COMPLAIN OR OPINION

1 ธันวาคม 2545 :: by จารุวรรณ ยั่งยืน

"ความรู้สึกส่วนตัวเส้นแบ่งเขตที่ต้องระวัง"
เมื่อช่วงต้นเดือนพฤศจิกายน ดิฉันมีโอกาสนัดทานข้าวเที่ยง(แต่กว่าจะได้กินปาเข้าไปบ่าย)กับเพื่อน-เพื่อน(บางคน) ร่วมแก๊งสมัยเรียน ปริญญาโท ที่จุฬาฯ ค่ะ(ซึ่งต้องบันทึกเป็นเรื่องมหัศจรรย์ได้เลยค่ะ-ที่สามารถรวมตัวกันได้) เจอกันคราวนี้ ดิฉันเจอคำถามและการถูกมองหน้าแบบไม่อยากเชื่อหูและเชื่อสายตาจากเพื่อน(รุ่นพี่) เมื่อทราบวันเดือนปีเกิดของดิฉัน ตามด้วยการนับนิ้วหักลบความห่างของอายุระหว่างคนถามกับตัวดิฉัน และตามด้วยประโยคที่ว่า ….นี่หนูอายุห่างกับพี่มากเลยนะคะ พี่ไม่เคยนึกมาก่อนเลยว่าหนุจะอายุน้อยขนาดนั้นตอนที่เจอกัน(ฮาๆๆๆๆพี่ขา พี่สงสัยแต่หนูรันทดเจ้าค่ะ ….รันทดในความหน้าแก่เกินอายุเจ้าค่ะ).

ประเด็นหลักไม่ใช่เรื่องนี้ค่ะ แต่อยู่ที่ เพื่อนรุ่นพี่ที่หน้าละอ๊อน-ละอ่อน(แต่อายุมากกว่าเกือบ 7 ปี) ของดิฉันคนนี้…ถาม ด้วยคำถามที่ดิฉันได้แต่ยิ้มและบอกว่า โชคดีแล้วค่ะพี่ขาที่หนูไม่เคยเจอและหนูไม่อยากเจอเหตุการณ์อย่างนี้ค่ะ…..ไม่มีใครอยากเจอหรอกนะคะ จัดรายการแล้ววอ่านข้อมูลอุบัติเหตุแล้วพบว่า รายชื่อคนที่ประสบอุบัติเหตุเป็นคนที่เรารู้จัก

แต่ คืนวันอาทิตย์ที่ 17 พฤศจิกายน 2545 ช่วงประมาณ 20.30 น ดิฉันคิดถึงเพื่อนจับใจ ในระหว่างที่ดิฉันกำลังต่อเวรรับช่วงต่อจากผู้ดำเนินรายการอีกคน(คุณปานชนก พาทิทิน)ที่กำลังจะออกเวร ในระหว่างต่อเวรเราพูดกันถึงอุบัติเหตุรายล่าสุดที่เพิ่งได้รับแจ้งข้อมูลเข้ามา ว่า เป็นอุบัติเหตุที่รุนแรงมาก เพราะคนแจ้งบอกว่า เห็นรถเก๋งยุบเข้าไปใต้ท้องรถสิบล้อ และตอนเกิดเหตุเสียงดังมาก

แต่หลังจากนั้นประมาณ 30 นาที..ช่วงระหว่างพักสปอตโฆษณา..พี่ฝ่ายประสานงาน เดินหน้าซีดเข้ามาในห้องจัดรายการ(ซึ่งปกติพี่คนนี้จะไม่เดินเข้ามาค่ะ ไม่ว่าจะเกิดเหตุการณ์เร่งด่วนแค่ไหน Chat ผ่านทาง NetMeeting ตลอดค่ะ ..

“อุบัติเหตุที่ชะอำ รู้มั๊ยว่ารถใคร” ดิฉันไม่ทราบหรอกนะคะ ว่ารถใคร แต่ที่แน่ๆใจหายวูบค่ะ เพราะรู้ว่า อย่างนี้เหตุการณ์ไม่ปกติ “คุณหมอรุ่งธรรม(ลัดพลี)” ประโยคถัดมา ทำเอาดิฉันเย็นวูบไปทั้งตัว

