COMPLAIN OR OPINION

1 ธันวาคม 2544 :: by จารุวรรณ ยั่งยืน

"บทส่งท้าย...เอเชียวีค"

การบังคับตัวเองให้ต้องลงมือเขียนเรื่องอะไรก็ได้(แต่ต้องมีอะไรในเรื่องที่เขียน)อาทิตย์ล่ะ 1 เรื่อง ทำให้ดิฉันเริ่มรู้สึกกดดันเมื่อเห็นเส้นตายของเวลาใกล้เข้ามาถึง ในขณะที่สมองยังคงว่างเปล่า!!!

สารภาพตามตรงค่ะ ว่าที่ผ่านมาดิฉันมักฝากความหวังไว้ที่การจัดรายการในช่วงคืนวันศุกร์ค่ะ หวังไว้ว่าคงเจออะไรสนุกๆๆจากการพูดคุยโต้ตอบกับคนฟัง เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการ Complain or Opinion (ฮาๆๆ)

ที่จริงแล้วในศุกร์นี้ดิฉันก็เจออะไรสนุกๆจากการพูดคุย(เถียง)กับคนฟัง(บางคน)ในประเด็น"ทำอย่างไรให้คนไทย(โดยเฉพาะเด็กไทย)รักการอ่าน?"

แต่ข่าวต่างประเทศในเวบไซต์ อสมท.ที่อ่านเจอในระหว่างนั่งจัดรายการทำให้ดิฉันเปลี่ยนประเด็น ในเรื่องที่จะเขียนค่ะ…



- - - - - - - - ->>> นิตยสารเอเชียวีคเลิกพิมพ์แล้ว !!!

บริษัท ไทม์ อิงค์ ซึ่งอยู่ในเครือของ เอโอแอล ไทม์วอเนอร์แถลงที่ฮ่องกงวันนี้(30 พย)ว่า จะหยุดพิมพ์นิตยสารรายสัปดาห์ฉบับภาษาอังกฤษ "เอเชียวีค" อันเป็นผลมาจากภาวะตลาดซบเซา นายดอน โลแกน ประธานและหัวหน้าคณะผู้บริหารของไทม์ อิงค์กล่าวว่า หลังจากที่มีการทบทวนมาเป็นระยะ ๆ และพิจารณาจากแนวโน้มทางธุรกิจในระยะยาว ทางบริษัท ฯ จึงตัดสินใจหยุดการพิมพ์จำหน่ายนิตยสารเอเชียวีค

ด้านนายปีเตอร์ แบรค ประธานเอเชียวีคกล่าวต่อพนักงานถึงการตัดสินใจอันเจ็บ ปวดที่จำเป็นต้องปิดนิตยสารเอเชียวีคว่า เป็นผลมาจากภาวะตลาด ภายหลังเกิดเหตุก่อวินาศกรรมร้ายแรงในสหรัฐ เมื่อวันที่ 11 กันยายนที่ผ่านมา และผลกระทบระยะยาวจากปัจจัยทางด้านธุรกิจของเอเชียวีค

โดยฉบับสุดท้ายที่จะวางจำหน่าย คือ ฉบับวันพฤหัสบดี เอเชียวีคเริ่มวางจำหน่ายเมื่อปี 2518 และต่อมาได้รับการปรับปรุงเป็นหนังสือเชิงธุรกิจ ปัจจุบัน มียอดจำหน่าย 120,000 กว่าฉบับ คู่แข่งสำคัญ ก็คือ ฟาร์ อิสเทิร์น อีโคโนมิค รีวิว บรรณาธิการบริหารของไทม์บอกว่า ไม่มีใครคาดคิดว่าภาวะตกต่ำของตลาดโฆษณาจะรุนแรงเช่นนี้ หนังสือพิมพ์นิวยอร์ค ไทมส์รายงานด้วยว่า นิตยสารอีกสองฉบับ คือ Family Life และ On (เดิมชื่อ Time Digital) ก็จะปิดตัวลงเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม เอเชียวีคระบุว่า พนักงาน 80 คน ของเอเชียวีคจะได้รับการจ้างไปจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม ผลจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ส่งผลกระทบหนังสือพิมพ์และนิตยสารหลายฉบับ โดยเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา หนังสือพิมพ์เซาท์ ไชน่า มอร์นิ่ง โพสต์ ของฮ่องกง ปลดบรรณาธิการ 18 คน เพื่อลดค่าใช้จ่าย และอีกฉบับ ฮ่องกง ไอเมลปลดผู้สื่อข่าว 80 คน เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา

