ครั้งหนึ่งในวงโยธวาทิต

ฉัตรชัย ผู้ปฏิเวธ

ครั้งหนึ่งในชีวิตนักเรียนวงโยธวาทิตของผม มีเรื่องที่ทำให้ต้องจดจำอย่างไม่มีวันจะลืมได้ง่ายๆ ไอ้เชษเป็นนักเรียนรุ่นเดียวกับผม มันเป่าแซ็กโซโฟน ส่วนตัวผมเองเป่าทรอมโบน เราเล่นดนตรีมาด้วยกันจนผมขึ้นชั้น ม.๕ ในปีนี้วงโยธวาทิตของโรงเรียนมีโครงการที่จะเข้าร่วมการประกวด เหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดมาก่อนได้เกิดขึ้นในช่วงที่เราทำการเข้าค่ายฝึกซ้อมดนตรีที่โรงเรียน ทำให้ผมนึกถึงคำพูดคำหนึ่งที่ว่า “ไม่เชื่อ! อย่าลบหลู่”

เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๗ ผมได้เข้าเรียนชั้น ม.๑ ในโรงเรียนของรัฐแห่งหนึ่ง เป็นโรงเรียนที่ไม่ใหญ่มากนัก ตั้งอยู่ติดกับวัดประจำหมู่บ้าน ผมได้สมัครเข้าเป็นนักเรียนวงโยธวาทิต ครูเลือกให้ผมเล่นทรอมโบน เครื่องดนตรีของโรงเรียนอยู่ในสภาพค่อนข้างเก่าหลายชิ้นมีอายุไม่ต่ำกว่า ๒๐ ปี ในห้องดนตรีมีหิ้งองค์ฤาษีพ่อแก่ ตั้งอยู่พร้อมกระถางธูปและดอกไม้บูชา มองต่ำลงมาใต้หิ้งมีเครื่องดนตรีโบราณ เป็นเบลไลล่าตัวใหญ่ๆกว่าขนาดทั่วไป แขวนอยู่ติดกับผนังห้อง ที่สำคัญที่เบลไลล่าตัวนี้มีผ้ายันต์สีเหลืองติดอยู่ ครูห้ามนักเรียนเล่นเครื่องดนตรีชิ้นนี้อย่างเด็ดขาด โดยที่ไม่ได้อธิบายเหตุผลใดๆทั้งสิ้น ผมเคยถามครูถึงเหตุผลที่ไม่นำเครื่องดนตรีชิ้นนี้มาใช้ในวง ครูก็ไม่ได้อธิบายให้ผมเข้าใจ ได้แต่เน้นย้ำว่าห้ามเล่นเครื่องดนตรีชิ้นนี้

วันปฐมนิเทศน์นักเรียนวงโยธวาทิตใหม่ ครูให้นักเรียนรุ่นพี่มาพูดถึงข้อปฏิบัติต่างๆของนักเรียนวงโยธวาทิต สิ่งที่เน้นย้ำนอกจากเรื่องให้นักเรียนมีความเคารพต่อครู ต่อเครื่องดนตรี และนักเรียนรุ่นพี่ อีกสามสิ่งที่นักเรียนต้องให้ความเคารพคือ องค์พ่อแก่ในห้องดนตรี ศาลพระภูมิหรือที่ทุกคนในโรงเรียนเรียกว่าหลวงปู่ตั้งอยู่หน้าโรงเรียน และศาลเจ้าที่ซึ่งตั้งอยู่บริเวณหลังโรงเรียน ศาลหลวงปู่จะมีเสาเดียวเช่นเดียวกับศาลพระภูมิทั่วไป ส่วนศาลเจ้าที่จะมีสี่เสา ในโรงเรียนมีศาลเจ้าที่อยู่ถึงสองศาล มีเสียงร่ำลือว่าใครที่ทำของหายในโรงเรียนถ้าอยากหาเจอให้ไปใหว้และขอให้หลวงปู่ช่วยมักจะได้ของคืน นักเรียนชั้น ม.๖ หลายคนมาบนหลวงปู่ขอให้สอบเข้ามหาวิทยาลัยได้ พอประกาศผลสอบก็จะมีนักเรียนหลายคนมาวิ่งแก้บนในโรงเรียน

