1.การศึกษารัฐศาสตร์เบื้องต้น - ความหมายของรัฐศาสตร์, กระบวนทัศน์  และ พัฒนาการของรัฐศาสตร์

รัฐศาสตร์ (Political Science)  เป็นศาสตร์ที่ว่าด้วยเรื่องเกี่ยวกับรัฐ  เป็นการศึกษาเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับรัฐ
รัฐ หมายถึง องค์การทางการเมืองที่มีความมั่นคงของมนุษยชาติจำนวนหนึ่ง และชีวิตทางการเมืองของชุมชนนั้น ปฏิบัติหน้าที่อันมีลักษณะดังนี้
1.เป็นกลุ่มคนที่มีประโยชน์ และจุดหมายร่วมกัน
2.มีดินแดนเป็นสัดส่วน
3.มีอิสระจากการควบคุมของต่างประเทศ
4. มีอำนาจสูงสุดหรือมีอธิปไตยรวมอยู่
องค์ประกอบของรัฐ ได้แก่ ประชากร ดินแดน รัฐบาล และอำนาจอธิปไตย

รัฐศาสตร์  ศึกษาเรื่องดังต่อไปนี้

  1. การเมือง
  2. การปกครอง
  3. สถาบันทางการเมือง
  4. อำนาจ อำนาจหน้าที่ และอิทธิพล
  5. ความขัดแย้ง
  6. การแจกแจงแบ่งสรรทรัพยากรของสังคม

 

การศึกษารัฐศาสตร์จึงเป็นการศึกษาในลักษณะของสหวิทยาการ โดยอาศัยความรู้ในศาสตร์สาขาอื่นมาช่วยในการอธิบาย ประกอบปรากฎการณ์ทางการเมืองต่างๆที่เกิดขึ้น  เรื่องราวของรัฐศาสตร์ประกอบด้วย 5 P’s 1 E
1.Power อำนาจ
2.Public สาธารณะ
3.Policy สาธารณะ
4. Person ประชาชน
5.Participation การมีส่วนร่วม
และ Event เหตุการณ์ต่างๆ

ศาสตร์ (Science) คือ ความรู้ที่เป็นระบบ เป็นการแสวงหาความรู้อันเป็นที่ยอมรับของชุมชนวิชาการ สามารถเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา  ซึ่งการได้มาซึ่งความรู้นั้นได้มาจาก
1.ได้มาเอง รู้เอง
2.รู้จากประเพณี สืบทอดกันมาจนเป็นที่ยอมรับ
3. อ้างผู้รู้ เช่นอ้างบุคคล อ้างผู้นำ ฯลฯ
4.ใช้เหตุผลสติปัญญา เป็นความรู้ที่ได้มาจากการใช้สติปัญญา
5.ได้จากประสบการณ์ เช่นการสัมผัส แบบลองผิดลองถูก
รัฐศาสตร์เป็นส่วนหนึ่งของศาสตร์อ่อน ที่ประกอบด้วยมนุษยศาสตร์ และสังคมศาสตร์ มีลักษณะเป็นศาสตร์ที่มองไม่ชัด วัดด้วยเครื่องมือได้ยากเป็นความรู้สึก ทัศนคติ เช่น ความรัก ความยุติธรรม การมีส่วนร่วม ตรงข้ามกับศาสตร์แข็ง หรือวิทยาศาสตร์ธรรมชาติ  ที่ต้องพิสูจน์โดยการทดลอง

ดังนั้นรัฐศาสตร์จึงมีความเป็นศาสตร์และศิลป์ เพราะการอธิบายทางรัฐศาสตร์จะต้องประกอบด้วยทฤษฎีหลากหลาย ความสามารถในการแก้ปัญหาทางการเมืองจะไม่เหมือนกันขึ้นอยู่กับแต่ละคน
กระบวนทัศน์ หรือทัศนะแม่บท Paradigm
ความคิด ทัศนะพื้นฐานในการมองโลก และเป็นต้นตอบ่อเกิดของทัศนะอื่นๆ กระบวนทัศน์มักมีการเปลี่ยนแปลงโดยตลอด โทมัส คูณห์ เชื่อว่า มนุษย์เราไม่สามารถมีสองพาราไดม์ในเวลาเดียวกันได้

