COMPLAIN OR OPINION

24 พฤศจิกายน, 2544:: by จารุวรรณ ยั่งยืน

"พาดหัวข่าว...ความจริงหรือโฆษณาชวนเชื่อ!!"

กำลังนั่งคิดอยู่เลยค่ะว่าอาทิตย์นี้ดิฉันจะบ่นเรื่องอะไรดี ในที่สุดความคิดเห็นของนายกรัฐมนตรี พตท.ทักษิณ ชินวัตรที่ออกมาติงการเสนอข่าวของสื่อมวลชนเมื่อวานนี้ที่ทำเนียบรัฐบาล กรณีที่จะมีการนำประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 294 หรือ ปว.294 มาบังคับใช ้กับเด็กและเยาวชนในการจัดระเบียบสังคมว่า ไม่ตรงกับที่คนอื่นพูด รวมทั้งพาดหัวข่าวที่ตื่นเต้น รุนแรง น่ากลัวในขณะที่เนื้อข่าวกลับไม่ค่อยมีอะไร หลังบรรดานักวิชาการออกมาค้าน ปว.294 ก็ช่วยชีวิตค่ะ

"บางคนขี้เกียจอ่าน พอแค่อ่านตรงพาดหัวก็สรุปเลย แล้วออกมาพูดออกมาวิจารณ ์ คนอย่างนี้มีเยอะ ซึ่งมีอยู่ 2 สาเหตุคือพาดหัวข่าวกับเนื้อหาไม่ตรงกัน จึงควรแก้ให้ตรงกันหน่อย เขียนให้ตรงกับข้อเท็จจริง และคนที่ออกมาวิจารณ ์ก็อ่านให้ละเอียด เพราะจริง ๆ แล้ว รมว.มหาดไทย ไม่ได้พูดเหมือนอย่างที่วิจารณ ์เลย ซึ่งเรื่องนี้อยู่ระหว่างระดมความคิด เมื่อแก ้กฎหมายเสร็จแล ้วก็จะประกาศชัดเจน และได้มอบหมายให ้ รมว.มหาดไทย ไปศึกษาปัญหา โดยนำสังคมปัจจุบันไปเปรียบเทียบกับสังคมประเทศสหรัฐ นิวซีแลนด ์ หรือออสเตรเลีย ที่มีประชาธิปไตยเก่าแก่ ่ว่าทำอย ่างไรถึงวางประชาธิปไตยให้เด็กอยู ่ในระเบียบ ไม่ทำอะไรที่เป็นโทษ เพราะเดี๋ยวนี้ยาเสพติดเต็มไปหมด รวมทั้งเรื่องฟรีเซ็กซ ์ก็เกินเลย เป็นห่วงลูกหลานในอนาคต จึงบอกให้ท่าน(มท1)ไปดู"

ไม่ใช่แค่ติงนักข่าวนะคะ แต่ยังติงไปถึงบรรดานัก(วิชาการ)วิจารณ์ที่ท่านนายกรัฐมนตรีตัดสินไปเองแล้วว่า แค่อ่านพาดหัวข่าวแล้วออกมาวิจารณ์ด้วยสิคะ

ทั้งที่นักวิชาการที่ออกมาวิจารณ์บางคนเป็นผู้เชี่ยวชาญทางกฎหมาย!!!

เคยมีบางคนพูดถึงท่านนายกรัฐมนตรีคนนี้ว่า "นายกปากไว..คือพูด ไปก่อนแล้วค่อยคิด"!!!ไม่ทราบว่าดิฉันคิดไปเองหรือเปล่าว่าช่วงเช้าตอนที่นายกรัฐมนตรีพูดในรายการนายกพบประชาชน ที่ออกอากาศทุกเช้าวันเสาร์ ฟังดูเสียงท่านเครียดๆแล้วประเด็นที่คุยก็คล้ายกับออกตัว(แก้ตัว)กับคำพูดที่ติง(ด่า)เค้าไปทั่วหรือเปล่าไม่ทราบสิค่ะ(อิอิ)

เอาน่ะ ถ้าเจตนาที่ติงคนที่มีความคิดเห็นไม่ตรงกับท่านไปทั่ว คือ การทำเพราะหวังดีกับประเทศชาติอย่างที่ท่านอธิบายเสียงเครียดๆๆไปเมื่อช่วงเช้าจริง...ดิฉันก็เชื่อค่ะว่าทุกคนเข้าใจและยอมรับได้

เอ.....จริงๆแล้ววันนี้ดิฉันตั้งใจจะคุยเรื่อง การพาดหัวข่าวหนังสือพิมพ์นี่นา...!!!