“นายเชื่อเรื่องไร้สาระหรือเปล่าวะ” ไอ้เชษถามผม

“ถ้าหมายถึงเรื่องที่รุ่นพี่เล่าให้ฟัง ฉันเชื่อ ถ้านายไม่เชื่อเรามาพิสูจน์กันดีไหม” ผมท้าทายไอ้เชษ

“พิสูจน์ยังไงล่ะ”

“นายก็ไปไหว้หลวงปู่แล้วขออะไรก็ได้ หากได้ตามที่ขอแสดงว่าศักดิ์สิทธิ์จริง” ผมพูดเล่นๆไม่คิดว่าไอ้เชษจะสนใจ

หลังเลิกเรียนผมเห็นไอ้เชษเดินไปที่ศาลหลวงปู่แล้วนั่งลงไหว้ ผมเดินเข้าไปหาพร้อมกับถามว่าไปขออะไรหลวงปู่ ไอ้เชษไม่ตอบ แต่ได้พูดว่า “แล้วนายจะรู้ว่าที่เราได้ฟังรุ่นพี่เล่าให้ฟังเป็นเรื่องไร้สาระหรือเรื่องจริง”

ผ่านไปสามวัน เลิกเรียนแล้วผมรีบไปที่ห้องดนตรีสากล ผมรู้สึกประหลาดใจมากที่เห็นเครื่องดนตรีใหม่วางอยู่เต็มห้อง ครูบอกว่า ผู้อำนวยการเห็นเครื่องดนตรีวงโยธวาทิตของโรงเรียนเก่ามากแล้วจึงซื้อเครื่องใหม่ให้ทั้งวง ทั้งผมและไอ้เชษได้เล่นเครื่องดนตรีชิ้นใหม่เรารู้สึกตื่นเต้นและดีใจมาก

“ขอให้พวกเราตั้งใจซ้อมให้ดี บรรเลงได้ไพเราะเมื่อไร ครูจะพาไปบรรเลงหน้าศาลหลวงปู่” ครูพูดกับนักเรียนวงโยฯ โดยไม่ได้อธิบายเหตุผลให้รู้ แต่นักเรียนทุกคนก็ไม่มีข้อสงสัย ตั้งใจฝึกซ้อมตามที่ครูบอก ผ่านไปสามเดือนเราสามารถบรรเลงเพลงไทยง่ายๆได้แล้ว ครูไม่ลืมทำตามที่เคยพูดไว้ พานักเรียนไปบรรเลงเพลงที่หน้าศาลหลวงปู่

คำสอนของครูอย่างหนึ่ง ที่ครูมักจะเน้นย้ำเสมอคือเรื่องของความศรัทธา หมายถึงความเชื่อ หากศรัทธาในสิ่งที่ดีสิ่งที่ถูกต้อง ชีวิตก็จะดีด้วย หากศรัทธาในสิ่งที่ไม่ดี สิ่งที่ผิด ชีวิตเราก็จะแย่ ครูพยายามปลูกฝังลักษณะของนักเรียนดนตรีที่ดี เช่นมีวินัยในการฝึกซ้อม มีความตั้งใจ มีความอดทน รู้จักแก้ปัญหา ครูเชื่อมั่นว่าดนตรีที่ดีสามารถสร้างให้นักเรียนเป็นคนที่คุณภาพได้ คำขวัญประจำวงโยธวาทิตของเราคือ “ดนตรีคือชีวิต มุ่งคิดพัฒนา แก้ปัญหาด้วยปัญญา สร้างคุณค่าด้วยเสียงเพลง” ครูบอกว่าตั้งใจเล่นดนตรีให้ดีถึงแม้ว่าเรียนจบไปแล้วจะไม่ได้เล่นดนตรีก็ตาม แต่ประสบการณ์ในช่วงชีวิตที่อยู่ในวงนั้นมีค่ายิ่งสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับชีวิตจริงได้ นอกจากครูจะสอนให้เล่นดนตรีแล้วครูยังสอนให้นักเรียนรู้จักการทำงานร่วมกัน การอยู่รวมกันในวง และเรื่องมารยาทเรื่องพฤติกรรมต่างๆที่นักเรียนควรปฏิบัติ

