ฟันปลอมรากเทียม [ Implant Prosthesis ]

ฟันปลอมรากเทียม คือ อะไร

คือ ฟันปลอมชนิดหนึ่ง ที่สร้างขึ้นมาเพื่อเลียนแบบ ให้มีลักษณะและการทำหน้าที่ ที่ใกล้เคียงกับฟันธรรมชาติมากที่สุด

ดังนั้น คุณสมบัติที่สำคัญ 2 ประการของ ฟันปลอมรากเทียม คือ 1. การทำหน้าที่บดเคี้ยว การช่วยพูด และ 2.ความสวยงาม จึงทำให้ฟันปลอมรากเทียมจัดว่าเป็นทางเลือกที่สำคัญ ของทันตแพทย์และผู้ป่วย ที่ประสงค์จะใส่ฟันปลอม

องค์ประกอบของฟันปลอมรากเทียม

ฟันปลอมรากเทียม มีองค์ประกอบหลัก ดังนี้คือ

    1. ตัวรากเทียม [ Implant / Fixture ]
    2. ตัวแกนฟันปลอมหรือตัวต่อฟันปลอม [ Abutment ]
    3. น๊อตยึดแกนฟันปลอม [ Screw ]
    4. ตัวฟันปลอม

นอกจากนี้ ฟันปลอมรากเทียม ยังมีอุปกรณ์ประกอบในระหว่างการทำงาน เช่น ฝาปิดรากเทียม อุปกรณ์สร้างร่องเหงือก อุปกรณ์ในการพิมพ์ปากทำฟันปลอมรากเทียม อุปกรณ์เลียนแบบรากเทียมสำหรับห้องแลปฟันปลอม เป็นต้น

ตัวรากเทียม [ Implant / Fixture ]

ตัวรากเทียม คือ ส่วนที่จะถูกฝังเข้าไปในกระดูกขากรรไกร เพื่อทำหน้าที่เป็นรากของฟันปลอมและเลียนแบบให้ คล้ายๆ รากฟันธรรมชาติ

รากเทียมนี้ สร้างขึ้นจากโลหะไทเทเนียมผสม ที่มีผิวของรากเทียมหลายๆรูปแบบ เพื่อดึงดูดให้กระดูกเข้ามายึดแน่นมากที่สุด ยิ่งกระดูกเข้ามายึดรากเทียมได้มากเท่าไหร่ ผลสำเร็จของการฝังรากเทียมนั้นก็สูงขึ้น

รูปร่างของรากเทียม จะเลียนแบบคล้ายรากฟันธรรมชาติ ที่เป็นฟันรากเดี่ยว อาจทำเกลียวคล้ายๆกับน๊อตที่ช่างทั้งหลายใช้กัน หรือแบบไม่มีเกลียวก็ได้

ด้วยเหตุที่รากเทียม จำต้องมีกระดูกห่อหุ้มอยู่รอบๆ ปริมาณกระดูกมากเท่าไหร่ก็ยิ่งดี ทำให้เกิดข้อจำกัดในการฝังรากเทียม แก่ผู้ป่วยที่กระดูกบาง หรือไม่มีกระดูกเพียงพอ

หากผู้ป่วยที่มีปัญหาปริมาณกระดูก หรือ คุณภาพของกระดูก ต้องการทำฟันปลอมรากเทียมให้ได้ ทันตแพทย์ก็จำเป็นต้องเสริมเทคนิคการฝังรากเทียมมากขึ้น เช่น มีการปลูกกระดูกเพิ่มเติมเข้าไป หรือต้องเลือกใช้รากเทียมที่มีรูปร่างและคุณสมบัติที่เหมาะสมมากขึ้น

ตัวแกนฟันปลอม [ Abutment ]

เมื่อรากเทียมถูกฝังเข้าไปในกระดูกขากรรไกรแล้ว ต้องรอเวลาให้เซลกระดูกสร้างกระดูกใหม่มายึด สำหรับรากเทียม ในกระดูกขากรรไกรต้องรอเวลาหลังฝัง ประมาณอย่างน้อย 3 เดือน ส่วนรากเทียมในกระดูกขากรรไกรบน ต้องรอเวลาอย่างน้อย 4 เดือนขึ้นไป

