ลำไย

สืบค้นจาก http://info.matichon.co.th/techno/techno.php?srctag=05034150950&srcday=2007/09/15&search=no

สืบค้นเมื่อ 17 พฤศจิกายน 2550

สืบค้นโดย ดร.ชยพร  แอคะรัจน์  www.geocities.com/university2u

---------------------------------

แนวทางบริหารและจัดการลำไย ที่เมืองจันท์

(โดย กุณฑล เทพจิตรา -เทคโนโลยีชาวบ้าน วันที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2550 ปีที่ 19 ฉบับที่ 415)

เมื่อไม่นานมานี้ ได้มีโอกาสไปดูงานการผลิตลำไยนอกฤดูที่จังหวัดจันทบุรี โดยการนำของสำนักส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 6 จังหวัดเชียงใหม่ ออกเดินทางจากเชียงใหม่ห้าโมงเย็น โดยรถบัสไปถึงเมืองจันทบุรีเกือบแปดโมงเช้าของอีกวัน ซึ่งการเดินทางในครั้งนี้เพื่อดูการบริหารจัดการลำไยของเกษตรกรเมืองจันทบุรีว่า ทำไม เขาจึงไม่มีปัญหาการตลาดเหมือนกับบ้านเราทางภาคเหนือ

 

จันทบุรี หรือเมืองจันท์ ที่ทุกคนเรียกกันจนติดปาก เป็นจังหวัดทางภาคตะวันออกของไทย ภูมิประเทศนั้นทางตอนเหนือประกอบด้วยเทือกเขาและที่ราบเชิงเขา ซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดของแม่น้ำจันทบุรี ตอนใต้เป็นที่ราบชายฝั่งทะเลและมีที่ราบลุ่มบริเวณปากน้ำ อาณาเขตทางทิศเหนือติดกับจังหวัดฉะเชิงเทราและสระแก้ว ทิศใต้ติดอ่าวไทย ทิศตะวันออกติดจังหวัดตราดและประเทศกัมพูชา ทิศตะวันตกติดกับจังหวัดชลบุรีและระยอง

 

เมืองจันท์เป็นเมืองที่เรียบง่าย สงบ ไม่วุ่นวาย ยังคงความเป็นสังคมชนบทที่ยึดวิถีชีวิตเกษตรกรรมเป็นอาชีพหลัก

 

เดินทางออกจากตัวจังหวัดจะมองเห็นไร่นาเรือกสวนและต้นไม้สุดลูกหูลูกตาจนถึงทิวเขา ซึ่งมีพื้นที่ทำการเกษตรถึง 2,266,208 ไร่ พืชเศรษฐกิจที่สำคัญของเมืองจันท์และทำรายได้ให้แก่เกษตรกรคือทุเรียน เงาะ มังคุด สะละ ลองกอง ลำไย พริกไทย มันสำปะหลัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ยางพารา และข้าว

 

ในปี 2548 มีพื้นที่ปลูกลำไยถึง 81,156 ไร่ เก็บเกี่ยวผลผลิตได้ 104,467 ตัน ผลผลิตเฉลี่ย 2,016 กิโลกรัม ต่อไร่ ผลผลิตลำไยที่เมืองจันท์ไม่มีปัญหาด้านการตลาด

 

 

 

ปีที่แล้วมาขายลำไยได้ 7 ล้านกว่า

 

คุณลุงน้อม ธรรมเกสร เกษตรกรผู้ปลูกลำไย อำเภอโป่งน้ำร้อน จังหวัดจันทบุรี เล่าว่าตนเองได้ทำสวนลำไยมากว่า 10 ปีแล้ว บนพื้นที่กว่า 200 ไร่ และจะทำลำไยนอกฤดูทั้งหมด โดยแบ่งเป็น 7 แปลง เพื่อการบริหารจัดการใส่สารในแต่ละแปลง โดยเริ่มใส่สารแปลงที่ 1 เดือนมีนาคม แปลงที่ 2 ใส่สารเดือนเมษายนและทยอยใส่สารในแปลงต่อไปจนถึงแปลงที่ 7 ซึ่งจะใส่สารในเดือนกันยายน ในการจัดการใส่สารแต่ละแปลงแบบนี้จะทำให้สามารถเริ่มเก็บผลผลิตลำไยจำหน่ายได้ในเดือนตุลาคมไปจนถึงเดือนมีนาคม และผลผลิตที่ได้จะไม่ออกพร้อมกับทางภาคเหนือของเรา ทำให้จำหน่ายได้ราคาดี ไม่มีปัญหาทางการตลาด โดยปีที่แล้วขายได้ 7 ล้านกว่า แต่ก็ลงทุนไปเป็นล้านเหมือนกัน

 

ปัจจัยการผลิตลำไยนอกฤดูของเมืองจันท์ที่ได้เปรียบกว่าทางภาคเหนือคือ

 

1. เรื่องน้ำไม่มีปัญหา เพราะเมืองจันท์มีฝนตกตลอดเกือบทั้งปี มีแหล่งน้ำอย่างพอเพียง การให้น้ำเพื่อทำลำไยนอกฤดูหลังจากราดสารนั้น สามารถให้ได้ทันทีตลอดเวลา จากแหล่งน้ำสูบเข้าสวนโดยวางระบบน้ำแบบสปริงเกลอร์ทั้งสวน