เอาน่ะ !!ในฐานะที่ดิฉันก็เป็นคนหนึ่งล่ะคะ ที่เคยทำหน้าที่"พาดหัวข่าว"ภาษาทางการจังเลยค่ะ จริงแล้วพวกเราจะใช้คำว่า "โปรยหัวข่าว"แทนค่ะ(แม้เป็นข่าววิทยุแต่โดยหลักการไม่แตกต่างกันค่ะแต่ความสั้นยาวของคำที่ใช้นี้ต่างกันแน่นอน) ฟังแล้วได้อารมณ์ดีกว่ามั๊ยคะ โปรยต้นหอม ผักชี ดอกกุหลาบ ดอกมะลิ พริกสด พริกแห้ง น้ำตาล น้ำปลา แล้วแต่เนื้อหาข่าว การโปรยหัวข่าวก็คือการดึงเอาประเด็นที่ดูแล้วเป็นจุดขายของข่าวนั้นออกมาค่ะ โปรยแล้วคนฟัง(สำหรับข่าวทีวี/วิทยุ) คนอ่าน(นสพ)ต้องสะดุด...หยุดฟัง อย่างนี้เรียกว่าคนโปรยหัวคนนี้เจ๋ง(อิอิ) ...แล้วการโปรยนี้เค้าก็ไม่บอกหมดหรอกนะคะว่าเกิดอะไรขึ้น บอกหมดแล้วใครจะฟังหรืออ่านรายละเอียดของข่าวล่ะคะ

รัฐบาลจะนำประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 294 มาบังคับใช้กับเด็กและเยาวชนในการจัดระเบียบสังคม" กับ "รัฐบาลกำลังระดมความคิดเห็นเกี่ยวกับการแก้ไขกฎหมายประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 294เพื่อที่จะนำมาใช้กับเด็กและเยาวชนในการจัดระเบียบสังคม" ข่าวเดียวกันค่ะ ...แต่โปรยหัวข่าวคนล่ะแบบ....ลองถามตัวคุณเองสิคะ ว่า โปรยหัวอันไหนที่จะทำให้คุณชะงักและหยิบหนังสือพิมพ์มาอ่าน หรือหยุดเพื่อจะรอฟังรายละเอียดของข่าวกรณีฟังข่าววิทยุหรือกำลังดูทีวี?

จริงๆแล้วตัวอย่างการโปรยหัวที่ลองโปรยให้อ่านเป็นกลางและไม่รุนแรงนะคะ

หนังสือพิมพ์นี้ มี 2 ประเภทนะคะ คือหนังสือพิมพ์ที่เน้นปริมาณการขาย(ไม่เน้นคุณภาพเนื้อหาสักเท่าไหร่ เน้นใบ้หวย ซุบซิบชาวบ้านแต่ขายได้ขายดี)กับหนังสือพิมพ์เน้นคุณภาพ(แต่ยอดขายอาจไม่ทะลุเป้าเหมือนกลุ่มแรก) อยู่ที่ตัวเราว่าจะเลือกแบบไหน ไม่พอใจ ไม่ชอบใจก็ไม่ต้องซื้อมาอ่าน ประเภทอ่านไป บ่นไป ด่าไป นี้ดิฉันไม่เข้าใจจริงๆค่ะ พวกบุคคลิกภาพสับสนในตัวเองอย่างนี้ (อิอิ)

