I.ลักษณะพื้นฐานทั่วไป : ช่องปากมนุษย์มีขอบเขตดังนี้ " ด้านหน้าสุดคือริมฝีปากบนและล่าง ด้านข้างซ้ายและขวาคือแก้มด้านใน ด้านล่างคือพื้นช่องปากที่มีลิ้นวางอยู่ ด้านบนคือ เพดานปากส่วนที่เป็นเพดานแข็ง ด้านหลังสุดของช่องปากคือ คอหอยส่วนปาก ( คอหอยมี  2 ส่วนคือ คอหอยส่วนจมูก คอหอยส่วนปาก ) บางคนแบ่งเฉพาะลงไปอีกว่า ส่วนที่ช่องปากจริงคือส่วนที่ถูกล้อมรอบด้วยฟันบนและฟันล่าง อันมีลิ้นวางอาศัยอยู่ "

ช่องปากของมนุษย์ มีโครงสร้างกระดูกล้อมรอบและรองรับอยู่  โครงสร้างกระดูกดังกล่าวคือ กระดูกขากรรไกรล่าง และกระดูกขากรรไกรบน  กระดูกขากรรไกรทั้งสองยังมีความสัมพันธ์เกี่ยวเนื่องอย่างใกล้ชิดซึ่งกันและกัน ดุจพี่น้องฝาแฝดที่แยกจากกันไม่ได้  นอกจากนั้นกระดูกขากรรไกรบนและล่างยังเป็นส่วนที่สำคัญของโครงสร้างใบหน้า และกะโหลกศีรษะ ( ดูรูปที่ 1  )   

รูปที่ 1

จึงเป็นที่น่าสังเกตว่า เมื่อมีโรคหรือความผิดปกติ หรือการบาดเจ็บเกิดขึ้นที่กระดูกขากรรไกรหรือช่องปาก จะมีผลไปยังโครงสร้างกระดูกใบหน้าหรือกะโหลกศีรษะด้วย  กระดูกขากรรไกรล่างมีข้อต่อขากรรไกรคู่ ซึ่งแตกต่างไปจากกระดูกชิ้นอื่นๆของร่างกาย ที่เป็นข้อต่อเดี่ยว (ดูรูปที่ 2)  รูปที่ 2  

ข้อต่อขากรรไกรล่างจะอยู่หน้าหู ใต้ต่อกระดูกฐานสมองตอนกลาง ( ดูรูปที่ 3) รูปที่ 3

ลองง่ายๆนะครับ คือ เมื่ออ้าปากดูแล้วเอามือแตะไปที่หน้าหูจะสัมผัสได้กับการขยับของกระดูกข้อต่อขากรรไกรดังกล่าว  ตัวกระดูกขากรรไกรล่างยึดเหนี่ยวสัมพันธ์กับกระดูกขากรรไกรบน คอ หรือกะโหลกศีรษะด้วยเส้นเอ็น กล้ามเนื้อ และตัวอวัยวะเช่น ลิ้น ( ดูรายละเอียดเพิ่มเติม เรื่องกระดูกขากรรไกรล่าง) กระดูกขากรรไกรล่างเป็นกรอบ หรือโครงที่สำคัญมากของช่องปาก ดังนั้นหากกระดูกขากรรไกรล่างผิดรูป เช่น เล็กหรือใหญ่เกิน ช่องปากจะผิดรูปตามไปด้วย หรือหากขากรรไกรล่างเกิดโรค ก็จะส่งผลทั้งต่อรูปร่างและหน้าที่ของช่องปากทันทีเช่นกัน