 

2. การใส่สาร เกษตรกรเมืองจันท์เขาใส่สารมากประมาณ 1-2 กิโลกรัม ต่อต้น (ขนาดทรงพุ่ม 4 เมตร) และในการใส่สารนั้น จะทำเมื่อลำไยแตกใบอ่อน 3 ครั้ง และรอให้ใบแก่จึงใส่สาร ทำให้ลำไยแทงช่อดอกดีมากตลอดทั้งต้น และหลังการเก็บเกี่ยวผลผลิตจะพักต้นประมาณ 4 เดือน แล้วจึงเริ่มใส่สารอีกครั้ง

 

3. แรงงาน ค่าแรงงานเขาจะถูกกว่าเรามาก เพราะจ้างแรงงานจากคนต่างด้าว เนื่องจากติดชายแดนพม่า ทำให้ลดต้นทุนได้

 

4. การแบ่งพื้นที่ของสวนเพื่อทำลำไยเป็นรุ่นๆ ไปทุกเดือน ทำให้มีผลผลิตลำไยออกตลอดทั้งปี พ่อค้าสามารถเข้าไปรับซื้อได้อย่างต่อเนื่อง ทำให้ไม่มีปัญหาการตลาด

 

5. การป้องกันกำจัดค้างคาว ศัตรูร้ายของลำไยนอกฤดู เกษตรกรใช้หลอดไฟฟ้าแบบที่ใช้ตามถนนคือหลอดเมทรั่ม ฮาลาย 400 วัตต์ แสงสีขาวนวล ราคาประมาณชุดละ 2,000 บาท ติดตั้งปลายเสาไฟฟ้าแล้วสาดแสงขึ้นสู่ท้องฟ้า จุดแสงสว่างตั้งแต่ 20.00 . ไปจนถึงเช้า พอสว่างค่อยดับ สามารถล่อแมลงมาตอมหลอดไฟและค้างคาวจะบินมากินแมลงเหล่านั้นแทนลำไย ได้ผลดีมาก แต่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นอีกเล็กน้อย

 

 

 

หลักการผลิตลำไยนอกฤดู

 

1. จัดทรงพุ่มให้เหมาะสมกับการทำลำไยนอกฤดูและพร้อมกับทำลำไยคุณภาพ โดยควบคุมความสูงไม่เกิน 3 เมตร และทำทรงพุ่มให้โปร่ง

 

2. พักต้นให้พร้อม ประมาณ 8 เดือน ขึ้นไป หรือหลังการเก็บเกี่ยวควรให้แตกใบ 3 ชุด จึงราดสาร

 

3. การราดสารให้เหมาะสม คือรัศมีทรงพุ่ม 1 เมตร ต่อสาร 1 ขีด

 

4. การให้น้ำที่เหมาะสม ในระบบสปริงเกลอร์ ควรให้น้ำเป็นแนวกว้าง ประมาณ 1 เมตร บริเวณปลายทรงพุ่ม

 

5. ปริมาณในการให้น้ำที่เหมาะสมคือ ให้น้ำซึมลึกลงดิน ประมาณ 1-2 นิ้ว

 

6. เมื่อเริ่มแทงช่อดอก หรือดอกแซมใบ หรือออกช่อเป็นใบ ให้ใช้สารหรือฮอร์โมนฉีดพ่นทางใบเพื่อเร่งการแทงช่อดอกที่สมบูรณ์

 

7. เมื่อดอกออกประมาณ 70% ให้เกษตรกรดูแลรักษาตามปกติ เพื่อคุณภาพของลำไย

 

ข้อได้เปรียบของการทำลำไยนอกฤดู

 

1. ไม่ประสบปัญหาในด้านการตลาด ได้ราคาดี

 

2. ไม่แย่งแรงงาน

 

3. มีพ่อค้ารับซื้อถึงสวน

 

4. มีรายได้ต่อเนื่อง จากการแบ่งเป็นแปลงๆ ในการทำลำไยนอกฤดู

 

5. ลดอัตราการเสี่ยงและสร้างความมั่นคงในการประกอบอาชีพ

 

6. ใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าและเกิดประสิทธิภาพสูงสุด

 

 

 

ทำนอกฤดู ช่วยให้ขายได้ราคา

 

คุณยลวิไล ประสมสุข ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 6 จังหวัดเชียงใหม่ กล่าวเพิ่มเติมว่า การทำลำไยนอกฤดูเพื่อกระจายผลผลิตนั้น เป็นแนวทางที่สามารถหลีกเลี่ยงราคาลำไยตกต่ำได้ แต่ต้องมีการบริหารจัดการที่ดี เพื่อให้ได้คุณภาพ เกษตรกรที่สนใจการทำลำไยนอกฤดูขอให้ติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สำนักเกษตรอำเภอและสำนักงานเกษตรจังหวัดหรือที่ คุณสมสวย ปัญญาสิทธิ์ ผู้ประสานงานการผลิตลำไยนอกฤดู กลุ่มส่งเสริมและพัฒนาการผลิต สำนักส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 6 จังหวัดเชียงใหม่ โทร. (081) 884-6791

--------------------------------------

Hosted by www.Geocities.ws

1