จากนั้น จะมาถึงขั้นตอนการสร้างร่องเหงือก เพื่อเลียนแบบร่องเหงือกของฟันธรรมชาติ

และรออีกประมาณ 2 สัปดาห์ ทันตแพทย์ก็จะทำการพิมพ์ปาก เพื่อทำฟันปลอมสวมเข้ากับตัวรากเทียมในกระดูกขากรรไกรนั้น

ฟันปลอม ที่จะสวมเข้ากับรากเทียมนั้น จำต้องมีตัวต่อหรือแกนฟันปลอมสวมเข้ากับรากเทียมเสียก่อน แกนฟันปลอมนี้จะทำด้วยโลหะไทเทเนียม เช่นเดียวกับตัวรากเทียม มิเช่นนั้นจะเกิดปฏิกิริยายากันได้ระหว่างรากเทียมและโลหะอื่นๆ

แกนฟันปลอมจะทำการยึดเข้ากับ รากเทียมในกระดูก ด้วยน๊อตหรือสกรู [ screw ]

น๊อตยึดแกนฟันปลอม [ Screw ]

ทำหน้าที่ยึดแกนฟันปลอม เข้ากับรากเทียมในกระดูก ทำด้วยโลหะไทเทเนียมเช่นกัน

ฟันปลอม

เมื่อทำการยึดแกนฟันปลอมเข้ากับรากเทียมแล้ว ทันตแพทย์จะทำการสวมฟันปลอมที่ทำมาจากห้องแลป พร้อมๆกับแกนฟันปลอม

ดังนั้นฟันปลอมที่ทำมา จึงพอดีกับแกนฟันปลอมนั้นๆ เสมอ การยึดฟันปลอมเข้ากับแกนฟันปลอม อาจใช้ซีเมนต์ หรือที่เรียกง่ายๆว่า กาวฟันปลอม หรืออาจใช้น็อตยึดก็ได้ แล้วแต่ความเหมาะสมที่ทันตแพทย์และผู้ป่วย จะตกลงกัน

ขั้นตอนการทำฟันปลอมรากเทียม

    1. ทันตแพทย์และผู้ป่วยปรึกษาหารือกัน จากนั้นทำการตรวจร่างกาย ส่งถ่ายภาพรังสีของกระดูกขากรรไกรเพื่อตรวจสภาพของกระดูก ทำการประเมิน และสรุปว่าจะทำได้หรือไม่
    2. ทำการผ่าตัดฝังรากเทียม อาจทำการผ่าตัดด้วยการใช้ยาชา หรือ ด้วยการใช้ยาสลบ ตามความเหมาะสม
    3. รอเวลาประมาณ 3-4 เดือน เป็นอย่างน้อย ระหว่างการรอนี้ ทันตแพทย์นัดผู้ป่วยมาทำการตรวจและถ่ายภาพรังสีเป็นระยะ
    4. เมื่อเห็นว่า กระดูกยึดรากเทียมเรียบร้อยแล้ว ก็นัดผู้ป่วย มาทำการใส่อุปกรณ์สร้างร่องเหงือก
    5. หลังจากการทำร่องเหงือก อีก 2 สัปดาห์ ก็จะเป็นขั้นตอนการพิมพ์ปากเพื่อทำฟันปลอมยึดติดไปกับรากเทียมที่ฝังไปแล้ว
    6. ต่อไปคือขั้นตอนการใส่ฟันปลอมที่ทำเรียบร้อยจากห้องแลปฟันปลอม
    7. ขั้นที่ไม่ควรลืม คือ ขั้นตอนการติดตามดูการใช้งานฟันปลอมรากเทียม และดูอาการของเหงือกรอบๆรากเทียมนั้น

 

