เนื่องจากนกปรอดหัวโขน เป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง ประเภทนก ตามพระราชบัญญัติสงวน และคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. ๒๕๓๕ ผู้ใดมีไว้ในครอบครอง โดยมิได้รับอนุญาตจาก กรมป่าไม้ ถือว่าผิดกฎหมาย ส่วนผู้มีนกในครอบครอง ก่อนปี ๒๕๓๕ ต้องขอ ใบอนุญาตครอบครอง และหากผู้ใด ต้องการเพาะพันธุ์ จะต้องปฏิบัติตามกฤษฎีกา เล่มที่ ๑๑๑ ตอนที่ ๕๘ ปี ๒๕๓๗ ซึ่งระบุว่า นกปรอดหัวโขน หรือนกกรงหัวจุก เป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง ที่เพาะพันธุ์ได้ แต่จะต้องได้รับ การอนุญาตจาก กรมป่าไม้เสียก่อน
       ถึงแม้ว่ากฎหมาย จะเปิดโอกาสให้เพาะพันธุ์ นกปรอดหัวโขน ในกรงเลี้ยงได้ แต่ผู้ขาย ก็ไม่นิยมเพาะเลี้ยง เพราะการขออนุญาตจาก กรมป่าไม้ มีขั้นตอนยุ่งยาก อีกทั้ง การเพาะพันธุ์ ก็ต้องลงทุนสูงกว่า การจับ จากธรรมชาติ ซึ่งสามารถจับได้ครั้งละมาก ๆ เพราะนกปรอดหัวโขน อยู่รวมกันเป็นฝูง ตามท้องทุ่ง ใช้ตาข่าย ดักจับครั้งเดียว ก็ได้นกเป็นสิบตัว

       ควรเลี้ยง นกปรอดหัวโขนหรือไม่ ? ความคิดเห็นจากทั้ง ฝ่ายสนับสนุน และคัดค้าน คงจะเป็นข้อมูลที่ดี สำหรับผู้ที่คิดจะเลี้ยง นกรูปร่างสวยเสียงใสชนิดนี้

ฝ่ายสนับสนุน


ไพบูลย์ กนกวัฒนาวรรณ

ผู้เลี้ยงนกปรอดหัวโขน
การประกวด แข่งเสียงร้องของ นกปรอดหัวโขน ทำให้เกิด การพัฒนาสายพันธุ์
ควรถอดชื่อ นกปรอดหัวโขน ออกจากบัญชีรายชื่อ สัตว์ป่าสงวน และคุ้มครอง และเปิดโอกาสให้ เพาะพันธุ์ได้โดยอิสระ
ผู้เลี้ยงหลายราย ยืนยันว่า สามารถเพาะพันธุ์ นกปรอดหัวโขน ในกรงได้
ผู้เลี้ยงนก ดูแล ประคบ ประหงมนก เป็นอย่างดี


