กลยุทธ์ในการจัดการธุรกิจ

คำว่าองค์การ (Organization) คือกลุ่มของบุคคล ที่รวมกันเพื่อวัตถุประสงค์ร่วมกัน มีการแบ่งภาระ หน้าที่ ของคนในองค์การอย่างชัดเจน ซึ่งองค์การเองก็จะมีหลายลักษณะ ประเภท  แล้วแต่ว่าเราจะมีมุมมองที่จะมององค์การในมุมไหน  ซึ่งสามารถแยกออกเป็นหลายมุมมอง 

 หากมองในเรื่องขนาด ก็จะสามารถแบ่งออกเป็น

  1. องค์การขนาดใหญ่ 
  2. องค์การขนาดกลาง
  3. องค์การขนาดเล็ก

 โดยทั่วไปการแบ่งโดยใช้ขนาดขององค์การเป็นเกณฑ์ ก็มักจะใช้ ตัวชี้วัดหลายอย่าง เช่น จำนวนคนงาน จำนวนเงินทุนจดทะเบียน หรือขนาดเครื่องจักร อาคาร ส่วนแบ่งการตลาด เป็นต้น

 หากมองด้านวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งองค์การก็จะแบ่งได้ดังนี้

  1. องค์การที่แสวงหาผลกำไร  แน่นอนว่าองค์การธุรกิจส่วนใหญ่จะต้องมุ่งหวังผลกำไรจากการดำเนินกิจการ  หากได้กำไรมากองค์การนั้นก็จะเจริญเติบโต ซึ่งก็มักจะขยายขนาดของกิจการ หรือแตกสายของธุรกิจออกไปเรื่อยๆ ทั้งนี้ทั้งนั้นก็เพื่อให้ได้กำไรเพิ่มมากขึ้นนั่นเอง ตามหลักของเศรษฐศาสตร์  หากองค์การใดดำเนินกิจการแล้วมีแต่ขาดทุน องค์การนั้นก็จะอยู่ไม่ได้ในโลกแห่งธุรกิจ
  2. องค์การของรัฐ มีกิจกรรมบางประเภท ที่องค์การของภาคเอกชนไม่สามารถดำเนินการได้ เนื่องจากต้องใช้เงินลงทุนสูง ระยะเวลาคืนทุนนาน หรือมีผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของประชาชนโดยรวม รัฐก็จำเป็นต้องลงทุนเอง แม้อาจจะลงทุนสูงไม่มีกำไร แต่ก็ต้องทำ เช่น การผลิตและจำหน่ายไฟฟ้า น้ำประปา กิจกรรมเกี่ยวกับสาธารณสุข การคมนาคม ขนส่ง  บางกิจกรรมแม้ภาคเอกชนจะต้องการทำ แต่รัฐก็จำเป็นต้องควบคุม หรือไม่อนุญาตให้เอกชนทำ โดยรัฐเป็นผู้ลงทุนเอง หรือให้เอกชนทำในรูปสัมปะทาน ด้วยเหตุผลทางสังคม เช่น การผลิตบุหรี่  การโทรคมนาคม เหมืองแร่ เป็นต้น
  3. องค์การที่ไม่ได้มุ่งหวังกำไร แม้จะเป็นหน่วยงานของภาคเอกชนหรือของรัฐ ก็ตาม ซึ่งจัดตั้งขึ้นเพื่อประโยชน์ส่วนรวมของสังคม เช่น มูลนิธิ ต่างๆ เงินในการดำเนินกิจการก็จะได้มาจากการบริจาค หรือ การสนับสนุน จากองค์การอื่นๆ บุคคล หรือจากรัฐ

