ประวัติและปฏิปทาพระอุดมญาณโมลี

(หลวงปู่จันทร์ศรี จนฺททีโป)

 

"หลวงปู่จันทร์ศรี จนฺททีโป" หรือ "พระอุดมญาณโมลี" เป็นพระมหาเถระสายกรรมฐานศิษย์หลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต แม่ทัพธรรมแห่งอีสานฝ่ายวิปัสสนาธุระ, เป็นพระผู้มากด้วยเมตตาที่ได้รับความเลื่อมใส ศรัทธา และเป็นแบบอย่างอันงดงามของพระภิกษุสงฆ์ สามเณรและประชาชนชาวอีสานมาอย่างยาวนาน ด้วยยึดหลักธรรมแห่งองค์สัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นที่ตั้ง มีพลังเกื้อหนุนจากธรรมะของครูบาอาจารย์ที่คอยสนับสนุนตลอดมา ปฏิปทาอันงดงามของหลวงปู่จึงเป็นครูของชีวิต ที่คณะศิษยานุศิษย์ภาคภูมิใจยิ่ง
หลวงปู่จันทร์ศรี มีนามเดิมว่า จันทร์ศรี แสนมงคล เกิดเมื่อวันที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2454 ตรงกับวันอังคาร แรม 3 ค่ำ เดือน 11 ปีกุน ณ บ้านโนนทัน ต.โนนทัน อ.เมือง จ.ขอนแก่น โยมบิดา – โยมมารดา ชื่อ นายบุญสารและนางหลุน แสนมงคล ก่อนที่โยมมารดาจะตั้งครรภ์ในคืนวันขึ้น 14 ค่ำ เดือน 3 นั้น ฝันเห็นพระ 9 รูป มายืนอยู่ที่ประตูหน้าบ้าน พอรุ่งขึ้นตรงวันขึ้น 15 ค่ำ เพ็ญเดือน 3 ซึ่งเป็นวันมาฆบูชาได้เห็นพระกัมมัฏฐาน 9 รูป มาบิณฑบาตยืนอยู่หน้าบ้าน จึงเกิดความเลื่อมใสศรัทธา จึงรีบจัดภัตตาหารใส่ภาชนะ ไปนั่งคุกเข่าประนมมือตรงหน้าพระเถระผู้เป็นหัวหน้า ยกมือไหว้แล้วใส่บาตรจนครบทั้ง 9 รูป แล้วนั่งพับเพียบประนมมือกล่าวขอพรว่า "ดิฉันปรารถนาอยากได้ลูกชายสัก 1 คน จะให้บวชเหมือนพระคุณเจ้าเจ้าคะ"
พระเถระก็กล่าวอนุโมทนา หลังจากนั้นอีก 1 เดือน ก็ได้ตั้งครรภ์และต่อมาก็คลอดบุตรชายรูปงามในวันที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2454 ปัจจุบัน หลวงปู่จันทร์ศรี สิริอายุย่าง 98 ปี พรรษา 77 (เมื่อปี พ.ศ. 2552) ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดโพธิสมภรณ์ ต.หมากแข้ง อ.เมือง จ.อุดรธานี ที่ปรึกษาเจ้าคณะภาค 9 (ธรรมยุต) และที่ปรึกษามหาเถรสมาคม (มส.)

การบรรพชาและอุปสมบท
ด.ช.จันทร์ศรี มีแววบวชเรียนตั้งแต่เมื่อครั้งเยาว์วัย ด้วยโยมบิดา – โยมมารดา ได้พาไปใส่บาตรพระทุกวันจนเกิดความเลื่อมใสศรัทธาในบวรพระพุทธศาสนา ในบางครั้ง ด.ช. จันทร์ศรี จะนำเด็กรุ่นราวคราวเดียวกันทั้งชายและหญิง 7 – 8 คน ออกไปเล่นหน้าบ้าน โดยตนเองจะเล่นรับบทเป็นพระภิกษุเป็นประจำ
อายุได้ 8 ขวบ โยมบิดาเสียชีวิตลง จนอายุได้ 10 ปี โยมมารดาจึงนำไปฝากไว้กับเจ้าอธิการเป๊ะ ธมฺมเมตฺติโก เจ้าอาวาสวัดโพธิ์ศรี เจ้าคณะตำบลโนนทัน 