*****
       "มันมีแนวความคิดสองทาง พวกอนุรักษนิยมบอกว่า ทุกอย่างต้องอยู่ในป่า ถึงจะดูดี บ้านของข้าคือฟ้าเท่านั้น ส่วนพวกที่คิดแบบเกษตรกร ก็บอกว่า ทำไม เราไม่พัฒนาสายพันธุ์ เอานกปรอดหัวโขน มาเพาะขยายพันธุ์ในกรง ต่อไปอาจส่งเป็นสินค้าออกถือเป็นการ ช่วยสร้างอาชีพให้คนไทยด้วย
       "ผมเองก็เป็นนักอนุรักษ์ ชอบป่าไม้ ชอบเที่ยวป่า แต่ก็เชื่อว่าการกำหนดให้ สัตว์ชนิดนั้นชนิดนี้ เป็นสัตว์สงวน โดยที่กรมป่าไม้ไม่มีกำลังเจ้าหน้าที่เพียงพอในการตรวจจับ แต่ความต้องการ ของผู้ที่อยากได้สัตว์นั้นมาเลี้ยง มีมาก ก็ทำให้สัตว์สูญพันธุ์ ทีนี้ถามว่ามนุษย์มีปัญญา เพาะพันธุ์สัตว์พวกนี้ในกรงไหม มีแน่นอน ขนาดผมลองเพาะเองที่บ้านยังทำได้ ผมมีกรงเพาะอยู่สองคู่ เมื่อปีที่แล้ว ครอกหนึ่ง ออกลูกมาห้าตัว ตายไปสาม อีกครอกหนึ่ง ออกลูกมาสี่ตัว ตายไปสอง นี่ขนาดผมยังมือใหม่อยู่ แสดงว่าเพาะพันธุ์ไม่ยากและเท่าที่คุยกับ คนเลี้ยงหลายคน เขาก็เพาะพันธุ์ได้
       "ถ้ากรมป่าไม้อนุญาตให้เพาะพันธุ์ได้โดยอิสระ ผมเชื่อว่าในระยะยาวก็จะเหมือนนกเขาชวา คือตอนแรก ก็จับมาจากป่า พอตอนหลัง เพาะพันธุ์ได้ก็ไม่มีใครซื้อนกป่าอีก ถ้าเราเตรียม สภาพแวดล้อม ให้เหมาะสม ปีหนึ่ง ต้องเพาะได้ มากกว่าสองชุดแน่นอน
       "ตอนนี้ ไม่มีใครกล้าเพาะนกชนิดนี้ เพราะกลัวถูกกรมป่าไม้จับ คนที่เลี้ยงก็ซื้อนกป่าทั้งนั้น ถ้าเปิดโอกาส ให้เพาะพันธุ์ได้ ผมเชื่อว่า อีกหน่อย คงไม่มีใครจับนกป่ามาเลี้ยงแน่ เพราะนกที่เพาะพันธุ์ได้เอง เสียงร้องดีกว่า ผมเองก็เลี้ยงนกเขาชวา เสียงร้องของนกเขาป่า กับนกเขาในกรง เรียกได้ว่า เกือบจะเป็น คนละพันธุ์กันเลย ทั้งที่มันเป็นนกพันธุ์เดียวกัน ที่เป็นเช่นนั้นเพราะคนเพาะพันธุ์ จะเลือกเฉพาะตัวที่เสียงดี ๆ มาขยายพันธุ์ก็เหมือนกับคน แม่กับลูกสาว หรือพ่อกับลูกชาย จะมีเสียงพูดคล้าย ๆ กัน ถ้ามีการจัดแข่งขัน คนก็จะซื้อแต่ พันธุ์ที่เสียงดี ๆ มาเลี้ยง ไม่มีใครเขาอยากซื้อนกป่า คนขายก็ไม่อยากจับนก ออกมาจากป่าแน่นอน
       "การจัดประกวดเสียงร้อง นกปรอดหัวโขนจะทำให้ คนหันมานิยมเลี้ยงนกมากขึ้น และน่าจะเป็นแรงผลักดันให้ กรมป่าไม้ หันมามองว่า ควรยกเลิกกฎหมายห้ามครอบครองได้แล้ว เพราะประชาชน เขาต้องการเลี้ยงเท่าที่ผมทราบ ตอนนี้กรมป่าไม้อนุญาตให้เพาะพันธุ์ได้ก็จริง แต่ต้องไม่เกินสี่ตัว และต้องมี ใบถือครองก่อนปี ๒๕๓๕ ซึ่งตอนนี้ขออนุญาตไม่ได้แล้ว คนก็ไม่กล้าเพาะพันธุ์ ผมคิดว่าควรจะต้องแก้ไขกฎหมาย โดยเอานกปรอดหัวโขน ออกจาก พ.ร.บ. สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า ปี ๒๕๓๕ และเปิดโอกาสให้เพาะพันธุ์ได้ ใครอยากจะทำฟาร์ม ต้องมาจดทะเบียน มีกี่กรง ลงทะเบียนไว้ เป็นหลักฐานให้หมด
