COMPLAIN OR OPINION

วันศุกร์ที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2545:: by นริศสา สุขสนั่น (รายงานพิเศษ ตีพิมพ์ในคอลัมน์จุดประกาย หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ วันศุกร์ที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2545)

"สุดทางที่ไต้หวัน "

ตลาดแรงงานใน 'ไต้หวัน' ถือเป็นแหล่งรายได้ ที่กำหนดชะตากรรม ของแรงงานไทย นับแสนชีวิต รวมไปถึง ครอบครัวของพวกเขา ดังนั้น ทันทีที่เกิดความร้าวฉาน ขึ้นในความสัมพันธ์ ระหว่างไทยกับไต้หวัน ไม่ว่าแพะทางการเมือง ในเรื่องนี้จะเป็นใคร แพะตัวจริงก็คือ บรรดาแรงงานเหล่านี้นี่เอง นริศสา สุขสนั่น ลำดับเหตุการณ์ และวิเคราะห์ผลกระทบ ที่เกิดขึ้น

'ไต้หวัน' ในช่วงสิบปีที่ผ่านมา ถือว่าเป็น 'ตลาดแรงงานที่ใหญ่ที่สุดของไทย' คนงานทั้งหนุ่มน้อยหนุ่มใหญ่ หรือแม้แต่หญิงสาว ต่างมุ่งหวังที่จะเดินทางไปขุดทองในไต้หวัน

โดยตั้งแต่ปี 2541-2545 (ก.ค.) มีแรงงานไทยเดินทางไปทำงานใน 126 ประเทศทั่วโลก รวมทั้งสิ้น 686,997 คน ในจำนวนนี้ เป็นแรงงานไทยที่เดินทางไปทำงานในไต้หวันถึง 427,331 คน หรือประมาณร้อยละ 62

หลังจากที่ตลาดแรงงานในตะวันออกกลางปิดตัวลง โดยเฉพาะซาอุดีอาระเบีย ที่เคยเป็นเหมืองทองของคนงานไทยและเคยเฟื่องฟู แต่ต้องถูกแรงงานในเอเชียใต้ เช่น อินเดีย เข้าไปตีตลาดยับเยิน โดยยอมรับค่าจ้างต่ำ ทำให้คนงานไทยได้รับค่าจ้างต่ำตามไปด้วย จนไม่คุ้มกับค่าหัวและค่าแรงที่เสียไป

และแล้วตลาดในซาอุฯ ก็ต้องปิดสนิทลงด้วยความสัมพันธ์ร้าวฉานกรณีเพชรซาอุฯ และคดีฆาตกรรมนักการทูตซาอุฯ อันลือเลื่อง จึงทำให้ไต้หวันเป็นตลาดแห่งใหม่ที่เปิดประตูรับแรงงานไทยเข้าไปอย่างล้นหลาม ซึ่งในไต้หวันเองมีแรงงานต่างด้าวที่เป็นคนงานไทยถึงร้อยละ 70 จากแรงงานต่างด้าวทั้งหมด

สัญญาณร้าย

แต่แล้วขณะที่ตลาดแรงงานไทยในไต้หวันกำลังเฟื่องฟูสุดๆ เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาก็เกิดความสั่นคลอนขึ้นอย่างน่าวิตก เมื่อกระทรวงการต่างประเทศของไทยไม่ออกวีซ่าให้กับ เฉิน จวี๋ ประธานคณะกรรมการกิจการแรงงานไต้หวัน (CLA) ซึ่งมีกำหนดการเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามความตกลงว่าจ้างแรงงาน และการประชุมร่วมหารือด้านแรงงานระหว่างไต้หวัน-ไทย ครั้งที่ 7 ที่จังหวัดภูเก็ต ระหว่างวันที่ 29-31 สิงหาคม 2545

โดยการลงนามในครั้งนี้จะเป็นการตกลงว่าด้วยการจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานในไต้หวันแบบรัฐต่อรัฐ ซึ่งจะทำให้แรงงานไทยเสียค่าหัวน้อยลง จากเดิมที่เคยเสียกันหัวละเกือบ 2 แสนบาท ลดลงเหลือไม่เกิน 9 หมื่นบาทเท่านั้น