 หากมองโดยใช้ลักษณะกิจกรรมขององค์การ จะแบ่งได้ดังนี้

  1. การผลิต หมายถึงการดำเนินการ เปลี่ยนแปลง แปรรูป วัตถุดิบไปสู่ผลิตภัณฑ์ หรือสินค้า เพื่อจัดจำหน่าย องค์การประเภทนี้จะมีสินค้าเป็นสิ่งแลกเปลี่ยนเพื่อให้ได้เงินจากผู้ซื้อ กำไรที่ได้ก็เกิดจากส่วนต่างราคาขายสินค้า กับต้นทุนการดำเนินการ เช่น. ธุรกิจโรงสีข้าว  ปูนซิเมนต์ น้ำมัน รถยนต์ เป็นต้น
  2. การบริการ ส่วนมากจะไม่มีการเปลี่ยนแปลง หรือแปรรูป วัตถุดิบ ไปเป็นสินค้า แต่ตัวสินค้าขององค์การประเภทนี้คือ การดำเนินการบางอย่างแทนผู้ใช้บริการ และได้รับเงินเป็นค่าตอบแทน เช่น ธุรกิจรับออกแบบ การขนส่ง ธนาคาร โรงพยาบาล โรงแรม ร้านอาหาร ร้านซ่อมรถยนต์ เป็นต้น

 เงินคือความอยู่รอด

องค์การทุกประเภทที่กล่าวมา ดำรงความเป็นองค์การอยู่ได้ก็ด้วยเงิน ถ้าเป็นภาคเอกชนก็จะได้มาจากผู้ลงทุนหรือผู้ถือหุ้น ผลตอบแทนในการดำเนินกิจการ  ถ้าเป็นองค์การของรัฐ ก็มีทั้งที่ได้จากผลตอบแทนในการดำเนินกิจการ และอาจจะได้รับการอุดหนุนจากรัฐ ซึ่งก็คือภาษีของประชาชนทุกคน ในกรณีที่องค์การนั้นไม่มีกำไร ถ้าจำเพาะเจาะจงเฉพาะองค์การภาคเอกชนที่แสวงหากำไรจากการดำเนินกิจการแล้ว เงินถือได้ว่าเป็นปัจจัยหลักของความอยู่รอด ดังนั้นองค์การที่ดี จะต้องมีการจัดการที่ดี ในทุกๆด้าน เพื่อให้มีกำไร  คำกล่าวที่ว่า “ ต่อให้ทำสินค้าที่ดีที่สุดออกวางจำหน่าย แต่ถ้าขายไม่ได้ สินค้านั้นก็ไม่ต่างอะไรจากขยะ ”    เมื่อเงินเป็นปัจจัยของความอยู่รอด การจัดการองค์การที่แสวงหาผลกำไรจึงต้องมีเป้าหมายทุกอย่างมุ่งไปที่เงิน

 แต่ละยุคแต่ละสมัยต่างกัน

เมื่อเริ่มยุคแห่งอุตสาหกรรมใหม่ๆ ถือว่าเป็นยุคทองของผู้ขาย เพราะนอกจากจะมีคู่แข่งน้อย หรือไม่มีเลย ผู้ซื้อยังแย่งกันซื้อสินค้าด้วยซ้ำไป ลักษณะสินค้าที่ผู้ผลิต ผลิตออกมาจึงเป็นประเภทที่ว่า “ขอให้ใช้งานได้ก็พอแล้ว” ยังไงก็ขายได้อยู่ดี ผู้ผลิตจึงให้ความสำคัญกับเรื่องคุณภาพของตัวสินค้าไม่มากนัก สนใจแค่ว่าสินค้านั้น มันทำงานได้ตามที่ควรจะเป็นก็พอ เช่น ผู้ผลิตเครื่องรับวิทยุยุคแรกๆ จะไม่เน้นเรื่องความสวยงาม เรื่องอายุใช้งาน ขอให้เปิดเครื่องแล้วรับฟังสถานีส่งได้ก็พอ

เมื่อมีคนแรกประสบความสำเร็จ ก็จะเริ่มมีผู้ผลิตรายใหม่เข้ามาเป็นคู่แข่ง ทีนี้สินค้าที่ผลิตออกมาก็อาจจะไม่มีคนซื้อก็เป็นได้เพราะผู้ซื้อมีทางเลือก ผู้ผลิตจึงเริ่มหันมาสนใจสิ่งที่จับต้องไม่ได้มากขึ้น เช่น ด้านคุณภาพ และความสวยงาม กะทัดรัด ทั้งนี้เพื่อจูงใจให้ผู้ซื้อตัดสินใจซื้อสินค้าของตน

