COMPLAIN OR OPINION

9 พฤศจิกายน, 2544:: by จารุวรรณ ยั่งยืน

"สมาชิกวุฒิสภาสังกัดพรรคการเมือง??"

ทันทีที่ได้ยินประโยค"สมาชิกวุฒิสภาควรสังกัดพรรคการเมือง "หลุดจากปากของคนที่ได้ชื่อว่าประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต)ทำเอาดิฉันเกิดอาการใบ้รับประทานไปชั่วขณะค่ะ ตามด้วยอาการปลง ในสามัญสำนึกของคนที่ทำหน้าที่ในการดูแลการเลือกตั้งให้เป็นไปโดยบริสุทธิ์ยุติธรรม มีประสิทธิภาพและเป็นกลาง คำถามประเภทโยนก้อนหินถามทาง(แทนใคร)อย่างนี้ ไม่ควรออกมาจากปากคนที่กำลังปฎิบัติหน้าที่ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้งค่ะ

"ตามเจตนารมย์ของรัฐธรรมนูญ พศ.2540 ต้องการจะทำให้ ส.ว.มีหน้าที่ตรวจสอบ ส.ส. ตรวจสอบนักการเมือง เพราะรัฐธรรมนูญฉบับนี้พัฒนามาจากความไม่เชื่อใจนักการเมือง นอกจากนี้ส.ว.ยังต้องตั้งองค์กรอิสระอีก 8-9 องค์กร เช่น ป.ป.ช. ศาลรัฐธรรมนูญ ป.ป.ง. หากเป็นเช่นนี้ก็แสดงว่าองค์กรอิสระต้องไปติดกับพรรคการเมืองด้วย ซึ่งก็จะเกิดระบบโควต้า การทำงานก็จะไม่โปร่งใส"

แต่….ถ้าเรามองย้อนกลับไปที่ภูมิหลังของคณะกรรมการการเลือกตั้งชุดนี้ ..ไม่น่าแปลกใจหรอกค่ะ. .. เราต้องไม่ลืมว่าคุณสมบัติของคณะกรรมการการเลือกตั้งทั้ง 5 คนล้วนแล้วแต่มีข้อน่าเคลือบแคลง

1)พล.อ.ศิรินทร์ ธูปกล่ำ ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง เคยได้รับใบเหลืองจากคณะกรรมการการเลือกตั้งชุดเก่า จนต้องมีการเลือกตั้งใหม่ในพื้นที่ที่ลงสมัครและสุดท้ายปรากฎว่าสอบตกในที่สุด ซึ่งสร้างความไม่พอใจและเป็นปัญหาระหว่างพล.อ ศิรินทร์กับกกต.ชุดที่ผ่านมา ซึ่งความรู้สึกนี้จะถูกแปรเปลี่ยนเป็นการปฎิบัติตัวอย่างไรเมื่อต้องมาปฎิบัติหน้าที่เป็น กกต และได้รับตำแหน่งประธานกกต.เสียเอง

2)นายปริญญา นาคฉัตรีย์ ซึ่งกำลังถูกปปช.สอบสวนในข้อกล่าวหาว่าร่ำรวยผิดปกติ ถูกกล่าวหาว่ามีส่วนพัวพันกับการพิมพ์ธนบัตรเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาเกินจำนวนและถูกกล่าวหาว่าหาผลประโยชน์จากผู้เข้าสอบโรงเรียนนายอำเภอ ถูกกล่าวหาว่าเป็นคณะกรรมการในรัฐวิสาหกิจหลายแห่ง ซึ่งทำให้ถูกมองว่ามีส่วนเกี่ยวโยงกับนักการเมือง ถูกตั้งข้อสงสัยว่า ทำไมจึงได้รับการเสนอชื่อในสัดส่วนของศาลฏีกา ทั้งที่ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับศาล ซึ่งแม้ทุกกล่าวหานายปริญญา จะออกมาปฎิเสธ แต่ข้อกล่าวหาเหล่านี้ก็ทำให้เชื่อได้ยากยิ่งว่านายปริญญาจะสามารถปฎิบัติหน้าที่กกต.ได้อย่างโปร่งใส โดยเฉพาะในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับบัตรเลือกตั้ง