ข่าวการไม่ออกวีซ่าให้กับประธาน CLA ของไต้หวัน ซึ่งเป็นองค์กรที่ทำหน้าที่คล้ายกับกระทรวงแรงงานฯ ของไทย และประธาน CLA ก็มีระดับเทียบเท่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานฯ ได้แพร่สะพัดออกไปเหมือนไฟลามทุ่ง เพราะลำพังประเด็นการเมืองระหว่างประเทศก็เป็นประเด็นที่เรียกได้ว่าร้อนแรงที่สุดในสัปดาห์ที่ผ่านมาแล้ว ยังมีประเด็นผลกระทบของแรงงานไทย ที่ยังไม่รู้ชะตากรรมว่าจะเป็นอย่างไรจากกรณีความร้าวฉานในครั้งนี้อีกด้วย

ส่วนเหตุผลที่กระทรวงการต่างประเทศของไทยไม่ออกวีซ่าให้ประธาน CLA ของไต้หวันนั้น ก็เป็นที่ทราบกันดีว่าไทยถือนโยบายจีนเดียว นั่นคือจะต้องไม่มีความสัมพันธ์ทางการทูตกับไต้หวัน

แม้การลงนามกับไต้หวันในครั้งนี้เป็นการติดต่อสัมพันธ์กันทางด้านเศรษฐกิจ มิใช่การเมือง แต่กระทรวงการต่างประเทศชี้ว่า การลงนามควรเป็นเรื่องของระดับเจ้าหน้าที่ มิใช่บุคคลระดับรัฐมนตรีว่าการอย่างนางเฉิน จวี๋

ที่สำคัญคือ 'ความสัมพันธ์ระหว่างจีน กับไต้หวันอยู่ในภาวะตึงเครียด'

ขณะที่ เดช บุญ-หลง รมว.แรงงานฯ ยืนยันว่าการลงนามในครั้งนี้ เฉิน จวี๋ จะมาร่วมเป็นสักขีพยานเท่านั้น มิใช่เป็นผู้ลงนาม และการประชุมครั้งที่ 7 นี้ ได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2545 แล้ว

"ถ้ายังตกลงกันไม่ได้ ก็จำเป็นต้องเลื่อนออกไปก่อน แต่ตอนนี้ยังตอบอะไรไม่ได้ ผมงงไปหมดแล้ว... ลำบากนะ...เมืองไทย ดูแล้วน่าเศร้า ก่อนทำลงไป ผมได้เสนอเรื่องเข้า ครม. แล้ว เรื่องนี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อน ผมไม่อยากพูดอะไรมาก และไม่อยากให้เป็นข่าว เดี๋ยวจะกลายเป็นผลเสียหายกับประเทศได้ และแรงงานไทยของเราในไต้หวันก็มีเป็นแสนคน คราวนี้คงลำบากแน่" รมว.แรงงานกล่าวอย่างหนักใจในช่วงภาวะคับขันที่กระทรวงการต่างประเทศชี้แจงว่าขอให้เลื่อนการประชุม และการลงนามออกไปก่อน

ก่อนหน้านี้ เตช บุนนาค ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ได้ทำหนังสือชี้แจงมายังปลัดกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม ประสพชัย ยูวะเวส ถึงกรณีที่ไม่ออกวีซ่าให้กับประธาน CLA ของไต้หวัน พร้อมกับขอให้เลื่อนการประชุมออกไปก่อนว่า

"ภายหลังจากประธานาธิบดีไต้หวันได้กล่าวสุนทรพจน์เกี่ยวกับ 'One side, one nation' และการเสนอให้ทำประชามติเกี่ยวกับอนาคตของไต้หวันเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2545 ที่ผ่านมา ทำให้เกิดความตึงเครียดทางการเมืองระหว่างจีนกับไต้หวัน และการเยือนอินโดนีเซียโดยข้ออ้างการทูตแบบพักผ่อน (Vacation diplomacy) ของรองประธานาธิบดีไต้หวันเมื่อเร็วๆ นี้ ทำให้สถานการณ์ความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับไต้หวัน ทวีความตึงเครียดมากขึ้น นอกจากนี้ที่ผ่านมา ไต้หวันพยายามที่จะใช้ประโยชน์จากการเยือนไทยของบุคคลในระดับสูงในทุกโอกาส และมักจะไม่ปฏิบัติตามคำมั่นสัญญาที่จะไม่ประชาสัมพันธ์การเยือน ซึ่งมีเจตนาสร้างความร้าวฉานให้เกิดขึ้นระหว่างไทยและจีน