พาดหัวข่าวที่มีปัญหานี่ คือการพาดหัวข่าวของหนังสือพิมพ์ ดุเดือด เลือดพล่าน เรียกความสนใจจากคนอ่านได้เท่าไหร่ ยิ่งประสบความสำเร็จในยอดขาย เวลาที่พวกเราข่าววิทยุ/ทีวี โปรยหัวแล้วเจอคำพูดว่า "เฮ้ยยโปรยหัวข่าวเป็นข่าวหนังสือพิมพ์เชียวนะ"ไม่มีใครยิ้มรับหรอกค่ะ เพราะนั้นคือการด่า(ไม่ใช่ตำหนิ) ซึ่งหลักการนี้เคเบิ้ลทีวีช่องข่าว24ชม.เค้าเอามาใช้ค่ะดุเดือดเลือดพล่านชนิดที่หลายครั้ง ดิฉันและเพื่อนๆนั่งฟังแล้วนั่งบ่น มันโปรยหัวออกมาอย่างนี้ได้ยังไงฟ่ะ เป็นการฆ่าตัวเองอย่างเห็นได้ชัด ......แต่ดิฉันก็ไม่ทราบเหมือนกันนะคะว่าคนอื่นจะรู้สึกอย่างดิฉันหรือเปล่า

บางทีช่วงอายุของคนเรานี้ก็สำคัญนะคะ อายุที่เพิ่มขึ้นสอนให้เรารู้จักยั้งความบ้าบิ่นมากขึ้น ระมัดระวังในความคิดการนำเสนอมากขึ้น(เพราะฉะนั้นเรื่องของการพาดหัวที่กำลังอ่านอยู่นี้ ดิฉันจะเล่าเฉพาะในสิ่งที่เล่าได้เท่านั้นค่ะ)

เอาล่ะคะ ดิฉันกำลังจะทำให้คูณเปลี่ยนอิริยาบท จากการนั่งอ่านแบบสบายๆมานั่งตัวตรงในระหว่างการอ่านเรื่องที่ดิฉันบ่นแล้วค่ะ:)

หน้าที่สำคัญของสื่อมวลชนคือการทำความจริงให้ปรากฎ โดยการตรวจสอบและวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาลและองค์กรต่างๆ ที่มีผลกระทบต่อประชาชนโดยรวม ที่ผ่านมาสื่อมวลชนประสบความสำเร็จในการกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีต่อสังคมไทย อย่างไรก็ตามในขณะที่ทำหน้าที่เป็นกระจกสะท้อนความหลากหลายของชีวิตที่อยู่รวมกันในสังคม สื่อมวลชนเองก็ควรที่จะต้องหันมามองภาพสะท้อนการทำงานของตัวเองด้วยเช่นเดียวกัน

กระแสเสียงวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับการทำงานของสื่อมวลชนไทยมีอย่างต่อเนื่อง หากพิจารณาด้วยใจที่เป็นธรรมล้วนมีพื้นฐานมาจากความเป็นจริง จึงเป็นหน้าที่เช่นกันที่สื่อมวลชนต้องหยุดรับฟังและหันกลับมาทบทวนถึงบทบาทและหาทางปรับปรุงการทำงานให้ดีขึ้น

โดยเฉพาะข้อวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับการพาดหัวข่าวที่รุนแรง ตื่นเต้น หวือหวาเกินจริง ใส่ความคิดเห็นส่วนตัว แทรกอคติ ความคิดเห็นโน้มน้าวชักจูงใจคนอ่าน ใส่อารมณ์ชอบหรือไม่ชอบอย่างรุนแรงรวมถึงการพิพากษาความถูกผิดของบุคคลในข่าว เป็นประเด็นที่มีการพูดถึงบ่อยครั้ง ทั้งที่โดยหลักการแล้ว ภาษาที่ใช้ในการพาดหัวข่าวจะต้องแสดงออกถึงความเป็นกลางหรือภววิสัย( objective)ปราศจากอคติของหนังสือพิมพ์ฉบับนั้น คือ ไม่ใส่ความคิดเห็นลงไปด้วย เพราะโดยบทบาทของหนังสือพิมพ์เองนั้นสามารถโน้มน้าว ชักนำและยั่วยุกระตุ้นความรู้สึกให้ผู้อ่านได้ครุ่นคิดถึงสิ่งที่หนังสือพิมพ์ต้องการนำเสนอได้ เพราะฉะนั้นจึงเป็นความจำเป็นอย่างยิ่งตามหลักนิเทศศาสตร์ ที่การพาดหัวข่าวของหนังสือพิมพ์จะต้องมีความเป็นกลางหรือภววิสัย( objective)ยกเว้นกรณีที่หนังสือพิมพ์ฉบับนั้นต้องการชี้นำเพื่อให้เกิดเป็นประชามติ(opinion)ซึ่งเป็นสิ่งที่สามารถกระทำได้

