วิธีบำเพ็ญสมาธิเบื้องต้น

 


Copy From>>>> : http://www.geocities.com/TheTropics/Lagoon/9856/framethai.html

คำนำ

นักเรียนนักศึกษาผู้มีสุขภาพจิตดี ย่อมเรียนหนังสือได้ดี
สามารทำงานได้มากและได้ผลดีอย่างมีประสิทธิภาพ
ทั้งสามารถเข้ากับเพื่อน ๆ และช่วยเหลือสังคมได้ดี
เพราะผู้มีสุขภาพจิตสูง ย่อมมีความสุขและความสำเร็จในชีวิตได้มากกว่า
ผู้มีสุขภาพจิตเสื่อมและอ่อนแอ เช่นเดียวกับผู้มีร่างกายสมบูรณ์แข็งแรง ย่อมจะมีความสุข
และความก้าวหน้าในชีวิตมากกว่าคนที่มีร่างกายอ่อนแอและเป็นโรค
อันร่างกายแข็งแรงมีสุขภาพดีได้
ก็เพราะเจ้าของออกกำลังกาย รู้จักรักษาสุขภาพ
เช่นรู้จักบริโภคอาหารที่ถูกสุขลักษณะพักผ่อนให้เพียงพอ และได้อากาศบริสุทธิ์
ข้อนี้ฉันใดจิตใจของมนุษย์เราจะมีสุขภาพสมบูรณ์ได้ ก็เพราะเจ้าของได้ฝึกฝนอบรม
ด้วยวิธีอันถูกต้องเหมือนกัน และเป็นความจริงที่ว่า
คนบางคนแม้จะมีร่างกายสมบูรณ์แข็งแรง แต่มีจิตใจอ่อนแอ
เช่น ขี้โกรธ ขี้กลัว ตกใจง่าย หรือเป็นโรคประสาท เป็นต้น
ก็ไม่อาจจะพบความสุขที่สมบูรณ์ได้
แม้เขาจะมีเงินทองทรัพย์สมบัติมาก และมีเกียรติยศชื่อเสียงก็ตาม
ฉะนั้น พระพุทธศาสนาจึงมีวิธีฝึกจิต เพราะจิตที่ฝึกได้ดีแล้ว ย่อมมีคุณภาพสูง
ทั้งก่อให้เกิดความสงบสุขแก่เจ้าของและสังคม โดยส่วนรวมได้


ความสนใจในการฝึกจิตของชาวโลกปัจจุบัน

ในปัจจุบัน วิทยาการสมัยใหม่ ได้เจริญก้าวหน้าล้ำความเจริญด้านจิตใจไปเป็นอันมาก
ซึ่งต่างจากสมัยก่อน ที่ความเจริญทางด้านจิตใจของคนเราเหนือความเจริญด้านวัตถุ
จิตใจของคนในปัจจุบันนี้ จึงเกิดการพิการขึ้น เช่นเกิดโรคจิต โรคประสาทเพิ่มมากขึ้น
โดยเฉพาะ ในเมืองใหญ่ๆ ของโลก เกิดสังคมพิการขึ้นทั่วไป
และเกิดปัญหาสลับซับซ้อนมากขึ้นในสังคม เช่น

ปัญหายาเสพติดให้โทษ ปัญหาครอบครัว และปัญหาเศรษฐกิจ เป็นต้น
ฉะนั้น มนุษย์เราจึงหาทางออกโดยการหันมาสนใจความเจริญทางด้านจิตใจ
กล่าวคือการฝึกจิตตามหลักทางศาสนา โดยเฉพาะการฝึกจิตตามหลักพระพุทธศาสนา
ที่เรียกกันว่า การทำสมาธิ หรือ การทำกรรมฐานนั้น มีผู้หันมาสนใจกันมากเป็นพิเศษทั่วโลก
ชาวต่างประเทศที่หันมาสนใจพระพุทธศาสนานั้น เขาจะสนใจ การฝึกกรรมฐาน เป็นพิเศษ
ถึงกับมีสำนักฝึกกรรมฐานขึ้นทั่วทุกแห่งที่มี พระพุทธศาสนาแผ่ไปถึง แม้ในประเทศไทยเราเอง
ปัจจุบันนี้ก็มีคนสนใจด้านกรรมฐานกันมากกว่าแต่ก่อน และมีทุกเพศทุกวัย
ส่วนประเทศทางตะวันตกในปัจจุบัน
โดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกามีประชาชนหนุ่มสาว นักศึกษาหันมาฝึกสมาธิกันมากเป็นพิเศษ
และสมาธิที่เขาฝึกกันมากก็คือ TRANSCENDENTAL MEDITATION
หรือที่เรียกโดยย่อว่า T.M. ซึ่งมหาฦาษีมเหศจากอินเดีย
ได้นำเข้าไปเผยแผ่ไว้ในสหรัฐเมื่อประมาณ 30 ปีมาแล้ว ต้องเสียเงินค่าเล่าเรียน
ขณะนี้มีศูนย์ฝึก T.M. อยู่ทั่วโลกประมาณ 360 แห่ง แม้ประเทศไทยเราก็มีศูนย์ T.M. เช่นกัน
เพราะมีนักศึกษาไทยที่เข้าไปเรียนอยู่ในสหรัฐอเมริกานำเข้าเผยแผ่
ทั้งนี้ก็เพราะว่าเขาได้รับผลดีจากการฝึก T.M. มาแล้ว สมาธิแบบ T.M. นี้
ก็คล้ายกับสมาธิในพระพุทธศาสนามาก แต่ก็ไม่เหมือนกันทีเดียว
ถ้าเทียบกันแล้ว ก็เป็นสมาธิขั้นต้นใน พระพุทธศาสนา ถ้าเราได้ฝึกกันอย่างจริงจัง
และใช้เวลาฝึกกันติดต่อกันเป็นปีๆ เช่นนี้ ก็ย่อมได้รับผลเช่นกัน
และมีผลเหนือกว่าด้วย เพราะเป็นสมาธิที่พระพุทธเจ้าทรงทดสอบได้ผลเป็นอย่างดีมาแล้ว