.... การประชุมคณะกรรมการร่วมหารือด้านแรงงานไทย-ไต้หวัน มีระดับอธิบดีเป็นหัวหน้าคณะของแต่ละฝ่าย การที่ไต้หวันจะส่งบุคคลระดับรัฐมนตรีเป็นหัวหน้าคณะมาประชุมกับฝ่ายไทย จึงเป็นการยกระดับการประชุมคณะกรรมการฯ เป็นระดับรัฐมนตรี ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศได้เคยแจ้งความเห็นให้กระทรวงแรงงานฯ ทราบว่า จะเป็นการสร้างกลไกระดับสูง และแสดงถึงการยอมรับสถานะทางการเมืองของไต้หวันในระดับหนึ่ง ซึ่งไม่สอดคล้องกับการดำเนินความสัมพันธ์ของไทยกับจีน และกับไต้หวันในขณะนี้

....ในภาวะมุมอับที่เกิดขึ้นจากเหตุผลดังกล่าวข้างต้น กระทรวงการต่างประเทศจึงขอเรียนว่า ทางออกที่อาจจะเหมาะสมที่สุด ณ บัดนี้คือ เสนอให้กระทรวงแรงงานฯ พิจารณาเลื่อนการประชุมและการลงนามความตกลงฯ ออกไปก่อน จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณา ทั้งนี้ได้นำความเรียนให้ รมว. ต่างประเทศทราบด้วยแล้ว......"

สูญตลาดแรงงานใหญ่

เมื่อความสัมพันธ์ระดับประเทศเกิดความร้าวฉานกันขึ้น คนงานไทยในไต้หวันจะทำอย่างไร จิรพล เจือวานิช กรรมการผู้จัดการบริษัทจัดหางานไทยชาญ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทจัดหางานที่ส่งแรงงานไทยไปไต้หวันรายใหญ่ชี้ว่า หากไต้หวันตัดความสัมพันธ์กับไทย ก็จะส่งผลกระทบต่อแรงงานไทยที่ส่งไปไต้หวันปีละกว่า 1 แสนคนทันที หรือเพียงแค่ระงับการออกวีซ่าให้กับแรงงานไทยที่เดินทางไปทำงานที่ไต้หวันสัปดาห์ละ7-8 พันคน เท่านี้ก็ระส่ำหนักอย่างแน่นอน

ที่น่าเสียดายคือ ตำแหน่งงานแม่บ้านประมาณ 6 หมื่นอัตรา ซึ่งไต้หวันได้งดวีซ่าแรงงาน ในโควตาของอินโดนีเซีย และไทยจะได้ส่งแรงงานไปทดแทนนั้น ก็คงจะหมดโอกาสในโควตานี้ไปด้วย เท่ากับว่าไทยจะต้องสูญตำแหน่งงานในไต้หวันถึง 1.6 แสนคน

จิรพล กล่าวว่าก่อนหน้านี้อินโดนีเซียถูกงดวีซ่า หรือโควตางานจากไต้หวันที่เคยได้รับในตำแหน่งแม่บ้านปีละ 6 หมื่นอัตรา เนื่องจากรัฐบาลไม่ยอมออกวีซ่าให้กับรัฐมนตรีแรงงานของไต้หวันเช่นกัน ทั้งที่ขอวีซ่าท่องเที่ยว

ยิ่งไปกว่านั้นตัวแทนบริษัทจัดหางานรายนี้ยังวิเคราะห์ถึงผลกระทบด้านรายได้ที่ไทยจะต้องสูญเสีย หากไต้หวันงดวีซ่าแรงงานไทยในที่สุดว่า ปัจจุบันแรงงานไทยในไต้หวัน สามารถส่งเงินกลับประเทศประมาณปีละ 3.7 หมื่นล้านบาท หากรวมโควตางานที่จะได้เพิ่มอีก 6 หมื่นคน ก็จะเป็นเงินรายได้ที่แรงงานไทยส่งกลับประเทศถึง 5.92 หมื่นล้านบาท ซึ่งหากพบอุปสรรค ก็เท่ากับว่าประเทศไทยสูญเงินตราเข้าประเทศจำนวนมหาศาล