       "ถ้าคุณปล่อยให้เพาะพันธุ์ได้ วันหนึ่งคุณก็ไม่ต้องไปพิสูจน์หรอกว่า นกตัวไหน จับมาจากป่า เพราะว่า มีนกเกลื่อนเมือง จนไม่มีใครไปจับนกป่าอีกแล้ว ยิ่งคนที่เลี้ยงนกอย่างพวกผม ก็จะไม่อยากซื้อนกป่า เพราะต้องเอามาลุ้นว่าจะร้องดีหรือไม่ ต้องเลี้ยงตั้งห้าปี กว่ามันจะร้องได้ หรือนกที่เก่ง ๆ ก็ต้องเจ็ดแปดปี เพราะฉะนั้น ผมก็ซื้อลูกนก ที่เขาเพาะพันธุ์จากพ่อที่เคยเป็นแชมป์ แล้วนกที่เพาะพันธุ์ในกรงก็เชื่องง่าย นกป่าต้องเลี้ยงถึง สองปีกว่าจะเชื่อง บางทีขายคู่ละหมื่น ผมก็ซื้อ ถ้าเปิดโอกาสให้ พัฒนาพันธุ์ได้ หลังจากนำนกมาแข่งขัน สักสองปี เราก็จะคัดพันธุ์ดี ๆ เอาไปเพาะพันธุ์
       "นักอนุรักษ์มักมองว่า คนที่เลี้ยงนกทรมานสัตว์ ผมว่าไม่เป็นความจริงแน่นอน ยิ่งถ้าคุณส่งเสริมให้เลี้ยงนก นกมีราคาดี ไม่มีใครกล้าทำนกตายหรอกครับ คุณรู้ไหมว่า บางคน ดูแลนกดีกว่าลูกเขาอีก ทั้งเก็บอาหาร เช็ดขี้ทั้งวันทั้งคืน จับนกอาบน้ำ ล้างกรงเช้าเย็น ไม่มีใครทรมานนกของตัวเองหรอกครับ หรือเวลาเอานกมาร้องแข่งกัน นักอนุรักษ์บอกว่า นกมันเครียด ผมขอถามหน่อยว่า เวลาคนเราเครียด เราจะร้องเพลงไหม... ไม่ร้องหรอกครับ นกก็เหมือนกัน ถ้าเครียดมันจะซึมอย่างถ้านำมาแข่งขัน เจอนกตัวอื่น ๆ มันจะร้องดีใจ กระโดดโลดเต้น เพราะอยู่บ้าน มันก็เบื่อ
       "ผมขอถามพวกนักอนุรักษ์หน่อยว่า ท่านกินไก่หรือเปล่า ไก่ก็ถูกจับมาขังเหมือนกัน ถ้าคุณบอกว่า พวกผมเอานกมากักขัง ไม่ให้มีอิสรภาพ ผมขอถามหน่อยว่า ในโลกนี้ มีสัตว์ชนิดไหนบ้าง ที่มีอิสรภาพ คนเราเกิดมา ก็ถูกจำกัดอิสรภาพ มาตั้งแต่เกิด ถูกพ่อแม่เลี้ยงดู ถูกส่งเข้าโรงเรียน นกก็เหมือนกัน ถ้าจับมาอยู่ในกรง สักวันหนึ่ง เขาก็จะรู้สึกว่า นี่คือบ้านของเขา ถึงเวลา ก็ให้เขาขยายพันธุ์ พาไปแข่งขัน พอเลิกแข่ง ก็ปลดเกษียณ เอาเขาไปทำพันธุ์ ก็มีความสุขแบบของเขา
       "ถ้าพวกอนุรักษ์บอกว่า เลิกเลี้ยงนกเสียเถอะ คุณก็ต้องไปบอก คนทั้งประเทศให้เลิก คุณทำได้ไหม การเลี้ยงนกคืองานอดิเรกที่ดี ทำให้ไม่ต้องไปมั่วสุมไร้สาระ กินยาบ้า เด็กก็เริ่มมีสมาธิ รู้จักสังเกตว่า ทำไมสัตว์เป็นอย่างนี้ ผมคิดว่าการเลี้ยงนกมีผลดีมากกว่าผลเสีย
       "ตอนนี้ มีผู้เลี้ยงนกปรอดหัวโขน อยู่ทั่วประเทศ ส่วนใหญ่ อยู่ทางภาคใต้ สำหรับในกรุงเทพฯ ตอนนี้ มีมากกว่า ๒๐ ชมรม ศูนย์กลางการเล่นนกปรอดหัวโขนอยู่ที่สนามโรงเรียน พิบูลย์ประชาสรรค์ ดินแดง และมีสนามอื่นอีก ๒๐ สนาม ทั้งในกรุงเทพฯ และจังหวัดใกล้เคียง
       "ขณะนี้ผมพยายาม รวบรวมรายชื่อคนเลี้ยงนก ๕ หมื่นรายชื่อ ไปเสนอกรมป่าไม้ ให้เปิดโอกาสให้เพาะพันธุ์ ก็ไม่รู้ว่าจะได้ผลแค่ไหน
       "ผมอยากฝากไว้ว่า ผมสนับสนุน การอนุรักษ์ธรรมชาติเต็มที่ แต่คนที่อนุรักษ์ควรรู้แบบรู้จริง ไม่ใช่หลับหูหลับตาอนุรักษ์ ไม่ใช่เอาแต่บอกว่า ฟ้าคือหลังคาบ้านข้าอย่างเดียว"