กระดูกขากรรไกรบน แตกต่างไปจากกระดูกขากรรไกรล่างหลายประการ โดยโครงสร้างเอง กระดูกขากรรไกรบน ยึดแน่นกับกระดูกใบหน้าชิ้นอื่น โดยไม่ผ่านข้อต่อเช่นขากรรไกรล่าง จึงเป็นเหมือนชิ้นเดียวกับกระดูกใบหน้า ตำแหน่งและรูปร่างของกระดูกขากรรไกรบนแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับนัยน์ตา จมูก ปาก โหนกแก้มและคอหอย ในภาวะที่ปกติ การทำหน้าที่ของฟัน เช่น การเคี้ยวอาหาร จะเกิดแรงเคี้ยวอาหาร ส่งผลกระทบต่อขากรรไกรบนและต่อเนื่องไปยังกระดูกใบหน้า จนแรงเคี้ยวอาหารสลายไปที่กะโหลกศีรษะ  ในภาวะเช่นการเคี้ยวอาหารหรือการทำหน้าที่อื่นๆของระบบช่องปากขากรรไกร นี้ จะมีอวัยวะหลายชนิดต่างระบบกันเข้ามาช่วยกันทำหน้าที่ เช่น สมองส่วนกลาง สั่งงานกล้ามเนื้อบดเคี้ยวที่มีอยู่ 8 มัด และกล้ามเนื้อช่วยเหลือระบบบดเคี้ยวอีกหลายมัด ให้ทำหน้าที่ดึงรั้งเยื้องกรายยืดหด อันมีผลทำให้ข้อต่อขากรรไกรเคลื่อนไหว ขากรรไกรล่างเคลื่อนไหว พร้อมกับลิ้น ริมฝีปาก แก้ม กล้ามเนื้อใบหน้าก็ทำหน้าที่สอดคล้องต้องกันไปด้วย ต่อมน้ำลายถูกกระตุ้นให้หลั่งน้ำลายออกมาคลุกเคล้าอาหาร ก่อให้เกิดผลต่างๆ เช่น เคี้ยวอาหาร ลิ้นรับรส ทำการกลืน สีหน้าแสดงความอร่อยและพอใจ เป็นต้น

ทั้ง 2 ขากรรไกร มีอวัยวะอยู่ระบบหนึ่ง ที่มีผลต่อการดำเนินชีวิตของมนุษย์อย่างสำคัญ คือ " ฟัน "

ดูตามรูปที่ 1 2 หรือ 3 จะมองเห็นฟันประมาณ 28-32 ซี่ เสียบฝังอยู่ในกระดูกเบ้าฟัน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกระดูกขากรรไกรทั้งบนและล่าง ฟันและระบบหน้าที่ของฟันได้ถูกแจกแจงออกมาชัดเจนมากในยุคปัจจุบัน ว่าซี่ใดอยู่ตรงไหน เพื่อทำหน้าที่แบบใด หากผิดที่ผิดทางไปจะเกิดอะไรขึ้นได้บ้าง ( ดูรายละเอียดเรื่องฟัน ) 

จากชิ้นส่วนของอวัยวะที่ลึกที่สุดคือกระดูก ออกมาจะเป็นเนื้อเยื่ออ่อนแบบต่างๆ เช่น กระดูกจะถูกคลุมด้วยเยื่อหุ้มกระดุก ถัดออกมาเป็นส่วนของเหงือก กล้ามเนื้อ เนื้อเยื่อใต้เยื่อบุช่องปาก และก็มาถึงเยื่อบุช่องปากซึ่งอยู่ชั้นนอกสุด อวัยวะอื่นๆ เช่น ต่อมน้ำลาย เส้นเลือดเส้นประสาท ต่อมรับรส เป็นต้น ต่างก็ฝังตัวอยู่ในเนื้อเยื่อดังกล่าว ณ ตำแหน่งที่ตนเองจะทำหน้าที่ได้ดี เช่น ต่อมน้ำลายหน้าหู จะวางหน้าหู ทอดส่วนท่อปล่อยน้ำลายเข้าปาก ที่ข้างแก้มเพื่อคลุกเคล้าอาหาร ต่อมน้ำลายใต้คาง จะทอดท่อไปโผล่ที่พื้นช่องปากส่วนหน้า เพื่อฉีดน้ำลายหล่อเลี้ยงช่องปาก อย่างสม่ำเสมอ เป็นต้น ( ดูรายละเอียดเรื่องต่อมน้ำลาย )

กล่าวโดยสรุปแล้วจะเห็นได้ว่า ช่องปาก เป็นอวัยวะที่มหัศจรรย์ ประกอบด้วยอวัยวะมากมายมารวมกันเพื่อทำหน้าที่วิเศษพิศดาร เป็นประตูใหญ่หรือประตูหน้าที่เปิดเข้าสูร่างกายที่เป็นระบบทางเดินอาหารและระบบทางเดินหายใจ หน้าที่หลักของช่องปาก คือ บดเคี้ยว กิน กลืน พูด ออกเสียง และเป็นเสมือนประตูหลัก ประตูแรก ในการเปิดเข้าสู่ร่างกาย จึงทำหน้าที่เหมือนด่าน ที่คอยตรวจสอบ คัดกรอง ป้องกัน สิ่งแปลกปลอมต่างๆในชั้นแรก ก่อนที่จะเข้าสู่ร่างกาย