"กระทรวงการต่างประเทศและรัฐบาลไทยน่าจะดูผลประโยชน์ของแรงงานไทยด้วย แม้ว่าไทยจะถือนโยบายจีนเดียว แต่เรื่องนี้เป็นการเดินทางเข้ามาเรื่องการจัดส่งแรงงาน ไม่ใช่เรื่องการเมืองหรือเรื่องการรวมประเทศของจีนกับไต้หวัน ทำไมไทยต้องเกรงว่าจะมีปัญหา เพราะไทยสามารถชี้แจงกับจีนได้ว่า นี่คือเรื่องเศรษฐกิจ" จิรพล แสดงความเห็น

ชะตากรรมแรงงานไทย

ใช่ว่าข่าวการไม่ออกวีซ่าให้กับนางเฉิน จวี๋ จะเป็นประเด็นร้อนในเมืองไทยเท่านั้น สื่อมวลชนของไต้หวันเองก็ประโคมข่าวนี้กันอย่างเข้มข้นทุกวัน และแน่นอนว่าความเดือดเนื้อร้อนใจไม่ได้กระทบแค่เจ้าหน้าที่ระดับสูงเท่านั้น ความทุกข์กังวลคือสิ่งที่รบกวนแรงงานไทยในไต้หวันมากกว่าใครอื่น ในระยะเวลาหนึ่งสัปดาห์ที่ข่าวนี้สะพัดออกไป บริษัทจัดหางานต้องรับโทรศัพท์ทางไกลจากไต้หวันที่เข้ามาสอบถามถึงที่เกิดขึ้นไม่ได้หยุดหย่อน ซึ่งส่วนใหญ่เกรงว่าจะถูกส่งตัวกลับ

สี อ่อนจันทร์ ชาวจังหวัดสุโขทัย คนงานก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าหัวจรวด ของบริษัท Continental Engineering Co., Ltd. ซึ่งเดินทางไปทำงานที่ไต้หวัน เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2544 กล่าวว่า มีญาติของตนเองกำลังเตรียมจะเดินทางมาทำงานที่ไต้หวัน เมื่อเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ ไม่รู้ว่าจะมีการยกเลิกหรือไม่ เพราะกู้เงินมาแล้ว

ขณะที่ นาย เนียมวิจิตร ชาวจังหวัดกาฬสินธุ์ เดินทางไปทำงานที่ไต้หวัน เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2544 ในโรงพิมพ์ของบริษัท Chia Sheng Industrial Co.,Ltd. กล่าวว่า ได้โทรศัพท์ไปถามกับบริษัทจัดหางานว่า เมื่อเกิดปัญหาขัดแย้งแบบนี้ เกรงว่าไต้หวันจะไม่ต่อวีซ่าทำงานให้ เพราะขณะนี้เขากำลังทำงานใกล้ครบกำหนด 1 ปี ซึ่งหากไม่ต่อสัญญาจะต้องได้รับความเดือดร้อนอย่างแน่นอน เพราะเสียเงินค่าหัวไปแล้ว แต่ยังทำงานได้ค่าจ้างไม่ครบตามสัญญา

เช่นเดียวกับ รุ่งเรือง ศรีสุขเจริญวงศ์ สาวชาวหนองคาย ที่เพิ่งเดินทางไปทำงานเมื่อเดือนกุมภาพันธุ์ที่ผ่านมา และได้เข้าทำงานในโรงงานทอผ้าในไต้หวัน เธอเกรงว่าจะถูกส่งกลับเพราะปัญหาที่เกิดขึ้น ทั้งที่ยังทำงานไม่ครบสัญญา

สมศักดิ์ ประทัด อายุ 35 ปี คนงานจากนครสวรรค์ กำลังจะเดินทางไปทำงานเป็นกรรมกรก่อสร้างที่ไต้หวันในวันที่ 31 ตุลาคมนี้ กล่าวว่า เห็นข่าวนี้แล้วรู้สึกน่าตกใจ เพราะถ้าเดินทางไปทำงานแล้วมีปัญหาจนต้องถูกส่งตัวกลับคงมีปัญหาอย่างแน่นอน เพราะต้องกู้เงินมาจ่ายค่าหัวและต้องจ่ายดอกเบี้ยทุกเดือน คนไปทำงานในต่างประเทศก็อยากได้ค่าจ้างและได้งานที่ดี

