ประวัติย่อประธานโฮจิมินห์(พ.ศ.๒๔๓๓ – ๒๕๑๒)

 

          ประธานโฮจิมินห์ (ชื่อในวัยเด็ก เหงวียน ซิง กุง ชื่อในวัยเรียนคือ เหงวียน เติ้ด แก่ง ใช้ชื่อว่า เหงวียน อ๋าย ก๊วก อยู่หลายปีและใช้หลายนามแฝง หลายนามปากกา) เกิดเมื่อวันที่ ๑๙ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๓๓ ที่ ด.กิมเลียน จ.เหงะอาน ถึงแก่อสัญกรรมที่กรุงฮานอย เมื่อวันที่ ๒ กันยายน พ.ศ. ๒๕๑๒ เกิดและเติบโตมาในครอบครัวนักการศึกษาที่ยากจนเคร่งครัดในศีลธรรมอยู่ในเขตที่มีความรักชาติในสายเลือดและมีความมุ่งมั่นในการกู้เอกราชให้แก่ชนชาติมอบเสรีภาพ ความสุขให้แก่ประชาชน พ.ศ.๒๔๕๔ท่านออกนอกประเทศมุ่งสู้ตะวันตกคันหาลู่ทางปลดปล่อยชนชาติ
          ท่านได้เดินทางผ่านหลายประเทศ ทั้งทวีปอเชีย ทวีปยุโรป ทวีปแอฟริกา ทวีปอเมริกา พ.ศ. ๒๔๖๒ ในนามตัวแทนชาวเวียดนามผู้รักชาติในฝรั่งเศส (ใช่ชื่อว่า เหงวียน อ๋าย ก๊วก) ท่านส่งข้อเรียกร้องไปยังการประชุมแวร์ซาย เรียกร้องอิสรภาพ ประชาธิปไตย ความเสมอภาค ให้แก่ประชาชนชาวเวียดนาม
          พ.ศ. ๒๔๖๓ เหงวียน อ๋าย ก๋วก เข้าร่วมการประชุมใหญ่ตัวร์ของพรรคสัคคมฝรั่งเศสลงคะแนนสนับสนุนการเข้าร่วมสากล ๓ เข้าร่วมการก่อตั้งพรรคคอมมิวนิสต์ฝรั่งเศส พ.ศ. ๒๔๖๔ เข้าร่วมการก่อตั้งสมาพันธ์ประเทศตะวันตกเป็นเมืองขึ้น ตีพิมพ์หนังสือพิมพ์ “เลอปาเรีย” (ผู้ร่วมทุกข์) เน้นความสามัคคี ก่อตั้งและชิ้นำปลุกกระแสการต่อสู้ปลดปล่อยชนชาติตามเมืองขึ้นต่างๆ เดือนมิถุนายน พ.ศ. ๒๔๖๔ เหงวียน อ๋าย ก๋วก ไปกวางเจา ประเทศจีน จัดการฝึกฝนให้แก่กลุ่มเยาวชนเวียดนามรักชาติ ก่อตั้งสมาคมเยาวชนเวียดนามปฏิวัติ พ.ศ. ๒๔๗๐ ตีพิมพ์หนังสือ “คำพิพากษาลัทธิลำอาณานิคมฝรั่งเศส” พ.ศ.๒๔๖๙ ตีพิมพ์หนังสือพิมพ์ “เยาวชน” พ.ศ.๒๔๗๐ ตีพิมพ์หนังสือ “เส้นทางปฏิวัติ”
          เดือนกรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๗๑ เหงวียน อ๋าย ก๋วก มาเมืองไทย (สยาม) หาลู่ทางกลับเวียดนาม ก่อตั้งและชี้นำการปลดปล่อยชนชาติ ช่วงอยู่เมืองไทยท่านเคลื่อนไหวในกระแสชาวเวียดนามโพ้นทะเลรักชาติ ที่ภาคใต้ ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เดือนพฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๗๓ ท่านจากเมืองไทยไปจีน
