การประกวดวงโยธวาทิตภาพสะท้อนวัฒนธรรมการฟังดนตรีของเยาวชนไทย

ฉัตรชัย ผู้ปฏิเวธ

คนปกติไม่สามารถพูดคนเดียวได้โดยไม่มีคนฟัง ธรรมชาติของมนุษย์ต้องการการยอมรับ การให้เกียรติ การรับฟัง ถ้าเมื่อใดเราพูดแล้วไม่มีคนรับฟัง หรือไม่มีคนสนใจ เราก็คงไม่อยากพูด ไม่เฉพาะเรื่องของการพูดรวมไปถึงการกระทำทุกๆอย่าง ทุกๆคนทำอะไรก็แล้วแต่ย่อมมีความมุ่งหวังหรือความคาดหวังกับผลที่จะได้รับตอบกลับมา

ความคาดหวังของนักดนตรีในขณะที่กำลังบรรเลงดนตรี คือสามารถทำให้ผู้ฟังรับรู้ในสิ่งที่นักดนตรีต้องการสื่อ คำว่ารับรู้มิได้หมายถึงความเข้าใจ ดนตรีเป็นศิลปแขนงหนึ่ง ในบางครั้งศิลปก็ยากที่จะเข้าใจได้ แต่สามารถรับรู้ และเกิดความรู้สึกต่างๆกันตามพื้นฐานความรู้ รวมไปถึงจินตนาการของผู้ชมหรือผู้ฟังแต่ละคน ซึ่งอาจจะเหมือนหรือต่างกันก็ได้ ไม่มีใครผิดใครถูก ในเพลงเดียวกันแต่คนฟังคนละคนอาจตีความหรือเห็นภาพต่างกันได้

การฟังดนตรีเป็นจุดอ่อนที่อยู่ในอันดับต้นๆของนักเรียนดนตรีในประเทศไทย รวมไปถึงครูดนตรีหลายๆคน จะว่าไปแล้วคนไทยส่วนใหญ่ไม่ได้ให้ความสำคัญกับการฟังดนตรี มีปัจจัยหลายประการที่ทำให้คนไทยไม่ใส่ใจหรือสนใจในเรื่องของการฟังดนตรีอย่างจริงจัง เช่นความเชื่อที่ว่าดนตรีเป็นเพียงสิ่งบันเทิงใจหาได้มีสาระควรค่าแก่การสนใจ ดนตรีเป็นอาชีพหรือวิชาของคนชั้นต่ำวณิพก-ขอทาน สภาพของเศรษฐกิจที่ทำให้คนมุ่งแต่ทำงานหาเงิน สภาพของสังคมที่มากไปด้วยการแก่งแย่งแข่งขัน ฯลฯ ปัจจัยหลากหลายมีผลไปถึงหลักสูตรการเรียนการสอนดนตรีในทุกระดับชั้นทักษะการฟังดนตรีเป็นเรื่องที่ขาดการฝึกปฏิบัติอย่างจริงจัง

เมื่อวันอาทิตย์ที่ ๙ มกราคม ๒๕๔๗ ผู้เขียนมีความตั้งใจที่จะไปถ่ายรูป และเก็บข้อมูลที่สนามกีฬาแห่งชาติ เพื่อใช้ในการเขียนบทความ ในวันนั้นมีการจัดการประกวดวงโยธวาทิตรอบชิงชนะเลิศ จัดเป็นปีที่ ๒๔ แล้ว บริหารจัดการโดยสำนักงานพัฒนาการกีฬาและนันทนาการ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ร่วมกับธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) ผู้ชมให้ความสนใจในการประกวดค่อนข้างมาก หลายพันคนนั่งอยู่เต็มที่นั่งฝั่งมีหลังคาล้นไปถึงที่นั่งฝั่งตรงกันข้าม ส่วนใหญ่จะเป็นนักเรียนวงโยธวาทิตจากโรงเรียนต่างๆ รวมไปถึงบรรดาผู้ปกครองที่มาให้กำลังใจบุตรหลานของตนเอง การจัดการประกวดมีทั้งบรรเลงคอนเสิร์ตและการแปรขบวน