ประโยชน์ของการฝึกจิต

การฝึกจิตนั้น มีคุณค่าต่อชีวิตมาก เพราะทำตนให้เป็นผู้ประเสริฐ ดังนั้น ผู้ที่ฝึกจิตได้ถูกต้อง
แม้เพียงขั้นสมาธิก็ย่อมได้รับประโยชน์ อย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่างดังต่อไปนี้

๑. ถ้าเป็นนักเรียนนักศึกษาก็สามารถเรียนหนังสือได้ผลดีเพิ่มขึ้น ได้คะแนนสูง
เพราะมีจิตใจสงบจึงทำให้แม่นยำและดีขึ้นกว่าแต่ก่อน
๒ . ทำสิ่งต่างๆ ได้ดีขึ้น ไม่ค่อยผิดพลาด เพราะมีสติสมบูรณ์ขึ้น
๓ . สามารถทำงานได้มากขึ้น และได้ผลดีอย่างมีประสิทธิภาพ
๔ . ทำให้โรคภัยไข้เจ็บบางอย่างหายไปได้
๕ . ทำให้เป็นคนมีอารมณ์เยือกเย็น มีความสุขใจได้มาก
มีผิวพรรณผ่องใส มีจิตใจเบิกบาน และมีอายุยืน
๖ . ทำให้อยู่ในสังคมอย่างปกติสุข เช่นถ้าอยู่ในโรงเรียนก็ทำให้เพื่อนๆ
และครูพลอยได้รับความสุข
ถ้าหากอยู่ในบ้านก็ทำให้ทุกคนในครอบครัวมี ความสุข
ถ้าอยู่ในที่ทำงานก็ทำให้เพื่อนร่วมงาน
ผู้บังคับบัญชาพลอยได้รับความสุขไปด้วย
๗ . สามารถเผชิญต่อเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้าได้อย่างใจเย็น
รวมทั้งสามารถแก้ไขความยุ่งยาก และความเดือดร้อนวุ่นวายในชีวิตได้ ด้วยวิธีอันถูกต้อง
๘ . สามารถกำจัดนิวรณ์ที่รบกวนจิตลงได้ หรือบางอย่างน้อยก็ทำให้เบาบางลงได้
๙ . ถ้าทำได้ถึงขั้นสูงก็ย่อมได้รับความสุขอันเลิศยิ่ง และอาจสามารถได้อำนาจจิตที่พิเศษ
เช่นรู้ใจคนอื่นเป็นต้น
๑๐ . ทำให้เป็นพื้นฐานโดยตรงในการเจริญวิปัสสนา

ความสุข ๒ อย่าง

ทุกคนที่เกิดมาล้วนรักสุขเกลียดทุกข์ด้วยกันทั้งสิ้น และความสุขที่มนุษย์ต้องการนั้นมี 2 อย่าง คือ
๑ . ความสุขทางกาย
๒ . ความสุขทางใจ
ความสุขทั้ง ๒ อย่างนี้ต้องอาศัยกันและกัน คือ ถ้ากายเป็นสุขแล้วก็จะทำให้ใจเป็นสุขด้วย
หรือถ้าใจเป็นสุขแล้วก็จะทำให้กายมีความสุข ด้วย เช่นเดียวกับเรื่องความทุกข์
เพราะกายกับจิตมีความเกี่ยวเนื่องกัน แม้พระพุทธศาสนาจะยอมรับความสุขทั้ง ๒ อย่างนี้
แต่ก็ยกย่องจิตว่า ประเสริฐกว่ากาย เพราะกายนั้น (รวมทั้งสมอง) เป็นผู้ปฏิบัติตามคำสั่งของจิต
เป็นผู้นำ และยกย่องความสุขทางใจว่าดีกว่าความสุขทุกชนิด ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า