          ฤดูใบไม้ผิล พ.ศ. ๒๔๗๓ ท่านก่อตั้งพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนาม ออกนโยบายปฏิวัติปลดปล่อยชนชาติ เดือนเมษายน พ.ศ. ๒๔๗๑ ท่านกลับมาเมืองไทยเป็นครั้งที่ ๒ ท่านอยู่เมืองไทยไม่นาน เดือนมิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๔ ท่านถูกทางการอังกฤษจับที่ฮ่องกงโดยที่ท่านไม่มีความคิด ฤดูใบไม้ผิล พ.ศ. ๒๔๗๖ ท่านได้รับการปล่อยตัว
สงครามอินโดจีน : สงครามเอกราชเวียดนาม
                วันที่ ๒ กันยายน ๒๔๘๘ แม้ว่าฝ่ายสัมพันธมิตรผู้ชนะสงครามจะตกลงกันให้จักรภพอังกฤษและทหารจีนคณะชาติเข้ายึดครองอินโดจีนเอาไว้คอยฝรั่งเศสกลับมาก็ตาม แต่ด้วยความเชื่อมั่นว่าตนมีความเข้มแข็งพอแล้ว โฮจิมินห์ในฐานะประธานพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามได้ยืนขึ้นบนเฉลียงตึกโรงละครแบบฝรั่งเศสในกรุงฮานอย เคียงข้างเขาเป็นธงสีแดงมีรูปดาวสีเหลือง ๑ ดวงตรงกลาง ประกาศอิสรภาพเวียดนามว่า
                “ทุกคนถือกำเนิดเท่าเทียมกัน มีสิทธิเท่าเทียมกันอย่างแท้จริง สิทธิเหล่านี้ได้แก่สิทธิแห่งการดำรงชีวิต มีเสรีภาพ และแสวงหาความสุข”
                แต่เพียงปีกว่าให้หลัง โฮก็พาพรรคพวกออกจากกรุงฮานอย และระบุชื่อข้าศึกของญวนอย่างชัดเจน-ฝรั่งเศส โฮคิดว่าเขาคงจะทำสงครามกับฝรั่งเศสเท่านั้น และไม่เคยคิดที่จะทำสงครามกับชาติที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของโลก-สหรัฐอเมริกา
โฮจิมินห์แก่เกินไปที่จะได้เห็นบั้นปลายของสงคราม คำสั่งเสียก่อนตายของเขาระบุถึงข้าศึกผู้ยิ่งใหญ่ของเขา
                “การต่อสู้อย่างกล้าหาญของเราต่อสหรัฐอเมริกา ผู้รุกราน เราจะพบกับความยากลำบากและเสียสละอย่างสูง แต่เราเชื่อมั่นว่า เราจะชนะในที่สุด และนั่นเป็นความจริงอย่างแท้จริง”
                โฮจิมินห์คงคิดไม่ถึงว่า “เราจะชนะในที่สุด” ของเขาไม่นานอย่างที่เขาคิด เพราะเพียง ๖ ปีหลังจากเขาถึงแก่กรรม สหรัฐอเมริกาโดยประธานาธิบดีกล่าวเองว่า-สหรัฐอเมริกาสูญเสียเวียดนามแล้ว

การต่อสู้เพื่ออิสรภาพ
                เชื้อสายคอมมิวนิสต์จากการปฏิวัติในรัสเซียได้แผ่เข้าไปในฝรั่งเศส เป็นพรรคคอมมิวนิสต์ฝรั่งเศสตั้งแต่ยุคต้นของลัทธิคอมมิวนิสต์ โฮจิมินห์เป็นผู้หนึ่งที่เป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ฝรั่งเศสตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๖๓ (ค.ศ.