และเป็นครูสอนนักเรียนโรงเรียนประชาบาล โดยรับไว้เป็นลูกศิษย์ใกล้ชิด อยู่รับใช้ได้เพียง 1 เดือน เจ้าอธิการเป๊ะ นำเด็กชายเข้าเรียนภาษาไทย ตั้งแต่ชั้นประถม ก.กา จนจบชั้นประถมบริบูรณ์ เจ้าอธิการเป๊ะเห็นว่ามีความสนใจในทางสมณเพศ จึงได้ให้เข้าพิธีบรรพชาเป็นสามเณร เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2468 ณ วัดโพธิ์ศรี บ้านศิลา ต.ศิลา อ.เมือง จ.ขอนแก่น ระหว่างปี พ.ศ. 2468-2470 สามเณรจันทร์ศรี หมั่นท่องทำวัตรเช้า ทำวัตรค่ำ สวดมนต์เจ็ดตำนานสิบสองตำนาน และพระสูตรต่าง ๆ จนชำนาญ อีกทั้งได้ศึกษาอักษรธรรม อักษรขอม อักษรเขมร จนอ่านออกเขียนได้คล่องแคล่ว แล้วมาฝึกหัดเทศน์มหาชาติชาดกทำนองภาษาพื้นเมืองของภาคอีสาน แล้วอยู่ปฏิบัติธรรมถึง 3 ปี จากนั้นได้ร่วมเดินทางกับพระอาจารย์อ่อน ญาณสิริ และพระอาจารย์ลี สิรินฺธโร ออกไปแสวงหา
ความวิเวกตามป่าเขา และพักตามป่าช้าในหมู่บ้านต่าง ๆ เพื่อเข้ากรรมฐานและศึกษาอสุภสัญญา ปฏิบัติธุดงควัตร 13 ตามแบบบูรพาจารย์อย่างเคร่งครัด
ครั้นต่อมาได้ขึ้นไปแสวงหาวิโมกข์ธรรมบนภูเก้า อ.โนนสัง จ.หนองบัวลำภู เลยขึ้นไปที่ถ้ำผ่าปู่ จ.เลย วัดป่าอรัญญิกาวาส อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี พักที่วัดหินหมากเป้ง และได้เดินทางข้ามแม่น้ำโขงไปนครเวียงจันทน์ พักที่โบสถ์วัดจันทร์ 7 วัน แล้วกลับมาหนองคายแล้วเข้าอุดรธานี
ครั้นเมื่ออายุครบ 20 บริบูรณ์ ได้เข้าพิธีอุปสมบทเป็นพระภิกษุ ณ พัทธสีมาวัดศรีจันทร์ ต.ในเมือง อ.เมือง จ.ขอนแก่น เมื่อวันที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2474 โดยมีพระเทพสิทธาจารย์(จันทร์ เขมิโย) เมื่อครั้งดำรงสมณศักดิ์ที่พระครูพิศาลอรัญญเขตต์ เจ้าคณะจังหวัดขอนแก่น เป็นพระอุปัชฌาย์, พระอาจารย์สิงห์ ขนฺตยาคโม เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระมหาปิ่น ปญญาพโล เป็นพระอนุสาวนาจารย์ มีพระอาจารย์กรรมฐาน จำนวน 25 รูป นั่งเป็นพระอันดับ ได้รับฉายาว่า "จนฺททีโป" อันมีความหมายเป็นมงคลว่า "ผู้มีแสงสว่างเจิดจ้าดั่งจันทร์เพ็ญ"
อุปสมบทได้เพียง 7 วัน ท่านก็ได้ติดตามหลวงปู่เทสก์ เทสรังสี พระกรรมฐานผู้เคร่งวัตรปฏิบัติแห่งวัดหินหมากเป้ง ต.พระพุทธบาท อ.ศรีเชียงใหม่ จ.หนองคาย และพระอาจารย์อ่อน ญาณสิริ ศิษย์สายกรรมฐานหลวงปู่มั่น เจ้าสำนักวัดป่านิโครธาราม ต.หมากหญ้า
อ.หนองวัวซอ จ.อุดรธานี เดินรุกขมูล คือ อยู่โคนต้นไม้เป็นวัตร ซึ่งเป็นหนึ่งในธุดงควัตร 13 ตั้งแต่เดือนมกราคมไปจนกระทั่งถึงเดือนมีนาคม พ.ศ. 2475 ก่อนกราบลาหลงปู่เทสก์ เพื่อขอไปศึกษาทางด้านพระปริยัติธรรมต่อในกรุงเทพฯ