การเปลี่ยนกระบวนทัศน์ Paradigm Shift
การเปลี่ยนใหม่แบบถอนรากถอนโค่น เป็นการเปลี่ยนวิธีคิดใหม่ เป็นการเปลี่ยนแนวทางหรือวิถีทัศน์ในการมองโลก เนื่องจาก สิ่งที่เป็นเรื่องปกติหรือทำซ้ำแล้วซ้ำอีก ก่อให้เกิดสิ่งที่ โธมัส เอส คูณห์ (Thomas Kuhn) เรียกว่า ศาสตร์ปกติธรรมดา (Normal Science) ซึ่งพจนานุกรมสังคมวิทยาบัญญัติไว้ว่า เป็นสิ่งที่มีการกระทำเป็นปกติวิสัยซ้ำแล้วซ้ำอีก (The kind of science routinely done day after day) นั้น เมื่อเวลาผ่านไป สิ่งที่เป็นศาสตร์ปกติซึ่งไม่อาจจะแก้ได้ภายในทัศนะแม่บทเพียงทัศนะเดียว และ ณ จุดนี้ คูณห์ กล่าวว่า มีสิ่งผิดปกติเกิดขึ้น (Anomalies) ซึ่งอาจจะเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ ไตน์ เรียกว่า ศาสตร์ปฏิวัติ (Revolutionary Science) ในที่สุด
ความสามารถในการเปลี่ยนกระบวนทัศน์ได้นี้ คือ การที่คนเรายึดถือพาราไดม์เดียวและเกิดการเปลี่ยนแปลงพาราไดม์ได้นั้น ต้องขึ้นอยู่กับการยอมรับของคน ทั้งนี้ไม่ใช่เรื่องที่เปลี่ยนกันง่ายๆ ต้องมีการปฏิวัติ (Revolution), วิกฤติการณ์ (Crisis), ชีวิตที่ไม่ปกติสุข (Anomaly) และใช้เวลานาน

 

ตัวอย่างการเปลี่ยนกระบวนทัศน์
เช่น  แนวคิดโลกแบนมาเป็นโลกกลม  หรือในอดีตประเทศไทยอยู่ในยุคทุนนิยม เลียนแบบวัฒนธรรมตะวันตก นิยมของนอก ต่อมาเกิดวิกฤตทางเศรษฐกิจ ทำให้ประเทศไทยได้รับผลกระทบโดยตรง และเปลี่ยนจากแนวความคิดที่ต้องการ “พัฒนา” ให้เป็นแบบตะวันตก มาเป็น “เศรษฐกิจที่พอเพียง” กลับเข้าสู่ยุคเกษตรกรรม หันกลับมานิยมไทย ส่งเสริมวัฒนธรรมไทย ซึ่งเป็นผลดีต่อประเทศไทย โดยยกระดับคุณภาพต่าง ๆ ของสังคมไทย ให้เป็นสังคมอุดมสุข

พัฒนาการของรัฐศาสตร์แบ่งออกเป็น 3 ยุค คือ
1. ยุคคลาสสิค ในยุคนี้ให้ความสนใจกับปรัชญาและการศึกษาในแนวนิติสถาบัน

แนวการศึกษาแบบปรัชญา ให้ความสนใจการเมืองว่าควรจะเป็น(Ought) อย่างไร เช่น นักการเมืองที่ดีควรจะเป็นอย่างไร ผู้ปกครองที่ดี รัฐที่ดีควรจะเป็นอย่างไร  ถือเป็นการศึกษาในเชิงคุณธรรม

แนวนิติสถาบัน เป็นยุคที่นักรัฐศาสตร์เริ่มมองว่า น่าจะมีการคิดค้นหาสถาบันและกรอบกฎหมายที่เหมาะสมกับสังคมนั้น ๆ มากกว่า ให้ความสนใจกับเรื่องของสถาบันว่าจะทำอย่างไรที่จะสร้างสถาบันทางการเมืองที่เหมาะสมสำหรับสังคมแต่ละสังคม
การศึกษาในยุคนี้ได้รับการวิจารณ์มาก ว่าเป็นการศึกษาที่เต็มไปด้วยค่านิยม (Value) ของผู้ศึกษาทำให้ขาดความน่าเชื่อถือ