"ความสุขอย่างอื่นที่จะยิ่งไปกว่าความสงบไม่มี (นตฺ สนฺติปรํ สุขํ)"

และความสุขที่แท้จริงนั้นเราไม่อาจจะหาได้จากทรัพย์ สมบัติ จากอำนาจ จากกามสุข
หรือแม้จากเกียรติยศชื่อเสียง

ดังเราจะเห็นได้ว่า มีคนที่ร่ำรวยมีชื่อเสียง และมีตำแหน่งฐานะดีเป็นจำนวนมาก
ที่ไม่อาจมีความสุขได้จากสิ่งที่ตนมี เพราะสิ่งเหล่านั้นไม่ใช่บ่อเกิดแห่งความสุขที่แท้จริง
ซึ่งก่อให้เกิดความทุกข์จากสิ่งที่ตนมีเสียอีก แต่ความสุขที่แท้จริงนั้นหาได้จากจิตใจอันอยู่ในตัวเรานี้เอง
และคนที่จะได้รับความสุขชนิดนี้นั้น ก็จะต้องฝึกจิตของตนตามหลักพระพุทธศาสนา
ที่พระพุทธเจ้าทรงค้นพบและพิสูจน์มาแล้ว


กรรมฐาน


การฝึกจิตในพระพุทธศาสนาเรียกว่า จิตภาวนา-การอบรมจิต หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า กรรมฐาน คือ งานที่ทำใจให้สูงขึ้นให้ ประเสริฐขึ้น ไม่ปล่อยให้ใจว่างงาน ก็จะก่อให้เกิดความยุ่งยาก เป็นทาสของกิเลสที่กลุ้มใจ จึงควรฝึกจิตไม่ให้ว่างงาน ด้วยการให้จิตอยู่ในกรรมฐาน

กรรมฐานในพระพุทธศาสนามี ๒ ชนิด คือ

๑. สมถกรรมฐาน คือ การทำใจให้สงบจากกิเลสประเภทนิวรณ์ที่กลุ้มรุมใจ ได้แก่ การทำสมาธินั่นเอง
๒. วิปัสสนากรรมฐาน คือ การฝึกจิตให้รู้แจ้งเห็นจริงจนทำลายกิเลสได้

และวิปัสสนากรรมฐานนี้มีเฉพาะในพระพุทธศาสนาเท่านั้น อานาปานสติสมาธิ
ในที่นี้จะแสดงวิธีฝึกจิตประเภทแรก คือ การทำสมาธิ โดยใช้หลักสมถกรรมฐาน

วิธีทำสมาธิในพระพุทธศาสนามีถึง ๔๐ วิธี

ทั้งนี้ก็เพื่อให้เหมาะกับอุปนิสัยของแต่ละบุคคลซึ่งไม่เหมือนกัน
เพื่อผู้ปฏิบัติได้เอาไปใช้ให้เหมาะกับโรคของคนไข้แต่ละคนฉะนั้น แต่ในที่นี้จะหมายถึงการฝึกจิต
โดยการกำหนดลมหายใจเข้าออก ที่เรียกกันว่า อานาปานสติภาวนา หรือ อานาปานสติสมาธิ
อันเป็นวิธีฝึกจิต อย่างหนึ่ง ในจำนวนหลักการฝึกสมาธิ ๔๐ วิธีในพระพุทธศาสนา
เพราะการฝึกจิตด้วยการกำหนดลมหายใจนี้ เหมาะสำหรับนักเรียนนักศึกษาและ คนทั่วไปมาก
ทั้งเป็นกรรมฐานที่ทำได้ด้วยกันทุกคน และทำได้ไม่ยากด้วย เพราะทุกคนมีลมหายใจอยู่แล้ว
และในประเทศไทยเราก็นิยมฝึก จิตอานาปานสติมากที่สุด


วิธีฝึก


ในที่นี้ จะนำวิธีฝึกอานาปานสติมากล่าวไว้แต่โดยย่อ
เพื่อเป็นแนวทางสำหรับท่านผู้สนใจจะได้นำไปใช้ได้โดยสะดวก