- - - - - - - - ->>> ดิฉันนึกถึงไปถึงเมื่อช่วงปี 2540 ช่วงวิกฤติเศรษฐกิจ สื่อหนังสือพิมพ์ไทยต่างเผชิญ ภาวะวิกฤติไปตามค่าเงินบาทที่ผันผวนอย่างหนัก โดยก่อนหน้านี้เมื่อปี 2538 ประสบกับปัญหา ราคากระดาษที่สูงเพิ่มพรวด 100% จนต้องมีการปรับราคาขายกันถ้วนหน้า ซึ่งในช่วงนั้น หนังสือพิมพ์บางฉบับต้องนำเอามาตการรัดเข็มขัด ปลดพนักงานมาใช้ แต่ก็มีบางแห่งถึงกับต้องปิดกิจการลง เช่น หนังสือพิมพ์เดลิมิเลอร์ ดาวสยาม กระทั้งถึงปี 2540 ภายหลังรัฐบาลประกาศใช้นโยบายค่าเงินบาทลอยตัว คนทำงานสื่อ ก็ถูกลอยแพไปตามค่าเงินบาทที่ลดต่ำลง ต่ำลง

ยังจำได้ถึงความรู้สึกของตัวเองที่ระบบหัวใจเต้นไม่ค่อยจะเป็นปกติ กลัวจะตกงานในวัยอันไม่สมควร (เพราะช่วงนั้นดิฉันก็เป็นคนหนึ่งล่ะคะที่อยู่ในสถานะเป็นพนักงานของหนังสือพิมพ์สยามโพสต์ซึ่งภายหลัง ก็ปิดกิจการลง) ยังจำความรู้สึกวันประชุมใหญ่ ประชุมย่อย(บ่อยครั้ง) ก่อนที่จะมีการปรับลดเงินเงินเดือน ลดสวัสดิการ จนดิฉันรู้สึกหวาดผวาทุกครั้งเมื่อทราบว่ามีประชุม!!!

ช่วงนั้นดิฉันตาม(ทำ)ข่าวเศรษฐกิจค่ะ(ช่วงนั้นข่าววิเคราะห์หุ้นดิฉันเขียนรอไว้ได้(โดยไม่ผิดพลาด)ก่อนที่จะคุยกับนักวิเคราะห์ตัวจริง!!!)เพราะฉะนั้นหลากหลายข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับตัวเลข เศรษฐกิจที่แท้จริงของไทยล้วนแล้วแต่ประดังประเดเข้ามา จนดิฉันยิ้มไม่เป็น!!!

รู้เหตุการณ์ล่วงหน้าเรามีโอกาสที่จะเตรียมรับกับความรู้สึกแต่หาก ถูกปลดโดยไม่มีวี่แววมาก่อน ยากที่จะทำใจค่ะ!!!

ดิฉันยังจำได้ถึงความรุ้สึกของเพื่อน(รุ่นพี่ที่เป็นแหล่งข่าว) บางคนซึ่งทำงานอยู่ในตำแหน่งนักวิเคราะห์ของสถาบันการเงินอยู่ในอาการรับไม่ได้กับความจริงที่ว่า สถาบันการเงินที่ตัวเองทำงานกำลังถูกสั่งให้ระงับกิจการ ...ดิฉันมีโอกาสได้เห็นคนที่คิดหรือทำอะไรอย่างมีระบบ กลายเป็นคนที่ไม่สามารถควบคุมอารมณ์ได้ก็ครั้งนั้นล่ะคะ มันดูน่ากลัวมาก

ปล่อยค่าเงินบาทลอยตัว ปิด 58 สถาบันการเงิน หนังสือพิมพ์ปิดกิจการ ปรับลดเงินเดือน ล้วนเป็นประสบการณ์ที่ทำให้ดิฉันเรียนรู้ว่าไม่มีอะไรที่เป็นนิรันดร์.... เพราะฉนั้นดิฉันเข้าใจและรับรู้ได้ถึงความเจ็บปวดของทุกคนทำงานในเอเชียวีค!!!