ทันทีที่ไปถึงที่สนามประกวดวงโยธวาทิต ความรู้สึกแรกที่เกิดขึ้นเหมือนกับว่ากำลังจะไปชมการแข่งขันกีฬา ผู้ชมที่นั่งอยู่เต็มอัฒจันทร์มีจำนวนไม่กี่คนเท่านั้นที่สนใจการนั่งบรรเลงดนตรีของวงโยธวาทิตอยู่กลางสนามกีฬา ลีลาการอำนวยเพลงของวาทยกรไม่สามารถจะทำให้คนจำนวนนับพันอยู่ในอาการที่สำรวมพร้อมที่จะรับฟังดนตรี เสียงดนตรีในท่อนที่เบาของเพลงแทบจะไม่ได้ยินเพราะเสียงอึกทึกอื้ออึงของผู้ชมดังไปทั่วสนาม คนขายฮอทด็อก แฮมเบอร์เกอร์ น้ำอัดลมกระป๋อง ปลาหมึกย่าง เดิน- ขวักไขว่พร้อมส่งเสียงขายของมีอยู่ทั่วบริเวณที่นั่งผู้ชม หลายๆคนตั้งหน้าตั้งตาคุยกับเพื่อนที่นั่งข้างๆอย่างเมามัน บางคนก็คุยกับโทรศัพท์ บ้างก็นั่งกินขนม น้อยคนนักที่จะสนใจการบรรเลงดนตรีอย่างจริงจัง ประมาณได้ว่าในสิบคนจะมีคนสนใจการนั่งบรรเลงประกวดไม่ถึงหนึ่งคน

ความคาดหวังของนักดนตรีทุกคนคือบรรเลงบทเพลงให้คนฟัง แต่ผู้ที่เข้าชมส่วนใหญ่ไม่ได้ต้องการมาดู Concert มีความตั้งใจมาดูการแสดงประกอบดนตรีมากกว่า เมื่อการประกวดนั่งบรรเลงเสร็จสิ้น ต่อด้วยการบรรเลงดนตรีสนาม Marching & Display หรือการแปรขบวน ผู้ชมทั้งสนามให้ความสนใจชมการแปรขบวน แทบทุกคน

เกิดอะไรขึ้นกับการบรรเลงดนตรีประกวดต่อหน้าคนนับพันแต่แทบไม่มีใครสนใจฟังดนตรีอย่างจริงจัง มารยาทในการชมคอนเสิร์ตหายไปไหน นักดนตรีที่มีหัวใจของศิลปินคงจะทนไม่ได้ที่บรรเลงดนตรีแล้วคนไม่ฟัง เหตุการณ์แบบนี้ไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้น แต่เกิดมาแล้วยี่สิบกว่าปี เวลาหลายปีที่ผ่านไปเราแทบไม่ได้ให้ความสนใจกับการชมหรือฟังวงโยธวาทิตบรรเลงคอนเสิร์ต ไม่เคยมีการให้ความรู้แก่ผู้ชมในการชมดนตรีที่ดีควรเป็นเช่นไร

เหตุการณ์ ที่ผู้ชมไม่สนใจการบรรเลงคอนเสิร์ตของวงโยธวาทิต เป็นภาพหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นการสูญสลายของวัฒนธรรมการฟังดนตรีของเยาวชนไทย เราปล่อยให้เป็นอย่างนี้มานานแล้ว นานจนกระทั่งหลายคนเข้าใจว่าการดูคอนเสิร์ตไม่ต้องมีมารยาท ไม่ต้องอยู่ในพฤติกรรมที่เหมาะสม อยากทำอะไรก็ได้ การบรรเลงคอนเสิร์ตของวงโยธวาทิตในการประกวดฯ ไม่ใช่คอนเสิร์ตวงสมัยนิยม (Pop Concert) นักดนตรีต้องการสมาธิ ความเงียบเป็นสิ่งสำคัญยิ่งที่จะทำให้วงดนตรีกับผู้ฟังสามารถสื่อสารกันได้ ความเงียบเป็นสิ่งที่นักดนตรีต้องการเป็นอย่างยิ่ง เสียงทุกเสียงที่ได้ยินมีผลต่อการบรรเลงดนตรีอย่างมาก