ขั้นเตรียมการก่อนลงมือปฏิบัติ

ผู้ฝึกจิตตามหลักพระพุทธศาสนา ในเบื้องต้นจะต้องทำสิ่งดังต่อไปนี้
๑. สมาทานศีล การสมาทานศีลนี้ อย่างน้อยให้สมาทานศีล ๕ โดยขอรับศีลจากภิกษุสามเณรก็ได้
หรือตั้งวิรัติ คืองดเว้นเอาด้วยตนเองก็ได้ ถ้าหากข้อใดขาดก็อธิฐานงดเว้นเอาเองใหม่
ก็เป็นผู้มีศีลขึ้นตามเดิม เพราะศีลเป็นรากฐานสำคัญมากในการทำสมาธิ
๒. ระลึกถึงคุณรัตนตรัย คือ ให้ประณมมือขึ้นแล้วตั้งจิตน้อม
ระลึกถึงคุณพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ยึดถือเป็นที่พึ่งที่ระลึก
๓. แผ่เมตตา คือ แผ่ความปรารถนาดีไปยังมนุษย์และสัตว์ทุกจำพวก
โดยปรารถนาให้มนุษย์และสัตว์ทั้งปวงปราศจากทุกข์และเป็นสุขโดยทั่วกัน
ทั้งนี้ก็เพื่อให้ปลอดภัยจากศัตรู และจากการพยาบาทจองเวร
๕. ตัดกังวล คือ เมื่อเริ่มทำสมาธินั้น ให้ตัดความกังวลต่างๆ ออกเสีย
เช่นกังวลเรื่องงาน การเรียน ญาติพี่น้องและอื่นๆ ให้ออกไปจากใจเสียชั่วคราว
ในเวลาที่เราทำสมาธิไม่คิดถึงเรื่องในอดีตที่ผ่านไปแล้ว
ไม่คิดถึงเรื่องอนาคตที่ยังมาไม่ถึง
แต่ให้ปัจจุบัน คือ อารมณ์ของกรรมฐานเท่านั้น ซึ่งในที่นี้ก็คือ ลมหายใจเข้า-ออก
จะกำหนดนั่งสักที่นาที เช่น ๑๐ นาที ๑๕ นาที หรือ ๓๐ นาที ก็ขอให้ตัดความกังวลใจ
ต่างๆ ออกไปตามกำหนดเวลานั้น โดยตั้งจิตอธิษฐานว่าจะคิดถึงอารมณ์ในปัจจุบัน
คือ ลมหายใจเข้า-ออกเท่านั้น ทั้งนี้ก็เพื่อกันไม่ให้ใจลอย ไม่ให้ฟุ้งซ่านไปในขณะทำสมาธิ
๕. กำหนดเวลาในการฝึก เวลาในการฝึกสมาธิที่ดีที่สุดก็คือเวลาก่อนนอน
หลังจากไหว้พระสวดมนต์แล้ว หรือเวลาตื่นนอน โดยใช้เวลาในการทำสมาธิแต่ละครั้ง ๒๐-๓๐ นาที
ถ้าทำได้วันละ ๒ ครั้ง ก็จะดีมาก แต่ถ้าทำในห้องเรียนหรือในห้องฝึกสมาธิ
สำหรับนักเรียนแล้ว ควรใช้เวลาอย่างน้อย ๑๐-๑๕ นาที ในการฝึกแต่ละครั้ง


ขั้นลงมือฝึก

๑. การนั่ง การนั่งสมาธินั้น จะนั่งบนพื้น หรือบนเก้าอี้ก็ได้ แล้วแต่ความสะดวกกับสถานที่นั้นๆ
หรือความถนัดของแต่ละคน แต่สำหรับนักเรียนที่ฝึกในห้องเรียนก็ควรนั่งเก้าอี้
เพราะห้องเรียนอำนวยและการนั่งเก้าอี้ก็สะดวกกว่าการนั่งกับพื้นสำหรับผู้ฝึกใหม่
แต่อย่าพิงพนักเก้าอี้ เพราะจะทำให้ง่วงได้ง่าย ถ้านั่งกับพื้น ผู้ชายนั่งขัดสมาธิ ผู้หญิงนั่งพับเพียบก็ได้
หรือจะนั่งขัดสมาธิก็ได้ตามแต่ถนัด โดยให้นั่งเหมือนพระพุทธรูปปางสมาธิ
คือ นั่งเอาเท้าขวาทับเท้าซ้าย เอามือขวาทับมือซ้ายนั่งตัวตรง เพื่อให้ลมหายใจเดินสะดวก
กำหนดสติไว้ให้มั่นคง เพราะสติจำเป็นอย่างที่สุดในการทำสมาธิ ควบคุมใจไม่ให้ฟุ้งซ่านไปในภายนอก
พร้อมกับมีคำบริกรรมกำกับ เพื่อให้ใจมีเครื่องยึด คือ ภาวนาว่า พุทธ เมื่อหายใจเข้า
และภาวนาว่า โธ เมื่อหายใจออก