 อวัยวะในช่องปาก ที่ทำหน้าที่ของระบบบดเคี้ยวกลืนอาหารและย่อยอาหารเบื้องต้น คือ กระดูกขากรรไกร เหงือก ฟัน ลิ้น ริมฝีปาก เพดานปาก แก้ม และต่อมน้ำลาย อวัยวะช่องปากที่ทำหน้าที่ด้านการพูดคือ ริมฝีปาก แก้ม ลิ้น เพดานปากและลิ้นไก ่ หน้าที่อื่นๆของช่องปาก คือ ช่วยในการหายใจ ปรับสภาพทางเดินอาหารส่วนต้น ตรวจคัดกรองอาหารหรือสิ่งแปลกปลอมในเบื้องต้น และที่สำคัญไม่ใช่น้อย คือ ทำหน้าที่ทางสังคมให้กับมนุษย์จำนวนมาก

II.กระดูกขากรรไกรล่าง และ กระดูกขากรรไกรบน

กระดูกขากรรไกรล่าง : [ Mandible ]

กระดูกขากรรไกรล่าง มีรูปร่างที่อาจแบ่งได้เป็นสองส่วน คือ ส่วนลำตัว [ Body ] และส่วนทอดขึ้น [ Ramus ] ส่วนลำตัวของขากรรไกรล่างจะเหมือนเกือกม้าทอดโค้งจากด้านซ้ายไปด้านขวา คางของคนเรา ที่อยู่ใต้ต่อริมฝีปากล่างนั้นโค้งมนแหลมยื่นอย่างไรก็ขึ้นกับรูปร่างส่วนโค้งของลำตัวขากรรไกรล่างรูปเกือกม้านี้  ในส่วนลำตัว จะมีฟันล่างเป็นองค์ประกอบที่สำคัญอยู่ด้วย ขากรรไกรล่างส่วนทอดขึ้น ฝรั่งเรียกว่าส่วน Ramusที่มีส่วนต่อสองข้างทำมุมป้านกับลำตัวรูปเกือกม้า จะเริ่มจากมุมคางทั้งสองข้างทอดขึ้นไปจรดกับฐานกะโหลกศีรษะ โดยมีส่วนประกอบที่สำคัญคือ ข้อต่อขากรรไกรล่างทั้งสองข้าง ( ดูรูป ) เมื่อมีการอ้าปาก หุบปาก ยื่นคาง พูด เคี้ยว กลืน ข้อต่อขากรรไกรจะเคลื่อนไหวตามบทบาทนั้นๆ ทั้งสองข้าง พร้อมกับการทำหน้าที่ของเอ็นยึดข้อต่อและกระดูก กล้ามเนื้อหลายมัดของขากรรไกรล่าง รวมทั้ง

 กล้ามเนื้อคอที่ยึดตรึงกับกระดูกขากรรไกรล่างด้วย อวัยวะสำคัญของช่องปากที่ยึดโยงกับกระดูกขากรรไกรล่าง หรืออีกนัยหนึ่งต้องพึ่งพาขากรรไกรล่างโดยเด็ดขาดคือ "ลิ้น" หากลิ้นไม่มีขากรรไกรล่างก็ยากที่จะอยู่ได้หรือทำหน้าที่ได้ เช่นเดียวกับช่องปากที่ไม่มีขากรรไกรล่างเป็นโครงให้ ก็ยากที่จะเป็นช่องปากหรือยากที่จะเป็นช่องปากที่ดีได้  