๑๙๒๐)และ ๕ ปีต่อมาเขาได้เป็นผู้หนึ่งในการก่อตั้งพรรคคอมมิวนิสต์ญวนขึ้นในกว่างตง (กวางตุ้ง) พรรคนี้เติบโตขึ้นเป็นลำดับแม้ว่าจะอยู่นอกประเทศก็ตามและบางครั้งทำท่าจะแตกแยก โฮก็รวบรวมคุมไว้ได้ ต่อมาในปี ๒๔๗๓ เกิดความอดยากแห้งแล้ง พรรคของโฮฯได้ยุยงชาวนาก่อการกบฏและทำได้รุนแรงกว่ากลุ่มชาตินิยมที่เคยกระทำมา แต่พรรคคอมมิวนิสต์ก็ยังเติบโตไม่พอและการกวาดล้างอย่างทารุณโหดร้ายทำให้กบฏต้องหลบลงไป
                ความพ่ายแพ้ขอฝรั่งเศสในยุโรปต่อเยอรมนีในปี ค.ศ. ๑๙๔๐ ได้เปลี่ยนรัฐบาลฝรั่งเศสเป็นรัฐบาลหุ่นของเยอรมัน แต่ความตกลงที่ฝรั่งเศสทำกับเยอรมันไม่มีผลถึงอินโดจีน อินโดจีนยังเป็นของฝรั่งเศสและข้าหลวงใหญ่ฝรั่งเศสก็ยังปกครองอินโดจีนอยู่แม้จะไม่ชอบหน้ารัฐบาลหุ่นของตัวเองก็ตามที ในปีนี้นั้นเองญี่ปุ่นก็ได้ก้าวเข้ามาในอินโดจีนโดยนัยว่าเข้ามาเป็นผู้ไกล่เกลี่ยกรณีพิพาทของไทยโดยรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงครามกับรัฐบาลวิชีของฝรั่งเศสอันเนื่องจากรัฐบาลไทยได้เรียกร้องเอาดินแดนในอินโดจีนที่ไทยเคยเสียให้ฝรั่งเศสไปเมื่อร้อยกว่าปีก่อนคืนมา(เพราะเห็นว่าฝรั่งเศสอ่อนกำลังลงในยุโรปและคงจะไม่สามารถจะปกป้องดินแดนในอินโดจีนได้) ทั้งนี้ความประสงค์ของญี่ปุ่นที่หันเหมายังอินโดจีนก็เพื่อสร้างวงไพบูลย์มหาเอเชียบูรพา เพื่อการนี้ญี่ปุ่นจึงได้ขอใช้สิ่งอำนวยความสะดวกที่ตังเกี๋ย
                คำตอบจากฝรั่งเศสล่าช้าทำให้ญี่ปุ่นใช้กำลังเข้าโจมตีชายแดนและไฮฟอง จนฝรั่งเศสยอมให้ญี่ปุ่นคุมสนามบินและท่าเรือทุกแห่งได้ และภายหลังที่ญี่ปุ่นโจมตีเพิร์ลฮาเบอร์แล้ว ข้าหลวงใหญ่ฝรั่งเศสก็ต้องยอมร่วมมือกับญี่ปุ่นให้อินโดจีนเป็นทางผ่านของกองทัพญี่ปุ่น ญี่ปุ่นเองไม่ขัดขวางแต่อย่างใดต่อการที่ฝรั่งเศสดำเนินการปราบปรามพวกกบฏในเวียดนาม
                ในปี พ.ศ. ๒๔๘๗ (ค.ศ. ๑๙๔๔) ญี่ปุ่นเริ่มอ่อนกำลังลงในทางแปซิฟิกและฝ่ายสัมพันธมิตรมองเห็นชัยชนะอยู่รำไร ฐานะของอินโดจีนจึงถูกหยิบยกขึ้นมาพิจารณา ประธานาธิบดีรูสเวลท์ของสหรัฐฯเห็นว่า ฝรั่งเศสควรปล่อยอินโดจีนเสียที ขณะเดียวกันกองทัพจีนคณะชาติของเจียงไคเชคก็ประสงค์จะเข้าไปมีอิทธิพลบริเวณตังเกี๋ยอย่างที่จีนเคยมีในสมัยโบราณ
