บทนำ

ในปี ค.ศ. 1920 ในประเทศสหรัฐอเมริกา ได้มีการนำหลักการ Design of Experiment ไปประยุกต์ใช้ในการศึกษาการเจริญเติบโตของพืชผักทางการเกษตรเมื่อมีการใช้สูตรผสมของปุ๋ยที่แตกต่างกัน นั่นถือเป็นครั้งแรกในการประยุกต์ใช้ Design of Experiment ซึ่งเป็นอีกแขนงหนึ่งของสถิติประยุกต์ ในครั้งนั้นผู้ทำการทดลองได้เรียกสูตรผสมของปุ๋ยที่แตกต่างกันในการทดลองว่า Treatment จึงเป็นที่มาของการเรียกการควบคุมตัวแปรในการทดลองที่แตกต่างกันว่า Treatment มาจนถึงทุกวันนี้

ในการประยุกต์ใช้หลักสถิติในการออกแบบวิธีทดลองหาผลกระทบของตัวแปรอิสระหลายๆตัวที่มีต่อตัวแปรตาม ได้เริ่มแพร่หลายมากขึ้นและเข้ามาสู่อุตสาหกรรมการผลิต และสาขาอื่นๆที่นอกเหนือจากการเกษตร ก่อนที่สหรัฐอเมริกาจะเข้าร่วมในสงครามโลกครั้งที่ 2 นั้น ประเทศในยุโรปที่เคยเป็นมหาอำนาจหลายๆประเทศ ซึ่งเป็นที่กำเนิดของทฤษฎีสถิติประยุกต์และได้มีการประยุกต์ใช้หลักสถิติในกระบวนการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมและการควบคุมคุณภาพของสินค้ามาก่อนหลายปี ได้เข้าสู่สภาวะถดถอยทางอุตสาหกรรม อันเป็นผลมาจากสงครามโลกครั้งที่ 1 ต่อเนื่องมาจนถึงสงครามโลกครั้งที่ 2 สหรัฐอเมริกา ซึ่งไม่ได้รับผลกระทบจากสงครามโลกครั้งที่ 1 ก็ก้าวเข้ามาเป็นประเทศผู้นำทางด้านอุตสาหกรรมแทนที่ จนเกิดสภาวะที่เรียกว่าผลิตอะไรออกมาก็ขายได้ ทำให้ความใส่ใจในการวิจัยและพัฒนาด้านสินค้าและคุณภาพในเชิงลึกไม่ได้รับความเอาใจใส่เท่าที่ควร 

สหรัฐอเมริกาเข้าร่วมในสงครามโลกครั้งที่ 2 หลังจากญี่ปุ่นได้โจมตีหมู่เกาะในมหาสมุทรแปซิฟิก ที่เป็นดินแดนของสหรัฐอเมริกา หลังจากเข้ายึดครองดินแดนอื่นๆในทั่วเอเชีย แปซิฟิกได้หมดแล้ว ในที่สุดสหรัฐอเมริกาก็มีชัยเหนือญี่ปุ่น และยังเข้าร่วมสงครามในดินแดนยุโรปด้วย ทำให้อิทธิพลของสหรัฐอเมริกา มากกว่าประเทศในยุโรปเป็นครั้งแรก 

