“ ความสูญเสียของท้องถิ่นไทยภายใต้ประชาธิปไตยแบบทุนนิยมผูกขาด "

การเมืองการปกครองของประเทศไทยก่อนการเปลี่ยนแปลงในปี พ.ศ.2475  เป็นรูปแบบการปกครองในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ซึ่งอำนาจการปกครองนั้นขึ้นอยู่กับสถาบันพระมหากษัตริย์และกระจายอำนาจให้กับข้าราชการโดยแบ่งเป็นพื้นที่การปกครองให้กับเจ้าเมืองและขุนนางตามรูปแบบของระบบศักดินา ความสัมพันธ์ของประชาชนกับระบบข้าราชการเป็นลักษณะของสังคมพวกพ้อง แต่เนื่องด้วยประเทศไทยมีทรัพยากรธรรมชาติที่สมบูรณ์ทางภูมิศาสตร์อันเหมาะแก่การทำอาชีพเกษตรกรรมที่อุดมสมบูรณ์ดังคำกล่าวว่า “ในน้ำมีปลาในนามีข้าว”  ดังนั้นลักษณะนิสัยของสังคมไทยในอดีตจึงเป็นสังคมแห่งการแบ่งปันช่วยเหลือซึ่งกันและกัน รักพวกพ้อง แต่ก็มีน้ำใจที่ดีงามต่อผู้อื่นเช่นกัน ความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของสังคมชนบทไทยเกิดขึ้นจากการล่าอาณานิคมของมหาอำนาจตะวันตก ซึ่งเป็นประเทศพัฒนาทางอุตสาหกรรมมีความต้องการค้นหาแหล่งทรัพยากรเพื่อนำมาผลิตสินค้าและหาตลาดในการจำหน่าย เริ่มต้นจากการบีบบังคับด้วยกองกำลังทางทหาร และพยายามปลูกฝังความคิดของระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย อันมีเจตนาเพื่อการแสวงหาผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ ดังนั้นประเทศต่างๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จึงได้รับอารยธรรมตะวันตกและถูกบังคับทั้งทางตรงและทางอ้อมให้เปลี่ยนแปลงระบบการปกครองและระบบเศรษฐกิจไปตามรูปแบบของประเทศตะวันตก

            สำหรับประเทศไทยได้ใช้หลักการจัดระเบียบการปกครองทั้ง 3 รูปแบบ ในการกระจายอำนาจให้การปกครองท้องถิ่นของไทย ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 มาจนถึงปัจจุบัน โดยแบ่งออกเป็น 3 ช่วง ดังนี้

1.การปฏิรูประบบราชการสมัย ร.5 จนถึงการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ช่วงนี้รัฐยังรวมศูนย์อำนาจการปกครองไว้ที่ส่วนกลางเป็นส่วนใหญ่ การแบ่งอำนาจให้ภูมิภาค และกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นยังมีน้อย ในส่วนกลางมีการจัดตั้งกระทรวง ทบวง กรม ต่างๆ ส่วนภูมิภาคมีการจัดตั้งแขวง อำเภอ เมือง ส่วนท้องถิ่นมีการจัดตั้งสุขาภิบาลกรุงเทพฯ กับสุขาภิบาลหัวเมือง โดยได้ตรา พระราชบัญญัติจัดการสุขาภิบาลตามหัวเมือง ร.ศ. 127 ขึ้น รองรับการจัดตั้งสุขาภิบาลในพื้นที่ที่พร้อม ซึ่งมีการจัดตั้งน้อยมาก ไม่ได้ขยายไปทั่วราชอาณาจักร

2. การเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 จนถึง พ.ศ. 2540 เป็นช่วง 65 ปีที่มีวิวัฒนาการของการปกครองท้องถิ่น หรือการกระจายอำนาจมาก เริ่มจากการจัดตั้งเทศบาลในปี 2476 สภาจังหวัดในปี 2481 สุขาภิบาลในปี 2495 องค์การบริหารส่วนตำบลในปี 2499 เป็นการเริ่มให้มีรูปแบบการปกครองท้องถิ่นในเขตเมืองก่อน แม้จะมีการเลือกตั้งสภาท้องถิ่น แต่ผู้บริหารของสุขาภิบาลและองค์การบริหารส่วนจังหวัดยังมาจากข้าราชการและ ผู้บริหาร อบต. มาจากกำนัน ไม่ใช่มาจากการเลือกตั้งของราษฎร การมีส่วนร่วมของประชาชนจึงไม่สามารถทำได้อย่างเต็มที่ นอกจากนั้นเริ่มมีการจัดการปกครองท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ เช่น กรุงเทพมหานครเมื่อปี 2518 เมืองพัทยาเมื่อปี 2521 ต่อมาก็ได้มีการปรับรูปแบบขององค์กร ปกครองท้องถิ่นให้เหมาะสมยิ่งขึ้น เช่น พ.ร.บ. กรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2528 พ.ร.บ.สภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. 2537