 

การศึกษาพระปริยัติธรรมและงานด้านการศึกษา
พ.ศ. 2474 สอบได้นักธรรมชั้นตรีได้ในสนามหลวง คณะจังหวัดขอนแก่น
พ.ศ. 2475 สอบนักธรรมชั้นโทได้ในสนามหลวง คณะจังหวัดขอนแก่น
พ.ศ. 2477 สอบนักธรรมชั้นเอกได้ในสนามหลวง สำนักเรียนวัดบวรนิเวศวิหาร กรุงเทพฯ
พ.ศ. 2480 สอบเปรียญธรรม 3 ประโยค สำนักเรียนวัดบวรนิเวศวิหาร กรุงเทพฯ
พ.ศ. 2484 เจ้าประคุณสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ (ม.ร.ว.ชื่น นภวงศ์ สุจิตฺโต) ทรงมีบัญชาให้ไปเป็นครูสอนพระปริยัติธรรม แผนกธรรมและบาลี ณ สำนักเรียนวัดป่าสุทธาวาส ต.พระธาตุเชิงชุม อ.เมือง จ.สกลนคร
ในช่วงต้นเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2484 หลวงปู่มั่น ภูริทัตตฺโต ได้ไปพำนักอยู่ที่วัดป่าสุทธาวาส เป็นเวลา 15 วัน ทำให้ปลวงปู่จันทร์ศรีได้มีโอกาสใกล้ชิดหลวงปู่มั่น ชั่วระยะเวลาหนึ่ง ถือเป็นกำไรแห่งชีวิตอันล้ำค่า
พ.ศ. 2485 สอบเปรียญธรรม 4 ประโยค สำนักเรียนวัดบวรนิเวศวิหาร กรุงเทพฯ
พ.ศ. 2485 ท่านได้กลับมาอยู่จำพรรษาที่วัดบวรนิเวศวิหาร เพื่อศึกษาเปรียญธรรม
5 ประโยค
พ.ศ. 2486 เจ้าประคุณสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ (ม.ร.ว.ชื่น นภวงศ์ สุจิตฺโต) ทรงมีบัญชาให้ไปเป็นครูสอนพระปริยัติธรรมแผนกธรรมและบาลี ป.ธ. 3-4 ณ สำนักเรียนวัดธรรมนิมิต ต.บางแก้ว อ.เมือง จ.สมุทรสงคราม เป็นเวลานานถึง 10 ปี