จำได้ว่ามีโอกาสได้รู้จักคุณหมอครั้งแรกผ่านทางนิตยสาร เกี่ยวกับกิตติศัพท์ของการเป็นคุณหมอผ่าตัดฝีมือเยี่ยมทางสมอง มีโอกาสได้พูดคุยกับคุณหมอครั้งแรก เมื่อ 7 ปีที่แล้วช่วงที่มาดำเนินรายการครั้งแรกที่ จส.100(แบบมาชั่วคราว)เมื่อคุณหมอซึ่งกำลังขับรถและเปิดฟังจส.100 อยู่ด้วย โทรศัพท์มาแนะนำวิธีการให้ความช่วยเหลือบื้องต้นผู้ที่ได้รับบาดเจ็บ(จากอะไรสักอย่าง ซึ่งดิฉันจำไม่ได้)ซึ่งทางญาติขอทางผ่านทางจส.100 ออกอากาศเพื่อไปโรงพยาบาลในช่วงเวลาที่การจราจรติดขัด หลังจากนั้นมา ดิฉันมีโอกาสได้พูดคุยกับคุณหมออีกหลายครั้ง ในช่วงเวลาที่คุณหมอเข้าเวรคุณหมออาสาแปซิฟิค ซึ่งคุณหมอจะพูดคุยให้ความรู้เกี่ยวกับการดูแลตัวเอง รักษาสุขภาพ แถมด้วยวันดีคืนดี คุณหมอก็ยังโทรศัพท์เข้ามาพูดคุยประเด็นแสดงความคิดเห็น จนดิฉันกลายเป็นคุ้นเคยกับคุณหมอ และไม่ใช่แค่ดิฉันคนเดียวค่ะ ทุกคนในออฟฟิช ล้วนคุ้นเคยกับน้ำใจของคุณหมอ จำได้ว่าดิฉันต้องขอเวลาที่จะปรับความรู้สึกอยู่ครู่ใหญ่ ในขณะที่ด้านนอก ทุกคนเงียบสนิท ทุกคนเศร้า และนึกถึงสิ่งดีดีที่คุณหมอทำไว้กับคนรอบข้าง

ดิฉันคิดถึงคำถามของเพื่อน(รุ่นพี่)ร่วมห้องเรียน ขึ้นมาจับใจ

วันนี้ ดิฉันทราบแล้วค่ะ ว่า ความรู้สึกของคนที่ หากต้องทราบว่า รายชื่อของคนที่ประสบอุบัติ ที่เรากำลังติดตามอยู่เป็นคนที่เรารู้จัก เราจะเป็นอย่างไร”

ใจหายค่ะ และ หมดแรงค่ะ แต่เสียงที่ออกไป ..ต้องนิ่งค่ะ นิ่งและสงบ..ทั้งที่เรากำลังร้องไห้!!!

แล้วมันก็ทำให้ดิฉันนึกขึ้นมาได้ว่า ตัวเองลืมเล่าให้เพื่อนฟังไปค่ะ ว่าจริงๆแล้วดิฉันเคยเจอบางเหตุการณ์ที่ทำให้สติแทบหลุดไประหว่างทำงานมาก่อนหน้านี้

ประมาณช่วงเดือน มีนาคม (ถ้าดิฉันจำไม่ผิด) ในระหว่างที่แวะเข้าไปขอใช้อุปกรณ์ของฝั่งศูนย์ข่าวแปซิฟิคสัมภาษณ์พิเศษ ในระหว่างนั้นฟังจส.100 ไปด้วย ได้ยินแว่วๆว่ามีเครื่องบินตก แต่ที่ทำให้ดิฉันลุกพรวดจากเก้าอี้ ทันทีที่สัมภาษณ์งาน(ส่วนตัวทางโทรศัพท์)เสร็จ แล้ววิ่งไปฝั่งจส.100 ก็เพราะประโยคที่บอกว่าเครื่องบินที่ตกเป็นเครื่องบินรบ ตก(ชนภูเขา)ระหว่างซ้อมบินผาดโผน ที่นครศรีธรรมราช

ชื่อของเพื่อนบางคนแว๊บเข้ามาในสมองค่ะ

ยิ่งทราบว่า เครื่องที่ตกเป็น F5 อาการเย็นและชาวูบไปทั้งตัวค่ะ จำได้ว่า พลิกหาเบอร์โทรศัพท์มือถือของเพื่อนมือไม้สั่น แต่เชื่อมั๊ยคะ ว่าหาไม่เจอ ไม่เจอจริงๆค่ะ เวลาไม่นานค่ะ ได้ชื่อนักบิน ชื่อนักบินนี้ทำเอาดิฉันใจหายวูบ ตัวเย็น แม้ประโยคถัดมาจะบอกว่า นักบินปลอดภัยก็ตาม

แม้พี่ที่เป็นผู้ควบคุมรายการ จะบอกให้ใจเย็นๆเพราะนักบินอาจจะชื่อซ้ำกันก็ได้ แต่ดิฉันบอกไปว่า นักบิน F5 ในเมื่อไทยมีอยู่ไม่กี่คนค่ะ

โชคดีที่ไม่ได้เป็นคนจัดรายการ เพราะถ้าเป็นอย่างนั้นดิฉันคงไม่สามารถคุมอารมณ์ได้อย่างแน่นอน ใหห้เป็นคนที่เย็นที่สุด นิ่งที่สุด ดิฉันก็เชื่อค่ะว่ายากจะคุมอารมณ์ให้นิ่ง ดิฉันยืนยันค่ะ เพราะดิฉันได้ชื่อว่าเป็นคนที่นิ่งที่สุดคนหนึ่ง ในเรื่องของการคุมอารมณ์หรือความรู้สึก แต่นั้น….สำหรับเหตุการณ์ที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับคนใกล้ตัว !!

