BRASS QUINTET

ฉัตรชัย ผู้ปฏิเวธ

Brass quintet เป็นวงดนตรีขนาดเล็ก มีผู้บรรเลงจำนวน ๕ คน ส่วนใหญ่จะประกอบด้วย Trumpet สองตัว Horn, Trombone และ Tuba อย่างละตัว วงโยธวาทิตทุกๆวงสามารถทำวง Brass quintet ได้ ๑-๓ วง วง Brass quintet จัดได้ว่าเป็นวงสารพัดประโยชน์ถ้าทำวงให้ดีจะสามารถใช้บรรเลงได้ในทุกๆงาน ทั้งงานประจำในโรงเรียนและงานพิเศษอื่น ได้แก่งานวันเกิด เปิดตัวสินค้า ตัดริบบิ้น แต่งงาน งานบวช งานศพ และงานอื่นๆอีกมากมาย นอกจากจะใช้งานได้สารพัดแล้วยังสามารถเข้าร่วมประกวดได้อีกด้วย

ข้อดีของวง Brass quintet ก็คือเตรียมวงง่าย ไปบรรเลงที่ไหนก็ไม่ลำบากขึ้นรถเมล์ก็ยังได้ (ถ้าใช้ Tuba ตัวเล็ก) วงโยธวาทิตในประเทศไทยส่วนใหญ่จะนิยม Tuba ตัวใหญ่ๆ ความจริงแล้ว Tuba ที่ผลิตออกมาขายมีหลายขนาด แต่เราไม่ใคร่นิยม Tuba ตัวเล็ก คำว่าเตรียมวงง่ายหมายถึงเรื่องของการจัดการต่างๆได้แก่เรื่องเครื่องดนตรี เรื่องนักดนตรี นัดหมายการฝึกซ้อม ค่าใช้จ่ายต่างๆ เช่นค่าอาหาร ค่ารถ ค่าเบี้ยเลี้ยงนักดนตรี ก็ประหยัดกว่าวงใหญ่หลายเท่า

ข้อเสียของวง Brass quintet เนื่องจากมีนักดนตรีเพียงแค่ ๕ คน เพราะฉะนั้นทุกๆคนต้องมีความสามารถเป็นเลิศ นักเรียนที่ครูคัดมาเพื่อทำวง Brass quintet จะต้องมีความสามารถอยู่ในเกณฑ์ดี มีความรับผิดชอบดี เสียสละอดทน และรักดนตรี สามารถอยู่ซ้อมดนตรีได้มากกว่านักเรียนวงโยฯคนอื่นๆ เพราะวง Brass quintet ควรจะทำการฝึกซ้อมหลังจากที่ซ้อมวงใหญ่เสร็จ ครูผู้คุมวงต้องจัดการฝึกซ้อมไม่ให้ซ้ำซ้อนกับวงใหญ่ ต้องแบ่งเวลาให้ชัดเจน นักเรียนทั้งห้าคนที่ครูเลือกมานี้จะเป็นกำลังที่สำคัญของวงต่อไปในการที่จะช่วยสอนนักเรียนรุ่นน้อง นอกจากจะต้องการนักเรียนที่มีความสามารถแล้วปัญหาของครูอีกอย่างก็คือเรื่องของโน้ตเพลงสำหรับ Brass quintet ซึ่งครูจะต้องเขียนเองหรือเรียบเรียงเสียงประสานเอง ครูหลายๆมีงานล้นมือไม่มีเวลาจะเขียนเพลง อาจจะให้นักเรียนเขียนเพลงเล่นกันเองก็ได้โดยครูเป็นผู้แนะนำ

การเขียนเพลงสำหรับ Brass quintet สิ่งที่ต้องคำนึงถึงได้แก่ ความสามารถของนักเรียน หากเขียนเพลงยากเกินไปนักเรียนก็เป่าไม่ได้ เขียนเพลงให้ง่ายแต่ฟังไพเราะน่าจะดีกว่า ช่วงเสียง (Range) ที่เหมาะสมกับนักเรียนกับเครื่องดนตรีแต่ละชิ้นจะทำให้เป่าได้ไม่ยากเกินไป ทำนองหลัก (Melody) ไม่ควรให้ทรัมเป็ตหนึ่งเป่าอยู่เพียงคนเดียวทั้งเพลง ควรเขียนให้แนวอื่นเป่าสลับกันบ้าง ทำนองรอง (Counter melody) ควรส่งเสริมให้ทำนองหลักน่าสนใจยิ่งขึ้น แนวเบสอาจต้องมีการเดินของทำนองที่น่าฟังด้วย ไม่เพียงแต่เป็นแนวที่ต้องเป็นหลักให้เครื่องดนตรีอื่นๆเท่านั้น

มีนักดนตรี มีเครื่องดนตรี มีบทเพลงที่จะบรรเลงแล้ว ต่อไปก็คือเรื่องของการฝึกซ้อม สิ่งที่นักเรียนควรรู้ได้แก่เรื่องของการเป่าอย่างไรให้ไพเราะ สิ่งต่อไปนี้ครูควรมีความรู้และสามารถสร้างให้เกิดกับนักเรียน คือเรื่องของ คุณภาพของเสียง(Tone quality), ความเที่ยงตรงของเสียง(Intonation), การหายใจรวมไปถึงเรื่องของประโยคเพลง(Breathing), เทคนิคการใช้ลมลิ้นในการบรรเลง(Articulation), ดุลยภาพหรือความสมดุล(Balance), การแสดงออกทางอารมณ์ดนตรี(Expression), ความเป็นดนตรี(Musicianship) ศัพท์เหล่านี้หากเปิดพจนานุกรมดนตรีดูก็จะเข้าใจความหมายทันที แต่การจะปฏิบัติได้นั้นจะต้องอาศัยประสบการณ์ทางดนตรีซึ่งครูจะต้องถ่ายทอดให้นักเรียน

ผู้เขียนได้เคยมีโอกาสได้ศึกษาวิชาการเรียบเรียงเสียงประสานจากครูอารี สุขะเกศ ซึ่งเป็นศิษย์รักของพระเจนดุริยางค์

ปูชนียบุคคลทางดนตรีสากลของประเทศไทย แนวการเรียบเรียงเสียงเสียงประสานบทเพลงสำหรับวงโยธวาทิตของครูอารี เป็นตัวอย่างที่น่าศึกษาอย่างยิ่งเพราะเรียบง่ายแต่ฟังแล้วมีความไพเราะลึกซึ้ง เวลาว่างจากงานประจำผู้เขียนมักจะใช้วิชาความรู้ที่ได้เรียนมาจากครูอารี เขียนเพลงสำหรับวงโยธวาทิตอยู่เป็นประจำ ในครั้งนี้ได้เรียบเรียงบทเพลงพระราชนิพนธ์”ดวงใจกับความรัก” สำหรับ Brass quintet ให้ครูวงโยฯได้นำไปลองบรรเลงดู อาจจะเป็นแนวทางไปทดลองเขียนเพลง Brass quintet ให้วงที่โรงเรียนได้เล่นกัน

Hosted by www.Geocities.ws

1