*****
ฝ่ายคัดค้าน

อุทัย ตรีสุคนธ์

อุปนายก สมาคมอนุรักษ์นก และธรรมชาติ แห่งประเทศไทย

*****
         การจัดประกวดแข่งเสียงร้อง ทำให้นกปรอดหัวโขน สูญพันธุ์เร็วขึ้น
         ยังไม่มีใครยืนยันว่า เพาะพันธุ์นกปรอดหัวโขน ในกรงเลี้ยงได้
       
 การจับนกมาแข่งกันร้อง ทำให้นกเกิดความเครียด เป็นการทรมานสัตว์
        ขั้นตอนการขนย้ายนกจากป่า ทำให้นกตายมากกว่าครึ่ง
***
       "ทุกวันนี้ นกปรอดหัวโขนในธรรมชาติ ลดจำนวนลง อย่างน่าตกใจ เพราะมีผู้นิยมเลี้ยงกันมากขึ้น ทั้ง ๆ ที่ นกชนิดนี้ เป็นสัตว์ป่าสงวน และยังไม่มีหลักฐานว่า สามารถเพาะพันธุ์ ในกรงเลี้ยงได้ นกที่นำมาเลี้ยงกันอยู่ทุกวันนี้ จึงเป็นนกที่ผิดกฎหมาย และเป็นนกที่ จับมาจากธรรมชาติทั้งสิ้น
       "ตามปรกติ เราจะพบนกชนิดนี้ ตามท้องทุ่ง หรือป่าละเมาะทั่วไป อย่างเช่น รอบตัวเมืองเชียงใหม่ แต่เดี๋ยวนี้ กลับหาดูได้ยาก โดยเฉพาะภาคใต้ แทบไม่มี นกปรอดหัวโขน ในธรรมชาติ ให้เห็นอีกแล้ว คงมีแต่เฉพาะที่ เลี้ยงไว้ในกรงตามบ้านเท่านั้น
       "ปัญหาสำคัญ ที่ทำให้นกปรอดหัวโขน ลดปริมาณลง อย่างรวดเร็ว เนื่องมาจาก การเลี้ยงไว้ดูเล่น และการจัดประกวด แข่งเสียงร้อง ซึ่งเริ่มกระจายความนิยม จากภาคใต้ สู่ภาคอื่น ๆ ทำให้มีความต้องการ นกปรอดหัวโขนมากขึ้น และทำให้ประชาชนทั่วไป เกิดความเข้าใจผิดว่า นกปรอดหัวโขน เหมือนกับนกเขาชวา คือสามารถเพาะพันธุ์ และซื้อมาเลี้ยงได้ อย่างถูกต้องตามกฎหมาย ทั้ง ๆ ที่ความจริง ยังไม่มีใครออกมายืนยันว่า สามารถเพาะพันธุ์ นกชนิดนี้ในกรงเลี้ยงได้จริง การจัดประกวดแข่งขัน จึงเป็นตัวการสำคัญ ที่ทำให้ นกปรอดสูญพันธุ์ไปจากธรรมชาติเร็วขึ้น
       "นอกจากนี้ กระบวนการขนย้ายนก จากป่าสู่เมือง ทำให้อัตราการตายของนก สูงมาก เพราะการขนย้าย มักใส่นกกรงละหลาย ๆ ตัว ทำให้นกอึดอัด เกิดความเครียด จิกหรือตีกันจนตาย ประมาณกันว่า นกกว่าครึ่งหนึ่ง ตายจากการขนย้าย และการจับนก ไปแข่งขัน ยังเป็นตัวการสำคัญ ที่ทำให้ นกเกิดความเครียด ถึงแม้ว่า ตามธรรมชาติ นกจะส่งเสียงร้องอยู่แล้ว แต่ถ้ามีนกอีกตัว มาอยู่ใกล้ ๆ มันจะต้องร้องมากขึ้น เพื่อประกาศอาณาเขต และขับไล่นกที่อยู่ใกล้ ให้หลีกออกไป การจับนกขังกรง และแข่งกันร้อง จะทำให้นกเครียดมาก เพราะร้องขับไล่เท่าไร นกอีกตัว ก็ไม่หนีไปไหน เป็นการทรมานสัตว์ อย่างเห็นได้ชัด