 

2.ยุคพฤติกรรมศาสตร์
มองว่าการศึกษา ควรจะศึกษาสภาพที่เป็นอยู่จริงว่าการเมืองเป็นอย่างไร (Being)
นักพฤติกรรมศาสตร์บอกว่า การศึกษาที่ดีก็คือ การศึกษาที่เป็นศาสตร์มากขึ้น และต้องเป็นวิทยาศาสตร์ นั่นคือ การทำให้รัฐศาสตร์มีความเป็นศาสตร์มากขึ้น ส่งผลให้การศึกษารัฐศาสตร์เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมอย่างมาก จนถือว่า เป็นการปฏิวัติครั้งแรกในวงการรัฐศาสตร์

        การที่พฤติกรรมศาสตร์พยายามทำให้รัฐศาสตร์เป็นศาสตร์มากขึ้นเพราะ
1.เชื่อว่าวิทยาศาสตร์นั้นสามารถอธิบายมีความเป็นเหตุเป็นผลได้มากกว่าสังคมศาสตร์
2.เชื่อว่าวิทยาศาสตร์นั้นสามารถค้นหาความเป็นเหตุเป็นผลของปรากฎการณ์ทางการเมืองมากกว่าสังคมศาสตร์
3.วิธีการทางวิทยาศาสตร์สามารถควบคุมหรือทำนายเหตุการณ์ในทางสังคมศาสตร์หรือในทางการเมืองได้
เดวิด อีสตัน นักรัฐศาสตร์คนแรกๆ ที่บุกเบิกแนวคิดการศึกษารัฐศาสตร์ในเชิงพฤติกรรมศาสตร์   ได้นำเสนอฐานคติในการศึกษาเชิงพฤติกรรมศาสตร์ไว้ 8 ประการ คือ

  1. Regularities การศึกษาเชิงพฤติกรรมจะต้องมีกฎ เกณฑ์กติกา หรือทฤษฎีเป็นตัวนำหรือเป็นกรอบในการศึกษา
  2. Verifiability การศึกษาพฤติกรรมในทางการเมืองนั้นข้อมูลที่ใช้ในการศึกษาจะต้องเป็นข้อมูลที่พิสูจน์ให้เห็นจริงได้ เป็นข้อมูลเชิงประจักษ์
  3. Techniques การศึกษาเชิงพฤติกรรมศาสตร์ต้องอาศัยเทคนิค มาช่วยในการศึกษา หรือการใช้คณิตศาสตร์ คอมพิวเตอร์ ใช้สถิติต่างๆ เป็นเครื่องมือในการวิเคราะห์ข้อมูล
  4. Quantitative Method การศึกษาเชิงพฤติกรรมศาสตร์ต้องใช้วิธีในเชิงปริมาณ ข้อมูลที่สามารถแจงนับได้จะเป็นข้อมูลในเชิงปริมาณ
  5. Value-free เป็นการศึกษาที่ปลอดจากค่านิยม
  6. Systematic เน้นที่ความเป็นระบบ มีการกำหนดขั้นตอน มีการตั้งสมมุติฐาน แสวงหาข้อมูลที่เกี่ยวข้องและนำข้อมูลเหล่านั้นมาวิเคราะห์และตีความเพื่อนำไปสู่ข้อสรุป
  7. Pure Science การศึกษาเชิงพฤติกรรม ต้องให้ความสำคัญกับการศึกษาในลักษณะแบบวิทยาศาสตร์บริสุทธิ์
  8. Integration การศึกษาเชิงพฤติกรรมจะให้ความสำคัญกับความเป็นสหวิทยาการ

อย่างไรก็ตาม มีข้อวิจารณ์ต่อพฤติกรรมศาสตร์ในหลายประเด็นกล่าวคือ

1.ในประเด็นความเป็นกลาง  อาจจะกล่าวได้ว่าความเป็นกลางไม่มีจริงเพราะ แค่เป็นเรื่องคอนเซปต์  ก็เป็นเพียงความหมายที่เราสมมุติขึ้น เช่น คำว่าชนชั้นกลาง ในความหมายของแต่ละคนอาจจะไม่ตรงกัน