จุดอ่อนที่ไม่อาจมองข้ามไปได้ของการจัดการประกวดรายการนี้คือ การประกวดประเภทนั่งบรรเลง หลายครั้งที่มีการทักท้วงเรื่องการบรรเลงประกวดคอนเสิร์ตกลางแจ้งกลางสนามฟุตบอล เป็นเรื่องที่ไม่มีใครที่ไหนเขาทำกันเพราะมีผลเสียมากกว่าผลดี แต่ดูเหมือนว่าแทบจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆเกิดขึ้น เหตุผลของผู้จัดอาจเป็นเรื่องของความสะดวกในการบริหารจัดการ หรือเหตุผลอื่นๆที่ไม่อาจรู้ได้ หากเป็นเพราะเพียงเหตุผลในเรื่องของความสะดวกของการจัดการ ผลที่เกิดขึ้นในการจัดการประกวดก็คือไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของการจัดการประกวดที่ตั้งไว้ตั้งแต่แรก ดนตรีไม่สามารถพัฒนาคนและคนก็ไม่สามารถพัฒนาดนตรี หากเรายังสนใจดนตรีกันเพียงเปลือกนอกเห็นเรื่องของดนตรีเป็นเรื่องฉาบฉวย ดนตรีก็ยังเป็นเพียงสิ่งบันเทิงเริงใจเท่านั้นหาได้มีสาระอื่นใดเลย

วัตถุประสงค์ของการจัดการประกวดวงโยธวาทิตนักเรียน นักศึกษา ชิงชนะเลิศแห่งประเทศไทย มีดังนี้

๑. เพื่อเพิ่มพูนความรู้ ความสามารถทางด้านศิลปการดนตรีให้แก่เยาวชน

๒. เพื่อให้สถานศึกษาก่อตั้งและพัฒนาวงโยธวาทิตประจำสถาบันสำหรับใช้บรรเลงในพิธีการที่สำคัญ ใช้ในกิจกรรมของโรงเรียน และการบริการชุมชน

๓. เพื่อส่งเสริมและพัฒนาบุคลากรด้านดนตรี เช่น ครูดนตรี นักดนตรีเยาวชน และผู้สนใจเพื่อเป็นแนวทางในการศึกษาต่อ และประกอบอาชีพต่อไป

๔. เพื่อส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนได้ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ห่างไกลยาเสพติด และอนุรักษ์วัฒนธรรมไทย สร้างเสริมลักษณะนิสัยในด้านมีระเบียบวินัย ความสามัคคี ความวิริยะ อุตสาหะและความมีน้ำใจนักกีฬา

๕. เพื่อแสดงความจงรักภักดี และสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณต่อองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว องค์ประมุขที่ทรงเป็นพระบิดาแห่งการดนตรี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯพระราชทานถ้วยรางวัล

๖. เพื่อเป็นการส่งเสริมและเผยแพร่ศิลปการดนตรีให้แพร่หลาย และยกระดับวงโยธวาทิตตามมาตรฐานสากล ให้ทัดเทียมนานาอารยประเทศเป็นแนวทางในการประกวดระดับนานาชาติและระดับโลกต่อไป

เมื่อพิจารณาตามวัตถุประสงค์ดังกล่าวแล้วสิ่งที่ควรเกิดขึ้นน่าจะเป็นดังนี้

๑. ควรจะมีกิจกรรมก่อนการประกวด และหลังการประกวดเสร็จสิ้น โดยเป็นกิจกรรมที่มุ่งเน้นสร้างความรู้และทักษะในการปฏิบัติเครื่องดนตรีในวงโยธวาทิต การประกวดเพียงอย่างเดียวไม่อาจเพิ่มพูนความรู้ ความสามารถทางด้านดนตรีได้โดยตรง การจัดอบรมเชิงปฏิบัติการ(Workshop)ในเรื่องที่มีความจำเป็น จะช่วยให้วัตถุประสงค์ในข้อแรกบรรลุเป้าหมาย บางโรงเรียนนักเรียนมีพื้นฐานทางดนตรีดีมาก ในบางโรงเรียนนักเรียนรวมไปถึงครูผู้สอนยังต้องการความรู้ที่จะพัฒนาวงของตนเองให้มีมาตรฐานที่ดีขึ้นแต่แหล่งความรู้ทางด้านนี้ค่อนข้างหายาก

