การระดมสมอง (Brainstorming)

การที่เราจะใช้เครื่องมือทางสถิติที่ซับซ้อน หรือยุ่งยาก ที่เป็นเชิงคณิตศาสตร์ นั้น  ก็แปลว่าเรามีการเก็บข้อมูลมาแล้ว  แต่คำถามอยู่ที่ว่าทำไมเราถึงเลือกที่จะเก็บหรือทำการทดสอบสมมติฐานข้อมูลนั้น

ก่อนที่เราจะทำการพิสูจน์ทราบปัญหาหรือตัวแปรที่ส่งผลต่อปัญหานั้น เราจำเป็นจะต้องรู้ก่อนว่าปัญหาคืออะไร หรือต้องเริ่มต้นด้วยการรับรู้ปัญหาเสียก่อน หลังจากนั้นก็ใช้วิธีระดมความคิดเห็นจากผู้ที่มีความรู้ ผู้ที่เห็นปัญหา และผู้ที่เกี่ยวข้องหลายๆคน เสียก่อน เพื่อให้เห็นภาพ อย่างกว้างๆ และให้ทำการแจกแจงปัจจัยหรือสิ่งที่น่าจะเป็นต้นเหตุหรือสาเหตุของปัญหานั้น เสียก่อน  ที่เราเห็นตัวอย่างที่ชัดเจนก็คือการทำการประชุมสัมมนาเชิงปฏิบัติการ (Workshop) ของรัฐบาลนายก พ.ต.ท ดร. ทักษิณ  ชินวัตร  เพื่อระดมความคิดเห็นของนักวิชาการ ข้าราชการ ฝ่ายเอกชน รวมทั้งทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง  ถึงจะนำเอาข้อสรุปหรือผลการทำการประชุมเชิงปฏิบัติการ  ไปสู่การปฏิบัติ หรือไปเป็นนโยบาย ของรัฐบาล แสดงว่าความคิดเห็นของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องนั้นเป็นส่วนสำคัญอย่างยิ่ง

 องค์ประกอบของการระดมสมองประกอบด้วย

     1.   หัวข้อปัญหา คือประเด็นที่ต้องการให้กลุ่มร่วมแสดงความคิดเห็น

2.   ผู้นำหรือผู้ดำเนินการ  มีหน้าที่ในการนำการระดมสมอง ซึ่งจะต้องปฏิบัติดังต่อไปนี้

2.1      กำหนดหัวข้อหรือประเด็นปัญหา ผู้ดำเนินการจะต้องจัดหาข้อมูลเบื้องต้นให้ผู้เข้าร่วมแสดงความคิดเห็นได้ทราบ เช่น ระดับของปัญหา ณ ปัจจุบัน ความเป็นมา และแนวโน้มของปัญหา ทั้งที่เป็นเชิงปริมาณ (ตัวเลข ) และเชิงคุณภาพ (รูปภาพ กราฟ )

2.2      กำหนดหรือเลือกผู้ที่จะร่วมการระดมสมอง โดยจะต้องคัดเลือกเฉพาะผู้ที่มีความรู้และประสบการณ์เกี่ยวกับประเด็นหรือปัญหานั้นๆ และผู้ที่เกี่ยวข้องโดยตรง พูดง่ายๆคือจะต้องเป็นผู้ที่สามารถให้ข้อคิดเห็น ที่เป็นประโยชน์ เพื่อที่จะนำไปสู่การแก้ปัญหานั้นๆได้

2.3      กระตุ้นให้ผู้เข้าร่วมทุกคน แสดงความคิดเห็นได้อย่างเสรี และเปิดเผย รวมทั้งเปิดโอกาสให้มีการถกเถียงภายใต้กรอบของประเด็นปัญหาที่กำหนด หากผู้เข้าร่วมแสดงความเห็น ยังไม่มีความคิดเห็น เราจำเป็นต้องเริ่มต้นให้ด้วยการยกหัวข้อ หรือความคิดเห็นก่อน หรืออาจจะเจาะจงผู้เข้าร่วมคนใดคนหนึ่งเริ่มต้นก่อน ก็ได้