กระดูกขากรรไกรล่างมีเส้นเลือดเส้นประสาทมัดใหญ่มาหล่อเลี้ยง เป็นเส้นประสาทสมองคู่ที่ 5  โดยทอดจากฐานกะโหลกศีรษะทั้งซ้ายและขวา ทอดเข้าสู่กระดูกขากรรไกรล่างทางด้านซ้ายและขวาและจะหล่อเลี้ยงฟันล่างและให้ความรู้สึกแก่ริมฝีปากล่างด้านเดียวกันไปด้วย เส้นเลือดเส้นประสาทที่เลี้ยงขากรรไกรล่าง จะแตกต่างไปจากที่เลี้ยงขากรรไกรบน ดังนั้นผลจากการฉีดยาชา ที่ขากรรไกรบนและล่างก็จะให้ผลที่แตกต่างกันไปได้บ้าง ส่วนประกอบของกระดูกขากรรไกรล่าง ที่เป็นของแข็งหรือกระดูก และโผล่พ้นเนื้อเยื่อเข้าไปในปาก คือ ฟันล่าง ( ดูรายละเอียดเรื่องฟัน ) แรงบดเคี้ยวที่เกิดกับฟันล่าง จะถูกถ่ายทอดไปสู่กระดูกเบ้าฟัน และถ่ายทอดต่อไปที่ส่วนลำตัวของขากรรไกรล่าง จนไปสลายแรงที่ข้อต่อขากรรไกรทั้งสองข้าง

กระดูกขากรรไกรล่างยึดโยงกับโครงสร้างใบหน้าและกระดูกกะโหลกศีรษะด้วยกล้ามเนื้อหลักซึ่งเป็นกล้ามเนื้อบดเคี้ยว  8 มัด และยังมีกล้ามเนื้อพิเศษ ที่ใช้แสดงอารมณ์ความรู้สึกของใบหน้าอีกหลายมัดมายึดโยงอยู่ ในส่วนลำตัวและขอบล่างของกระดูกขากรรไกรล่าง มีกล้ามเนื้อลิ้นและกล้ามเนื้อของลำคอส่วนบนยึดโยงไว้ ทำให้เกิดพื้นช่องปาก คาง และลำคอส่วนบน

กระดูกขากรรไกรบน : [ Maxilla ] (ดูรูปที่ 4)

รูปที่ 4 กรอบสีแดง แสดงแนวของกระดูกขากรรไกรบน

กระดูกขากรรไกรบน แตกต่างไปจากกระดูกขากรรไกรล่าง ทั้งในส่วนของรูปร่าง ความสัมพันธ์กับกะโหลกศีรษะใบหน้า และพัฒนาการของกระดูก ส่วนบนของกระดูกขากรรไกรบนกลายเป็นส่วนของพื้นกระบอกตา ส่วนใกล้กลางเป็นผนังของจมูก ด้านข้างต่อเนื่องไปกับกระดูกโหนกแก้ม และส่วนที่เป็นโครงสร้างของช่องปาก จะมีเพดานปากและส่วน กระดูกเบ้าฟัน อันมีฟันบน เป็นส่วนประกอบที่สำคัญ

โครงสร้างที่สำคัญอันหนึ่งของกระดูกขากรรไกรบน คือโพรงอากาศข้างจมูก [ sinus ] โพรงอากาศดังกล่าวนี้มีส่วนพื้นของโพรง ที่อาจต่อเนื่องไปกับปลายรากฟันกรามบนหลายซี่ และมีโอกาสเกิดหรือทำให้เกิดพยาธิสภาพหรือโรคจากฟันได้

จะเห็นได้ว่า ฟันบนและกระดูกขากรรไกรบน มีความสัมพันธ์ต่อเนื่องไปกับ โพรงอากาศข้างจมูก จมูก ตา แก้ม ดังนั้นหากฟันบนเกิดโรค อาจมีผลทำให้เกิดโรคต่ออวัยวะที่สัมพันธ์กันดังกล่าวได้

III.ฟันและเหงือก

 ฟัน [Teeth ]

รูปที่ 5 แสดงภาพตัดของฟัน เห็นโครงสร้างภายใน เส้นเลือดเส้นประสาทและเหงือก-เอ็นยึดรอบรากฟัน