ตำแหน่งงานปกครองคณะสงฆ์ 
หลังจากจบเปรียญธรรม 4 ประโยคแล้ว ท่านได้ช่วยเหลืองานพระศาสนา โดยเมื่อปี พ.ศ. 2486 ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดธรรมนิมิต ต.บางแก้ว อ.เมือง จ.สมุทรสงคราม
ต่อมาวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2497 เจ้าประคุณสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ (ม.ร.ว.ชื่น นภวงศ์ สุจิตฺโต) ก็ทรงมีพระบัญชาให้มาอยู่ที่วัดโพธิสมภรณ์ ต.หมากแข้ง อ.เมือง จ.อุดรธานี เพื่อทำศาสนกิจคณะสงฆ์ เนื่องจากพระธรรมเจดีย์ (จูม พนฺธุโล) มีอายุเข้าปูนชรา โดยแต่งตั้งให้เป็นรองเจ้าอาวาสวัดโพธิสมภรณ์ และในปีเดียวกันก็ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้ช่วยเจ้าคณะจังหวัดอุดรธานี (ธรรมยุต) อีกตำแหน่งหนึ่ง
พ.ศ 2498 ได้รับแต่งตั้งให้เป็นพระอุปัชฌาย์ ประเภทวิสามัญและในปีเดียวกันก็ได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าคณะจังหวัด อุดรธานี (ธรรมยุต) อีกตำแหน่งหนึ่ง
พ.ศ. 2505 ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้รักษาการเจ้าอาวาสวัดโพธิสมภรณ์ วัดราษฎร์
พ.ศ. 2507 โปรดเกล้า ฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้วัดโพธิสมภรณ์ เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ และในปีเดียวกันท่านก็ได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าอาวาสวัดโพธิสมภรณ์ พระอารามหลวงชั้นตรี
พ.ศ. 2519 ได้รับแต่งตั้งให้เป็นรองเจ้าคณะภาค 9 (ธรรมยุต) และรักษาการเจ้าคณะจังหวัดอุดรธานี
พ.ศ. 2522 ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้รักษาการเจ้าคณะจังหวัดหนองคายและจังหวัดสกลนคร
พ.ศ. 2531 ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้รักษาการเจ้าคณะภาค 9 (ธรรมยุต) และเจ้าคณะภาค 9
(ธรรมยุต) รวมทั้งได้รับแต่งตั้งให้เป็นที่ปรึกษามหาเถรสมาคม (มส.)

 

ลำดับสมณศักดิ์ 
พ.ศ. 2475 เป็นพระครูสัญญาบัตรชั้นเอกที่ พระครูสิริสารสุธี
พ.ศ. 2498 เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญที่ พระสิริสารสุธี
พ.ศ. 2505 เป็นพระราชาคณะชั้นราชที่ พระราชเมธาจารย์
พ.ศ. 2517 เป็นพระราชคณะชั้นเทพที่ พระเทพเมธาจารย์
วันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2533 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นธรรมที่ พระธรรมบัณฑิต 
วันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2544 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะเจ้าคณะรองที่ พระอุดมญาณโมลี นับเป็นพระมหาเถระฝ่ายธรรมยุตรูปแรกที่อยู่ส่วนภูมิภาคภาคตะวันออกเฉียง เหนือ ที่ได้รับการสถาปนาเป็นพระราชาคณะชั้น "รองสมเด็จพระราชาคณะ"รวมทั้งได้รับแต่งตั้งเป็นที่ปรึกษาเจ้าคณะภาค 9 (ธรรมยุต)

งานด้านสาธารณสงเคราะห์
ท่านได้ให้ทุนการศึกษาแก่เด็กนักเรียนที่มีฐานะยากจนประพฤติดี เรียนดี ปีละ 40 ทุน ทุนละ 1,000 บาท ให้รางวัลแก่พระภิกษุ – สามเณรที่สามารถสอบไล่ได้บาลีชั้นประโยค 1-2 เปรียญธรรม 3 ประโยค เป็นประจำทุกปี รูปละ 500 บาท ส่วนครูรูปละ 1,000 บาท
นอกจากนี้ยังรับภาระหน้าที่สำคัญ ๆ ในคณะสงฆ์อีกมากมาย อาทิ เป็นกรรมการชำระพระไตรปิฏก (พระสูตร), เป็นพระอนุกรรมการคณะธรรมยุต, เป็นกรรมการตรวจธรรมสนามหลวง, เป็นพระธรรมทูตประจำจังหวัดอุดรธานี, เป็นประธานมูลนิธิวัดโพธิสมภรณ์, เป็นรองประธานกรรมการบริหารศูนย์บาลีศึกษาอีสาน (ธรรมยุต), เป็นผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาพุทธศาสนาวันอาทิตย์ วัดโพธิสมภรณ์