เมื่อมีคู่แข่งมากขึ้น อีกทั้งเทคโนโลยี การผลิตที่ก้าวหน้า ก็ทำให้ผลิตได้มากขึ้น จนถึงขนาดทำให้สินค้ามีมากกว่าความต้องการ  คราวนี้แหละเป็นทีของผู้ซื้อหละ   ผู้ผลิตจะต้องให้ความสนใจในสิ่งที่จับต้องไม่ได้ในตัวสินค้ามากขึ้น จนชนิดที่ว่าเกินกว่าความต้องการ หรือความคาดหมายของผู้ซื้อ  เช่น คุณภาพ สีสัน รูปทรง ใช้งานง่าย คงทน แต่ความเป็นสินค้าก็ยังคงมีอยู่เช่นเดิม  เช่น เครื่องรับโทรทัศน์ ความเป็นสินค้าก็คือรับชมภาพ ได้ยินเสียง ซึ่งผู้ผลิตทุกคนก็สามารถผลิตได้ การแข่งขันจึงอยู่ที่อื่น ดังเช่น มีจอแบนให้ภาพคมชัดกว่า กดรีโมทแล้วขึ้นข้อความเป็นภาษาไทย แม้แต่สามารถต่อเข้ากับสื่อผสม (Multi-media) ชนิดอื่นๆได้หลากหลาย เป็นต้น

 แค่ไหนถึงจะพอใจผู้ซื้อ

ในขณะที่ผู้ผลิตได้ทุ่มเททรัพยากร เพื่อพัฒนาตัวสินค้า ทั้งด้านเทคโนโลยี รูปแบบ และความสามารถของตัวสินค้า แต่ดูเหมือนว่า ยุคของผู้ซื้อเป็นใหญ่ก็ยังไม่หมดไป อำนาจต่อรองส่วนใหญ่ก็จะอยู่ที่ผู้ซื้อเป็นหลัก เหมือนเดิม ทั้งนี้เพราะปัจจุบันเป็นยุคที่

-         มีผู้ผลิต ผู้ให้บริการหลายราย คู่แข่งทางธุรกิจก็มากขึ้น เกิดการกีดกันการค้าขึ้น ท่านผู้อ่านลองย้อนกลับไปเมื่อ 7-8 ปีที่แล้ว คนที่ซื้อโทรศัพท์มือถือยุคนั้น เปรียบเสมือนไปขอบริษัทผู้ให้บริการ ว่าขอซื้อเครื่อง พร้อมเบอร์มาใช้ เงื่อนไขยังไงก็ไม่เกี่ยง  ราคาเครื่องก็แพง ค่าโทรต่อนาทีก็แพง แล้วลองดูวันนี้ซิว่า ท่านเห็นอะไรที่เปลี่ยนไปบ้าง บริษัทผู้ให้บริการ เกือบจะให้เครื่องพร้อมเบอร์กับท่านฟรีอยู่แล้ว ค่าโทรก็ถูกลง  ทั้งนี้ก็เพราะมีผู้ให้บริการเพิ่มมาหลายรายนี่เอง ทำให้ต่างคนต่างก็ต้องหาฐานลูกค้าใหม่ รักษาลูกค้าเก่า

-          โลกไร้พรมแดน มีการลงทุนข้ามชาติ มีการส่งสินค้าไปขายได้ทั่วโลก สินค้าที่เมืองจีน เป็นตัวอย่างที่ดี ที่สามารถทำให้กิจการประเภทเดียวกัน ในเมืองไทย ซบเซา หรือปิดกิจการไป ทั้งๆที่อยู่ไกลกันหลายพันไมล์ 

