อไม่ถึง 100 ปีมานี้เอง
ในสมัยโบราณ การศึกษามักอยู่ในวัด ผู้รู้หนังสือที่ได้รับการยกย่องเรื่องความรู้และการออกเสียงเป็นมาตราฐาน ว่า อ่านหนังสือ เป็นก็มักจะมาจากในวัดนั่นเอง ต่อมาก็เป็นผู้ประกอบอาชีพครู และบรรดาเหล่าศิลปินทั้งหลาย เป็นต้น
สมัยปัจจุบันเท่าที่เคยได้ยิน แหล่งที่ให้หลักเกณฑ์ความรู้ เช่น คุรุสภา กรมประชาสัมพันธ์ ราชบัณฑิตยสถาน ตามสถาบันการศึกษาต่างๆหรือผลงานของบุคคล เช่น ศาสตราจารย์คุณหญิงเต็มสิริ บุณยสิงห์ เป็นต้น แต่ในที่นี้ขอยึดหลักจากกรมประชาสัมพันธ์นะคะ เพราะบ้านเราต้องสอบผ่านใบผู้ประกาสของกรมประชาสัมพันธ์ก่อน จึงจะสามารถใช้เสียงออกกอากาศได้ รุ่นที่ดิฉันสอบเป็นรุ่นเก่าไม่ทราบเดี๋ยวนี้เปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้าง ในใบคะแนนสอบ กรรมการจะให้ความเห็นแยกเป็น 4 หัวข้อใหญ่ๆคือ
1)..ความถูกต้องตามหลักเกณฑ์การออกเสียง ในภาษาไทย เช่น การออกเสียงสระ พยัญชนะ วรรณยุกต์
อักษรควบ อักษรนำ คำสมาส คำสนธิ คำสันสฤต(อะไรต่อมิอะไรที่เราเยเรียนมาตอนเด็กๆนั่นแหละค่ะ)เป็นต้น
2)..การรักษาความในบท ไม่เติมคำ ตกคำ ตู่คำ ตกความ สับสน วุ่นวายทำให้ความหมายเพี้ยน ๆไป
3)..การออกเสียง ร,ล อย่างถูกต้อง ไม่สลับกันไปมา ให้เป็นธรรมชาติ รื่นหู
4)..การออกเสียงควบกล้ำให้ถูกต้อง หากควบม้าบ้าง กล้ำกลืนฝืนทน(ทั้งคนอ่านและคนฟัง)ก็อาจ
ต้องสอบใหม่เจ้าค่ะ


ขอแถมคำราชาศัพท์ที่เป็นที่สุดของความยากด้วยนะคะ เพราะฉนั้น(ผู้ที่เป็นหนอนหนังสือ ทั้งหลาย หรือคนที่ชอบเรียนวิชาภาษาไทย โดยเฉพาะหลักภาษา ก็จะได้เปรียบมากมายนะคะ เพราะความทรงจำจะซึมซาบเข้าไปอยู่ในตับ ไต ไส้พุง เครื่องในของเรา สามารถใช้ได้อย่างถูกต้อง โดยไม่เวียนศรีษะ มาพลิกตำราตอนจะใช้นะคะ)

(ขอนินทากันสักนิ๊ดดดด อย่างห้องจัดรายการของจส.100เนี๊ยะแหละค่ะ พวกเราต้องช่วยกัน บริจาคหนังสือหลักๆที่ต้องใช้ อย่าง พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน นี่ได้รับความเอื้อเฟื้อ จากคุณนัดดา ทมมืด (ซึ่งก็ได้รับการอนุเคราะห์มาจากสมาชิกอีกทีนึง)หนังสือรวบรวมคำราชาศัพท์ ที่ได้มาจากงานสัปดาห์หนังสือ ปีมะโว้ ตอนนี้ไม่รู้อยู่ที่ไหน ย้ายตึก 2-3 หน สงสัยจะอยู่ในในห้องเก็บห้อง กำลังจะคิดหาเล่มใหม่ทดแทน(ใครจะบรริจาคก็ได้นะคะ)ดิกชั่นนารีของฝรั่งก็ต้องมีไว้มั่ง แถมหนังสืออะไรต่อมิอะไร เช่น แผนที่ประเทศไทย แผนที่ทางหลวง แผนที่กรุงเทพ เส้นทางลัด ทางเลาะ (ขาดแต่แผนที่โลก)เคยเห็นมีหนังสือเกี่ยวกับกรมอุทกศาสตร์เล่มหนึ่ง หนังสือธรรมะ(ตอนนี้หอบมาข้างนอกแล้ว เพราะไม่ค่อยได้ใช้)

กฎหมายรัฐธรรมนูญ กฎหมายเลือกตั้ง วิธีการปฐมพยาบาลเบื้องต้น ปฎิทินกันลืม รวมทั้งข้าวของอะไรอีกหลายอย่างเยอะแยะ ไปหมด จัดเป็นสถานที่ที่รกแห่งหนึ่งของบริษัทก็ว่าได้ค่ะ เนื่องจากบางทีเหล่าดีเจลืมหน้าลืมหลัง จะนึกสนทนาอะไร โอ๊ย !!นึกไม่ทัน เพราะความรู้ไม่ค่อยแข็งแรง หรือเริ่มหลงลืมกันแล้ว ฮิฮิ)ขนาดนี้ยังพูดผิดพูดถูก หาเจอมั๊งไม่เจอมั๊งเลยค่ะ แถมความรกของเจดีย์ (ดีเจ)บางคน(เช่น จารุวรรณ)ทำให้รู้สึกหนุกหนานมาก กับสภาพมือไม้ ควานหาแหล่งข้อมูลรวมทั้งโน้ตที่จดไว้ )

นอกจากนี้ เราน่าจะรู้ที่มาของเสียง รู้วิธีเปล่งเสียง อวัยวะที่มาของเสียงๆ ก็จะช่วยให้การพูด การอ่าน การใช้เสียง น่าสนใจและน่าพอใจอีกด้วยค่ะ งวดหน้าคุยกันต่อเรื่องเสียงนะคะ มีเรื่องมันส์ๆจะเล่าให้ฟังค่ะ





>> กลับไปหน้าเดิมค่ะ...:)

| HOME | WORK'S EXPERIENCE | SIGN &VIEW GUESTBOOK |

© 2001 "Complain or Opinion" Created and Published by JaRuWaN yUnG-yUeN All rights reserved.
 
Hosted by www.Geocities.ws

1