3)นายจรัล บูรณพันธุ์ศรี เคยถูกกล่าวหาในระหว่างปฎิบัติหน้าที่เป็นอธิบดีกรมควบคุมความประพฤติในหลายเรื่อง เช่น การโยกย้ายข้าราชการโดยไม่เป็นธรรม รับของขวัญจากผู้ใต้บังคับบัญชา ถูกกล่าวหาในเรื่องที่เกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างและสุดท้ายถูกกล่าวหาว่าลาออกจากราชการเพื่อหลีกเลี่ยงการถูกสอบสวนในทุกข้อกล่าวหา แต่นายจรัลปฎิเสธทุกข้อกล่าวหา โดยเฉพาะในประเด็นการลาออกเพื่อหลีกเลี่ยงการสอบสวนในทุกข้อกล่าวหา โดยยืนยันว่าข้อเท็จจริงของการลาออกก็เพื่อต้องการเสนอตัวในการทำหน้าที่กกต.

4)พล.ต.ท .วาสนา เพิ่มลาภ ผู้ซึ่งเคยถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่ามีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับนักการเมือง ซึ่งอาจส่งผลต่อความเป็นกลางในการปฎิบัติหน้าที่กกต.

5)นายวีระชัย แนวบุญเนียร ถูกกล่าวหาในประเด็นเดียวกับพล.ต.ต .วาสนา เพิ่มลาภ นั่นคือใกล้ชิดนักการเมืองมากเกินไป

เฮือกกกกกกกกกกกถอนหายใจเฮือกใหญ่ค่ะ!!!เมื่อย้อนมองภูมิหลังของ คณะกรรมการการเลือกตั้งทั้ง 5 คน ล้วนแต่ไม่สดใสกับประวัติการทำงานที่ผ่านมา ไม่สดใสกับความเป็นกลางเพราะมีภาพของบุคคลที่ใกล้ชิดแนบแน่นกับนักการเมือง ไม่สดใสเพราะเคยมีประวัติถูกให้ใบเหลืองและเคยมีข้อพิพาทกับจากคณะกรรมการการเลือกตั้งชุดเก่า

ซึ่งความไม่สดในของคณะกรรมการการเลือกตั้งชุดนี้ ทำให้ก่อนหน้านี้หลายฝ่ายเกิดอาการ "ตีตนไปก่อนไข้"ไม่มั่นใจว่าในระยะเวลา 7ปีของการปฎิบัติหน้าที่ คณะกรรมการการเลือกตั้งชุดนี้จะทำหน้าที่ในการนำพาการปฎิรูปการเมืองไปได้ตลอดรอดผั่งหรือไม่

ไม่ใช่แค่ภูมิหลังที่ไม่สดใสของคณะกรรมการการเลือกตั้งเท่านั้นนะคะ ที่ทำให้หลายฝ่ายเกิดอาการ"ตีตนไปก่อนไข้"ไปก่อนหน้านี้

แต่องค์ประกอบหลักมาจาก ข้อสังเกตุที่มาจากคณะกรรมาธิการวิสามัญ เพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบประวัติและความประพฤติของบุคคลผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งคณะกรรมการการเลือกตั้ง วุฒิสภาค่ะ ซึ่งได้ตั้งข้อสังเกตุถึงที่มาของคณะกรรมการการเลือกตั้งชุดนี้ไว้ 2 ส่วนคือ

ส่วนที่ 1 การสรรหาของคณะกรรมการสรรหาที่เป็นตัวแทนมาจากพรรคการเมืองและสถาบันการศึกษา ซึ่งได้ตั้งข้อสงสัยไว้หลายประเด็นค่ะ เช่น 1. การคัดเลือกผู้แทนพรรคการเมืองจำนวน 4 คนจาก 9 พรรค ปรากฎว่าพรรคร่วมรัฐบาลใช้เทคนิคเทคะแนนให้กันและกัน ทำให้ตัวแทนพรรคการเมืองทั้ง 4 คนมาจากพรรคร่วมรัฐบาลทั้งหมดไม่มีพรรคฝ่ายค้านเลย