-          มีสินค้าอย่างอื่นทดแทน เทคโนโลยี เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ลองนึกภาพสมัยที่เราเริ่มรู้จักแผ่น VCD เป็นครั้งแรก ราคาต่อแผ่น เกือบเป็นเงินพัน เครื่องเล่น ก็หลักหมื่น แต่พอมีเทคโนโลยี DVD เข้ามา ทุกวันนี้ ราคา VCD ไม่ถึงร้อย เครื่องเล่นก็อยู่ไม่เกิน สองสามพัน เท่านั้น ก็ยังไม่ค่อยมีคนซื้อ หรือท่านผู้อ่านยังนึกหน้าตาหรือวิธีการใช้งานวิทยุติดตามตัว หรือ Pager ได้หรือเปล่า บางคนอาจจะลืมไปแล้ว บางคนอาจไม่เคยเห็นด้วยซ้ำไป การเข้ามาแทนที่ของโทรศัพท์มือถือ ทำให้ เทคโนโลยีวิทยุติดตามตัวนี้กำลังหมดยุค ไปเรื่อยๆ ทั้งที่เพิ่งจะเกิดมาได้ไม่นานนี่เอง

-          ผู้ซื้อมีความรู้มากขึ้น ช่างเลือก ช่างติ ช่างเปรียบเทียบ มากขึ้น การจะตัดสินใจซื้อสินค้าแต่ละครั้งผู้ซื้อจะมีทางเลือกหลายทาง และจะตัดสินใจเลือกทางที่ดีที่สุดเสมอ

 ส่วนประกอบของราคาขายสินค้าในแต่ละยุค

จากกราฟ จะเห็นว่าราคาขายสินค้าต่อหน่วยมีแต่จะลดลงเรื่อยๆ ในทางกลับกันผู้ผลิตกลับต้องใช้เงินลงทุนในการผลิต หรือต้นทุน มากขึ้นเรื่อยๆ ผลที่ตามมาคือส่วนต่างระหว่างราคาขายและต้นทุนหรือก็คือกำไร ลดลงตามไปด้วย ยกตัวอย่างกรณีบริษัทผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือ รายใหญ่ในบ้านเรา ทุกวันนี้จำนวนลูกค้าเพิ่มขึ้นจากเมื่อ 5 ปีที่แล้วเกือบ 3 เท่า แต่รายได้ต่อเลขหมายกลับลดลงหลายเท่า ทั้งๆที่ต้นทุนหรือค่าดำเนินกิจการก็แพงขึ้นเรื่อยๆ

 แล้วองค์การทางธุรกิจจะทำอย่างไรดี

ในยุคปัจจุบันนี้ การที่องค์การธุรกิจจะแสวงหากำไรเพิ่มขึ้นโดยการเพิ่มราคาขายนั้น ถือเป็นการเสี่ยงภัยเป็นอย่างยิ่ง ถ้าเพิ่มราคาสินค้า ลูกค้าก็จะเริ่มมองหาคู่แข่ง หรือไม่ก็มองหาสินค้าแบบอื่นที่ทดแทนกันได้ ทำให้ยิ่งจะขายสินค้าไม่ได้เสียอีก ยิ่งทำให้กำไรหดตัวลงไปมากขึ้น  จึงไม่ค่อยปรากฎว่ามีผู้ผลิตหรือผู้ให้บริการรายใดที่หาญกล้า เพิ่มราคาขายสินค้าหรือบริการ ทั้งๆที่คู่แข่งมีมากมาย มีสินค้าทดแทนก็มีให้เลือก  องค์การธุรกิจใดที่ทำเช่นนั้น สุดท้ายก็ไปไม่รอด แล้วจะทำอย่างไรดีละ  ปัญหาทุกอย่างมีทางแก้ และมีทางออกเสมอ แล้วมีทางไหนบ้างละ 