ฟัน จัดเป็นเนื้อเยื่อแข็งประเภทกระดูก ชนิดเดียวของร่างกายที่โผล่พ้นจากเนื้อเยื่ออ่อนในสภาพปกติและมีหน้าที่ที่แน่นอนสำคัญ ฟันแต่ละซี่ไม่ว่าจะเป็นฟันน้ำนมหรือฟันแท้ก็ตาม จะมีโครงสร้างชัดเจน อันประกอบไปด้วย เคลือบฟันซึ่งอยู่ภายนอกสุด มีลักษณะแข็งมาก ยิ่งกว่าความแข็งของกระดูกใดๆในร่างกาย มีความหนาไม่มากนักประมาณ 1-2 มม. ถัดเข้ามาคือ เนื้อฟัน ที่มีโครงสร้างเป็นท่อของเหลวสามารถรับส่งความรู้สึกได้ และไม่แข็งเท่าเคลือบฟัน ส่วนในสุดของโครงสร้างฟันคือ โพรงประสาทและเส้นเลือด ที่เต็มไปด้วยเซลแบบต่างๆ  เส้นประสาท เส้นเลือด โพรงประสาทนี้ เป็นส่วนที่สะท้อนความมีชีวิตของฟันซี่นั้นๆ หล่อเลี้ยงให้ฟันซี่นั้นมีความรู้สึกร้อนเย็น รับสัมผัสการกระแทกกระทั้นต่างๆได้ดี( ดูรูปที่ 4  ) 

         รูปที่ 6 แสดงฟันล่าง มองเห็นด้านบดเคี้ยวของฟันหลังล่าง และมองเห็นด้านหลังของฟันหน้าล่าง ที่ว่างสีชมพูรูปเหมือนหมวกนั้นเป็นพื้นช่องปาก ซึ่งเป็นที่วางของลิ้น

ฟันทุกซี่จำต้องมีที่อยู่หรือบ้านหรือเบ้าฟัน ของตนเอง เบ้าฟันดังกล่าวจะอยู่ในกระดูกขากรรไกรบนและล่าง ส่วนที่เรียกว่า กระดูกเบ้าฟัน ส่วนของฟันที่อยู่ในกระดูกเบ้าฟันคือ รากฟัน ระหว่างผนังของกระดูกเบ้าฟันและผิวของรากฟันจะมีเอ็นยึดและเนื้อเยื่ออ่อนที่ต่อเนื่องไปกับเหงือกทำการยุดโยงไว้ ฟันจึงมีความแข็งแรงมาก ไม่รู้สึกว่าโยก  ( แปลว่าหากฟันโยก ย่อมแสดงถึง เอ็นยึดและกระดูกเบ้าฟันเสื่อมหรือถูกทำลายไป ) อีกนัยหนึ่งกล่าวได้ว่า รากฟันไม่ได้ติดกับกระดูกขากรรไกรโดยตรง เหมือนเวลาเราส่งเครื่องเสียงหรือเครื่องไฟฟ้าไปต่างจังหวัด ต้องมีโฟมรองรับอยู่ ตัวเอ็นยึดรากฟัน ก็คือ โฟม รองรับเครื่องเสียงนั่นเอง

ชนิดของฟัน

ในช่วงชีวิตของมนุษย์ มีฟัน 2 ชนิด ชนิดแรก จะเกิดและใช้งานในช่วงที่มนุษย์มีอายุ  6 เดือนถึง 12 ปี เรียกได้หลายแบบ แต่ที่นิยมเรียกกันคือฟันน้ำนม มีจำนวน 20 ซี่ ชนิดที่สอง จะเกิดและใช้งาน ตั้งแต่อายุได้ 6 ปี กระทั่งวาระสุดท้ายของฟันซี่นั้นๆหรือมนุษย์คนนั้น  จากนี้เราจะเห็นได้ว่า  มีช่วงหนึ่งของอายุมนุษย์ที่จะมีฟันน้ำนมและฟันแท้ปะปนกันอยู่ในปาก คือช่วงอายุ 6-12 ปี เรียกว่าระยะฟันผสม

รูปที่ 7 แสดงฟันบนและล่างจำนวน 32 ซี่

ประเภทและหน้าที่ของฟัน

เราอาจจัดแบ่งฟันแท้ของมนุษย์ ตามลักษณะรูปร่างและการใช้งานของฟันออกเป็น 1.ฟันหน้า 6 ซี่  2.ฟันหลังข้างละ 4-5 ซี่ โดยมีฟันเขี้ยวแต่ละข้าง เป็นจุดแบ่ง  รวมเป็นฟันล่าง 14-16 ซี่ เท่ากับฟันบน 14-16 ซี่ รวมเป็น 28-32 ซี่