"ผมเคยไปทำงานที่ไต้หวันมา 1 ปี ยังใช้หนี้ค่าหัวไม่หมด เพราะถูกส่งตัวกลับมาก่อนเนื่องจากป่วย พอกลับมาตรวจโรคแล้วก็ไม่ได้เป็นอะไรร้ายแรง คราวนี้ก็เลยตั้งความหวังว่าเมื่อเดินทางไปแล้วจะได้ใช้หนี้ให้หมด" หนุ่มนครสวรรค์ตัดพ้อ

แต่ดูเหมือนเสียงเหล่านี้แทบจะไม่มีความหมายในเวทีการเมืองระหว่างประเทศ ในที่สุดเมื่อไต้หวันรู้ว่าประธาน CLA ไม่ได้รับวีซ่า ได้มีการออกแถลงการณ์ว่าไทยละเมิดหลักการของความไว้วางใจซึ่งกันและกันระหว่างสองประเทศ โดยมีข้อความตอนหนึ่งระบุว่า

"รัฐบาลไทย ปล่อยให้ ประเทศที่สาม เข้ามาแทรกแซงทางการเมือง ซึ่งส่งผลกระทบร้ายแรงต่อความร่วมมือด้านแรงงานระหว่างสองประเทศ สภากิจการแรงงานไต้หวันจะทบทวนเรื่องแรงงานอันเกี่ยวเนื่องกับเหตุการณ์นี้และจะปรับความสัมพันธ์ด้านแรงงานระหว่างสองประเทศ"

"ผลพวงและความรับผิดชอบทั้งหมดจะตกอยู่กับรัฐบาลไทย... เป็นที่น่าเสียดายที่รัฐบาลไทยไม่สามารถคุ้มครองสิทธิแรงงานของตนเองได้" แถลงการณ์ระบุ

อย่างไรก็ตาม ไต้หวันย้ำว่าจะยังเคารพสิทธิมนุษยชนของคนงานไทย พร้อมทั้งประกาศให้รัฐบาลไทยแสดงความเสียใจและขอโทษต่อกรณีที่ไม่ออกวีซ่าให้ประธาน CLA ของไต้หวัน

ล่าสุดโฆษกกระทรวงการต่างประเทศของไต้หวันกล่าวว่าเมื่อวันที่ 3 กันยายน ศกนี้ รัฐบาลไทยได้ขอโทษรัฐบาลไต้หวันอย่างเป็นทางการแล้ว โดย ปิยวัชร นิยมเลิศ ผู้แทนไทยประจำไต้หวันได้ส่งจดหมายให้กระทรวงการต่างประเทศไต้หวัน ความว่ารัฐบาลไทยขอแสดงความเสียใจที่นางเฉิน จวี๋ ไม่สามารถเดินทางเข้าประเทศไทยได้ พร้อมกับตำหนิว่า เป็นความผิดพลาดในเรื่องการสื่อสารของเจ้าหน้าที่ไทย

จนถึงขณะนี้ อุณหภูมิความร้อนแรงระหว่างไทยกับไต้หวัน ได้ลดลงจากสัปดาห์ที่ผ่านมามากพอสมควร เพราะได้มีการส่งหนังสือแสดงความขอโทษไปแล้ว

คราวนี้ก็คงเหลือเพียงรอดูท่าทีของไต้หวัน ว่าจะยอมรับคำขอโทษจากไทยหรือไม่

หากไต้หวันยอมรับ ก็เท่ากับว่าความสัมพันธ์ด้านแรงงานอาจจะกลับมาคืนดีเหมือนเดิม

แต่หากไต้หวันยังไม่ยอมรับคำขอโทษ และมีท่าทีแข็งกร้าวโดยไม่ยอมให้กับรัฐบาลไทย เมื่อนั้นแรงงานไทยกว่าแสนคนก็คงจะอยู่อย่างไม่รู้ชะตากรรมอย่างแน่นอน

และท้ายที่สุดความร้าวฉานนี้ ก็อาจเปิดเผยให้เห็นความจริงอีกด้าน นั่นก็คือแรงงานไทยอาจเป็นแค่เครื่องมือต่อรองของไต้หวันกับจีน โดยผ่านมาทางไทยเท่านั้นเอง







>> กลับไปหน้าเดิมค่ะ...:)

| HOME | WORK'S EXPERIENCE | SIGN &VIEW GUESTBOOK |

© 2001 "Complain or Opinion" Created and Published by JaRuWaN yUnG-yUeN All rights reserved.
 
Hosted by www.Geocities.ws

1