เอเชียวีค เป็นนิตยสารที่เคยประกาศตัวเอาไว้ว่าจะเป็นปากเป็นเสียง สำหรับเอเชีย หลายครั้งที่เคยวิพากษ์วิจารณ์เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศไทยได้อย่างตรงใจ (และสะใจ)คนอ่าน เรียกว่าเนื้อหาวิเคราะห์เจาะลึกชนิดนักข่าวไทยบางคนแอบสะอื้น(ทำไมเราไม่สามารถอย่าง นี้) มีผู้รู้บางคนมองว่า จุดแข็งของเอเชียวีค ไม่ได้อยู่ที่การวิพากษ์วิจารณ์ แต่อยู่ที่การ จัดหมวดหมู่และให้ข้อเท็จจริงในเชิงข้อมูลในปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นในเอเชียอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางด้านสังคมและธุรกิจ เช่น การจัดลำดับเมืองน่าอยู่ในเอเชีย การจัดอันดับมหาวิทยาลัยที่ดีที่สุดในเอเชีย หรืออย่างล่าสุดเมื่อต้นเดือนพฤศจิกายน เอเชียวีคได้จัดทำเล่มพิเศษ 1,000 บริษัทชั้นนำในเอเชีย ใครอยากรู้เรื่องเอเชีย ถ้าไม่อ่านเอเชียวีกก็ต้องอ่านฟาร์อีสเทิร์น อีโคโนมิค รีวิว แต่ถ้าจะให้สมบูรณ์ก็ต้องอ่าน ทั้ง 2เล่ม!!!

Concept ของเอเชียวีคนับตั้งแต่เริ่มก่อตั้งเมื่อ พศ.2518 โดย ที.เจ.เอส. จอร์จ (T.J.S. George) และ ไมเคิล โอนีลล์ (Michael O"Neill) คือรายงานข่าวเหตุการณ์สำคัญ ซึ่งเกิดในภูมิภาคเอเชีย รวมทั้งสะท้อนให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่เกิดขึ้น ทั้งที่เป็นรูปธรรมและนามธรรม ซึ่งเอเชียวีกได้รักษา Concept นี้เรื่อยมาจนกระทั่ง เมื่อปีที่แล้ว เอเชียวีคได้ปรับเปลี่ยนทิศทางใหม่ให้กลายเป็นนิตยสารรายสัปดาห์แนวธุรกิจ และเทคโนโลยีมากขึ้น

โดย ผู้บริหารของเอเชียวีคให้เหตุผลในการเปลี่ยนแปลงว่ามาจากกระแสโลกานุวัตร และอินเตอร์เน็ตที่เป็นตัวกระตุ้นให้ประเทศและบริษัทต่างๆ ในเอเชียเปิดกว้างขึ้น คนรุ่นใหม่กำลังมาทำหน้าที่ในการบริหารแทนคนรุ่นเก่า เมื่อเป็นเช่นนี้ เรื่องราวเกี่ยวกับธุรกิจจึงมาแทนที่การเมือง โดยเอเชียวีคจะทำหน้าที่เป็นสื่อในการเสนอเรื่องราวล่าสุดเกี่ยวกับการปฏิวัติใหม่ในเอเชีย

26 ปี ของเอเชียวีคมีบรรณาธิการเพียงแค่ 4 คนเท่านั้นค่ะ เริ่มจากจอร์จและโอนีลล์ผู้ก่อตั้ง ตามด้วยแอนน์ มอร์ริสัน (Ann Morrison) ซึ่งมาแทนโอนีลล์ในปี 2537 กระทั่ง ตุลาคม 2543 ก็ถึงยุคของบรรณาธิการคนที่ 4 โดรินดา เอลเลียตต์ (Dorinda Elliott)