  1. ผลิตให้มากเข้าไว้ และขายให้ได้เยอะๆ  ภาษาทางเศรษฐศาสตร์เขาจะว่า Economy of scale แม้ว่ากำไรต่อหน่วยจะน้อย แต่ถ้าขายได้เยอะๆ กำไรโดยรวมก็จะมากขึ้นเอง ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น ท่านผู้อ่าน ลองนึกภาพดูว่า ถ้าท่านเปิดร้านค้าสะดวกซื้อ 1 ร้าน ยังไงท่านก็ต้องมีตัวอาคาร สถานที่ คนดูแล ต้องเปิดเครื่องปรับอากาศ โทรศัพท์ และท่านคงไม่ วางขายสินค้าเฉพาะ บริเวณ ประตูเข้า ออก หรือวางขายสินค้า 3-ชนิด ชนิดละ 20 ชิ้นหรอก ท่านจะต้องวางสินค้าทุกตารางนิ้ว ทำชั้นวางหลายชั้นอีกต่างหาก สินค้าก็มีให้ครบทุกชนิดเท่าที่จะเป็นไปได้ เพราะยังไงท่านก็ต้องลงทุนอยู่แล้ว ถ้าท่านไม่ทำแบบนี้ ต้นทุนท่านก็จะสูง ในขณะที่ประสิทธิภาพการใช้สอยทรัพยากร ต่างๆ ต่ำมาก  ท่านไม่ต้องแปลกใจหรอกว่า ทำไมบางกิจการจึงต้องเพิ่มกำลังการผลิตมากขึ้นทั้งๆที่ไม่น่าจะทำ ก็ด้วยเหตุผลเหมือนตัวอย่างนี้แหละ  การลงทุนเพิ่มในการขายสินค้า ก็อาจจะมีแต่ก็จะเป็นสัดส่วนต่อหน่วยสินค้าที่น้อยลงๆ
  2. ผลิตให้เร็ว ขายสินค้าก่อน คู่แข่งจะวางตลาด ภาษาทางเศรษฐศาสตร์เขาจะว่า Economy of speed สินค้าบางชนิด คนซื้อจะตั้งตารอคอย พอมีสินค้าวางขาย ก็จะเกิดอาการเห่อ ไปซื้อ ราคาแพงไม่ว่า ขอให้ได้ซื้อก่อนคนอื่น ผู้ผลิตรายใดที่เป็นผู้วางจำหน่ายสินค้าก่อนคู่แข่งก็จะกำหนดราคาขายสูง ทำให้มีกำไรสูง ต่อมาถ้าคู่แข่งวางจำหน่ายสินค้าแบบเดียวกันนี้ เขาก็จะค่อยๆลดราคาขายลงมา เรื่อยๆ แต่เขาก็ได้กำไรไปก่อนมากแล้ว ยกตัวอย่าง บริษัท Intel จะวางจำหน่ายชิพ CPU ที่มีความสามารถสูงก่อนคู่แข่งและขายในราคาสูงด้วย   อีกตัวอย่างคือ บริษัท Sony ได้เริ่มวางขายกล้อง Digital ก่อนบริษัทคู่แข่ง และขายในราคาสูงมาก ต่อมาก็จะมีคู่แข่งเพิ่มขึ้น   จำไว้เสมอว่า คนมาทีหลังจะต้องสู้ด้วยการลดราคาขายเสมอ
  3. หาพันธมิตร มีไม่กี่องค์การหรอก ที่จะสามารถทำ Economy of scale หรือ Economy of speed ได้ เพราะจะต้องลงทุนสูง มีเทคโนโลยีเป็นของตัวเอง เพราะถ้าทำไม่ดี อาจจะกลายเป็นงูกินหางเอาได้ คือยิ่งเพิ่มต้นทุนเข้าไปอีก   การรวมกลุ่มกันจึงเป็นอีกหนทางหนึ่งที่จะเป็นทางออก ท่านผู้อ่านคงเห็นกรณี IBC ของกลุ่ม ชินวัตร ที่รวมเข้ากับ UTV ของกลุ่ม CP กลายมาเป็น UBC ในปัจจุบัน เพื่อครอบครองตลาด ร่วมกัน ใช้แหล่งหรือผู้ขายรายการเดียวกัน เพื่อลดต้นทุน ขยายตลาด หรือกรณี Sony กับ Ericson จับมือกันพัฒนา โทรศัพท์มือถือ   จะเห็นว่าการแยกกันอยู่ทำให้จุดอ่อนมันกลายเป็นตัวเด่นขององค์การ แต่พอรวมกัน ก็เอาจุดเด่นของอีกฝ่าย ไปปิดจุดอ่อน ของอีกฝ่าย จุดเด่นของทั้งสองก็จะเพิ่มมากขึ้น
  4.  เข้าควบคุมต้นทาง และปลายทาง เป็นการแตกสายธุรกิจ เข้าไปยังธุรกิจที่เกี่ยวข้อง  ยกตัวอย่างกรณี กลุ่ม CP ที่ผลิตอาหารจำหน่ายไปทั่วประเทศ และส่งออกไปหลายประเทศ ลองนึกภาพดูถ้า CP ไม่เข้ามาทำการ เลี้ยงไก่ ไก่ไข่ เลี้ยงสุกร ทำอาหารสัตว์ ไม่มีบริษัทจัดจำหน่าย CP ก็คงจะปวดหัวกับการต่อลองราคา กับผู้ผลิตต้นน้ำ และผู้จัดจำหน่าย สินค้าให้ หากวันใดเกิดเบี้ยวไม่ยอมขายให้ ไม่ยอมจำหน่ายให้ CP ก็อยู่ไม่รอด อีกตัวอย่าง Sony เข้าไป ซื้อบริษัทผลิตภาพยนตร์ ใน Hollywood สหรัฐอเมริกา เมื่อหลายปีก่อน ทำให้วงการ หัวเราะเยาะ Sony ว่าสงสัยจะบ้า เมื่อ Sony คิดค้น ระบบบันทึกภาพยนตร์ลงบนแผ่น DVD ได้แล้ว ถ้า Sony ต้องไปซื้อภาพยนตร์คนอื่นมาแล้วบันทึกลงแผ่นขาย บริษัทหนังก็จะโก่งราคาได้ ถ้าจะขายแต่ เทคโนโลยี DVD ก็ไม่คุ้มค่า ทุกวันนี้ทุกคนเริ่มจะอ่านกลยุทธ์ของ Sony ออกแล้ว Sony จึงเป็นเจ้าของทั้งเทคโนโลยี และผู้ผลิตภาพยนตร์ และ เพลง ทำให้ผู้ผลิต DVD รายอื่นจะต้องมาขอซื้อลิขสิทธ์ภาพยนตร์ หรือเพลง จาก Sony อีกต่างหาก