3. ปี 2540 - ปัจจุบัน มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 จึงได้กำหนดเรื่องการกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นไว้ชัดเจนขึ้น โดยให้ท้องถิ่นมีอำนาจอิสระในการบริหารงานของตนเองมากขึ้น ผู้บริหารและสภาท้องถิ่นมาจากการเลือกตั้ง เพิ่มเติมหน้าที่เกี่ยวกับการทำนุบำรุง ศิลปวัฒนธรรม จารีตประเพณีท้องถิ่น และการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมมากขึ้น โดยมีกฎหมายรองรับให้มีเป้าหมายในการกระจายอำนาจที่ชัดเจน เช่น ให้ท้องถิ่นมี รายได้เป็น 20 % ของรายได้รัฐบาลภายในปี 2544 และ 35 % ภายในปี 2549  ดำเนินการถ่ายโอนภารกิจหน้าที่ที่มีความซ้ำซ้อนระหว่างส่วนกลาง ภูมิภาค กับท้องถิ่น ทำให้ต้องมีการปรับปรุงกฎหมายของ ท้องถิ่นรูปแบบต่างๆ เพื่อให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ และจัดตั้งองค์กรรองรับเพื่อให้การกระจายอำนาจการปกครองแก่ท้องถิ่นเกิดขึ้นอย่างจริงจัง เป็นรูปธรรม ภายใต้กรอบเวลาและเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ และกฎหมายประกอบฉบับต่างๆ

 

ประเภทขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
ในปัจจุบันแบ่งออกเป็น 4 รูปแบบ ได้แก่ องค์การบริหารส่วนจังหวัด,เทศบาล,องค์การบริหารส่วนตำบล และการปกครองท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ คือ เมืองพัทยาและกรุงเทพมหานคร

 

ปัญหาที่เกิดและสร้างความสูญเสียต่อท้องถิ่นไทยภายใต้ประชาธิปไตยแบบทุนนิยผูกขาด

1. เกิดการแข่งขันในการซื้อเสียงของกลุ่มนักการเมืองท้องถิ่นในการเลือกตั้งทำให้มี 
ปัญหาในการคอรัปชั่นเพื่อคืนทุนมากกว่าการมุ่งพัฒนาท้องถิ่น

2. เนื่องจากมีการคอรัปชั่นทำให้เกิดปัญหาการถูกตัดสิทธิทางการเมืองและมีการเลือกตั้ง
บ่อย ส่งผลให้การพัฒนาท้องถิ่นเป็นไปอย่างไม่ต่อเนื่อง

3. ระบบพวกพ้องของนักการเมืองท้องถิ่น ทำให้มีการจัดสรรบุคลากรที่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตนมากกว่าประโยขน์ส่วนรวมมาทำหน้าที่ในการบริหารงานและสร้างการคอรัปชั่นอย่างเป็นระบบภายในองค์กรท้องถิ่น

4. การกินเปอร์เซ็นต์จากการจัดซื้อจัดจ้างและลงทุนซึ่ง ทำให้งบประมาณที่
ทางรัฐมอบให้ถูกนำไปใช้อย่างไร้ประสิทธิผล

5. การตรวจสอบการทุจริตของหน่วยงานรัฐก็มีการรับสินบนเองอีกทั้งมีการสนับสนุนจากนักการเมือง พรรคการเมือง และข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ทำให้การคอรัปชั่นขององค์กรท้องถิ่นเป็นไปอย่างเสรี

6. เกิดระบบทุนนิยมแข่งขันอย่างเสรีกึ่งผูกขาดโดยบริษัทข้ามชาติ ส่งผลให้ชาวบ้านท้องถิ่นประสบปัญหาการประกอบอาชีพภายใต้กลไกผูกขาดของนายทุน

 

บทสรุปการแก้ปัญหาความสูญเสียของท้องถิ่นไทยภายใต้ประชาธิปไตยแบบทุนนิยมผูกขาด
   
การแก้ปัญหาความสูญเสียของท้องถิ่นไทยภายใต้ประชาธิปไตยแบบทุนนิยมต้องเริมที่การกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นของประเทศไทย  การพัฒนานั้นจำเป็นที่จะต้องคำนึงถึงวัฒนธรรมทางการเมืองท้องถิ่นของไทยและหาแนวทางเพื่อปรับรูปแบบการปกครองท้องถิ่นอย่างค่อยเป็นค่อยไป ภาครัฐจำเป็นที่จะต้องพยายามไม่แทรกแซงและให้อำนาจต่อท้องถิ่นอย่างเป็นธรรมปราศจากประโยชน์แอบแฝง และในปัจจุบันที่กำลังอยู่ในขั้นตอนการพัฒนาและเตรียมความพร้อมของท้องถิ่น ภาครัฐจำเป็นที่ต้องให้การสนับสนุนผ่านอำนาจส่วนภูมิภาคในการถ่วงดุลอำนาจและส่งเสริมให้ท้องถิ่นมีความเข้มแข็งโดยนำส่วนดีของวัฒนธรรมท้องถิ่นเดิมมาเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาเพื่อสร้างสังคมชุมชนท้องถิ่นที่มีความเข้าใจในหลักประชาธิปไตยควบคู่กับการดำเนินชีวิตตามแบบสังคมพุทธศาสนาหรือสังคมไทยดั้งเดิมที่มีการช่วยเหลือกันมีส่วนร่วมในการพัฒนาท้องถิ่นของตนทั้งในด้านความเจริญทางวัตถุและคุณภาพของประชากรที่มีทั้งการศึกษาที่ดีคู่คุณธรรมและวัฒนธรรมที่งดงามตามแบบสังคมไทยแต่เดิม

                                                                       

.......................................ดร.สุปรีชา หิรัญบูรณะ

........................................................................23 กันยายน พ.ศ.2563