2. ในประเด็นบอกว่า สามารถทดสอบความเป็นเหตุเป็นผลได้นั้น  สมการทุกสมการจะเปิดโอกาสให้เราคำนวณหาค่าความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปรต่างๆได้เสมอนั้นไม่ได้หมายความว่าความสัมพันธ์ที่เราค้นพบจะเป็นตัวบ่งบอกถึงความเป็นเหตุเป็นผล
3.ในประเด็นที่บอกว่าทำนายได้ การทำนายได้ หมายถึงการทำนายภายใต้เงื่อนไขที่จำกัด  หรือภายใต้ฐานคติเราตั้งไว้ หรือทำนายได้ภายใต้ปัจจัยเงื่อนไขต่างๆที่เรากำหนดให้มันคงที่ซึ่งในทางการเมืองย่อมมีปัญหาเพราะปรากฎการณ์ทางการเมืองเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา

 

3. ยุคหลังพฤติกรรมศาสตร์ เป็นยุคที่มุ่งศึกษาการเมืองหลากหลายมากขึ้น มีการเพิ่มมิติทางเศรษฐกิจในการศึกษาการเมือง  เพราะการวิเคราะห์ตัวแสดงใหม่ๆในทางการเมือง จากเดิมที่การเมืองจะเน้นศึกษาเรื่องรัฐ และเรื่องพฤติกรรมทางการเมือง แต่การเมืองในยุคหลังพฤติกรรมจะเน้นไปที่นักธุรกิจ พ่อค้า ประชาชน กลุ่มชาวบ้าน และเปลี่ยนวิธีการศึกษาโดยเอาปัญหามาเป็นตัวตั้ง แทนการเอาทฤษฎีมาเป็นตัวตั้ง เพื่อให้เกิดการศึกษาในแต่ละปัญหาอย่างลึกซึ้งและนำไปสู่การแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม
การศึกษาแบบนี้ จะทำให้การศึกษารัฐศาสตร์มีลักษณะที่ติดดินมากขึ้น และสัมผัสกับปัญหาในสังคมไทยได้มากขึ้น สามารถนำผลการศึกษาไปใช้ในการกำหนดโยบายได้

 

การศึกษารัฐศาสตร์ในอนาคต
ในอนาคตการศึกษาเรื่องราวทางการเมืองก็จะมีความหลากหลาย มีประเด็นใหม่ๆ ทางการเมืองเกิดขึ้นมากมาย การศึกษาอาจจะต้องใช้หลายแนวทางผสมผสานกัน โดยไม่จำเป็นจะต้องยึดรูปแบบที่แน่นอน ควรเน้นศึกษาปัญหาที่เกิดขึ้นจริงมากกว่า ที่จะเน้นสร้างทฤษฎีขนาดใหญ่ในการมองปัญหา และอาจจะศึกษาการเมืองเป็นรายกรณี 
การศึกษารัฐศาสตร์ในอนาคตควรให้ความสำคัญ เช่น  บทบาทขององค์กรภาคประชาชนในการตรวจสอบอำนาจรัฐรวมทั้งการนำเสนอนโยบายให้ภาครัฐนำไปตัดสินใจ  ,ความสัมพันธ์ของแนวคิดเกี่ยวกับรัฐและแนวคิดเกี่ยวกับเศรษฐกิจ ,รัฐภายใต้กระแสโลกาภิวัตน์ เป็นต้น