                เมื่อสัมพันธมิตรปลดปล่อยฝรั่งเศสจากการยึดครองของเยอรมันได้แล้ว ฝรั่งเศสในอินโดจีนก็คิดจะขับไล่กองทัพญี่ปุ่นให้ออกไปจากอินโดจีนบ้าง สหรัฐอเมริกาได้ส่งอาวุธทางอากาศให้แก่ทหารฝรั่งเศสในอินโดจีนเท่าที่สหรัฐฯเห็นว่าจำเป็น แต่ญี่ปุ่นก็รู้และไหวตัวทันยังคงควบคุมการบริหารบ้านเมืองไว้ได้
                วันที่ ๑๐ มีนาคม ๒๔๘๗ ญี่ปุ่นได้แจ้งแก่จักรพรรดิเบาได๋ว่า จักรวรรดิของพระองค์เป็นอิสรภาพจากฝรั่งเศสแล้วหลังจากอยู่ในอาณานิคมของฝรั่งเศสเป็นเวลา ๖๐ ปีพระเจ้าจักรพรรดิก็ชอบใจเป็นธรรมดาที่จะได้ปกครองบ้านเมืองเองด้วยการหนุนหลังจากญี่ปุ่น การปกครองของพระเจ้าเบาได๋ดูจะพอไปได้ แต่ก็เพียงบางส่วนเท่านั้นและเมื่อญี่ปุ่นแพ้สงครามโลก ก็เหลือแต่เพียงพรรคคอมมิวนิสต์ที่เป็นกลุ่มหรือสถาบันเดียวที่มีแผนและจัดระเบียบไว้ อันสามารถจะปกครองประเทศได้ข้อตกลงที่กรุงเตหะรานและเมืองปอตสดัมตกลงกันว่า ทหารจักรภพอังกฤษจะยึดครองอินโดจีนใต้เส้นขนานที่ ๑๖ และทหารจีนคณะชาติจะอยู่เหนือเส้นขนานนั้นขึ้นไป (การเข้ามาปลดอาวุธกองทหารญี่ปุ่นในไทย เมื่อสงครามโลกครั้งที่ ๒ สิ้นสุดลงนั้น บางคนในคณะรัฐมนตรีของนายควง อภัยวงศ์ ได้เสนอที่จะให้กองทัพจีนของเจียงไคเช็คเป็นผู้เข้ามาปลดอาวุธกองทัพทหารญี่ปุ่นในประเทศไทยตั้งแต่เหนือเส้นขนานที่ ๑๖ ขึ้นไป คือตั้งแต่เส้นขนานที่ลากผ่านอำเภอบางมูลนากจังหวัดนครสวรรค์ อำเภอเสลภูมิจังหวัดร้อยเอ็ดขึ้นไป แต่ท่านปรีดี พนมยงค์ มีความเห็นว่าหากยอมให้กองทัพมหึมาของจีนส่งทหารเข้าในไทยประมาณล้านคน ปลดอาวุธทหารญี่ปุ่นเพียงแสนกว่าคน ก็ยากที่เราจะผลักดันให้ทหารจีนนับล้านคนออกไปจากแผ่นดินไทยได้.ท่านปรีดี จึงรีบโทรเลขติดต่อกับฝ่ายสัมพันธมิตร จนในที่สุดกองกำลังของฝ่ายสัมพันธมิตรภายใต้การบัญชาของนายพล ลอร์ด หลุยส์ เมาท์แบตเทนก็เป็นผู้เข้ามาปลดอาวุธทหารญี่ปุ่นในประเทศไทยแต่เพียงฝ่ายเดียว ประเทศไทยจึงรอดพ้นจากการถูกแบ่งออกเป็นเหนือ-ใต้ นับเป็นคุณูปการอย่างยิ่งอีกประการหนึ่งที่ท่านปรีดี พนมยงค์ ได้กระทำให้แก่คนไทย-แผ่นดินไทย ซึ่งคนไทยรุ่นหลังไม่ทราบ)
                ความหวังของคนเวียดนามที่คิดว่าจะได้อิสรภาพหลังสงครามโลกสิ้นสุดลงจึงล้มเหลว แต่ด้วยความเชื่อมั่นว่าตนมีความแข็งแรงพอแล้ว พรรคคอมมิวนิสต์ก็ประกาศสถาปนาสาธารณรัฐเวียดนามที่ฮานอยให้เป็นอิสรภาพในวันที่ ๒ กันยายน ๒๔๘๘ และไม่กี่วันต่อมาจักรพรรดิเบาได๋ก็ประกาศสละราชสมบัติ
