ดุลยภาพ

ฉัตรชัย ผู้ปฏิเวธ

ร่างกายของคนไม่อาจดำรงชีวิตอยู่ได้หากขาดดุลยภาพ องค์กรไม่อาจดำเนินการต่างๆได้ประสบความสำเร็จหากขาดดุลยภาพ โลกของเราอาจอยู่ได้ไม่นานนักหากขาดดุลยภาพ คำว่าดุลภาพสามารถเทียบเคียงกับภาษาอังกฤษได้ความหมายตรงกับ Balance ดุลยภาพเป็นสิ่งที่สามาถนำมาเกี่ยวข้องกับทุกๆเรื่องได้

หากเราได้เห็นเครื่องเสียงรุ่นเก่าๆที่เป็นระบบสเตริโอ มีลำโพงสองข้างคือซ้ายและขวา เราจะพบกับปุ่ม Balance อยู่ใกล้ๆกับปุ่ม Volume และอาจจะพบปุ่ม Tone สำหรับปรับเสียงทุ้มแหลม บางรุ่นยังมีปุ่ม Equalizer มาให้อีกหลายปุ่ม ปุ่มต่างๆเหล่านี้หลายๆคนรู้จักกันดีว่ามันมีไว้ทำไม กล่าวโดยสรุปคือมีไว้ปรับเสียงให้ได้อรรถรส ในการฟังดนตรี นักฟังเพลงมีความต้องการได้ยินเสียงต่างๆ อย่างครบถ้วน แต่ลำโพงหรืออุปกรณ์เครื่องเสียงไม่สามารถตอบสนองได้กับทุกเสียง ปุ่มต่างๆจึงมีไว้ให้ปรับเพื่อให้เกิดเสียงที่ดีที่สุดสามารถสนองความต้องการของผู้ฟังได้

ปัญหาหนึ่งของวงโยธวาทิตในการบรรเลงบทเพลงต่างๆคือเรื่องของดุลภาพ (Balance) บางคนอาจใช้คำว่าความสมดุลของเสียง การประกวดวงโยธวาทิตรายการต่างๆ หัวข้อหนึ่งในการให้คะแนนคือเรื่องของ Balance ในที่นี้ผู้เขียนจะใช้คำว่า “ดุลยภาพ” แทน “Balance” หากเราเปิดพจนานุกรมภาษาอังกฤษคำว่า Balance มีความหมายว่า คันชั่ง สติ ความสุขุม เข้าสู่ดุลภาพ หรือดุลภาพ เช่น “Balance of nature” หมายความว่า “ดุลแห่งธรรมชาติซึ่งรักษาให้สิ่งต่างๆ คงอยู่ร่วมกันได้”

ดุลยภาพมิใช่หมายถึง ความเสมอภาคหรือเท่าเทียมกัน แต่หมายถึง การเข้ากันได้ หรืออยู่ร่วมกันได้ ในการบรรเลงดนตรีร่วมกันหลายๆคน จะบรรเลงได้ดีขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง บางวงมีนักดนตรีที่เก่งทุกคน แต่บรรเลงได้ไม่ดีเท่าที่ควร ในทางกลับกัน วงดนตรีที่มีนักดนตรีเก่งบ้างไม่เก่งบ้าง สามารถบรรเลงได้ดี สร้างความประทับใจให้กับผู้ฟังได้

วงดนตรีที่มีแต่นักดนตรีที่เก่งแต่บรรเลงได้ไม่ดี ถือเป็นเรื่องปกติเพราะธรรมชาติของคนเก่ง ก็คือต่างคนต่างไม่ยอมกันเพราะต่างคนก็ต่างเก่ง ทรัมเป็ตแนว ๑ มีนักดนตรีเล่นสามคนทุกคนเก่งหมด ต่างคนต่างบรรเลงไม่ยอมฟังกัน จากทรัมเป็ตหนึ่งแนวกลายเป็นทรัมเป็ตสามแนวไปเลย ในทางตรงกันข้ามวงดนตรีที่มีนักดนตรีเก่งบ้างไม่เก่งบ้างแต่สามารถบรรเลงออกมาได้อย่างไพเราะ ก็เพราะวงดนตรีประเภทนี้มีดุลยภาพ นักดนตรีรู้ตัวเองว่าต้องบรรเลงอย่างไร

การบรรเลงดนตรีร่วมกันในวงโยธวาทิต หรือวงดนตรีทุกๆประเภท ผู้ที่จะสร้างดุลยภาพให้กับวงดนตรีคือ ผู้ควบคุมวง หรือผู้อำนวยเพลง หากผู้อำนวยเพลงไม่เข้าใจคำว่าดุลยภาพ ก็ไม่สามารถสร้างดุลภาพให้เกิดขึ้นได้