คุณค่าหรือประโยชน์ของรัฐศาสตร์
1.รัฐศาสตร์กระแสหลัก คือ มุ่งสู่ความเป็นวิชาการชั้นสูง คือเป็นศาสตร์ซึ่งทำให้คิดว่าการเมืองเป็นเรื่องที่มองเห็นได้ จึงใช้ความเป็นกลางในการศึกษา เพื่อให้เกิดความน่าเชื่อถือ ส่วนเรื่องการมองไม่เห็น คือเรื่องของความขัดแย้ง การศึกษา เพื่อการแก้ความขัดแย้งโดยเน้นหนักที่วัตถุประสงค์ร่วมกันของชุมชนจึงเป็นการรักษาสภาพเดิมโดยไม่รู้ตัว(ไม่นำไปสู่การพัฒนา)
2.รัฐศาสตร์ทวนกระแส ต้องมีลักษณะรอบด้าน ก้าวล่วงพ้นกรอบของสาขาวิชารัฐศาสตร์การศึกษาการเมืองและรัฐด้วยวิธีวิทยาศาสตร์เป็นความก้าวหน้า (เน้นการพยายามลงมาสู่ชุมชน ใช้ประชาธิปไตยรับใช้สังคม)
3.ความไร้น้ำยาของรัฐศาสตร์ เพราะไม่เป็นนักสังคม ไม่นำสังคม ไม่เป็นประโยชน์  รับใช้แต่นายทุน ทำให้เกิดไร้น้ำยา

 

การศึกษารัฐศาสตร์ในสมัยปัจจุบัน  เป็นการจัดการกับข้อมูลข่าวสาร ซึ่งเป็นกระบวนการ ปรับประยุกต์ใช้ กรอบแนวคิด (ทฤษฎี) ใดๆเพื่อทำความเข้าใจกับข้อมูลข่าวสารที่เราได้รับมา การเลือกเฟ้นถ้อยคำหรือนิยม ดังนี้เป็นต้นการวิเคราะห์ เป็นการจัดการเก็บข้อมูลข่าวสารให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์หรือเป้าหมายที่ต้องการ

แนวการวิเคราะห์ (Approaches) หมายถึง กรอบหรือเค้าโครงทางความคิดอย่างกว้างๆอันเป็นพื้นฐานของการพรรณาความหรืออธิบายปรากฎการณ์ใดๆ โดยทั่วไปแล้ว Approach เป็นเรื่องของความโน้มเอียง ของผู้ที่ศึกษาที่ต้องการเจาะเข้าไปถึงเรื่องใดเรื่องหนึ่งในลักษณะใดลักษณะหนึ่งโดยเฉพาะ (วุฒิศักดิ์ ลาภเจริญทรัพย์)

 

 

        Approach ตามลักษณะที่สำคัญของวิถีทางการเมือง พอสรุปได้ดังนี้

1. แนวการวิเคราะห์เชิงประวัติศาสตร์  เป็นแนวทางการวิเคราะห์การเมืองโดยอาศัยประวัติศาสตร์ ความจริงที่เกิดขึ้น     เป็นการศึกษาเรื่องราวในอดีต ที่เป็นบทเรียน ซึ่งจะส่งผลสะท้อนมาถึงปัจจุบันและอนาคต โดยใช้หลักฐานอ้างอิงที่เป็นรูปธรรม  เชื่อถือได้ ซึ่งอาจจะใช้หลักฐานที่เป็นเอกสาร หรือ จากการบอกเล่า สัมภาษณ์จากผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์ เป็นต้น

 

2.แนววิเคราะห์ โครงสร้าง-หน้าที่ (Structural-Functional Approach)
-  ศึกษาการจัดวางโครงสร้างของสังคมการเมืองและบทบาทหน้าที่ ขององค์กรโครงสร้าง เหล่านั้น ในความเป็นจริง เป็นพฤติกรรมการกระทำที่แสดงออกมาจริงๆ เช่น บทบาทหน้าที่ของรัฐสภาไทยในการตรวจสอบฝ่ายบริหาร, ศาลปกครองกับการถ่วงดุลอำนาจบริหาร หรือศึกษาพรรคการเมืองไทยในการผลิตนโยบายแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ
-  เป็นการวิเคราะห์ตัวโครงสร้างกลไกที่มีอยู่ หรือสร้างขึ้นใหม่ ในระบบการเมือง กับบทบาทหน้าที่ ว่าทำงานอย่างไร มีfunctions อย่างไร ด้วยปัจจัยใด