การนั่ง ควรหลับตา เพื่อกันไม่ให้จิตฟุ้งซ่านออกไปทางตา
แต่ถ้าผู้ใดนั่งหลับตา มักจะง่วง ก็ให้นั่งลืมตามองเฉพาะที่ปลายจมูก ของตนจนไม่เห็นสิ่งอื่น
จะเห็นหรือไม่เห็นอะไรก็ตาม ขอให้จ้องมองเท่านั้น พอชินเข้าจะได้ผลดีกว่าหลับตา
ทำไปเรื่อยๆ จนตาหลับไปเอง

๒. กำหนดลมหายใจ การกำหนดลมหายใจนั้น ให้ทำตามลำดับขั้น ดังนี้
๒.๑ ขั้นวิ่งตามลม คือ เมื่อเริ่มกำหนดลมหายใจก็สูดลมหายใจเข้าให้แรงจนเต็มปอดประมาณ

๓ ครั้ง เพื่อจะกำหนดการเข้า-ออกได้สะดวก
ต่อจากนั้นก็ปล่อยลมหายใจเข้า-ออกตามสบาย

อย่าบังคับลมหายใจ ปล่อยให้เข้าออกตามธรรมชาติ ทำใจให้สบาย

เข้าก็ให้เข้าก็รู้ว่าเข้า

ออกก็ให้รู้ว่าออก

ยาวก็ให้รู้ว่ายาว

สั้นก็ให้รู้ว่าสั้น

ดึงไปดึงมาเหมือนคนเลื่อยไม้ อย่าเกร็งตัว

หายใจเข้าพร้อมกับภาวนาว่า "พุท" หายใจออกพร้อมกับภาวนาว่า "โธ"

โดยส่งใจกำหนดวิ่งตามลมไปตามจุดกำหนดทั้ง ๓ จุด คือ ปลายจมูก ๑ ท่ามกลางอก ๑ ที่ท้อง ๑
ปลายจมูก เป็นต้นลมของลมหายใจเข้า กลางอกเป็นท่ามกลาง ท้องเป็นที่สุดของลมออก
ท้องเป็นต้นของลมหายใจออก กลางอกเป็นท่ามกลาง ปลายจมูกเป็นที่สุดของลมหายใจออก
หรือกำหนดเพียง ๒ จุดก็ได้ คือ ปลายจมูกกับที่ท้อง แล้วติดตามลมไปจนสุดปลายทั้ง ๒

คอยระวังใจ (สติ) ให้จับอยู่ที่ลมหายใจเท่านั้น ให้เหมือนคนไกวเปลเฝ้าดูเด็ก
ต้องคอยจ้องตามเปลที่แกว่งไปสุดข้างทั้ง ๒ แต่ละข้าง
เพื่อคอยดูไม่ให้เด็กดิ้นหลุดตกลงมาจากเปล และเพื่อให้หลับในที่สุด

ผู้ฝึกจิตก็เช่นเดียวกัน ต้องคอยควบคุมจิตใจไม่ให้ดิ้นไปข้างนอก
และคอยควบคุมให้มันสงบลงในที่สุดด้วย โดยใช้เปล คือ
ลมหายใจเป็นเครื่องกล่อม เมื่อสามารตามลมได้ตลอดเวลาจนจิตไม่ฟุ้งซ่านออกไปข้างนอกแล้ว
ก็ชื่อว่าทำสำเร็จในขั้นที่หนึ่ง

๒.๒ ขั้นกำหนดอยู่ที่จุดแห่งหนึ่ง เมื่อกำหนดลมหายใจเข้า-ออก
โดยคอยตามลมไปจนจิตไม่ฟุ้งซ่านไปภายนอกแล้ว
ก็ให้เปลี่ยนมากำหนดจิตไว้เฉพาะจุดใดจุดหนึ่งในจุด ทั้ง ๓ คือ ที่ปลายจมูก ท่ามกลางอก และที่ท้อง
ตามที่กำหนดได้นัด ไม่ต้องวิ่งตามลมเหมือนขั้นแรก แต่ที่นิยมกันส่วนมาก

ให้กำหนดว่าการกำหนดที่จุดอื่น คือ คอยจับอยู่ที่เฉพาะปลายจมูกเท่านั้น เหมือนกับนายโคบาล
(คนเลี้ยงวัว) ที่ฉลาด เมื่อปล่อยวัวออกจากคอกแต่เช้าแล้ว ก็ไม่ต้องตามหลังมันตลอดเวลา
แต่ไปนั่งรออยู่ที่ท่าน้ำหรือแหล่งน้ำที่วัวจะต้องลงกินในเวลาเย็นทุกวัน
แล้วก็จับต้อนเข้าคอกได้โดยสะดวก ไม่ต้องเหน็ดเหนื่อยเสียเวลาที่ต้องคอยตามหลังวัวอยู่ตลอดเวลา