ปฏิปทาและข้อวัตร
แม้จะมีพรรษายุกาลมากถึง 98 ปี ก็ตาม แต่ยังคงปฏิบัติกิจของสงฆ์และปฏิบัติธรรมอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งท่านยึดเป็นหลักในการปฏิบัติเสมอที่ว่า
"กยิรา เจ กยิราเถนํ" แปลว่า " ถ้าจะทำการใด ให้ทำการนั้นจริง ๆ ทุกสิ่งทุกอย่างถ้ามีความขยันหมั่นเพียร สิ่งนั้นต้องสำเร็จตามความตั้งใจจริง"
นับว่าท่านเป็นพระสงฆ์ที่ประชาชนชาวอุดรธานีและใกล้เคียงให้ความเคารพ ศรัทธามากมายไม่น้อยกว่าบูรพาจารย์กรรมฐานแต่เก่าก่อนทุกวันนี้หลวงปู่ จันทร์ศรีท่านยังมีความจำเป็นเลิศแม้อายุย่างเข้าวัยชรา แต่ยังจำเหตุการณ์ต่าง ๆ ในอดีตได้อย่างแม่นยำ โดยเฉพาะเมื่อเล่าเรื่องต่าง ๆ ให้ฟัง หลวงปู่จะบอกชื่อคน วันเวลา ได้อย่างละเอียดเป็นที่น่าอัศจรรย์ สิ่งสำคัญในชีวิตหลวงปู่ คือ การมีโอกาสได้ปฏิบัติใกล้ชิดกับพระเถระผู้ใหญ่ อาทิ เจ้าประคุณสมเด็จพระสังฆราชเจ้ากรมหลวงวชิรญาณวงศ์ (ม.ร.ว.ชื่น นภวงศ์ สุจิตฺโต) วัดบวรนิเวศวิหาร, สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (อ้วน ติสฺโส) วัดพระศรีมหาธาตุ, หลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต, หลวงปู่สิงห์ ขนฺตยาคโม และหลวงปู่มหาปิ่น ปญญาพโล เป็นต้น
ดังนั้น หลวงปู่จึงมีความรอบรู้ขนบธรรมเนียมประเพณี ทั้งในเมือง ในราชสำนัก และสำนักพระกัมมัฏฐาน และธรรมเนียมชาวบ้านเป็นอย่างดี หลวงปู่จันทร์ศรีเป็นหลวงปู่ใจดีของลูกหลานญาติโยมโดยไม่เลือกชั้นวรรณะ ไม่ยึดติดลาภสักการะ และไม่ยึดติดในบริวารชีวิตของหลวงปู่สมถะเรียบง่าย เป็นอยู่อย่างสามัญ แม้ท่านจะได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบการปกครองคณะสงฆ์ แต่หลวงปู่ก็ไม่ทิ้งการปฏิบัติกัมมัฏฐาน
เมื่อมีเวลาว่าง หลวงปู่จะไปพักผ่อนเยี่ยมเยียนวัดวาอารามต่าง ๆ แม้อยู่ลึกในหุบเขา เพื่อให้กำลังใจพระกัมมัฏฐาน พระเล็กเณรน้อยอย่างไม่ลดละ ความสุขของหลวงปู่จึงอยู่ที่การได้ทำนุบำรุงบวรพระพุทธศาสนา เยี่ยมเยียนพระสงฆ์สามเณร ให้กำลังใจสอนธรรมะแก่คณะศรัทธา ประชาชน ให้รู้จักดีชั่ว บาปบุญคุณโทษ ปฏิปทาของหลวงปู่จันทร์ศรี จึงเป็นดั่งดวงประทีป ดวงชีวิต เป็นหลักชัยและหลักใจของลูกหลานชาวเมืองอุดรธานี และผองชาวพุทธตลอดไป ตราบนานเท่านาน

กลับสู่หน้าหลัก