    ฟันหน้ายังแบ่งออกได้เป็น 3 แบบคือ ฟันตัดใหญ่ ที่อยู่กึ่งกลางคู่กัน 2 ซี่ ฟันตัดเล็กซ้ายและขวา ข้างละ 1 ซี่ และฟันเขี้ยวซ้ายขวา ข้างละ 1 ซี่ รวมเป็น 6 ซี่

    ฟันหลัง แต่ละข้าง แบ่งได้ 4-5 ซี่ คือ ฟันกรามเล็ก 2 ซี่ ฟันกรามใหญ่อีก 2-3 ซี่ ( เพราะบางคนไม่มีฟันกรามใหญ่ซี่ที่สามแล้ว คือหายไปตั้งแต่เกิดเลย ) 

    ฟันตัดหน้า มีหน้าที่กัดตัดตามชื่อ ฟันเขี้ยวมีหน้าที่หนักไปทางฉีกดึง ส่วนฟันกรามใหญ่หรือเล็กมีหน้าที่บดเคี้ยวให้ละเอียด เราจะเห็นได้ว่า การบดเคี้ยวให้ละเอียดเป็นกระบวนการก่อนการกลืน คือเตรียมอาหารให้ละเอียดเหมาะสมสำหรับการย่อยในกระเพาะอาหาร ดังนั้นฟันหน้าจึงไม่ได้ใช้สำหรับการบดเคี้ยวให้ละเอียด ได้แตกกัดตัดหรือฉีกดึง เพื่อให้ฟันหลังได้ทำการบดเคี้ยวให้ละเอียดต่อไป เมื่อมนุษย์สูญเสียฟันหลังไป หลายคนจึงจำเป็นต้องใช้ฟันหน้าในการทำหน้าที่บดเคี้ยวแทน ทำให้ฟันหน้าสึกกร่อนเร็วและสูญเสียสภาพก่อนเวลาอันควร การทำฟันปลอมเพื่อทำหน้าที่บดเคี้ยวจึงจำเป็นสำหรับมนุษย์

เหงือก

    อวัยวะที่มนุษย์รู้จักคู่กันมากับฟัน คือ เหงือก คำว่าเหงือกในความนึกคิดของคนทั่วไปมักหมายถึงเนื้อเยื่อสีชมพูหรือแดงที่อยู่รอบๆฟันในปาก ในทางการแพทย์ เหงือกมีความหมายมากกว่านั้น เพราะหมายรวมไปถึงเอ็๋นยึดรากฟันและกระดูกเบ้าฟันด้วย

    เหงือกที่มีสุขภาพดี จะมีสีชมพู แน่น ไม่บวม ไม่มีเลือดออก เหงือกที่มีสีแดงหรือแดงจัด มีเลือดซึม มีกลิ่น บวมฉุ เป็นเหงือกที่มีการติดเชื้อหรือเรียกว่าเหงือกอักเสบ บริเวณขอบเหงือกจะไม่ติดแนบไปกับตัวฟัน จะมีร่องลึกประมาณ 2-3 มม.โดยรอบคอฟันเรียกกันว่าร่องเหงือก  ร่องเหงือกมีทั้งคุณและโทษต่อเหงือกและฟัน ส่วนที่เป็นโทษคือ เป็นที่หมักหมมของคราบจุลินทรีย์และเศษอาหารต่างๆ หากมีภาวะติดเชื้อขึ้นเชื้อโรคจะค่อยๆแทรกซึมทำลายร่องเหงือกให้ลึกมากขึ้นไปเรื่อยๆ จนทำลายกระดูกรอบๆรากฟันมากหรือน้อยก็ตามแต่ 

 

IV.ต่อมน้ำลายและลิ้น

ต่อมน้ำลาย     

ช่องปากปกติของมนุษย์ จะต้อง มีน้ำลายหล่อเลี้ยงและหล่อลื่นอยู่เสมอ มากบ้างน้อยบ้าง ตามเวลาและการทำงานในช่วงของวันหนึ่งๆ  น้ำลายที่หล่อเลี้ยงช่องปากมี 2 แบบใหญ่ๆคือ น้ำลายใสและน้ำลายข้นเหนียว ซึ่งต่างมีประโยชน์คนละแบบและเสริมประโยชน์ซึ่งกันและกัน