แต่ก่อนจะเขียนเพลงให้วงโยธวาทิตบรรเลง ผู้เขียนต้องไปซื้อกระดาษสำหรับเขียน Score จากร้านศึกษาภัณฑ์ราชดำเนินสาขาอื่นไม่มีขาย ในหนึ่งซองมี ๑๐๐ แผ่น ราคา ๘๐ บาท ซื้อมาหนึ่งซองเขียนได้หลายเพลง เมื่อเขียน Score เสร็จ ก็ต้องมาลอกโน้ตแยกแนวให้แต่ละเครื่องดนตรีเล่น เป็นเรื่องสนุกมากหากมีใจรัก บางครั้งเขียนเพลงตั้งสองทุ่มถึงสองโมงเช้า ไม่ได้หลับไม่ได้นอน ต่อมาคอมพิวเตอร์เริ่มมีบทบาทมากขึ้นในการจัดพิมพ์โน้ตเพลงโปรแกรมแรกที่ได้ใช้คือ Cake walk ซึ่งจริงแล้วโปรแกรมนี้ไม่ได้มีไว้สำหรับจัดพิมพ์โน้ตโดยตรง ต่อมาได้ฝึกใช้โปรแกรม Encore โปรมแกรมเขียนโน้ตสมัยก่อนใช้สำหรับพิมพ์จริงๆ เวลาพิมพ์โน้ตเสร็จแล้วต้องการฟังเพลงที่เขียน แทบหาความไพเราะไม่ได้เลย เพราะคอมพิวเตอร์ไม่ได้มีความรู้เรื่องของสุนทรียภาพ ปัจจุบันผู้เขียนใช้โปรแกรม Finale คอมพิวเตอร์เริ่มฉลาดมากขึ้นเริ่มบรรเลงได้เหมือนคนจริงๆมากขึ้น มีความไพเราะมากกว่าแต่สมัยแรกๆ แต่ถึงอย่างไรคอมพิวเตอร์ก็ยังคงเป็นคอมพิวเตอร์ ผู้เขียนเพลงต้องกำหนดรายละเอียดของโน้ตแต่ละตัวว่าจะให้บรรเลงออกมาอย่างไร ไม่เช่นนั้นก็จะบรรเลงออกมาทื่อๆ ไม่ไพเราะขาดดุลภาพ ดุลยภาพของเสียงดนตรีที่บรรเลงรวมกันเป็นวงเกิดขึ้นได้จากคนเป็นผู้สร้าง

ในครั้งนี้นำโน้ตเพลง “ลาวดวงเดือน” สำหรับ Brass Ensemble มาให้ท่านผู้อ่านฝึกวิเคราะห์ว่าจะทำอย่างไรให้เกิดดุลยภาพในการบรรเลง ครูวงโยธวาทิตหลายคนได้โน้ตเพลงมาก็นำมาเล่นเลยไม่ได้ศึกษาวิเคราะห์รูปแบบของเพลงให้เข้าใจก่อนที่จะนำมาบรรเลง นักดนตรีก็บรรเลงออกมาไม่ต่างจากคอมพิวเตอร์เล่นดนตรี

ดูจาก Score จะเห็นว่าแนวที่เป็นทำนองหลัก(Melody) จะอยู่ที่แนวของทรัมเป็ต ๑ และแนวของทรัมเป็ต ๒ เป็นแนวที่มาพร้อมกับแนว ๑ เกือบตลอด เพราะฉะนั้นทรัมเป็ตทั้งสองแนวนี้จะต้องสร้างสมดุลให้ได้ก่อน ที่จะดูแนวอื่นๆ สร้างสมดุลในที่นี้คือทำอย่างไรให้ทรัมเป็ตทั้งสองแนวบรรเลงได้อย่างไพเราะน่าฟัง

ในส่วนของทรอมโบน บาริโทน และทูบา เป็นส่วนของ Rhythm ประกอบด้วยเบส และ คอร์ดเกือบตลอดเพลง โดยแนวทรอมโบนจะสองเสียงบนของคอร์ด และบาริโทนบรรเลงเสียงล่าง หากทรอมโบนแนวบนบรรเลงดังเกินไปจะไม่ใคร่ดีเท่าไร เพราะจะไปรบกวนแนวทรัมเป็ต และทำให้ขาดสมดุลกับแนวล่างทั้งหมด

แนวของฮอร์นเป็นแนวที่บรรเลงไม่เหมือนกับแนวอื่นๆเลย หากบรรเลงเฉพาะแนว Rhythm กับแนวฮอร์น จะเกิดบทเพลงใหม่ขึ้นอีกหนึ่งเพลง ฟังดูแล้วแทบจะไม่รู้เลยว่าบรรเลงเพลงลาวดวงเดือนอยู่ แนวของฮอร์นเป็นแนว Counterpoint ที่สามารถสร้างสีสรร สร้างความไพเราะให้กับเพลงได้อย่างดียิ่ง หากบรรเลงได้สมดุลกับ Melody และแนว Rhythm

การที่เสียงตั้งแต่สองเสียงขึ้นไปที่เกิดขึ้นพร้อมกันจะเกิดสมดุลสิ่งที่ต้องคำนึงถึงได้แก่ Tone quality, Intonation, Articulation, Dynamic, Breathing, เรื่องของอารมณ์เพลง การตีความบทเพลง สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นได้จากประการณ์ทางดนตรีหรือการเรียนรู้จากครูผู้สอน หากครูไม่สอนให้นักเรียนรู้นักเรียนอาจใช้เวลานานกว่าที่จะเข้าใจในหัวข้อดังกล่าว ทำให้การบรรเลงรวมวงไม่ดีเท่าที่ควร เรื่องเหล่านี้หากมีโอกาสจะเขียนในส่วนของรายละเอียดต่อไป

เมื่อผู้บรรเลงเข้าใจคำว่าดุลยภาพ ก็จะสามารถบรรเลงแนวของตนเองให้ออกมาพร้อมกับแนวอื่นๆได้อย่างไพเราะน่าฟัง ต่างกับคอมพิวเตอร์ ที่ทำได้แต่เสียงแต่ขาดวิญญาณ

@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@

 

 

Hosted by www.Geocities.ws

1