 นอกจากแนวทางที่กล่าวมาแล้วนั้น ยังมีอีกหลากหลายวิธีที่จะทำ โดยภาพรวม ให้ท่านลองดูแผนภาพต่อไปนี้

 

 

จะเห็นว่ากำไรจะเพิ่มหรือลดลง ขึ้นอยู่กับการขายและต้นทุนเป็นหลัก แต่ในทางปฏิบัติการจะเพิ่มยอดขายเป็นสิ่งที่ทำได้ยาก ลองดูแผนภาพนี้เพื่อให้มองเห็นภาพ

   

มีปัจจัยที่เป็นอุปสรรคมากมายหลายประการ ที่ทำให้การเพิ่มยอดขายทำได้ไม่ง่าย  มีทั้งปัจจัยที่เราไม่สามารถควบคุมหรือเปลี่ยนแปลงอะไรได้ เพราะเป็นปัจจัยภายนอกองค์การของเรา เช่น สภาพเศรษฐกิจ สังคม ข้อกำหนดกฎหมาย คู่แข่งทางการค้า เป็นต้น และปัจจัยที่เราสามารถที่จะควบคุมหรือเปลี่ยนแปลงได้เพราะเป็นปัจจัยภายในองค์การของเราเอง เช่น งบการขาย คุณภาพสินค้า ราคาขาย เป็นต้น

ดังนั้นผู้บริหารขององค์การ จะต้องมีการกำหนดกลยุทธ์จะจัดการกับปัจจัยภายในให้ได้ ในเรื่องเกี่ยวกับ

-          ควบคุมคุณภาพของสินค้า ให้คงเส้นคงวา หรือให้ดีขึ้นเรื่อยๆ 

-          ควบคุม ต้นทุนให้ลดลงเรื่อยๆ

-          เพิ่มความสามารถในการแข่งขันของตัวสินค้าให้มากขึ้น

-          เพิ่มประสิทธิภาพ พนักงานฝ่ายขาย วิธีการขาย

 