๒. การส่งเสริมให้โรงเรียนมีวงโยธวาทิต และวงโยฯก็สามารถสนับสนุนให้บริการชุมชนได้ เป็นวัตถุประสงที่ดีมาก แต่ในความเป็นจริงหลายๆวงที่รวมประกวดฯ ต้องเตรียมตัวทำการฝึกซ้อมอย่างหนัก จนแทบจะไม่มีเวลาไปสนับสนุนงานบริการชุมชน มุ่งแต่จะเข้าร่วมประกวดจนลืมไปว่าการประกวดไม่ใช่จุดมุ่งหมายสูงสุดในการก่อตั้งวงโยธวาทิต ลืมไปว่าวงโยฯจะอยู่ได้ก็เพราะชุมชน ถ้าจะให้ดีควรมีรางวัลพิเศษหรือคะแนนพิเศษ สำหรับวงโยฯ ที่ให้บริการชุมชนดีเด่น ที่ผ่านมาเราไม่เคยสนใจว่าวงใดที่สนับสนุนงานของชุมชนบ้าง วงใดที่ทำวงเพื่อมุ่งที่จะประกวดเพียงอย่างเดียวจัดว่าไม่ตรงตามวัตถุประสงค์ข้อนี้

๓. เพื่อส่งเสริมและพัฒนาบุคลากรด้านดนตรี วัตถุประสงค์ข้อนี้เป็นรูปธรรมเห็นได้ชัด เพราะบุคคลากรทางดนตรีหลายคนเกิดขึ้นจากการประกวดรายการนี้ ในส่วนของการพัฒนาบุคลากรด้านดนตรีผู้จัดการประกวดเอง อาจจะไม่ถนัดเรื่องนี้โดยตรง ควรที่จะร่วมมือหน่วยงานหรือสถาบันทางดนตรีโดยกำหนดเป้าหมายให้ชัดเจนว่าจะพัฒนาด้านใดบ้างและมีแนวทางอย่างไร พัฒนาไปเพื่ออะไร? ไม่ใช่พัฒนาเพียงเพื่อการประกวดเท่านั้น

๔. ผู้จัดการประกวด กำหนดให้มีเรื่องของการอนุรักษ์วัฒนธรรมไทย ในการประกวดก็เลยกำหนดให้มีการบรรเลงบทเพลงไทยในการประกวดนั่งบรรเลง ในส่วนของการแปรขบวนกำหนดให้มีการแสดงสืบสานวัฒนธรรมไทย เป็นเรื่องที่สร้างความลำบากใจให้กับครูวงโยธวาทิตพอสมควรในช่วงแรกๆที่มีกำหนดระเบียบนี้ ในปัจจุบันเรื่องนี้ไม่ใคร่เข้มงวด ในการแปรขบวนมีเพียงเพลงที่บรรเลงเท่านั้นที่แสดงถึงความเป็นไทย แต่การแสดงประกอบไม่จำเป็นต้องมารำไทยเหมือนแต่ก่อน(เรื่องการรำครูวงโยไม่ฯถนัด) ส่วนที่เป็นได้ชัดเจนในเรื่องการอนุรักษ์วัฒนธรรมไทยก็คือการบรรเลงเพลงไทย ทั้งโหมโรง และเพลงเถา หากการประกวดนี้ไม่บังคับให้บรรเลงเพลงไทย เพลงไทยที่บรรเลงโดยวงโยธวาทิตก็คงจะไม่มีให้ฟังแล้ว เพราะไม่มีที่ไหนจัดประกวดแบบนี้ ข้อน่าสังเกตอย่างหนึ่งเวลาวงโยบรรเลงเพลงไทยผู้ชมน้อยคนนักจะสนใจ เรื่องนี้หากปล่อยไว้อีกไม่นานเพลงไทยสำหรับวงโยฯ อาจเป็นเพียงตำนานในไม่ช้า