“เป็นนักเรียนวงโยธวาทิต ต้องทำตัวให้คนรัก อย่าทำให้เขาเกลียด” ครูพูดกับนักเรียนในวง

“ทำยังไงครับครู” ไอ้เชษสงสัย

“ไม่ทำให้ตัวเองตกต่ำ และไม่ทำให้ผู้อื่นเดือดร้อน ห้ามโดดเรียนมาซ้อมดนตรี พูดจาสุภาพเรียบร้อย ตั้งใจเรียนเหมือนที่ตั้งใจเล่นดนตรี นักเรียนดนตรีไม่มีอภิสิทธิ์เหนือคนอื่น ต้องปฏิบัติตามกฎข้อบังคับของโรงเรียน” ครูตอบให้ไอ้เชษหายสงสัย

….ผ่านไป ๕ ปีวงโยธวาทิตของโรงเรียนมีพัฒนาการที่ดีขึ้นมาก บทเพลงยากๆสามารถบรรเลงได้หมด ไปออกงานที่ไหนคนก็ชื่นชม ทั้งในเรื่องระเบียบวินัยและเรื่องความสามารถในการบรรเลงดนตรี ครูตัดสินใจส่งวงเข้าร่วมประกวดวงโยธวาทิต ผู้อำนวยการก็ให้การสนับสนุนเป็นอย่างดี รวมไปถึงผู้ปกครองของนักเรียนก็ให้ความร่วมมือเต็มที่

ก่อนการประกวดพวกเราต้องเข้าค่ายฝึกซ้อมดนตรีช่วงปิดเทอมเล็กในเดือนตุลาคม นักเรียนทุกคนตื่นเต้นมากกับการที่จะได้มาพักค้างแรมที่โรงเรียน ในหนึ่งสัปดาห์นักเรียนจะได้กลับบ้านพร้อมกันหนึ่งวันคือในวันอาทิตย์ นอกจากนั้นจะต้องอยู่ที่โรงเรียนตลอด การฝึกซ้อมเป็นไปอย่างเข้มข้น ตารางการฝึกซ้อมถูกกำหนดไว้ไม่ให้มีช่องว่าง ตื่นเช้าตีห้าครึ่ง จะมีนักเรียนรุ่นพี่มานำออกกำลังกาย เสร็จแล้วอาบน้ำ แปดโมงเช้าทานข้าว เก้าโมงฝึกซ้อมรวมวง สิบโมงฝึกระเบียบแถว จนเที่ยงทานอาหารกลางวัน ช่วงบ่ายแยกซ้อมตามกลุ่มเครื่องมือ สามโมงเย็นซ้อมเดินแถว และแปรขบวน ห้าโมงเย็นให้นักเรียนเล่นกีฬา หกโมงเย็นทานข้าว อาบน้ำสองทุ่มฝึกซ้อมรวมวง สี่ทุ่มเข้านอน การฝึกซ้อมเป็นไปอย่างราบรื่นนักเรียนทุกคนตั้งใจดีมาก

ผ่านไปแล้ว ๕ วันของการเข้าค่ายฝึกซ้อมในวันพรุ่งนี้ซึ่งเป็นวันอาทิตย์นักเรียนจะได้กลับบ้านหนึ่งวัน แล้วมาเข้าค่ายอีกในวันจันทร์ บรรยากาศในวันนี้ดูแปลกๆบอกไม่ถูก ท้องฟ้าครึ้มแต่ไร้เมฆฝน ช่วงนี้เริ่มเข้าฤดูหนาวแล้วลมหนาวพัดมากระทบตัว ทำให้รู้สึกเย็นสะท้านไปทั่วร่าง ต้นไม้ใหญ่หน้าโรงเรียนถูกลมพัดใบที่แห้งกรอบร่วงอยู่เต็มพื้นสนามของโรงเรียน นักเรียนหลายคนดูไม่ร่าเริงเหมือนวันแรกๆของการเข้าค่าย อาจเป็นเพราะร่างกายกำลังปรับสภาพกับการฝึกซ้อมอย่างหนักที่ผ่านมา