ทางฝั่งเอเชียตะวันออกไกล ญี่ปุ่นถือว่าเป็นประเทศแรกๆที่ก้าวเข้าสู่การเป็นประเทศอุตสาหกรรม แต่ภายหลังที่ญี่ปุ่นพ่ายแพ้สงครามโลกครั้งที่ 2 ประเทศเข้าสู่สภาวะชะงักงันในด้านเศรษฐกิจ โดยเฉพาะด้านสินค้าอุตสาหกรรม สหรัฐอเมริกาผู้ที่มีชัยชนะเหนือญี่ปุ่นจำเป็นต้องเข้าช่วยเหลือฟื้นฟูประเทศ และหนึ่งในความช่วยเหลือที่สหรัฐอเมริกามอบให้แก่ญี่ปุ่นคือ สุดยอดนักสถิติประยุกต์ผู้มากประสบการณ์ในอุตสาหกรรม คือ Edwards W. Deming และ Joseph M. Juran ย้อนไปในช่วงปี ค.ศ.1950-1960 ญี่ปุ่นในฐานะผู้แพ้สงคราม ได้เริ่มต้นด้วยการผลิตสินค้าเกรดต่ำ สินค้าลอกเลียนแบบ ขายในราคาต่ำ เทคโนโลยีการผลิตการควบคุมคุณภาพของสินค้าเมื่อเทียบกับสหรัฐอเมริกา ก็ยังถือว่าห่างไกลกันมาก ส่วนแบ่งการตลาดก็ยังถือว่าน้อยมากด้วยเช่นกัน ในขณะที่สหรัฐอเมริกากลับกำลังหลง ลำพองในความเป็นผู้นำของตัวเองภายหลังได้รับชัยชนะในสงครามโลกครั้งที่ 2   เพราะในปี ค.ศ. 1964 สหรัฐอเมริกาได้เปรียบดุลการค้ากับประเทศอื่นๆทั่วโลกเฉพาะสินค้าอุตสาหกรรม มากถึง 6 พันล้านดอลลาร์ แต่ในปี ค.ศ.1983 สหรัฐอเมริกากลับขาดดุลการค้าในหมวดสินค้าอุตสาหกรรมถึง 123 พันล้านดอลลาร์ โดยตลอด 20 ปีนั้น อัตราการเจริญเติบโตสินค้าอุตสาหกรรมโดยเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 35 เทียบกับอัตราร้อยละ 60 ของประเทศในทวีปยุโรป และอัตราร้อยละ 120 ของประเทศญี่ปุ่น เกิดอะไรขึ้น

ขณะที่ผู้ประกอบการด้านอุตสาหกรรมของสหรัฐอเมริกา ไม่ได้เน้นความสำคัญในการประยุกต์ใช้หลักสถิติในการผลิตและควบคุมคุณภาพสินค้า และนับวันก็น้อยลงเรื่อยๆ และการดูแลและควบคุมคุณภาพของสินค้าก็อยู่ในลักษณะที่เรียกว่าฉาบฉวยมากขึ้นๆ ในขณะที่บรรดาผู้นำด้านอุตสาหกรรมของญี่ปุ่น กลับมองเห็นความจำเป็นและความสำคัญในวิธีคิดและแนวทางที่ทั้ง Edwards W. Deming และ Joseph M. Juran ได้ถ่ายทอดให้ จนกระทั้งในช่วง ปี ค.ศ. 1970 - 1980 ญี่ปุ่นได้ก้าวขึ้นมาเป็นคู่แข่งสำคัญของสหรัฐอเมริกา ในการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมที่เกรดสูง คุณภาพดี แต่ราคาต่ำ จนทำให้อุตสาหกรรม หลายสาขาในสหรัฐอเมริกา ต้องปิดตัวลง เพราะไม่สามารถแข่งขันได้ เหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร 

ผู้นำด้านอุตสาหกรรมในญี่ปุ่นเอาจริงเอาจังในการประยุกต์ใช้หลักสถิติในการควบคุมคุณภาพสินค้า การใช้หลัก Design of Experiment ในการควบคุมการผลิตสินค้า และยึดถือปฏิบัติต่อเนื่องและมีการพัฒนาจนนำหลักดังกล่าวไปสู่พนักงานทุกระดับ ปลูกฝังให้มีจิตสำนึกในด้านคุณภาพ โดยเฉพาะพนักงานฝ่ายผลิตที่เป็นคนลงมือผลิตสินค้าเอง จนเป็นที่กล่าวถึงกันมาจนทุกวันนี้ ถึงแม้ในสหรัฐอเมริกาจะมีการประยุกต์ใช้หลักการดังกล่าวมาก่อน แต่ก็ขาดความจริงจังและความต่อเนื่อง หลักการหลายอย่างไม่อาจลงไปถึงพนักงานระดับล่างที่เป็นคนลงมือผลิตสินค้า 

 


[ HOME ]             [ CONTENTS ]    

Hosted by www.Geocities.ws

1