ผู้ฝึกจิตก็เช่นเดียวกัน กำหนดอยู่ที่ปลายจมูกไม่ไปไหน คอยจับอยู่ที่ปลายจมูกเพียงแห่งเดียว
เพราะเมื่อลมหายใจเข้าแล้ว ก็ต้องออกทางนี้แน่นอน ทำอยู่อย่างนี้เรื่อยไป
หรือผู้ใดเห็นว่าในขั้นตามลมนั้นตนชำนาญแล้ว ก็ข้ามมาขั้นที่สองนี้เลย

เมื่อจิตกำหนดอยู่เฉพาะปลายจมูก ไม่ฟุ้งซ่านไปข้างนอกแล้ว ชื่อว่าสำเร็จในขั้นที่สอง
ขั้นวิ่งตามลมในขั้นที่หนึ่งนั้น ลมหายใจยังหยาบอยู่ แต่ในขั้นที่สองนี้ ลมหายใจจะละเอียดมาก
จนบางครั้งไม่รู้ว่ามีลมกระทบส่วนในส่วนหนึ่งของร่างกายเลย เหมือนกับไม่มีลมหายใจ
อันแสดงว่าจิตเริ่มสงบมากแล้ว แต่ต้องพยายามกำหนดในขณะให้หายใจเข้า-ออกให้ได้ตลอดเวลา
ก็จะเพิ่มความสงบสุขและพลังให้แก่จิตได้มากทีเดียว

ถ้าทำได้ถึงขั้นนี้ ก็นับว่าได้สมาธิดีพอสมควร ส่วนขั้นสูงขึ้นไปกว่านี้
ผู้สนใจจะศึกษาได้จากอาจารย์กรรมฐานหรือหนังสือกรรมฐานทั่วไป

การกำหนดลมหายใจด้วยการนับ

หากท่านผู้ใดฝึกสมาธิด้วยวิธีข้างต้นไม่ได้ผลดี หรือสามารทำได้ดีแล้ว
แต่ต้องการจะหาวิธีใหม่บ้าง ก็ลองหันมากำหนดลมหายใจ ด้วยการนับ ก็อาจจะได้ผลดี
หรือได้ผลเพิ่มขึ้น เพราะอุปนิสัยของแต่ละคนนัดไม่เหมือนกัน
การกำหนดลมหายใจด้วยการนับนี้ เรียกว่า คณนา-การนับ
โดยส่งใจไปกำหนดนับอยู่ปลายจมูกแห่งเดียว หายใจเข้าก็ให้รู้ว่าหายใจเข้า

หายใจออกก็ให้รู้ว่าหายใจออก คณนามีอยู่ ๒ วิธี คือ

1. การนับอย่างช้า
2. การนับอย่างเร็ว

การนับอย่างช้า คือ เมื่อผู้ฝึกได้เตรียมการเบื้องต้นต่างๆ เรียบร้อยแล้ว
และเข้านั่งประจำที่ในการฝึกพร้อมแล้ว ก็ให้เริ่มนับ (นับแต่เพียงในใจ) โดยนับเป็นคู่ๆ ดังนี้

รอบที่หนึ่ง
หายใจเข้า นับว่า หนึ่ง หายใจออก นับว่า หนึ่ง
หายใจเข้า นับว่า สอง หายใจออก นับว่า สอง
หายใจเข้า นับว่า สาม หายใจออก นับว่า สาม
หายใจเข้า นับว่า สี่ หายใจออก นับว่า สี่
หายใจเข้า นับว่า ห้า หายใจออก นับว่า ห้า
แล้วเริ่มนับอยมาจาก ห้า-ห้า จนึงหนึ่ง ใหม่ ดังนี้
หายใจเข้า นับว่า ห้า หายใจออก นับว่า ห้า
หายใจเข้า นับว่า สี่ หายใจออก นับว่า สี่
หายใจเข้า นับว่า สาม หายใจออก นับว่า สาม
หายใจเข้า นับว่า สอง หายใจออก นับว่า สอง
หายใจเข้า นับว่า หนึ่ง หายใจออก นับว่า หนึ่ง