ในเรื่องของความเป็นกลางหรือภววิสัย( objective)ในการพาดหัวข่าวนั้น เคยมีนิสิตระดับปริญญาโท คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อรพรรณ มูลจันทร์ ได้ทำการวิจัยเสนอเป็นวิทยานิพนธ์ไว้เมื่อปี พศ.2536 ชี้ชัดว่า ร้อยละ 72 ของการพาดหัวข่าว ล้วนแต่ใส่ความคิดเห็น หรือถ้าจะกล่าวให้ชัดขึ้น คือ ในการพาดหัวข่าวทุกๆ10 ชิ้น มีเพียง 3 ชิ้นเท่านั้นที่เป็นกลาง!!! หนังสือพิมพ์ที่พาดหัวข่าวไม่เป็นกลางมากที่สุด ถึงร้อยละ 86 คือ หนังสือพิมพ์ไทยรัฐตามมาด้วยข่าวสด ที่ร้อยละ 83

คงปฎิเสธไม่ได้เลยว่าการพาดหัวข่าวเป็นเรื่องของการจับประเด็นเพื่อสร้างเป็นจุดขายให้กับหนังสือพิมพ์ และบางครั้งเกิดความผิดพลาดในประเด็นที่นำเสนอ ความผิดพลาดที่เกิดจากความสามารถในการย่อความ ตีความหมาย จับประเด็นของคนที่ทำหน้าที่ พาดหัวข่าว ต้องยอมรับความจริงที่ว่านักข่าวทุกคนมีความรู้ รีไรเตอร์ทุกคนมีความสามารถ แต่คนเราทุกคนไม่สามารถที่จะรอบรู้ไปหมดทุกด้าน ซึ่งหากผสมผสานกับการไม่ไถ่ถามผู้รู้อย่างจริงจัง โอกาสจับประเด็นผิดก็มีโอกาสเป็นไปได้สูงทั้งคนส่งข่าว(นักข่าว)และคนรับข่าว(รีไรเตอร์)เมื่อรีไรเตอร์ส่งประเด็นข่าวที่ถูกย่อมาแล้วถึงมือหัวหน้าข่าว เนื้อที่ของหนังสือพิมพ์ที่มีอยู่ไม่มากนักก็อาจจะกลายเป็นอีกหนึ่งองค์ประกอบที่ทำให้หัวหน้าข่าวต้องหยิบเอาเฉพาะประเด็นที่คิดว่าขายได้มานำเสนอ ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะย่อความยาวของเนื้อข่าวที่มีระยะการพูดจริง 1 ชั่วโมงให้เหลือเพียง 15 บรรทัด โดยยังคงเนื้อหาเดิมได้ครบถ้วน และได้ดังใจ เหล่านี้คือความผิดพลาดที่เกิดจากการขั้นตอนการปฎิบัติงานแต่อีกประเด็นของความผิดพลาดเกิดจากความจงใจ จงใจจะบิดเบือนข่าวของบุคคลที่ทำหน้าที่ในการพาดหัวข่าว!!!

สุภา ศิริมานนท์ เคยกล่าวใน"การเสนอความจริง กับการกดดันทางธุรกิจและสังคมที่หลอกกันเอง"เกี่ยวกับข้อจำกัดของหนังสือพิมพ์ไว้ว่า"แม้หนังสือพิมพ์มีบทบาทหน้าที่หลักที่จะต้องเสนอความจริง แต่ความกดดันทางธุรกิจมักจะทำให้อุดมการณ์แปรเปลี่ยนไป หนังสือพิมพ์ต้องคำนึงถึงยอดขายและรายได้จากโฆษณา การเขียนหนังสือแข็งๆและตายด้านใครจะอยากอ่าน ดังนั้น ลัทธิทำเรื่องใหญ่ให้เป็นเรื่องเล็ก( Triviality) การหนีจากปัญหาซึ่งยากต่อการอธิบาย( Escapism)การประโคมข่าวที่หวือหวาไร้สาระจึงบังเกิดขึ้น