       "ขณะนี้ ยังไม่มีใครออกมาเปิดเผย หรือแจ้งต่อกรมป่าไม้ว่า สามารถเพาะพันธุ์ นกปรอดในกรงได้สำเร็จ สาเหตุหนึ่งเพราะ คนเลี้ยง ยังไม่รู้จัก ธรรมชาติของมันจริง ๆ จึงไม่รู้ว่า มันต้องการ สภาพแวดล้อมอย่างไร ในการขยายพันธุ์ และเนื่องจาก การนำมาเลี้ยงในกรง ทำให้นก มีสภาพความเป็นอยู่ ผิดธรรมชาติ ทำให้นก เกิดความเครียด หรือไม่สามารถ ดำเนินชีวิตได้ตามปรกติ จากที่เคยบินออกไป หาอาหารด้วยตนเอง เมื่อถึงเวลาผสมพันธุ์ ก็จะหาคู่ตามธรรมชาติ และเตรียมรังเพื่อวางไข่ เมื่อมาอยู่ในกรง มันก็ไม่รู้ว่า จะมีอาหารเพียงพอ สำหรับลูกหรือไม่ ก่อนวางไข่ นกปรอดหัวโขน จะต้องคำนวณ ความเหมาะสม ของสภาพแวดล้อม ถ้าสภาพแวดล้อม ไม่เหมาะสม มันก็จะไม่วางไข่
       "ถ้าหากกลุ่มผู้เลี้ยง สามารถเพาะพันธุ์ นกปรอดหัวโขน ได้จำนวนมากจริง ๆ ก็ควรยื่นเรื่องกับ กรมป่าไม้ ขออนุญาตเพาะพันธุ์ อย่างถูกต้องตามกฎหมาย และต้องช่วยกันป้องกัน ไม่ให้มีการจับนกป่ามาขาย ถ้าใครต้องการเลี้ยง ควรสนับสนุนให้ซื้อนกที่ เพาะพันธุ์ในกรง เวลาจัดแข่งขัน ก็ต้องมีการตรวจสอบให้แน่ชัดว่า นกที่นำมาประกวด ไม่ใช่นกป่า ถ้าทำได้จริง ปัญหาการจับนกจากป่า ก็คงหมดไป และการจัดประกวดแข่งขัน ก็สามารถทำได้ แต่ในขณะนี้ ไม่ควรจัดการประกวดใด ๆ เพราะจะทำให้ นกสูญพันธุ์ไปจากป่าเร็วขึ้น
       "สิ่งที่ผมเป็นห่วงต่อไปก็คือ ในอนาคต การเพาะพันธุ์ในกรงเลี้ยง ซึ่งนำพ่อพันธุ์ แม่พันธุ์ คู่แรก มาจากธรรมชาติ จะเกิดการ อ่อนแอทางพันธุกรรม (inbreed) เพราะนกที่นำมาเพาะพันธุ์ มีจำนวนจำกัด เมื่อยีนอ่อนแอ ผู้เลี้ยง ก็ต้องจับ พ่อพันธุ์ แม่พันธุ์ จากธรรมชาติ มาผสมพันธุ์อีก เหมือนอย่างกรณี ไก่ฟ้า ซึ่งกำลังอ่อนแอ ผู้เลี้ยง ต้องจับไก่ฟ้าจากธรรมชาติ มาผสมพันธุ์อีก ดังนั้น ถึงแม้จะมีการเพาะพันธุ์ได้ ในอนาคต นกธรรมชาติ ก็ต้องถูกรบกวนอีก อย่างแน่นอน และเมื่อถึงเวลานั้น เราจะมีมาตรการอะไร มาควบคุม ไม่ให้จับนกจากธรรมชาติ มากเกินไป
       "ทางออกที่ดีที่สุดก็คือ เลิกค่านิยม การจับนกมาขังกรง หากต้องการฟังเสียงนกร้อง หรือต้องการเลี้ยงนกจริง ๆ ควรปลูกต้นไม้ ที่เป็นอาหารของนก แล้วให้นกบินมาเกาะตามธรรมชาติ จะดีกว่า การนำสิ่งมีชีวิตมากักขัง เพื่อให้ตนเองมีความสุข เป็นเรื่องไม่ยุติธรรมต่อ สิ่งมีชีวิตอื่น ผมคิดว่า คนไทย โดยเฉพาะนักการเมือง ควรเลิกเลี้ยงนก และสัตว์ป่าไว้ในบ้านได้แล้ว เพราะถ้าผู้นำบ้านเมืองเลิกก่อน ประชาชน จะได้ปฏิบัติตาม สัตว์ป่า จะได้ไม่สูญพันธุ์ และใช้ชีวิตอยู่ในธรรมชาติ อย่างมีอิสรภาพ"
*****