2.การคัดเลือกอธิการบดีมหาวิทยาลัยจำนวน 28 สถาบันเพื่อเข้ามาเป็นคณะกรรมการสรรหาจำนวน 4 คนปรากฎว่ามีตัวแทน 9 สถาบันเท่านั้นที่มาคัดเลือก แทนที่จะมีการเลื่อนหรือยกเลิกการประชุมเพื่อให้มีความพร้อม เนื่องจาก 9 คนไม่ถึง 1 ใน 3 แต่ทั้ง 9 คนกลับเลือกกันเองจนเหลือ 4 คนทำใไไม่เกิดความหลากหลายอย่างเพียงพอ

3.เมื่อคณะกรรมการสรรหาทั้ง 8 คน ดำเนินการคัดเลือกบุคคลที่สมัครเข้ามาเป็น กกต.ปรากฎว่าไม่มีการตรวจสอบในเชิงลึกแต่อย่างใด

4.วิธีการคัดเลือก ผู้สมัครไม่อยู่ในบรรทัดฐานเดียวกัน มีการเปลี่ยนแปลงวิธีการลงคะแนนในช่วงสุดท้ายของการคัดเลือก ซึ่งน่าสงสัยว่าเป็ฯการขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่

5.มีหลักฐานคำประกาศยืนยันจากฝ่ายการเมืองว่า จะไม่ให้ กกต.และเจ้าหน้าที่ใน กกต.ชุดเดิม ได้รับการคัดเลือก ซึ่งก็เป็นอย่างนั้นจริงๆเพราะปรากฎว่า กกต.ชุดเดิมที่สมัครเข้ารับการเลือกตั้ง ตกรอบทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นนายโคทม อารียา ,นายจิระ บุญพจนสุนทร,นายสวัสดิ์ โชติพานิช,นายพยนต์ พันธ์ศรี และว่าที่ รต.วิจิตร อยู่สุภาพ

และในส่วนที่ 2 ซึ่งเป็นส่วนที่สรรหาจากที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา คณะกรรมาธิการวิสามัญ ตั้งข้อสังเกตุไว้หลายประเด็น เช่น

1.ไม่ให้มีการแก้ไขระเบียบการคัดเลือกให้ผู้ถูกเสนอชื่อได้แสดงถึงปัญหา อุปสรรคของกกต.ชุดที่ผ่านมา
2.ไม่ได้มีการตรวจสอบคุณสมบัติ ประวัติและความประพฤติในทางลับและทางลึกของผู้สมัครแต่อย่างใด
3.ไม่ได้เชิญผู้สมัครผู้ได้รับเสนอชื่อมาแสดงวิสัยทัศน์
4.ผู้ที่ได้รับเสนอชื่อเข้าแข่งขันซึ่งเป็นศาลฎีกาเข้าไปโหวตด้วย เป็นการเหมาะสมหรือไม่
5.มีการเสนอชื่อบุคคลที่ไม่ได้อยู่ในแวดวงศาลฎีกาเข้าไปคัดเลือก ซึ่งปรากฎว่าได้รับการคัดเลือกด้วย ท่ามกลางข้อสงสัยว่ามาได้อย่างไร และมีการใช้ความสมพันธ์ที่ไม่ปกติลอบบี้เพื่อให้ได้รับการคัดเลือก!!!

น่าเสียดายค่ะ ที่ข้อสังเกตุ ที่ส่อให้เห็นถึงความไม่ปกติ เหล่านี้ กลับไม่ได้รับการใส่ใจจากที่ประชุมวุฒิสภา ทั้งที่คณะกรรมาธิการได้เสนอทางออกไว้หลายแนวทาง ที่สำคัญคือการเสนอให้มีการตีความให้ชัดเจนก่อนว่าบางขั้นตอนในการคัดเลือกครั้งนี้ ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่!!!

แต่……สมาชิกวุฒิสภาเสียงส่วนใหญ่ไม่ฟังและให้เดินหน้าคัดเลือก คณะกรรมการการเลือกตั้ง ต่อไป จนได้ทั้ง 5 คนนี้มาทำหน้าที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง……………

เฮือกกกกกกกกกก(ขออนุญาติถอนหายใจอีก 1 เฮือกใหญ่ๆๆ)คนดีในประเทศไทยที่มีประชากร 62 ล้านกว่าคน มีอยู่แค่ 5 นี้เท่านั้นค่ะที่มีคุณสมบัติเหมาะสมที่สุด สำหรับการทำหน้าที่คณะกกรมการการลือกตั้ง!!!