    มนุษย์มีต่อมน้ำลายใหญ่ทั้งหมด 6 ต่อม แบ่งเป็นต่อมน้ำลายใสหน้าหูซ้ายและขวา รูปทรงปิรามิด 2 ต่อม ต่อมน้ำลายข้นปนใส ใต้คางซ้ายและขวา  อีก 2 ต่อม และต่อมน้ำลายใต้ลิ้นซ้ายและขวาอีก 2 ต่อม นอกจากต่อมน้ำลายใหญ่ๆ เหล่านี้แล้ว มนุษย์ยังมีต่อมน้ำลายเล็กๆ อีกเป็นจำนวนร้อยๆต่อม กระจายไปทั่วช่องปาก เช่น ที่เพดาน ริมฝีปาก พื้นช่องปาก แก้ม

    องค์ประกอบของน้ำลายหรือคุณภาพของน้ำลายนั้น ก่อประโยชน์ต่อการรักษาเสถียรภาพช่องปากให้เซลและเชื้อโรค อยู่กันได้ดีไม่ก่อโรคแก่มนุษย์ ในน้ำลายมีสารของระบบภูมิคุ้มกันร่างกาย มีอนุมูลหลากหลายชนิด มีเอนไซม์ช่วยย่อยอาหารในปาก ก่อนส่งอาหารไปย่อยต่อที่กระเพาะอาหาร น้ำลายช่วยหล่อลื่นเยื่อบุผิวช่องปากให้ชุ่มชื้นอยู่เสมอ ทำให้เยื่อบุผิวมีชีวิตได้ตามปกติ และทำหน้าที่ของตนเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ น้ำลายช่วยทำให้การอ้าปากหุบปากทำได้ดี ช่วยทำให้เราพูด ส่งเสียงได้เป็นปกติ

    กล่าวโดยสรุปคือ น้ำลาย ก่อให้เกิดภาวะสมดุล หรือเกิดดุลยภาพระหว่างเซลมีชีวิตชนิดต่างๆในช่องปาก ให้ดำเนินชีวิตของตนเองไปได้อย่างเป็นปกติสุขโดยไม่ก่อโรคหรือมีพยาธิสภาพเกิดขึ้น (พยาธิสภาพ หมายความถึงภาวะที่ไม่เป็นปกติของเนื้อเยื่อร่างกาย มีโรค หรือเสื่อมสภาพหรือผิดรูป ผิดปกติไป )

รูปที่ 8 แสดงภาพตัดข้าง เห็นความสัมพันธ์และตำแหน่งระหว่างจมูก เพดานปาก ริมฝีปาก ลิ้นไก่ ลิ้น คาง คอ และคอหอย 

ลิ้น

      ลิ้น เป็นอวัยวะที่สำคัญและมีความหมายมากของมนุษย์ 

รูปที่ 9 แสดงลิ้นมองจากด้านบน เห็นปลายลิ้นอยู่ด้านซ้ายของผู้ดู โคนลิ้นอยู่ด้านขวา ลิ้นด้านนี้จะมีขนลิ้นกระจายทั่วไป และมีต่อมรับรสแทรกอยู่ตามตำแหน่งต่างๆ

    ในทางโครงสร้าง ลิ้นเป็นเสมือนถุงใส่กล้ามเนื้อ กล่าวคือลิ้นมีเยื่อบุลิ้นภายนอกโดยรอบ บรรจุกล้ามเนื้อหลายมัดที่เรียงรายเชิงซ้อนอย่างมีระเบียบแบบแผนเพื่อทำหน้าที่เปลี่ยนรูปร่างของลิ้นตามหน้าที่ที่กำลังทำอยู่ เช่น ห่อลิ้น งอลิ้น หดลิ้น แผ่ลิ้น กระดกลิ้น 

    ถุงกล้ามเนื้อลิ้นดังกล่าวนี้ จะมีกล้ามเนื้อยึดโยงภายนอกเข้ากับกระดูกขากรรไกรล่างและกระดูกไฮออยด์ที่อยู่ตรงรอยต่อของคอและคาง เพื่อตรึงลิ้นให้มีความมั่นคง ทั้งยังช่วยแลบลิ้นได้ยาวๆและหดลิ้นกลับคืน 