“พี่ภาค” นักเรียนรุ่นพี่ที่จบไปแล้วแต่กลับมาช่วยครูสอนมักจะมีเรื่องต่างๆมาเล่าให้น้องฟังเป็นประจำ โดยเฉพาะเรื่อง”ผี” หากพี่ภาคเล่าเรื่องผีทีไรน้องๆต้องมารุมล้อมกันตั้งใจฟังกันทุกครั้ง หกโมงเย็นหลังจากอาบน้ำแล้ว วันนี้พี่ภาคบอกว่าจะมีเรื่องเล่าให้ฟัง บรรดารุ่นน้องขาประจำทั้งหลายพากันมานั่งฟังอย่างตั้งใจ พระอาทิตย์ตกดินแล้ว ลมเย็นพัดมา ประกอบกับเสียงของแมลงกลางคืน ชวนสร้างให้บรรยากาศดูวังเวงพิกล

“พวกนายรู้ไหมว่าเบลในห้องดนตรี ที่ติดยันต์สีเหลืองอยู่ทำไมครูถึงไม่ให้ใครเล่น” พี่ภาคเริ่มเล่าเรื่องด้วยน้ำเสียงจริงจัง

“ไม่รู้ครับ พี่ช่วยเล่าให้ฟังหน่อยผมอยากรู้” ไอ้เชษ รีบถามด้วยความอยากรู้

“เบลตัวนั้น ไม่ใช่เบลธรรมดา ที่ด้านบนจะมีที่สำหรับติดสัญลักษณ์หัวนกอินทรีย์ เสียงของเบลตัวนี้จะมีความก้องกังวาลมากเสียงที่ตีออกมาสามารถได้ยินไปไกลถึงสองกิโลเมตร แต่เบลตัวนี้มีน้ำหนักค่อนข้างมาก”

“แล้วทำไมครูถึงไม่ให้เล่นล่ะครับ”

“เรื่องมันมีอยู่ว่า…” พี่ภาคหยุดหายใจแล้วเริ่มเล่าต่อ

“เบลไลล่า ตัวนี้มีนักเรียนเล่นมาแล้วหกคน แต่ละคนที่เล่นเบลตัวนี้จะต้อง…” ยังไม่ทันที่จะเล่าจบไฟในห้องก็ดับวูบ ทุกๆคนตกใจสุดขีด นักเรียนหญิงกรีดเสียงร้องดังลั่น ชั่วอึดใจเดียวไฟในห้องก็สว่างอีกครั้ง ครูรีบขึ้นมาดูที่ห้องดนตรีตามเสียงร้องที่ได้ยินไปถึงโรงอาหาร ทุกอย่างดูเหมือนจะปกติ มีแต่เพียงไอ้เชษเท่านั้นที่นอนหมดสติอยู่กับพื้นห้อง ครูและรุ่นพี่ช่วยกับปฐมพยาบาลกันอยู่สักพัก แต่ไม่มีทีท่าว่าจะอาการดีขึ้น ครูจึงตัดสินใจนำตัวไอ้เชษไปส่งโรงพยาบาล

ระหว่างทางไปโรงพยาบาล พวกรุ่นพี่ต้องช่วยกับจับแขนจับขาไอ้เชษ ถึงจะไม่ได้สติไม่ลืมตาแต่มันก็พยายามสะบัดแขน สะบัดขาเหมือนกับไม่อยากให้พาไปโรงพยาบาล พอไปถึงโรงพยาบาลหมอตรวจแล้วไม่พบอาการผิดปกติใดๆ ครูได้โทรศัพท์แจ้งให้ผู้ปกครองทราบแล้วเดินทางกลับโรงเรียน ถึงโรงเรียนครูนัดหมายให้ทุกคนรวมวงเวลาสามทุ่ม

สามทุ่มตรงทุกคนมาพร้อมกันที่ห้องซ้อม แล้วเข้านั่งประจำที่ยกเว้นไอ้เชษที่นอนอยู่ใกล้ๆกับวง ทุกคนเทียบเสียงเรียบร้อยพร้อมที่จะบรรเลง ครูเตรียมให้คิวเตรียมบรรเลง ทันใดนั้นทุกคนในวงต้องหยุดชะงัก เมื่อได้ยินเสียงพูดดังขึ้น