แต่ที่ร้ายกว่านั้นค่ะ พอทราบชัดเจนว่าเพื่อนดิฉันปลอดภัย…. ดิฉันรีบกลับบ้านทันทีค่ะ….แต่ไม่ลืมที่จะบอกพี่ที่ควบคุมรายการว่า หากเจอเบอร์โทรศัพท์ของเพื่อน ดิฉันจะรีบโทรมาบอกนะคะ ….

ในระหว่างที่เดินออกจากประตูออฟฟิช ดิฉันเข้าใจทันทีว่าเพราะอะไร เมื่อเจอเหตุการณ์ที่เราต้องการสัมภาษณ์ญาติของคนที่ได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต แล้วเค้าไม่ต้องการให้สัมภาษณ์ ..ไม่ต้องการให้เป็นข่าว ..เข้าใจถึงความรู้สึกของคนที่ต้องสูญเสียคนที่รัก โดยไม่คาดคิด จากอุบัติเหตุ..เข้าใจถึงความรู้สึกของการต้องการความเป็นส่วนตัว และเก็บคนที่เราคุ้นเคยไว้ในจุดที่ปลอดภัยจากการขุดคุ้ยในช่วงเวลาที่ควรต้องพักผ่อนและต้องการความสงบ

ความต้องการเป็นส่วนตัว…….

กับการขุดคุ้ยเพื่อให้ได้มาซึ่งข้อเท็จจริงสำหรับบางอาชีพ…มันช่างสวนทางกันจริงๆนะคะ

คงไม่ต้องบอกใช่มั๊ยคะ ว่า ดิฉัน จะโทรศัพท์กลับมาบอกเบอร์โทรศัพท์ของเพื่อนให้กับที่ออฟฟิชหรือเปล่า ทั้งที่หากว่าเราได้สัมภาษณ์ นักบิน F5 คนนั้นเป็นคนแรก ……เราถือว่าชนะ ในแง่ของการนำเสนอข่าว ….

สิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับคนทำข่าว คือ ระวังอย่าให้ความรู้สึกส่วนตัวมามีอำนาจเหนือวิสัยของนักข่าวค่ะ …..



หมายเหตุ :: เขียนเพิ่มเติม 20 ธันวาคม 2545

แต่ที่แน่ๆเรื่องนี้ดิฉันถูกติงผ่านทางอีเมลล์จากพี่ที่เคารพบางคน(พี่นกเหล็ก จากแซคชัน จุดประกาย หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ)ค่ะ .

“วิธีคิดของวรรณนะผิด ที่มองว่าการทำงานสัมภาษณ์คนเจ็บ หรือญาติพี่น้องคนเจ็บ ที่สนิทสนมกับเรา ด้วยการใช้ศัพท์ "ขุดคุ้ย" เพราะมันไม่ใช่การขุดคุ้ย อะไรของเขาเลย แม้แต่น้อย แต่มันเป็นการแสดง ว่าเขาได้รับความเป็นห่วง เป็นใยจากคนในสังคมต่างหาก โดยมีเราที่สนิทสนมกับเขา เป็นสื่อกลาง ซึ่งเข้าใจพวกเขาได้ดีที่สุด นะน้องเอย... ประเด็นมันเป็นแบบนี้”

ดิฉันไม่ได้แย้งในข้อเสนอแนะของเพื่อนรุ่นพี่ของดิฉันค่ะ เพราะในเวลาปกติซึ่งไม่ใช่กรณีที่เกิดขึ้นกับคนใกล้ตัว ดิฉันก็ยึดหลักเดียวกับเพื่อนรุ่นพี่แนะนำในการทำงาน แต่สำหรับเรื่องของคนใกล้ตัว ดิฉันใช้ความรู้สึกส่วนตัวตัดสินค่ะ ซึ่งแต่ละคนมีมุมมองและความคิดที่แตกต่างค่ะ สำหรับบางสถานการณ์และบางคนเวลาที่ย่ำแย่ที่สุด กำลังใจและความเป็นห่วงใยที่สำคัญมาจากคนในครอบครัวไม่ใช่จากคนที่อยู่นอกครอบครัวค่ะ!

ใช่ค่ะ!!เรื่องที่สำคัญและต้องระวังที่สุดสำหรับคนทำข่าว คือ ระวังอย่าให้ความรู้สึกส่วนตัวมามีอำนาจเหนือวิสัยของนักข่าวค่ะ!

ในขณะเดียวกันทั้ง2เหตุการณ์นี้ ทำให้ดิฉันเชื่อมากขึ้นค่ะ ว่าการมีชีวิตอยู่กับความตายจริงๆมันใกล้กันมากนะคะ เมื่อวานยังคุยกันอยู่วันรุ่งขึ้นเขาอาจจาก เราไป ดังนั้นคิดอยากจะทำอะไร อยากทำเพื่อใคร อยากพูด อยากบอก อย่ารีรอ ทำความดี หาความสุข เราจะได้พร้อมที่จะตายทุกเวลา!!

>> กลับไปหน้าเดิมค่ะ...:)

| HOME | WORK'S EXPERIENCE | SIGN &VIEW GUESTBOOK |

© 2001 "Complain or Opinion" Created and Published by JaRuWaN yUnG-yUeN All rights reserved.
 
Hosted by www.Geocities.ws

1