ฝ่ายกลาง ๆ

*****
อนุสรณ์ แซ่หลี
     ผมคิดว่า น่าจะมีกฎหมายรองรับ ว่าแต่ละคน ควรถือครองนก ได้คนละกี่ตัว หรือมีการเก็บภาษีรายปีต่อนก 1 ตัว เป็นเงินเท่าไหร่ ในสภาวะเศรษฐกิจแบบนี้ ควรสนับสนุน เพราะจะได้คลายเครียด และป็นงานอดิเรกอย่างหนึ่ง อีกทั้งเป็นการ สนับสนุนให้ผู้ทำกรงนก มีอาชีพเสริม เพื่อเป็นรายได้ เพราะว่า ราคาของกรง ซึ่งมีลวดลายที่สวยงาม ย่อมมีราคาแพง เป็นการสนีบสนุน การสร้างอาชีพอย่างหนึ่ง

จินตนา สุวาวัลย์
     เท่าที่สังเกต ผู้ที่แสดงความคิดเห็นมา จะมีแต่ผู้คัดค้านเป็นส่วนใหญ่ ทำไมไม่เห็นมี ผู้สนับสนุน แสดงความคิดเห็นออกมาบ้างเลย อาจเป็นเพราะ มัวแต่เลี้ยงนก เลยไม่มีเวลาอ่านสารคดี หรืออาจไม่รู้จักสารคดีเลยก็ได้

ปาน
     ทราบมาว่าเดี๋ยวนี้มีการเพาะพันธุ์นกปรอดหัวโขนได้แล้ว คงไม่ต้องห่วงแล้วมั้งครับว่านกชนิดนี้จะสูญพันธุ์

วริทธิ์ จูงเจริญวัฒนา
     ผมมีความคิดเห็นกลาง ๆ ครับ ส่วนตัวไม่ได้เลี้ยงนกครับ และไม่เคยเลี้ยง แต่ข้างบ้านผมเลี้ยงนกปรอทหัวจุกไว้ 3 ตัวครับ เช้า ๆ มันจะส่งเสียงคุยกัน ฟัง ๆ แล้วก็เพลินดีครับ ผมไม่เห็นด้วยที่จะมีการจับนกจากป่ามาเลี้ยงครับ เพราะจะทำให้มันตายระหว่างขนย้าย และทำให้ระบบนิเวศน์เสียสมดุล แต่ก็ไม่อยากให้มีกฎหมายที่ยุ่งยากในการเพาะพันธุ์ ผมคิดว่าควรให้อิสระในการเพาะนกชนิดนี้ เพราะถ้าหากมันใกล้สูญพันธุ์ การที่เรายังมีนกชนิดนี้ไว้ไห่ลูกหลานดู ถึงแม้ว่าจะอยู่ในกรง ก็ยังดีกว่าไม่มีเลยไม่ใช่หรือครับ ? การเลี้ยงนกก็เป็นการเลี้ยงสัตว์อย่างหนึ่ง ที่ ฝึกให้เจ้าของเกิดความรักและความเมตตาต่อสัตว์ได้วิธีหนึ่ง ถ้าคุณเอาใจใส่มันดีจริง ๆ ผมว่าก็ไม่น่าจะเสียหายอะไรนะครับ แต่นกบางประเภทที่ควรจะอยู่ในที่ ๆ ควรอยู่ก็ไม่ควรจับมาเลี้ยงครับ / เล็ก

*****
ข้อมูลจาก
http://www.sarakadee.com/feature/1999/12/vote.shtml
ขอขอบคุณ
http://www.sarakadee.com
*****
ขอเชิญชม ภาพการเพาะนกปรอดหัวโขนเคราแดง


Hosted by www.Geocities.ws

1