ยิ่งพอมาได้ยินที่พล.ต.มนูญกฤต รูปขจร ประธานวุฒิสภา(ที่แว่วๆๆมาว่าจะตั้งพรรคการเมือง)ให้สัมภาษณ์ เกี่ยวกับเรื่องนี้ที่ว่าเมื่อมีการเสนอมาก็ต้องนำข้อเสนอมาพิจารณา แต่หากจะให้ส.ว.สังกัดพรรคการเมืองก็จะต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งจะต้องรอดูเวลา และต้องฟังเสียงของประชาชนก่อน เพราะรัฐธรรมนูญฉบับนี้มาจากประชาชน หากประชาชนต้องการอย่างไร ก็ต้องฟังเสียงประชาชน แต่ความคิดของประธาน กกต. ก็เป็นความคิดที่เป็นสากลที่น่าพิจารณา "ในโลกความเป็นจริงต้องยอมรับว่า ความเป็นกลางทางการเมืองเป็นไปได้ยาก ไม่สามารถเห็นจุดเส้นแบ่งเขตหรือพื้นที่ในการ ปฏิบัติว่าอยู่ตรงไหน ซึ่งต้องยอมรับความจริง ซึ่งการที่ พล.อ.ศิรินทร์ ระบุว่าปกติส.ว.ก็ใกล้ชิดนักการเมืองนั้น คำว่าใกล้ชิดอาจจะไม่ได้ปฏิบัติก็ได้ ซึ่งพล.อ.ศิรินทร์ก็มีประสบการณ์การเป็น ส.ว. มา ซึ่งส่วนหนึ่งก็ยอมรับว่าเป็นความจริง และในส่วนหนึ่งที่เป็นกลางจริงๆ ก็มี "

ดิฉันไม่แปลกใจเลยค่ะ... ว่าทำไมข้อเสนอแนะจากคณะกรรมาธิการวิสามัญ เพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบประวัติและความประพฤติของบุคคลผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งคณะกรรมการการเลือกตั้ง วุฒิสภาที่เกี่ยวข้องกับคุณสมบัติน่าเคลือบแคลงของคณะกรรมการการเลือกตั้งชุดนี้ จึงได้รับการเมินเฉยจากบรรดาวุฒิสมาชิกเสียงส่วนใหญ่ (ที่ล้วนแต่มีสังกัดพรรคการเมือง)

ถึงแม้..... พล.อ.ศิรินทร์ ได้อธิบายถึงกรณีที่เสนอแนวคิดให้สมาชิกวุฒิสภาสังกัดพรรคการเมืองว่า เป็นเพียงหลักวิชาการทั่วไป ซึ่งในประเทศที่เจริญแล้วอย่างสหรัฐอเมริกา ก็ให้สมาชิกวุฒิสภาสังกัดพรรคการเมืองได้ เพียงแต่เมื่อทำหน้าที่ใดก็ต้องทำหน้าที่ที่กระทำ อยู่ด้วยความเป็นกลาง ทั้งนี้การสังกัดพรรคการเมืองอาจเป็นเพียงการชอบนโยบาย ของพรรคการเมืองนั้นๆ แต่ไม่ได้หมายความว่าต้องทำงานสนองตอบพรรคการเมือง อย่างที่เข้าใจ และปัจจุบันโดยพฤตินัยสมาชิกวุฒิสภาก็สังกัดพรรคการเมืองกันอยู่แล้ว พร้อมระบุว่าแนวคิดที่เสนอนี้คงต้องฟังเสียงประชาชนด้วย ไม่ใช่เมื่อเสนอแล้วต้องทำตาม