“พวกมึงมาทำอะไรกัน” ทุกคนหันไปมองที่มาของเสียง เห็นไอ้เชตลุกพรวดขึ้นทั้งๆที่หลับตาอยู่ และพูดว่า

“พวกมึงมาทำอะไรกันที่นี่” นักเรียนทุกคนท่าทางหวาดผวา ไอ้เชษเปลี่ยนไป ทั้งท่าทางและน้ำเสียงที่ดุดัน สำเนียงแปลกๆไม่เหมือนคนปกติทั่วไป ครูบอกให้นักเรียนเก็บเครื่องดนตรี ไม่มีใครที่อยากจะซ้อมต่อ ทุกคนมานั่งรวมตัวกันกลางห้อง

“ใครเป็นหัวหน้าพวกมึง” เสียงพูดนั้นยังคงดังมาจากปากไอ้เชษ ซึ่งไม่ได้สติ ครูไม่ได้พูดอะไร แต่ได้หยิบสมุดสวดมนต์ขึ้นมาและให้พวกเราสวดตามกันทุกคน เสียงหัวเราะแสดงความพอใจดังมาจากไอ้เชษ พวกเรายังคงสวดมนต์ต่อ ผ่านไปเกือบชั่วโมงสวดมนต์จนจบ ไอ้เชตยังคงหัวเราะแล้วพูดว่า

“พวกมึงหยุดทำไม สวดต่อไปสิวะ”

“ได้เวลานักเรียนต้องเข้านอนแล้ว พรุ่งนี้ทุกคนต้องตื่นแต่เช้า” ครูตอบด้วยเสียงราบเรียบ แต่ดังฟังชัดเจน

“พวกมึง มาทำเสียงดังอึกทึก ไม่นึกเกรงใจกูหรือวะ” การสนทนาเริ่มขึ้นระหว่างครูกับใครก็ไม่รู้ในร่างไอ้เชษ

ผ่านไปเกือบสิบนาที นักเรียนไม่ได้รู้ว่าครูพูดอะไรกับไอ้เชษ

“กูเหนื่อยแล้ว” ไอ้เชษเดินไปที่ประตูห้อง ทุกสายตาจ้องมองตาม

ร่างไอ้เชษล้มลงกับพื้น พวกนักเรียนรุ่นพี่รีบเข้าไปประครอง ทันทีที่ได้สติคำถามแรกที่ออกจากปากไอ้เชษคือ

“ผมเป็นอะไรไปครับครู!”

ครูสั่งให้ทุกคนแยกย้ายไปเข้านอน พร้อมกับนัดกำหนดการฝึกซ้อมในวันพรุ่งนี้

เช้าวันเสาร์มาถึง การฝึกซ้อมดำเนินไปตามปกติ จนถึงเวลาบ่ายสามโมง ก่อนที่จะให้นักเรียนเดินทางกลับบ้าน ครูได้นัดหมายนักเรียนทุกคนมารวมกัน เพื่อชี้แจงเรื่องการเข้าค่ายในสัปดาห์ต่อไป

“ในหนึ่งสัปดาห์ที่ผ่านมา ที่เราได้เข้าค่ายอยู่ร่วมกัน มีอยู่หลายเรื่องที่พวกเราต้องแก้ไขปรับเปลี่ยนพฤติกรรมต่างๆให้ดีขึ้น ทั้งเรื่องกริยามารยาท การพูดจา การให้ความเคารพสถานที่ ทุกๆที่มีประวัติศาสตร์ มีความเป็นไป มีเหตุการณ์ต่างๆที่เคยเกิดขึ้น ในวันจันทร์ขอให้ทุกคนเตรียม มาลัย ดอกไม้ธูปเทียนมาด้วย ครูจะพาพวกเราไปสักการะหลวงปู่ ไปไหว้เจ้าที่ และไหว้พ่อแก่ที่ห้องดนตรีก่อนทำการเข้าค่ายฝึกซ้อมทุกครั้ง” ครูพูดจบ ไม่มีข้อสงสัยใดๆจากนักเรียนเหมือนว่าทุกคนจะเข้าใจที่ครูพูดดี