ข้อดีข้อเสียของฟันปลอมรากเทียม

ข้อดีของฟันปลอมรากเทียม

    1. ณ ตำแหน่งที่สูญเสียฟันธรรมชาติไปแล้ว ฟันปลอมรากเทียมเป็นฟันปลอมที่เลียนแบบธรรมชาติ มากที่สุดเท่าที่มีฟันปลอมอยู่ในขณะนี้
    2. มีความสวยงามเหมือนธรรมชาติ โดยเฉพาะฟันด้านหน้า
    3. มีความแข็งแรงกว่าฟันปลอมชนิดอื่นๆ
    4. ขั้นตอนการทำ ไม่ได้ยุ่งยาก

ข้อเสียของฟันปลอมรากเทียม

    1. ราคาสูงกว่าฟันปลอมทุกชนิดที่มีอยู่ขณะนี้
    2. ต้องทำการผ่าตัด ขณะที่ฟันปลอมอื่นๆ ไม่ต้องผ่าตัด ยกเว้นกายวิภาคของผู้ป่วยไม่เหมาะสมกับการใส่ฟันปลอม
    3. เป็นโรคเหงือกได้ แต่ไม่ผุ
    4. เนื่องจากราคาสูง และต้องการการดูแล ต้องการความเข้าใจระหว่างผู้ป่วยและทันตแพทย์เป็นอย่างดี การทำฟันปลอมรากเทียมจึงมีความอ่อนไหว จนอาจทำให้ทันตแพทย์และผู้ป่วยไม่เข้าใจกันได้ง่ายๆ

ข้อจำกัดของการทำฟันปลอมรากเทียม

    1. ผู้ป่วยที่ต้องการใส่ฟันปลอมรากเทียม ต้องมีกระดูกขากรรไกรที่ดีเพียงพอ
    2. กระดูกขากรรไกรที่ดีคือ มีปริมาณ และมีคุณภาพ เพียงพอ ที่จะเป็นที่อยู่ของรากเทียม
    3. ดังนั้นผู้ป่วย ที่มีโรคประจำตัวอันส่งผลให้กระดูกขากรรไกรตนเอง มีปริมาณหรือคุณภาพกระดูกที่ไม่ดีพอ อาจจะไม่สามารถทำฟันปลอมรากเทียมได้
    4. ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว อันอาจทำให้การผ่าตัดมีผลแทรกซ้อนได้ เช่น เป็นโรคเลือด โรคหัวใจหลอดเลือดที่ควบคุมไม่ได้ โรคไตระยะสุดท้าย ฯลฯ อาจไม่เหมาะต่อการทำฟันปลอมรากเทียม
    5. ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวหรือมีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะต่อการหายของแผลและกระดูก หรือไม่เหมาะต่อการยึดเกาะของกระดูก เช่น ภูมิคุ้มกันต่ำ เบาหวานที่ไม่ควบคุม ใช้ยาประจำที่มีผลดังกล่าว หรือ สูบบุหรี่จัด อาจไม่เหมาะต่อการทำฟันปลอมรากเทียม
    6. ผู้ป่วยที่มีเงินไม่พอ ย่อมไม่สามารถทำฟันปลอมรากเทียมได้

ราคาของฟันปลอมรากเทียมต่อ 1 ซี่

    1. ราคาในสถานบริการของรัฐ ที่อาศัยทันตแพทย์ที่กินเงินเดือนหลวงเป็นผู้ทำให้ อาจจะอยู่ในช่วง 30,000 บาทโดยเฉลี่ย
    2. ราคาในสถานบริการเอกชน ใน กทม. จะอยู่ในช่วง 6-80,000 บาทโดยเฉลี่ย
    3. ราคาในสถานบริการเอกชน ต่างจังหวัด จะอยู่ในช่วง 45,000 – 70,000 บาทโดยเฉลี่ย

กลับบ้านหน้าแรก / ประวัติคลินิก / รู้จักกับเรา / กายวิภาคช่องปาก / โรคช่องปากขากรรไกร / การรักษา / เครื่องมือดูแลสุขภาพช่องปาก / ท่านถามเราตอบ / สมัครสมาชิก / WEBSITE COMPUTER

Hosted by www.Geocities.ws

1