                จุดเด่นของพรรคคอมมิวนิสต์ในเวียดนามที่ทำงานได้ผลกว่ากลุ่มชาตินิยมหรือกลุ่มชาวญวนอื่นๆ ในการกอบกู้อิสรภาพอยู่ที่อุดมคติที่ได้รับมาจากเลนินและเป็นฝ่ายตรงข้ามกับลัทธินายทุนที่ฝรั่งเศสใช้อยู่ในอินโดจีน รัสเซียเองก็จ้องดูผลประโยชน์ที่ตนแพร่ลัทธิไว้และเฝ้ามองการต่อต้านจักรวรรดินิยมในเอเชียอยู่เหมือนกันแต่ด้วยความใกล้ชิดกับจีนและเนื้อแท้ของเวียดนามคล้ายจีนมากกว่ารัสเซีย โฮจิมินห์จึงเลือกวิธีของเหมาเจ๋อตงมาดำเนินการด้วยความเข้าใจ ด้วยความใจเย็น ความอดทน และการทำงานหนักในการรวบรวมพลังของมวลชนอันได้แก่ชาวนาเป็นส่วนใหญ่
                ในการต่อสู้กับกองทัพญี่ปุ่นในอินโดจีนก่อนสงครามโลกยุติลงนั้น พวกชาตินิยมได้เข้ามาร่วมมือกับพรรคคอมมิวนิสต์และได้รับการสนับสนุนจากฝ่ายสัมพันธมิตร นับตั้งแต่เรื่องการข่าว การช่วยเหลือเชลยศึกและการรบแบบกองโจร ซึ่งก่อนนั้นในปี พ.ศ. ๒๔๘๖ พวกคอมมิวนิสต์อยู่ได้แต่ตามเทือกเขาแถบตังเกี๋ยเท่านั้น แต่สองปีต่อมาคือในปี ๒๔๘๘ ก็คลุมพื้นที่ ๖ จังหวัดระหว่างฮานอยกับพรมแดนจีนไว้ได้ และเมื่อสงครามโลกทางแปซิฟิกใกล้ยุติ โฮจิมินห์ก็หวังว่าฝรั่งเศสจะยอมรับอิสรภาพของเวียดนามตามที่ญี่ปุ่นให้ไว้และจะไม่มีการต่อสู้ด้วยกำลังกันอีก
                แต่สงครามโลกจบลงโดยรัฐบาลของ ชาร์ล เดอ โกลของฝรั่งเศสผู้หลบไปตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นต่อสู้กับกองทัพเยอรมันได้รับชัยชนะกลายเป็นวีรบุรุษสงคราม เขาจึงถือว่าสถานะของอินโดจีนที่รัฐบาลวิซีซึ่งเป็นรัฐบาลหุ่นของเยอรมันได้ตกลงอะไรเกี่ยวกับอินโดจีนไว้จะต้องกลับคืนดังเดิมเหมือนก่อนสงคราม และเดอโกลได้ส่งคนมายังเวียดนามในนามฝรั่งเศสทันที การปกครองชาวเวียดนามใต้ที่มีไซ่ง่อนเป็นศูนย์กลางและทหารมีอังกฤษคอยหนุนหลัง เป็นไปโดยง่าย แต่ต่างออกไปในเวียดนามเหนือที่คอมมิวนิสต์ปกครองส่วนใหญ่เอาไว้ และยังมีทหารจีนเข้ามายึดครองตามเมืองใหญ่อยู่ด้วย
                โฮฯเห็นว่าอิสรภาพของเวียดนามน่าจะได้มาโดยสันติวิธีและเสนอเมื่อวันที่ ๖ มีนาคม ๒๔๘๙ ว่า เวียดนามเป็นรัฐอิสระในจักรภพฝรั่งเศสทำนองรัฐอิสระในจักรภพอังกฤษ ทหารฝรั่งเศสจะมีอยู่ในเวียดนามเหนือ แต่เพียงชั่วเวลา ๕ ปีเท่านั้น และช่วยฝึกสอนชาวญวนให้ด้วย แต่วันที่ ๓๐ พฤษภาคม ปีเดียวกันนั้น ข้าหลวงใหญ่ฝรั่งเศสผู้เป็นนายพลเรือก็ประกาศสาธารณรัฐโคชินไชน่า อันมีผลให้เวียดนามแบ่งเป็น ๒ ส่วนอีก โดยส่วนเหนือจะเป็นรัฐในอารักขา และมีทหารฝรั่งเศสเข้าไปเพิ่มเติมในเวียดนามเหนือด้วย เป็นการแสดงถึงการใช้กำลัง