3.  แนววิเคราะห์เชิงชนชั้นนำ (Elite Approach)   หรือแนวพินิจชนชั้นนำ
แนววิเคราะห์ชนชั้นนำ หมายถึงแนวทางในการศึกษาหรือแนวทางในการทำความเข้าใจเรื่องราวหรือปรากฏการณ์ทางการเมืองโดยพิจารณาไปที่บทบาทของชนชั้นนำในสังคม
แนวพินิจชนชั้นนำมองว่าในสังคมจะประกอบไปด้วยคน 2 ชนชั้นคือชนชั้นนำและคนชนชั้นล่าง
ชนชั้นนำนั้นเป็นเป็นคนส่วนน้อยในสังคม แต่มีอำนาจครอบงำคนชั้นล่างที่ที่เป็นคนส่วนใหญ่ของสังคม เนื่องจาก
ชนนั้นนำเป็นคนที่กุมอำนาจทางเศรษฐกิจ คือมีเงินทองและความร่ำรวย เมื่อมีความร่ำรวยทำให้สามารถใช้ความร่ำรวยในการแสวงหาอำนาจทางการเมือง เมื่อมีอำนาจทางการเมือง อำนาจในด้านอื่นก็จะเพิ่มพูนขึ้น และทำให้ชนชั้นนำเป็นคนกำหนดชะตากรรมของคนทั้งสังคม

สาเหตุที่ชนชนชั้นนำสามารถกำหนดความเป็นไปของสังคมได้ เพราะชนชั้นนำมีลักษณะต่างๆ คือ
-ชนชั้นนำมีจำนวนน้อยทำให้ติดต่อสื่อสาร รวมกันอย่างเหนียวแน่น
-มีความคิด รสนิยม การใช้ชีวิต แบบเดียวกัน จบจากโรงเรียนเดียวกัน
-มีผลประโยชน์สอดคล้องกัน
แนวคิดชนชั้นนำจึงมองว่า การเมืองเป็นเรื่องของชนชั้นนำ ทำให้การกำหนดนโยบายต่างๆ เป็นไปเพื่อชนชั้นนำ โดยชนชั้นล่างได้รับประโยชน์แต่เพียงเล็กน้อย ผลประโยชน์ที่ชนชั้นนำจัดสรรให้ชนชั้นล่างเป็นการจัดสรรให้เพียงเพื่อไม่ให้ชนชั้นล่างรู้สึกว่าถูกเอาเปรียบจนเกินไป และลุกขึ้นมาท้าทายอำนาจชนชั้นนำเท่านั้น

****หากจะใช้แนววิเคราะห์ชนชั้นนำ ก็จะต้องแยกให้ได้ว่าในปัญหาที่เราศึกษามีชนชั้นนำกลุ่มใดบ้าง เช่นปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองในเวลานี้ เป็นความขัดแย้งระหว่างชนชั้นนำทางการเมือง หรือ สื่อ เป็นต้น 

4.  แนววิเคราะห์กฎหมาย /สถาบัน  ( Legal-Institutional Approach)
- เป็นการวิเคราะห์สถาบันการเมือง เช่นรัฐธรรมนูญ รัฐบาล รัฐสภา พรรคการเมือง เป็นต้น โดยใช้บทบัญญัติของกฎหมาย
- ศึกษาดูการแบ่งหน่วยงานความรับผิดชอบภายในองค์กรของสถาบันนั้น ๆ ตามกฎหมาย เช่น ดูระบบรัฐสภาของอังกฤษ ,ดูระบบประธานาธิบดีของสหรัฐ หรือ วิเคราะห์บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญไทยในประเด็นต่างๆ