ถ้าสังเกตให้ดี การที่เราควบคุมปัจจัยใดๆ ก็จะส่งผลกระทบไปถึงปัจจัยอื่นๆด้วยเสมอ เช่น การควบคุมต้นทุน ก็อาจจะส่งผลต่อคุณภาพ การเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของตัวสินค้า ก็จะทำให้ต้นทุนเพิ่ม

  “ There is no free lunch on the earth  ไม่มีอะไรที่ได้มาโดยไม่ต้องลงทุน”

  จากคำกล่าวข้างต้น ในเชิงเศรษฐศาสตร์ แล้ว ไม่มีการได้อะไรมาฟรีๆ  ผู้บริหารจำเป็นจะต้องเลือกวิธีการ มาตรการ ในการดำเนินกลยุทธ์ ให้เกิดการได้ประโยชน์สูงที่สุด Maximum profit แก่องค์การเสมอ แล้วกลยุทธ์อะไรบ้างละที่จะใช้เพื่อให้เกิด Maximum profit แก่องค์การ

  แนวคิดด้านการจัดการในการดำเนินการ

  1. ยุโรป ถือได้ว่าเป็นแหล่งกำเนิดของเศรษฐกิจทุนนิยม การปฏิวัติอุตสาหกรรม จนทำให้หลายประเทศในยุโรปกลายเป็นมหาอำนาจ และเริ่มต้นหาแหล่งวัตถุดิบ แรงงาน และตลาด นอกอาณาเขตทวีปยุโรป จนกลายเป็นการล่าอาณานิคม  แต่ยุโรปก็ได้รับผลกระทบหลายด้าน ทั้งด้านวัฒนธรรม เช่น คนยุโรปจะไม่สนใจที่จะประกอบอาชีพที่ใช้แรงงาน ไม่ต้องการอุตสาหกรรม ที่ทำลายสิ่งแวดล้อม จึงเกิดการโยกย้ายฐานการผลิตออกจากยุโรป ไปยังประเทศไกลโพ้น  แต่คนยุโรปก็ยังต้องการบริโภคสินค้าอยู่  ดังนั้นเพื่อเป็นการควบคุมมาตรฐานสินค้า ที่จะเข้ามาขายในยุโรป จึงเกิดข้อกำหนดมากมายให้ผู้ที่จะส่งสินค้าเข้า ปฏิบัติตาม ที่เราคุ้นเคยมากๆในปัจจุบัน ก็ที่เรียกว่า ISO ขึ้นมา เช่น  ISO9000(Series) , ISO14000(Series) เป็นต้น
  2. สหรัฐอเมริกา  เมื่อยุโรปเกิดความตกต่ำทางด้านเศรษฐกิจ อันเนื่องมาจากสภาวะสงครามโลก ครั้งแรก สหรัฐอเมริกากลับมีการพัฒนา และเจริญรุ่งเรื่องขึ้นมาอย่างมาก เพราะไม่ได้รับผลกระทบจากสงครามมากนัก และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 ถือว่าเป็นยุคเปลี่ยนขั้วมหาอำนาจ เนื่องจากยุโรปได้รับความบอบช้ำจากสรงครามโลกทั้งสองครั้งติดต่อกันอย่างหนัก อำนาจในอาณานิคม ก็เริ่มหมดไป ทำให้สหรัฐอเมริกา สามารถก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำด้านอุตสาหกรรม แทนที่ยุโรป วิชาการ และแนวคิดการจัดการต่าง เกิดขึ้นอย่างมากมาย เช่น การผลิตรถยนต์แบบสายพานลำเลียง ทำให้สามารถผลิตได้จำนวนมาก กลยุทธ์ในการจัดการด้านคุณภาพ การผลิตตามแนวทางของอเมริกา เองก็มีมากมาย ครอบคลุมทุกประเภทของธุรกิจ และอาจจะถือได้ว่าเป็นแม่แบบด้วยซ้ำไป ตัวอย่างเช่น Six sigma เป็นต้น
  3. ญี่ปุ่น ถือได้ว่าไม่ได้รับผลกระทบจากภาวะสงครามโลกครั้งแรกเลย ทำให้ญี่ปุ่นสามารถที่จะพัฒนาตัวเองด้านอุตสาหกรรม ได้เป็นอย่างมาก จนถือว่าเป็นมหาอำนาจทางด้านเอเชีย  แต่ก็ยังถือว่าห่างไกลจากสหรัฐเป็นอย่างมาก  ภายหลังพ่ายแพ้สงครามต่อสหรัฐอเมริกา ในสงครามโลกครั้งที่สอง ญี่ปุ่น ได้เปิดรับความช่วยเหลือจากสหรัฐอเมริกา ด้านอุตสาหกรรม เศรษฐกิจ อยู่หลายปี ไม่เว้นแม้แต่ด้านการจัดการคุณภาพของสินค้า Dr. Deming ถือเป็นกูรู ด้านการจัดการคุณภาพที่สหรัฐอเมริกาส่งไปให้ความช่วยเหลือญี่ปุ่น และถือว่าเป็นผู้ปูพื้นฐานแนวคิดด้านการจัดการคุณภาพของญีปุ่น แต่ด้วยสภาพวะโดนบีบบังคับในฐานะผู้แพ้สงคราม ทำให้ญีปุ่นต้องเร่งพัฒนาอุตสาหกรรมในประเทศ เพื่อฟื้นฟูประเทศ คนญี่ปุ่นจึงได้คิดค้นแนวคิดการจัดการด้านคุณภาพขึ้นมากมาย ที่เหมาะสมกับวัฒนธรรมของคนญี่ปุ่น