เช้าวันจันทร์นักเรียนวงโยธวาทิตเริ่มเข้าค่ายอีกครั้ง การฝึกซ้อมเป็นไปปกติ แต่สิ่งที่เพิ่มขึ้นจากตางรางการฝึกซ้อมคือ ก่อนเข้านอนครูจะพานักเรียนไปยังศาลหลวงปู่หน้าโรงเรียน ศาลเจ้าที่หลังโรงเรียน และพ่อแก่ ที่ห้องดนตรี ทำการสักการะ ขอขมาในสิ่งที่ล่วงเกินโดยรู้ไม่รู้ตัว และขอพรให้นักเรียนทุกคนที่มาเข้าค่ายฝึกซ้อมดนตรี

การเข้าค่ายเป็นไปอย่างราบรื่น ไม่มีเหตุการณ์ประหลาดเกิดขึ้นอีกเลย จนกระทั่งวันสุดท้ายของการฝึกซ้อมมาถึง พี่ภาค บอกว่าจะมีเรื่องเล่าให้ฟังอีก นักเรียนหลายคนพากันมารุมล้อมจิตใจจดจ่อกับเรื่องของพี่ภาค

“เล่าเรื่องเบลไลล่า ต่อจากครั้งก่อนสิพี่ ผมอยากฟัง” ไอ้เชษยังไม่เข็ด

“เรื่องมันมีอยู่ว่า…” พี่ภาคหยุดหายใจแล้วเริ่มเล่าต่อ

“เบลไลล่า ตัวนี้มีนักเรียนเล่นมาแล้วหกคน แต่ละคนที่เล่นเบลตัวนี้จะต้อง…” ยังไม่ทันที่จะเล่าจบทุกคนก็ต้องสะดุ้งกับเสียงที่ดังขึ้น เป็นเสียงที่ทุกคนเคยได้ยิน

“ไอ้ภาค เอ็งเล่าอะไรให้น้องๆฟังอีกว่ะ” ครูพูดตวาดเสียงดัง

“ครูบอกให้ก็ได้ที่ไม่ให้นักเรียนเล่นเบลไลล่าตัวนั้น ก็เพราะมันหนักมาก หนักพอๆกับทูบาสองตัวรวมกัน ถ้าใครอยากเล่นก็บอกมาเลย... ว่ายังไงเชษ อยากเล่นไหม” ครูถามทีเล่นทีจริง

“ไม่ล่ะครับครู ผมคงแบกไม่ไหวครับ” ไอ้เชษรีบตอบปฏิเสธ

...การเข้าค่ายฝึกซ้อมเสร็จสิ้นไปโดยดี พวกเราประสบความสำเร็จในการประกวดครั้งนี้ วงโยธวาทิตของโรงเรียนได้รับรางวัลชนะเลิศ ทั้งการประกวดคอนเสิร์ต และการแปรปบวน ความประทับใจมิใช่อยู่ที่รางวัลที่ได้รับเพียงอย่างเดียว แต่ประสบการณ์ทางดนตรี การได้เข้าค่ายฝึกซ้อมดนตรี ฝึกการทำงานร่วมกัน เป็นสิ่งที่มีค่าไม่น้อยไปกว่ารางวัลที่ได้รับเลย

“ทีแรกเลยที่ฉันเข้ามาเป็นสมาชิกวงโย ฉันไม่คิดเลยว่าวงของเราจะได้มีโอกาส มาร่วมประกวด” ไอ้เชษพูดกับผม

“ฉันก็คิดเหมือนนาย เข้ามาทีแรกเครื่องดนตรีของวงเราแทบจะใช้ไม่ได้เลย” ผมแสดงความคิดเห็นด้วย

ไอ้เชษกระเถิบเข้ามาใกล้แล้วกระซิบที่ข้างหูผม

“นายรู้ไหมตอนที่อยู่ ม.๑ ฉันไปไหว้หลวงปู่ ขอพรให้วงโยของเราได้เข้าร่วมประกวดวงโยธวาทิต”

 

@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@

Hosted by www.Geocities.ws

1