สุภา เห็นว่า "เนื่องจากสื่อมวลชนนั้นสามารถให้ได้ทั้งคุณและโทษ ดังนั้น นักหนังสือพิมพ์จึงต้องมี "ธรรม"เป็น พื้นฐาน…"เสรีภาพของหนังสือพิมพ์จึงเป็นเสรีภาพในด้านการสร้างสรรค์และบทบาทของหนังสือพิมพ์ย่อมเป็นธรรมสถิตย์ของสังคม ซึ่งหนุนเกื้อให้เกิดความเจริญด้านต่างๆ….หากมุ่งแต่ยอดขายอย่างเดียว "ก็เป็นดุจเครื่องเบิกทางอุบายให้แก่เพื่อนร่วมชาติ หนังสือพิมพ์นั้นๆย่อมไร้ค่าไปเองในที่สุด"

ในสังคมปัจจุบันที่องค์กรสื่อมวลชนต้องแข่งขันกันแสวงหาผลกำไร ซึ่งหากเป็นการแข่งขันโดยตั้งอยู่บนพื้นฐานของการเคารพและตระหนักในหลักจริยธรรมของวิชาชีพหนังสือพิมพ์ (Code of Ethic) ปัญหาการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลก็คงจะไม่เกิดขึ้น แต่ในมุมกลับกัน หากเป็นการแข่งขันเพื่อให้ได้มาซึ่งกำไรจากสินค้าคือเนื้อหาของข่าวสาร ความรู้และบันเทิง การใส่สีสันให้เร้าใจ เพื่อให้เกิดความเตะตา ดึงดูดความสนใจของผู้ซื้อก็ต้องเกิดขึ้น

แต่ปัญหาสำคัญไม่ได้อยู่ที่การแข่งขันเพื่อแสวงหาผลกำไรขององค์กรหนังสือพิมพ์ แต่อยู่ที่"จิตสำนึก"ของคนที่กำลังทำหน้าที่สื่อมวลชน ว่ามีความเข้าใจและตระหนักถึงหลักจริยธรรมของวิชาชีพที่กำลังปฎิบัติหรือไม่?และอย่างไร? เป็นเรื่องของ"จิตสำนึก"ที่คงไม่ต้องมีใครมานั่ง บอก นั่งสอนเหมือนกับตอนที่เราเป็นเด็ก ที่พ่อแม่ ผู้ปกครอง ครู อาจารย์ พร่ำสอนว่า เกิดมาต้องเป็นคนดี หรือต้องปฎิบัติตัวอย่างไรในแต่ละวัน เช่นตื่นมาตอนเช้าต้องล้างหน้า แปรงฟัน สวมเสื้อผ้าก่อนออกไปนอกบ้าน

จิตวิญญานของหนังสือพิมพ์เป็นสิ่งที่มีชีวิต มีอิสระเสรี เป็นกระบวนการที่ดำเนินไปอย่างโปร่งใสและอธิบายได้ ไม่ใช่สิ่งเลื่อนลอยหรือเป็นเพียงแค่อุดมคติที่ไม่สามารถปฎิบัติให้เห็นเป็นรูปธรรม การรายงานข่าวที่รวดเร็ว ถูกต้อง ให้แง่คิดความเห็นให้คนบริโภคข่าวได้นำไปคิดต่อเอง นี่คือจุดหมายสูงสุดของคนทำข่าว ซึ่งเสมือน"หมาเฝ้าบ้าน"ที่ต้องเห่าในยามที่ควรจะเห่า!!!

สำคัญที่สุดเหนืออื่นใด ที่วันนี้คนหนังสือพิมพ์ต้องตอบตัวเองให้คือ เคยรับรู้หรือมีโอกาสได้อ่านธรรมนูญ สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ รวมถึงข้อบังคับว่าด้วยจริยธรรมแห่งวิชาชีพสภาการ หนังสือพิมพ์แห่งชาติ (Code of Ethics for members of the Press Council of Thailand ) หรือไม่!!!

คำตอบ...อาจทำให้คนในวิชาชีพอื่น รู้สึกหนาวและเลิกวิพากษ์วิจารณ์และถามถึงจริยธรรมของคนทำงานสื่อไปเลยก็ได้ค่ะ...:)





>> กลับไปหน้าเดิมค่ะ...:)

| HOME | WORK'S EXPERIENCE | SIGN &VIEW GUESTBOOK |

© 2001 "Complain or Opinion" Created and Published by JaRuWaN yUnG-yUeN All rights reserved.
 
Hosted by www.Geocities.ws

1