5.แนววิเคราะห์วัฒนธรรมทางการเมือง  (Political Culture Approach) 
เป็นแนววิเคราะห์ที่ให้ความสำคัญกับความคิด และความเชื่อในทางการเมือง เน้นการศึกษาเปลี่ยนแปลงทางการเมืองหรือปรากฎการณ์ทางการเมืองผ่านวัฒนธรรมทางการเมือง  เช่น ถ้าเราต้องการศึกษาเรื่องของการซื้อเสียง เราก็ต้องดูว่า เป็นเพราะวัฒนธรรมทางการเมืองของคนไทยเอื้อต่อการซื้อสิทธิขายเสียงใช่หรือไม่  เป็นต้น
คำถามที่สำคัญในทางการเมืองที่เกิดขึ้น อันเป็นผลมาจากการศึกษาเปรียบเทียบระหว่างระบบการเมืองใดๆ คือทำไมระบบการเมืองหนึ่งสามารถดำเนินกิจกรรมอย่างมีเสถียรภาพ ขณะที่อีกระบบหนึ่งกลับประสบปัญหา ทั้งที่ต่างมีโครงสร้างทางการเมืองและอุดมการณ์ทางการเมืองเหมือนกัน เช่น  ไทยกับอังกฤษ เป็นต้น ซึ่งวัฒนธรรมทางการเมือง กลายเป็นคำตอบที่ช่วยให้เราสามารถเข้าใจถึงพฤติกรรมทางการเมืองที่เกิดขึ้นในระดับหนึ่ง
วัฒนธรรมทางการเมือง คือ แบบแผนของความคิด ความเชื่อ ตลอดจนทัศนคติของบุคคลที่พึงมีต่อระบบส่วนต่างๆของระบบการเมืองรวมทั้งต่อบทบาทของตนเองในระบบด้วย วัฒนธรรมทางการเมืองจะมีอิทธิพลในการกำหนดพฤติกรรมทางการเมืองของสมาชิกให้อยู่ในรูปแบบใดๆ
ประเภทของวัฒนธรรมทางการเมือง  แบ่งออกเป็น3 ประเภท
1.วัฒนธรรมทางการเมืองประเภทดั้งเดิม  คือ คนในสังคมแทบจะไม่มีความสนใจ หรือแทบจะไม่มีความสัมพันธ์กับระบบการเมืองเลย  เช่นพวกชาวเขาของไทย
2.วัฒนธรรมทางการเมืองแบบไพร่ฟ้า เป็นการแสดงออกที่ยอมรับ อำนาจรัฐ หรือเห็นว่าตัวเองมีอำนาจหรือมีอิทธิพลต่อรัฐต่ำมาก
3.วัฒนธรรมทางการเมืองแบบมีส่วนร่วม หรือ แบบพลเมือง หมายถึงประชาชนแสดงบทบาทที่สนใจทางการเมืองและเคารพการมีส่วนร่วมของประชาขนไม่ว่าจะเป็นการตัดสินใจหรือแสดงออก

6.แนววิเคราะห์การพัฒนาทางการเมือง (Political Development Approach )
ความคิดรวบยอด คือการเมืองจะพัฒนาจากการเมืองแบบเก่าไปสู่การเมืองแบบใหม่ โดยอาศัยปัจจัยบางอย่าง 
การพัฒนาการเมือง หมายถึง การเปลี่ยนแปลงชนิดหนึ่งที่เกิดขึ้นในสังคมมีเป้าหมายเพื่อให้การแจกแจงแบ่งสรรทรัพยากรให้มีประสิทธิภาพและเป็นธรรมมากขึ้นกว่าเดิม
ปัจจัยของการวัดระดับของการพัฒนาทางการเมือง
ลูเซียน พาย (Lucian Pye) กล่าวว่า  การเมืองที่จะได้ชื่อว่ามีระดับการพัฒนาทางการเมืองจะต้องประกอบด้วยหลักการ 3 อย่าง คือ

  1. มีโครงสร้างทางการเมืองที่หลากหลาย  คือมีกระทรวง ทบวง กรม มีหน่วยงานที่ทำหน้าที่เฉพาะอย่าง เพื่อตอบสนองความต้องการที่หลากหลายของคนในสังคม ที่มีจำนวนมาก
  2. ความเสมอภาค  ประชาชนจะต้องได้รับความเสมอภาคอย่างน้อย  3 ประการ คือ ความเสมอภาคในการเข้าไปมีส่วนร่วมทางการเมือง ความเสมอภาคในโอกาสที่จะเขาสู่ตำแหน่งในระบบราชการ และความเสมะภาคภายใต้กฎหมายที่ยุติธรรม
  3. สมรรถนะ  คือ มีความสามารถในการแก้ไขปัญหาต่อความต้องการที่หลากหลายของประชาชน สร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ให้เป็นที่ยอมรับของประชาชนได้

 

.........................................................................................................