 

แนวคิดของญี่ปุ่นคือ กลยุทธ์ด้านคุณภาพ จะต้องกำหนดออกมา เพื่อให้พนักงานระดับปฏิบัติการเป็นผู้ลงมือปฏิบัติ ดังนั้น พนักงานระดับปฏิบัติจึงมีบทบาทในการเสนอแนวทางในการแก้ ปรับปรุง คุณภาพ แล้วเสนอขึ้นไปยังผู้บังคับบัญชา เช่น QC หรือ QCC เป็นต้น ซึ่งเป็นการรวมกลุ่มกันในระดับพนักงาน โดยยึดหลัก คนปฏิบัติงานจริง สถานที่จริง และเวลาเกิดปัญหาจริง

 แนวคิดในการจัดการทางฝั่งสหรัฐอเมริกา จะเน้นการมอบหมายงาน มอบอำนาจ และมีระบบวัดผลงาน  ผู้มีอำนาจบังคับบัญชาจึงเป็นผู้กำหนดทิศทาง เป้าหมาย งบประมาณ ให้กับผู้ใต้บังคับบัญชา ไม่เว้นแม้แต่การจัดการด้านคุณภาพ ซึ่งรูปแบบนี้จะเหมาะสมกับสังคมแบบอเมริกา ที่ทุกคนไม่ยึดติดเรื่องส่วนบุคคลในเรื่องงาน ทุกคนเปิดเผย และยอมรับระบบการบังคับบัญชาจากผู้มีอำนาจบังคับบัญชา ในขณะที่สังคมตะวันออกอย่างญี่ปุ่น หรือไทย บางครั้งเรื่องส่วนบุคคล ระบบอาวุโส ระบบอุปถัมภ์ ก็เข้ามามีผลต่อระบบการบังคับบัญชา การใช้อำนาจอาจจะได้รับการต่อต้าน ภายนอกก็ปฏิบัติตาม แต่ปราศจากจิตใจ ซึ่งทำให้ผลงานออกมาไม่ดี

ปัจจุบันจึงเกิดการผสมผสานแนวความคิดเข้าด้วยกัน ดังจะเห็นได้จาก บริษัทจากสหรัฐอเมริกาในประเทศไทย ก็มีการใช้ระบบกลุ่มคุณภาพ QCC หรือ 5-ส-ตามแบบของญี่ปุ่น-มีรูปแบบการควบคุมคุณภาพแบบ ISO ตามแบบของยุโรป และใช้กลยุทธ์ Six Sigma ตามอย่าง สหรัฐอเมริกา

 


[ HOME ]             [ CONTENTS ]   

                                            

Hosted by www.Geocities.ws

1