รอบที่สองเริ่มนับจาก หนึ่ง-หนึ่ง ไปจนถึง หก-หก แล้วย้อนกลับใหม่
โดยนับจาก หก-หก มาจนถึงหนึ่ง-หนึ่งอีก
รอบที่สาม เริ่มนับจาก หนึ่ง-หนึ่ง ไปจนถึง เจ็ด-เจ็ด แล้วย้อนกลับใหม่
โดยนับจาก เจ็ด-เจ็ด มาจนถึงหนึ่ง-หนึ่งอีก
รอบที่สี่ เริ่มนับจาก หนึ่ง-หนึ่ง ไปจนถึง แปด-แปด แล้วย้อนกลับใหม่
โดยนับจาก แปด-แปด มาจนถึงหนึ่ง-หนึ่งอีก
รอบที่ห้า เริ่มนับจาก หนึ่ง-หนึ่ง ไปจนถึง เก้า-เก้า แล้วย้อนกลับใหม่
โดยนับจาก เก้า-เก้า มาจนถึงหนึ่ง-หนึ่งอีก
รอบที่หก เริ่มนับจาก หนึ่ง-หนึ่ง ไปจนถึง สิบ-สิบ แล้วย้อนกลับใหม่
โดยนับจาก สิบ-สิบ มาจนถึงหนึ่ง-หนึ่งอีก
เมื่อนับครบทุกรอบแล้ว
ให้กลับมานับตั้งแต่รอบที่หนึ่งอีกนับเรื่อยไปอยู่อย่างนี้
จนการนับไม่หลงลืม และไม่ข้ามลำดับ
จนนับได้คล่องแคล่ว ลมหายใจเข้าออกปรากฏชัด ทำให้จิตสงบดีขึ้น
ก็จะได้ผลดีใยการฝึกจิตในเบื้องต้น

การนับอย่างเร็ว

เมื่อสามารถฝึกจิตด้วยการนับอย่างช้าได้ดีแล้ว ต่อจากนั้นก็ให้เปลี่ยนมาเป็นการนับอย่างเร็ว
เพราะเมื่อนับอย่างช้าได้คล่องแคล่ว แล้วจะปรากฏว่าลมหายใจเข้าออกเดินได้รวดเร็วกว่าแต่ก่อน
เมื่อผู้ปฏิบัติทราบว่าลมหายใจเป็นไปเร็วเช่นนี้ ก็ให้ทิ้งการนับอย่างช้ามากำหนดนับ อย่างเร็ว
โดยไม่ใส่ใจหรือไม่คำนึงถึงลมหายใจเข้า-ออก
คอยกำหนดเฉพาะลมหายใจที่มากระทบจมูกเพียงอย่างเดียว ไม่ต้องนับเป็นคู่
แต่นับเรียงลำดับไปตามตัวเลขอย่างน้อย ๑-๕ อย่างมาก ๑-๑๐ ดังนี้

๑. ๒. ๓. ๔. ๕. (เข้า-ออก)
๑. ๒. ๓. ๔. ๕. ๖. (เข้า-ออก)
๑. ๒. ๓. ๔. ๕. ๖. ๗. (เข้า-ออก)
๑. ๒. ๓. ๔. ๕. ๖. ๗. ๘. (เข้า-ออก)
๑. ๒. ๓. ๔. ๕. ๖. ๗. ๘. ๙. (เข้า-ออก)
๑. ๒. ๓. ๔. ๕. ๖. ๗. ๘. ๙. ๑๐. (เข้า-ออก)

เมื่อนับถึง ๑๐ แล้ว ก็ให้กลับมาตั้งรอบที่หนึ่งอีก นับเรื่อยไปอยู่อย่างนี้ จนการนับไม่หลงลืม
ไม่ข้ามลำดับ เป็นไปคล่องไม่สับสน จนกระทั้งจิตสงบลงไปได้ไม่ฟุ้งซ่าน
หรือสามารถรวมเข้าดีแล้วก็เลิกนับ มากำหนดรู้เฉพาะลมหายใจเข้าออกอยู่ที่ปลายจมูกหรือริมฝีปากข้าง
บนเท่านั้น จึงนับว่าสำเร็จในขั้นนี้

อนึ่ง ในการนับนี้ มีกฏอยู่ว่า ไม่ควรนับให้ต่ำกว่า ๕ ไม่ควรนับให้เกินกว่า ๑๐
และไม่ควรนับให้ข้ามลำดับ เพราะว่าถ้านับต่ำกว่า ๕
ใจจะกระวนกระวายอยู่ในที่แคบเหมือนฝูงโคที่แออัดอยู่ในคอกที่คับแคบ ถ้านับเกินกว่า ๑๐
ใจก็จะมุ่งแต่การนับมากกว่ากำหนดลมหายใจ และถ้านับข้ามลำดับ ใจก็จะคิดกังวลไปว่า
กรรมฐานถึงที่สุดแล้วหรือยังไม่ถึง ซึ่งจะทำให้ฟุ้งซ่านได้ ฉะนั้น ผู้ปฏิบัติควรจะเว้นข้อห้ามดังกล่าว เสีย

การฝึกจิตด้วยการนับนี้ เป็นการฝึกจิตให้สงบได้วิธีหนึ่ง
ซึ่งเป็นวิธีฝึกจิตที่ได้ผลอย่างหนึ่งในพระพุทธศาสนา