                การต่อต้านมีขึ้นบ่อยครั้งจนกระทั่งวันที่ ๒๒ พฤศจิกายน ปีนั้นเรือลาดตระเวนฝรั่งเศสในท่าเรืองไฮฟอง ก็ยิงปืนใหญ่เข้าไปในฝูงชน มีผู้เสียชีวิตราว ๖,๐๐๐ คน วันที่ ๑๙ ธันวาคม สถานีพลังงานต่างๆในฮานอยถูกฝ่ายคอมมิวนิสต์ทำลายและเป็นสัญญาณสงครามเวียดนามยุคใหม่ ทหารคอมมิวนิสต์ญวนหรือเวียดมินห์ก็ได้ถอนตัวออกจากฮานอยเพื่อทำการสู้รบตามยุทธศาสตร์ของตน
ลุงโฮฯ
                ความคิดในการปลดแอกจากการถูกปกครองของนักล่าอาณานิคม ย่อมเกิดขึ้นแก่บรรดาชาวพื้นเมืองผู้รักอิสระเสรี สำหรับเวียดนามนายพลโวเหงียนเกี๊ยพ รัฐมนตรีกลาโหม ผู้บัญชาการทหารสูงสุดและสมาชิกสภาการเมืองกลางของเวียดนามเหนือ ได้กล่าวทางวิทยุกระจายเสียงเป็นภาษาญวน เมื่อวันที่ ๑๙ พฤษภาคม ๒๕๑๘ เวลา ๑๐.๓๐ กรีนิซ เขาได้สรรเสริญโฮจิมินห์ ความตอนหนึ่งว่า  “ในต้นศตวรรษที่ ๒๐ ชายหนุ่มญวนผู้รักชาติอย่างแรงกล้าผู้หนึ่งได้พบแสงสว่างรำไรเป็นครั้งแรกในการกู้ชาติ และชาวญวนยุคใหม่ของมนุษยชาติได้เกิดขึ้นแล้วด้วยการปฏิวัติตุลาคมของนักสังคมนิยมชาวรัสเซีย
                เหงียนอายก๊อก ผู้ต้องตกเป็นพลเมืองของประเทศราชได้พบว่า วิถีทางสมัยใหม่ที่จะช่วยขาติให้พ้นมือทรราช ก็คือ การปฏิวัติของกรรมาชีพและลัทธิเลนิน การต่อสู้ด้วยการปฏิวัติอันยาวนานกว่า ๔๐ ปี ได้พิสูจน์ให้เห็นว่า วิถีทางที่เขาเลือกไว้นั้นเป็นวิถีทางเดียวที่ถูกต้องอันจะสามารถบรรลุอิสรภาพ เสรีภาพและความผาสุกอย่างแท้จริง วิถีทางนี้ยังเป็นหนทางเดียวในการปลดแอกชาติต่างๆ นับไม่ถ้วนที่ยังตกอยู่ในเงื้อมมือของอาณานิคมและจักรวรรดินิยมอีกด้วย
                ลุงโฮ เป็นผู้รักชาติผู้ยิ่งใหญ่ ความรักชาติและพลเมืองของลุงโฮลึกซึ้งและไพศาลสุดประมาณ ท่านได้ทุ่มเทชีวิตทั้งหมดในการปลดแอกชาติและประชาชน ท่านเป็นชาวคอมมิวนิสต์ญวนคนแรก...
ด้วยสำนึกจากตัวอย่างของลุงโฮผู้ยิ่งใหญ่ ชาวญวนรุ่นนี้จะดำรงเจตนารมณ์ของท่านอันเป็นเจตนารมณ์ของพรรคด้วยเช่นกันต่อไป ในการเสริมสร้างเวียดนามที่สงบสุข เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เป็นอิสระ เป็นประชาธิปไตย และเป็นชาติที่ไพบูลย์สถาพร กับทั้งสนับสนุนกระตุ้นเตือนต่อการปฏิวัติของโลก..”