2.4      สรุปหรือตัดทอนข้อมูลจากที่ผู้เสนอความคิดเห็นมาให้เป็นสาระที่กระชับ ซึ่งเมื่อเราให้แต่ละคนเสนอความคิดเห็น อาจจะขาดการ Focus หรือขาดความกระชับ แต่ผู้ดำเนินการจะต้องไม่ไปเปลี่ยนแปลงความหมายหรือสาระ ที่ผู้แสดงความคิดเห็นให้ความเห็นออกมา

2.5      หลังจบการระดมสมองแล้วจะต้องรวบรวมความคิดเห็นของผู้เข้าร่วม ออกเป็นหมวดหมู่ หรือกลั่นกรอง ให้เป็นข้อสรุป

        3.    ผู้ร่วมแสดงความคิดเห็น มีหน้าที่ดังต่อไปนี้

3.1      เสนอความคิดเห็นภายใต้หัวข้อที่กำหนด โดยไม่มีอคติ หรือปิดบังความคิดเห็นที่แท้จริงของตัวเอง

3.2      ให้ความเคารพต่อความคิดเห็นของคนอื่น วิพากวิจารณ์ความคิดเห็นของคนอื่นได้ แต่ต้องไม่เป็นไปในทางลบ ถึงแม้จะขัดต่อความรู้สึก หรือขัดแย้งต่อความคิดเห็นของตัวเอง

         4.   สถานที่ อุปกรณ์และเครื่องมือ เพื่อสนับสนุนให้การดำเนินการระดมสมองเป็นไปด้วยความเรียบร้อย และทำให้ผู้เข้าร่วมแสดงความคิดเห็น ได้ใช้ประโยชน์  เช่น กระดาษ เครื่องฉายข้ามศีรษะ และกระดาน เป็นต้น

 ประโยชน์ของการระดมสมอง

ในบางครั้งการที่ให้คนที่มีความรู้ ประสบการณ์ หรือเกี่ยวข้องกับปัญหาหลายๆฝ่าย หลายๆคน มานำเสนอความคิดเห็น ข้อเสนอแนะในมุมมองของแต่ละคน ประโยชน์ที่เห็นชัดเจนคือ องค์ประกอบของปัญหาที่หลากหลาย  ซึ่งจะนำไปสู่การกำหนดวิธีการแก้ปัญหาที่ตรง ถูกจุด  ผู้ที่เข้าร่วมและให้ข้อเสนอแนะก็พร้อมจะนำแนวทาง หรือข้อสรุปร่วมกันไปปฏิบัติ ด้วยความเต็มใจ และปัญหาก็จะถูกแก้ โดยใช้แนวทางที่หลายฝ่ายเห็นร่วมกัน ทำให้เกิดความรู้สึกมีส่วนร่วม

 การระดมสมองที่ไม่ประสบผลสำเร็จ

ไม่ทุกครั้งเสมอไปที่การเปิดโอกาสให้คนที่เกี่ยวข้องหลายๆฝ่าย แสดงความคิดเห็น จะประสบผลสำเร็จ ถ้าหากเกิดความคิดเห็นที่ขัดแย้งกัน มีอคติในการเสนอหรือยอมรับความคิดในการระดมสมอง อันอาจจะนำไปสู่ความแตกแยกมากขึ้น และไม่สามารถแก้ปัญหาได้   แล้วจะมีวิธีแก้ไขอย่างไร

        1.   ผู้นำการระดมสมองต้องควบคุมบรรยากาศในการสนทนากันของหลายฝ่าย หากเริ่มจะเกิดความขัดแย้ง

       2.    อาจจะต้องมีการเพิ่มเติมข้อมูล ที่มีความขัดแย้งกัน แต่ผู้นำการระดมสมองจะต้องไม่ตัดสินใจยอมรับความคิดเห็นอีกฝ่ายหนึ่งโดยทันทีในระหว่างการสนทนา

 

 


[ HOME ]             [ CONTENTS ] 

                                            

Hosted by www.Geocities.ws

1