เฮือกกกกกกกกกกกกกกก(ขออนุญาติถอนหายใจอีกครั้งค่ะ) อาจารย์แก้วสรร อติโพธิ ส.ว.กรุงเทพมหานคร และอดีตสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) กล่าวว่า เรื่องนี้ ส.ส.ร.เถียงกันมาตั้งแต่แรกแล้วว่ามีวุฒิสภาไว้ทำไม หากเพื่อตรวจสอบก็ต้องให้พ้นจากความเป็นพรรคการเมือง ซึ่งต้องตอบตรงนี้ให้ได้ก่อน หากจะให้มี ส.ว.สังกัดพรรคการเมือง ทั้งที่มีส.ส.สังกัดพรรคการเมืองอยู่แล้ว ก็ควรจะมีแค่สภาเดียว เพราะหากสภาผู้แทนราษฎรมีพรรคไทยรักไทยเป็นเสียงข้างมาก แล้วบังเอิญว่าวุฒิสภามีพรรคประชาธิปัตย์เป็นเสียงข้างมาก จะทำให้เกิดปัญหา "เรื่องแก้รัฐธรรมนูญก็เสนอได้ทั้งนั้น แต่ถ้าในฐานะผมเป็นวุฒิสมาชิก อาจเสนอได้ว่ากกต.ไม่ควรมีอำนาจชี้ขาด ยืนยันเรื่องความเหมาะสม ไม่ใช่เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ แต่เป็นเจตนารมณ์ของประชาชน ที่บอกว่าสภาผู้แทนราษฎรต้องถูกตรวจสอบ" นายแก้วสรรกล่าว สำหรับเหตุผลที่ระบุว่าสหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นประเทศที่เจริญแล้วยังมีสองสภานั้น อาจารย์แก้วสรร บอกว่า สหรัฐอเมริกา มีลักษณะเป็นรัฐรวม ซึ่งรัฐใหญ่จะได้เปรียบ รัฐเล็กจึงไม่ยอม จึงต้องมีสภาที่ 2 เพื่อให้เท่าเทียมกัน ซึ่งเป็นเหตุผลเฉพาะภูมิประเทศ แต่ประเทศไทยไม่ได้เป็นเช่นนั้น!!!

ลุ้นกันแทบตาย ติดธงเขียว ชูธงเหลืองกันเกลื่อนเมือง เพื่อให้มีการปฎิรูปการเมือง แต่พอได้รัฐธรรมนูญใหม่ ที่ว่ากันว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่ดีที่สุดในโลกมาใช้..ตัวฟันเฟืองสำคัญ ในการนำพาการปฎิรูปการเมืองไทย ให้ตลอดรอดฝั่ง กลับไม่รับรู้ถึงตัวบทกฎกติกาของรัฐธรรมนูญใหม่ ที่กำหนดชัดเจน ว่าวุฒิสภาต้องปลอดจากการเมือง เพื่อให้มีการคานอำนาจกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

น่าเสียดายจังเลยค่ะ !!! บังเอิญดิฉันเพิ่งให้คู่มือกฎหมายรัฐธรรมนูญ พศ.2540 กับหลานสาวที่เรียนชั้นป.6 ไปอ่านเพราะเจ้าตัวร่ำร้องขอ ด้วยความสนใจ...อยากรู้ถึงความแตกต่างในหน้าที่ระหว่างสมาชิกวุฒิสภา กับ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ...มิเช่นนั้นดิฉันจะฝาก คู่มือรัฐธรรมนูญที่เคยมีอยู่ไปกับน้องๆนักข่าว เพื่อนำไปให้ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้งอ่าน..:)

แหมๆๆเกือบลืมเจ้าค่ะ ไม่ต้องมากระซิบถามดิฉันนะคะ ว่าประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง สังกัดพรรคการเมืองไหน(อิอิ) และกำลังทำหน้าที่โยนก้อนหินถามทางแทนใคร หรือสมาชิกวุฒิสภาคนไหนสังกัดพรรคการเมืองใดบ้าง

แฮ่ะๆๆๆๆแบบว่าดิฉัน ไม่ทราบจริงๆๆเจ้าค่ะ:)





>> กลับไปหน้าเดิมค่ะ...:)

| HOME | WORK'S EXPERIENCE | SIGN &VIEW GUESTBOOK |

© 2001 "Complain or Opinion" Created and Published by JaRuWaN yUnG-yUeN All rights reserved.
 
Hosted by www.Geocities.ws

1