ขอแนะนำว่า การฝึกสมาธิที่จะได้ผลดีนั้น จะต้องมีอาจารย์เป็นผู้คอยแนะนำและควบคุม
เพราะการฝึกโดยไม่มีหลักเกณฑ์ที่ถูกต้องตามหลักพระพุทธศาสนา
หรือโดยไม่มีหลักเกณฑ์ที่ต้องตามหลักพระพุทธศาสนาหรือโดยไม่มีอาจารย์ควบคุมแนะนำนั้น
อาจจะได้ผลน้อยหรือไม่ได้ ผลเลย หรืออาจจะเกิดผลเสียก็ได้

ฉะนั้นอาจารย์ผู้สอนจึงมีความสำคัญมากสำหรับผู้ฝึกสมาธิ และการฝึกนั้นก็ต้องค่อยทำค่อยไป
อย่าฝึกด้วยความหักโหม และควรฝึกเป็นประจำทุกวัน เช่นเดียวกับการออกกำลังกาย จึงจะได้ผลดี
คำสอนของพระพุทธเจ้านั้น ต้องพิสูจน์ด้วยการปฏิบัติจึงจะเข้าใจได้ซาบซึ้ง
ไม่ใช่เพียงแต่การคิดเอา ถ้าปฏิบัติได้ถูกต้องแล้ว พระธรรมที่ประพฤติแล้ว
ก็ย่อมจะรักษาผู้ประพฤติธรรมให้มีความสุขความเจริญได้อย่างแน่นอน


ข้อที่ควรเว้นสำหรับผู้ฝึกอบรมสมาธิ


๑. ความกังวล
๒. คนที่มีจิตใจไม่มั่นคง
๓. การอ่านหนังสือที่ทำให้จิตใจห่างต่อความสงบ
๔. การงานหรืออาชีพที่ทำให้ห่างต่อความสงบ
๕. ป่วยหนัก
๖. ร่างกายกระวนกระวาย
๗. หิวหรือกระหายมากเกินไป
๘. อิ่มมากเกินไป
๙. ง่วงมากเกินไป
๑๐. สานที่อยู่ร้อนมาก หรือหนาวมากเกินไป
๑๑. สานที่อยู่มีเสียงอึกทึกมากเกินไป
๑๒. สานที่บำเพ็ญมีคนพูดคุยกัน
๑๓. เกียจคร้าน
๑๔. ไม่ตั้งใจ
๑๕. ทำผิดวินัย
๑๖. การไม่ยึดอารมณ์ปัจจุบัน
๑๗. ความเพียรมากเกินไป
๑๘. ใจลอย
๑๙. การงานมากเกินไป
๒๐. แก่มากเกินไป


หลัก ๗ ประการที่จำเป็นในการเจริญอานาปานสติ

๑. ต้องนั่งตัวตรง คือ อกยืด ไหล่ตรง และคอตรง
๒. อย่านั่งเกร็งตัว ให้คลายเครียดทั้งร่างกายและจิตใจ โดยทำใจให้สบายและเบิกบาน
เพราะการเกร็งตัวจะทำให้ปวดเมื่อย และมึนศรีษะได้ง่าย
๓. จงให้สัญญาแก่ตัวเองว่า จะนั่งให้ได้ตามกำหนดเวลาที่ตั้งไว้ จะไม่ส่งจิตออกนอกกาย
หรือเลิกปฏิบัติก่อนถึงเวลาที่กำหนดไว้ โดยมีใจเด็ดเดี่ยวในการบำเพ็ญ
๔. จงตั้งอธิษฐาน ยึดเอาคุณพระศรีรัตนตรัยเป็นที่พึ่งเพื่อให้เกิดความสวัสดีในการบำเพ็ญ
พร้อมกับกล่าวคำว่า พุทโธ ธัมโม สังโฆ ทุกครั้งที่เริ่มบำเพ็ญ เพื่อสร้างศรัทธาให้ใจมั่นคงหนักแน่น
และเกิดการคุ้มครองในขณะนั่งสมาธิ
๕. อย่าบังคับลมหายใจให้สั้นหรือยาว ให้เข้าหรือออก เพราะจะทำให้มึนงงศรีษะได้
แต่ปล่อยลมหายใจไปตามธรรมชาติ โดยมีสติจับอยู่ที่ลมหายใจตลอดเวลา
๖. จงตัดความกังวลหรือความห่วงใยทุกประเภทให้หมดในขณะนั่งสมาธิ เพื่อป้องกันการใจลอย
๗. อย่าส่งจิตออกนอกกายไปคิดถึงเรื่องอดีต หรือเรื่องอนาคต
แต่จะมีสติจับอยู่ที่ปัจจุบันคือลมหายใจเข้าออกเท่านั้น เพราะปัจจุบันสำคัญมากในการฝึกจิต

สมาธิเบื้องต้น (Meditate)

จบบริบูรณ

 

Non Copyright 2002. Buddhamamaka Home Page. All Rights Reserved. Comment or suggestion : [email protected]

 

Hosted by www.Geocities.ws

1