                จะเห็นได้ว่าชาวเวียดนามได้ร่วมจิตร่วมใจกันปลดแอกจากฝรั่งเศสได้สำเร็จในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ ภายใต้ผู้นำอย่างโฮจิมินห์ผู้รักชาติบ้านเมือง ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่ชาติมหาอำนาจอย่างฝรั่งเศสที่เป็นฝ่ายชนะสงครามโลก จะยอมยกดินแดนที่ตนยึดครองให้หลุดมือไป แต่ประวัติศาสตร์ก็ได้บันทึกชัยชนะของชาวเวียดนามในสงครามที่เดียนเบียนฟู ขับไล่ฝรั่งเศสพ้นประเทศและสถาปนาตนเองเป็นเอกราช แต่ความสงบก็อยู่ได้เพียงไม่กี่ปี เพราะไม่นานหลังจากฝรั่งเศสเก็บกระเป๋ากล้บบ้าน ลุงแซมจอมลวงโลกก็ก้าวเข้ามารุกรานจนเกิดเป็นสงครามยืดเยื้อเป็นสิบปีไม่ง่ายเลยที่ประเทศเล็กๆประเทศหนึ่งจะสามารถต่อสู้เพื่อปกป้องเอกราชของชาติเขาไว้ได้ถึงสองครั้งสองคราติดๆกัน และชาติที่เขาต่อสู้ด้วยก็เป็นมหาอำนาจทั้งนั้น
                จุดประสงค์ของการศึกษาการต่อสู้เพื่อเอกราชของชาติอื่น ไม่ใช่เพื่อเอาอย่างเพราะเหตุปัจจัยของแต่ละประเทศต่างกันไป รวมถึงนิสัยของคนในชาตินั้นก็ต่างกันไป แต่สิ่งที่สำคัญในการศึกษาการต่อสู้ของชาวเวียดนามก็คือ เขามีน้ำหนึ่งใจเดียวกันร่วมรบกับศัตรูต่างชาติ
                เมื่อมองกลับมาในประเทศไทย ชาติไทยมีการร่วมใจกับรบอย่างที่เรียกว่าเอาชาติเป็นเดิมพันก็ในสงครามต่อต้านญี่ปุ่นโดย กองทัพใต้ดินของประชาชนทั้งชาติที่ชื่อว่า “เสรีไทย” จากความร่วมมือร่วมใจของคนไทยผู้เสียสละ และจากเหตุการณ์ภายนอกประเทศที่ทำให้ญี่ปุ่นยอมแพ้สงคราม และไทยก็รอดพ้นจากการตกเป็นฝ่ายแพ้สงครามร่วมกับญี่ปุ่น
                จากเหตุการณ์นั้นเป็นต้นมาก็ ๖๒ ปีแล้ว ที่คนไทยทั้งชาติไม่เคยได้สามัคคีต่อสุ้กับศัตรูอีกเลย เราส่งทหารไปร่วมรบกับเพื่อนบ้านอย่าง ลาว กัมพูชา และเวียดนาม เพราะเพื่อนอย่างอเมริกากระซิบว่าเชื้อคอมมิวนิสต์จะระบาดเข้ามายังไทย สงครามที่เรารบกับเพื่อนบ้านก็ได้กลายมาก็เป็นสงครามกลางเมืองของไทยคือสงครามที่รัฐต่อสู้กับประชาชนที่หนีเข้าป่าเพราะถูกไล่ล่า ใส่ร้าย ประชาชนเหล่านั้นจึงจับอาวุธขึ้นสู้และถูกประทับตราว่าเป็น คอมมิวนิสต์ สงครามปราบปรามคอมมิวนิสต์ยืดเยื้ออยู่ถึง ๑๘ ปี จนยุติลงอย่างราบคาบด้วยแผน ๖๖/๒๓
                บัดนี้คนไทยหลงลืมความเจ็บปวดจากเหตุการณ์ในอดีตไปเสียสิ้น บัดนี้คนไทยมึนงงสับสนว่าต่อไปนี้เขาจะเป็นเพียงผู้อาศัยอยู่ประเทศเท่านั้น เขาทั้งหลายจะไม่มีสิทธิในการเรียกร้องอะไร เพราะสิทธิที่เขาจะมีนั้นจะมีคนชั้นบนคิดให้ วางบทให้พวกเขาทั้งหลายทำตาม ในขณะที่ประเทศอย่างเวียดนามย่อยยับจากสงครามครั้งใหญ่เมื่อ ๓๒ ปีที่แล้วเขากลับสามารถฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมของเขากลับคืนมาและผลักดันให้ก้าวไปข้างหน้าอย่างรวดเร็ว แต่เราล่ะ ประเทศที่ไม่แพ้สงครามโลกครั้งที่ ๒ เรามีมหามิตรอย่างอเมริกา เราส่งทหารไปฆ่าเพื่อนบ้านของเรา
                บัดนี้ ๓๒ ปีหลังไซ่ง่อนแตก เราก็กำลังมุ่งไปอย่างรวดเร็วในทิศทางที่ถอยหลังต่อความเจริญของชาติ !!!

 

หน้าถัดไป