๕. วงที่เข้าประกวดจะต้องบรรเลงเพลงพระราชนิพนธ์หนึ่งเพลง ซึ่งบทเพลงพระราชนิพนธ์ที่นำมาประกวดส่วนใหญ่จะเรียบเรียงเสียงประสานให้สำหรับบรรเลงในหอประชุม ที่เหมาะกับการใช้แสดงคอนเสิร์ต เช่นหอประชุมศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย การบรรเลงกลางแจ้งจะต้องมีการจัดการเรื่องของระบบเสียงเป็นอย่างดี ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะเครื่องดนตรีทุกชิ้นเป็น Acoustic ไม่ใช่เครื่องดนตรีไฟฟ้า และการแสดงกลางแจ้งก็ไม่อาจจะควบคุมเรื่องของเสียงรบกวนต่างๆได้ โดยเฉพาะเสียงที่มาจากผู้ชม

๖. เพื่อยกระดับวงโยธวาทิตตามมาตรฐานสากล วัตถุประสงค์ในข้อนี้จะเป็นไปตามที่ตั้งไว้ ได้อย่างไร ก่อนอื่นต้องสามารถอธิบายความหมายของคำว่า “มาตรฐานสากลของวงโยธวาทิต” ให้ได้เสียก่อน รูปแบบของวงโยธวาทิตที่เป็นมาตรฐานสากลควรจะเป็นแบบของอเมริกาหรือยุโรป ในสมัยแรกเริ่มที่จัดการประกวดเราทำตามแบบยุโรป แต่ในปัจจุบันเราทำตามแบบอเมริกา ทั้งรูปแบบการบรรเลง การเดิน การแปรขบวน รวมไปถึงการแต่งกาย คำว่ามาตรฐานสากลควรที่จะพิจารณาในเรื่องของดนตรีเป็นอันดับแรก การให้คะแนนในการประกวดควรเน้นเรื่องมาก่อนเพื่อที่จะยกดับให้เทียบเท่าสากล

“การประกวดวงโยธวาทิตภาพสะท้อนวัฒนธรรมการฟังดนตรีของเยาวชนไทย” เรื่องนี้เป็นสิ่งที่เราไม่อาจนิ่งเฉยได้ หากผู้จัดการประกวดจะยังคงรูปแบบการประกวดเช่นนี้ต่อไปก็คงแก้ไขอะไรไม่ได้ การแสดงคอนเสิร์ตกลางแจ้งกลางสนามฟุตบอลเหมาะสำหรับ Pop Concert มากกว่า การบรรเลงคอนเสิร์ตโดยวงโยธวาทิตควรจะบรรเลงในหอประชุมสำหรับการแสดงดนตรีจะดีกว่า

การประกวดวงโยธวาทิตซึ่งจัดโดยสำนักงานพัฒนาการกีฬาและนันทนาการ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ร่วมกับธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) ถือได้ว่าเป็นต้นแบบของการประกวดวงโยธวาทิตในประเทศไทย จนได้มีหน่วยงานทั้งรัฐ และเอกชนเห็นความสำคัญและนำเอาจุดอ่อนของการจัดการประกวดนี้มาจัดเป็นการประกวดแปรขบวนเพียงอย่างเดียวคือการจัดการประกวดโดยบริษัทสยามดนตรียามาฮ่า แล้วก็เกิดการประกวดคอนเสิร์ตเพียงอย่างเดียวจัดโดยวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ร่วมกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย

ผู้เขียนมีความรักความผูกพันธ์กับการประกวดวงโยธวาทิตมากว่ายี่สิบปีแล้ว และอยากเห็นการประกวดรายการนี้มีส่วนช่วยพัฒนาเยาวชนไทย ให้รักในเสียงดนตรี รู้จักดนตรีว่าไม่ใช่เพียงสิ่งบันเทิงใจเท่านั้น ยังมีสาระอื่นๆที่ดนตรีช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของมนุษย์ และยังมีความหวังว่าการประกวดรายการนี้จะเป็นส่วนหนึ่งที่สร้างวัฒนธรรมในการฟังดนตรีที่ดีแก่เยาวชนของไทย

 

 

 

 

Hosted by www.Geocities.ws

1