    ที่ผิวลิ้นด้านที่ติดกับช่องว่างในปาก มีขนลิ้นหลายแบบเรียงรายกันอยู่ ระหว่างขนลิ้นเหล่านี้ มีต่อมรับรสแทรกอยู่ด้วย ลิ้นรับรสหวาน ขม กลมกล่อม เปรี้ยว เค็ม ณ ตำแหน่งแห่งที่ไม่เหมือนกัน 

    สีลิ้น ขนลิ้นและการรับรส จะเหมือนกระจกเงาสะท้อนสุขภาพของร่างกาย เช่น ลิ้นซีดจาง ลิ้นเลี่ยน ลิ้นขม แสดงภาวะร่างกายที่เจ็บป่วยอย่างใดอย่างหนึ่งเสมอ หมอแผนโบราณ จะเข้าใจเรื่องนี้ได้ดีกว่าหมอแผนปัจจุบัน

    ลิ้นทำหน้าที่ช่วยพูด ช่วยกลืน ป้องกันอันตรายบางประเภทแก่ร่างกายและทำหน้าที่สำรวจตรวจสอบสิ่งต่างๆในปากได้ดี เพราะลิ้นมีประสาทรับความรู้สึกที่เร็วมากพอควร

V.ริมฝีปาก แก้ม พื้นช่องปาก เพดานปาก

    ช่องปาก มีริมฝีปากเป็นพนักงานต้อนรับของตนเอง ทำหน้าที่หลายประการตั้งแต่ เป็นหน้าตาของตน ทำหน้าที่ทางสังคมให้แก่ช่องปาก  คอยรูดเปิดปิดประตู ควบคุมสิ่งแวดล้อมในช่องปาก ไม่ให้น้ำลายรั่วออก คอยทำหน้าที่ในการกลืน การดูด การพูดจา รวมทั้งช่วยในการหนีบคาบ

  รูปที่ 10 กรอบสีแดง แสดงริมฝีปากบนและล่าง พร้อมกับกล้ามเนื้อแสดงความรู้สึกของใบหน้า

    ริมฝีปาก มีกล้ามเนื้อหูรูด รูปวงกลมรี แล้วแต่ว่าอยู่ในหน้าที่อะไร เช่น ยิ้มเหยียด ก็เป็นรูปรี ห่อปากก็เป็นรูปกลม เป็นต้น ในเด็กลายรายเมื่อแรกเกิดมา จะพบว่าริมฝีปากไม่ต่อเนื่อง หรือขาดออกจากัน เรียกว่า โรคปากแหว่ง

    แก้มเป็นส่วนที่ต่อเนื่องไปจากริมฝีปาก กล้ามเนื้อแก้มจะต่อเนื่องเชื่อมไปกับกล้ามเนื้อของริมฝีปาก ทำหน้าที่ช่วยกลืนดูด เป่าและแสดงความรู้สึกด้วย

    พื้นช่องปากที่เป็นเหมือนพื้นบ้านของลิ้นด้วย มีกล้ามเนื้อพื้นช่องปากห้อยโยงอยู่ เหมือนพื้นบ้านชั้นสองที่คนเราอยู่อาศัย ทำให้ลิ้นมีหลักในการเคลื่อนไหวได้ดีหากไม่มีพื้นช่องปาก ก็ย่อมมีลิ้นไม่ได้

    เพดานปาก เหมือนหลังคาของปาก มีทั้งเพดานอ่อนและเพดานแข็ง เพดานแข็งอยู่ส่วนหน้า เพดานอ่อนต่อเนื่องจากเพดานแข็งไปด้านหลัง สิ้นสุดที่ลิ้นไก่ ในเด็กที่มีความพิการบริเวณศีรษะและคอแต่กำเนิดบางราย เพดานแข็งและหรือเพดานอ่อน จะขาดออกจากกันหรือไม่ต่อกันนั่นเอง เรียกว่า โรคเพดานโหว่ ซึ่งมักเกิดร่วมกับโรคปากแหว่ง

 

กลับบ้านหน้าแรก / ประวัติคลินิก / รู้จักกับเรา / กายวิภาคช่องปาก / โรคช่องปากขากรรไกร / การรักษา / เครื่องมือดูแลสุขภาพช่องปาก / ท่านถามเราตอบ / สมัครสมาชิก / WEBSITE COMPUTER

 

Hosted by www.Geocities.ws

1