ถามว่าสถิติจะนำไปใช้ทำอะไร เมื่อใด และใช้อย่างไร

คำตอบก็คือ สถิติก็มีสถานะเป็นเพียงเครื่องมือในรูปแบบหนึ่ง ที่ใช้ในการเปลี่ยนข้อมูลดิบที่มีอยู่ไปสู่สาระสำคัญ เพื่อให้ผู้ที่มีหน้าที่หรืออำนาจในการตัดสินใจ ใช้ในการตัดสินใจเป็นอย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งก็ไม่จำเป็นว่าต้องตัดสินใจตามสาระนั้น เสมอไป

 

สถิติมีเครื่องมืออะไรให้ใช้บ้าง แล้วจะเลือกใช้อย่างไร

คำว่าเครื่องมือจริงๆแล้วหากเรียนทางสถิติ ก็จะมีทั้งกลุ่มที่เป็นเครื่องมือทางสถิติจริงๆ แล้วก็เครื่องมือสนับสนุน สามารถแบ่งกลุ่มได้หลายแนวทาง ผู้เขียนอาจจะคิดไม่เหมือนใคร  ผมมองว่าแนวทางหนึ่งที่น่าจะใช้ได้ดีในการจำแนก เป็นต้นว่า

  1. เครื่องมือที่ใช้ในการคัดกรองข้อมูล เนื่องจากสถิติจะเกี่ยวข้องกับข้อมูล แต่ก็ใช่ว่าทุกข้อมูลจะใช้ได้หมด จำเป็นต้องเป็นไปตามข้อกำหนด หรือมาตรฐานของแต่ละเครื่องมือที่มีอยู่ การคัดกรองข้อมูลก่อนทำการวิเคราะห์จึงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ตัวอย่างเช่น การทดสอบความเป็นการกระจายแบบปกติ Normallity  Test เป็นต้น ถือเป็นการคัดกรองข้อมูลที่จำเป็นอย่างยิ่ง
  2. เครื่องมือในการแสดงให้เห็นภาพ กราฟ จัดว่าเป็นตัวสนับสนุนให้นักวิเคราะห์ข้อมูล ได้มองเห็นภาพข้อมูลที่มีอยู่ได้ง่ายขึ้น บางครั้งเราก็เข้าใจว่ากราฟนั้นเป็นเครื่องมือทางสถิติไปด้วย แต่จริงๆไม่ใช่ แต่เราก็นำมาใช้จนเคยชินอย่างมาก เช่น Scatter plot ที่มักจะนำมาใช้ร่วมกับการวิเคราะห์ Regression หรืออย่าง กราฟ Histogram และ Box plot เป็นต้น
  3. เครื่องมือที่ใช้ทดสอบสมมติฐาน นักสถิติได้คิดค้นเครื่องมือทางสถิติขึ้นมาใช้มากมายหลายชนิด ซึ่งบางชนิดก็เป็นที่รู้จักในวงกว้าง เช่น T-Test , F-Test , ANOVA เป็นต้น แต่บางชนิดก็แทบจะไม่มีใครได้เคยใช้เหมือนกัน เครื่องมือเหล่านี้มีฐานะเป็นเครื่องมือทางสถิติจริงๆ มีหลักเกณฑ์การใช้ ข้อกำหนดที่ชัดเจน ที่จำเป็นต้องทำตามถึงจะได้ผลลัพธ์ที่ถูกต้อง
  4. เครื่องมือที่ใช้เพื่อยืนยันความถูกต้อง การวิเคราะห์ข้อมูลบางครั้งใช่จะจบตรงที่ได้ผลออกมาแล้ว แต่ยังต้องพิสูจน์ทราบต่อให้ได้ว่า ผลที่ได้ออกมานั้นจะยอมรับได้หรือไม่ เช่น การวิเคราะห์ Regression จะต้องวิเคราะห์ผ่าน ANOVA ต้องทำการตรวจสอบ Residual plot เป็นต้น โดยส่วนมากเครื่องมือทางสถิติในข้อ 3 ไม่สามารถบอกได้ว่า สิ่งที่ตอบมานั้นมีที่ไปที่มาน่าเชื่อถือได้แค่ไหน จำเป็นต้องใช้เครื่องมือในกลุ่มที่ 4 นี้บอกหรือยืนยัน หรือหักล้างก็ยังได้

แต่ในความเป็นจริงแล้ว มีเครื่องมือทางสถิติให้เลือกใช้มากมายเหลือคณานับ ทั้งที่คิดค้นมานานและเพิ่งจะเกิดขึ้นได้ไม่นาน แต่ความจริงอีกข้อ ก็คือคนใช้ก็มักจะเลือกในสิ่งที่ตัวเองไม่ถนัด หรือเลือกเพราะคิดว่าดูน่าเชื่อถือ เลือกเพราะมีคนบอกว่าต้องเลือกอย่างนั้นอย่างนี้ ที่ถูกคือต้องเลือกที่ใช้ง่าย ไม่ซับซ้อน สามารถตอบคำถามได้ และต้องตรงกับงานด้วย 

เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว เครื่องมือที่มีอยู่เป็นหลักร้อย ก็มีที่ต้องใช้จริงไม่กี่อย่าง จึงไม่ยากที่ผู้ที่สนใจด้านสถิติจะศึกษาทำความเข้าใจ เฉพาะเครื่องมือที่นิยมใช้กันเท่านั้น

 


[ HOME ]             [ CONTENTS ]   

Hosted by www.Geocities.ws

1