เอเชียวีค เป็นนิตยสารในเครือไทม์ ที่กลายเป็นไทม์วอเนอร์สในเวลาต่อมาและเป็นเอโอแอล ไทม์ วอร์เนอร์สในปัจจุบัน เป็น 1 ใน จำนวน 160 หัว ที่มีอยู่ในเครือของกลุ่มบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านสื่อ ของโลกกลุ่มนี้รวมถึง นิตยสารไทม์ นิตยสารที่ได้ชือว่าทรงอิทธิพลของโลก รวมทั้ง โทรทัศน์อย่าง CNN และสื่ออินเตอร์เน็ต

เมื่อยอดจำหน่ายของเอเชียวีคลดลงมาอยู่ที่ 129,000 ฉบับต่อสัปดาห์ ในขณะที่จำนวนโฆษณา ลดลงประมาณ 10% ในสายตาของผุ้บริหารบริษัทสื่อยักษ์ใหญ่ที่สุดในโลกมองว่า เอเชียวีคไม่เหมาะที่จะดำเนินการต่อไป

นี่ไม่ใช่นิตยสารฉบับแรกในเครือเอโอแอล ไทม์ วอร์เนอร์ส ที่ถูกปิด ก่อนหน้านี้มี หนังสือในเครือ 6 ฉบับร่วมชะตาเดียวกัน

มาร์ติน วอร์กเกอร์ ประธานบริษัท วอร์กเกอร์ คอมมูนิเคชั่น บริษัทที่ปรึกษาของนิตยสาร หลายฉบับ พูดถึงกรณีที่เกิดขึ้นว่า "ไทม์ อิงค์...ไม่ใช่บริษัทที่เคยมีประวัติปิดโน้นปิดนี้...สิ่งที่เกิดขึ้น ชี้ให้เห็นถึง ความเปลี่ยนแปลงที่เป็นสัจธรรม ไม่มีใครหรืออะไร ที่จะอยู่คงที่ กาลเวลาเปลี่ยนไป เปลี่ยนไปสำหรับทุกคน"

นิตยสารไทม์เองก็เกิดความเปลี่ยนแปลง ภายในระยะเวลาครึ่งปีที่ผ่านมา ไทม์มีการปรับเปลี่ยน องค์กรภายในให้กระชับมากขึ้นเพื่อปรับลดค่าใช้จ่ายแทนที่จะต้องปิดตัว ในรอบครึ่งปีมีการเลย์ออฟพนักงานรวมถึงโครงการ ออกก่อนเกษียณของพนักงานไม่ต่ำกว่า 1,000 คน จนทีมงานเหลือเพียง 12,000 คนทั่วโลก

ไม่ใช่เฉพาะไทม์เท่านั้นที่เจอเหตุการณ์อย่างนี้ ยังมีสื่อสิ่งพิมพ์อีกหลายฉบับของสหรัฐอเมริกาที่กำลังตกอยู่ในสภาวะ เดียวกัน โดยเฉพาะหลังเหตุการณ์ 11 กันยายน โฆษณาที่เป็นเส้นเลือดใหญ่สำหรับหนังสือพิมพ์ ซึ่งเดิมเคยมีมากถึง 36.3% ของปริมาณโฆษณาทั้งหมดเมื่อปี 1960 ลดลงเหลือเพียง 19.8 ในปี 2001 โดยส่วนแบ่งที่หายไปคือวิทยุ อินเตอร์เน็ต โทรทัศน์ และเคเบิลทีวี!!!

นี่ล่ะคะที่เป็นสัจธรรม ไม่มีอะไรที่จะอยู่ยั้งเป็นที่ 1 ได้ตลอดไป เก่าไปใหม่มา เป็นความจริงแท้

ที่สำคัญดูหนัง ดูละคร อย่าลืมย้อนดูตัวเอง เพราะในโลกปัจจุปัน ผีเสื้อขยับปีก ใบไม้ไม่ได้ไหวแค่จุดนั้น แต่มันสั่นไหวส่งผลกระทบไปทั่วโลก!!!





>> กลับไปหน้าเดิมค่ะ...:)

| HOME | WORK'S EXPERIENCE | SIGN &VIEW GUESTBOOK |

© 2001 "Complain or Opinion" Created and Published by JaRuWaN yUnG-yUeN All rights reserved.
 
Hosted by www.Geocities.ws

1