สกอร์หน้าแรก

ฉัตรชัย ผู้ปฏิเวธ

ในประเทศไทยมี Conductor หรือผู้อำนวยเพลงนับร้อยคน แต่มีจำนวนน้อยนักที่จะเป็นผู้อำนวยเพลงมืออาชีพ ส่วนมากจะเป็นมือสมัครเล่นหรือผู้อำนวยเพลงจำเป็น ผู้อำนวยเพลงสมัครเล่นบางคนมีแววที่จะสามารถพัฒนาไปเป็นผู้อำนวยเพลงระดับอาชีพได้ แต่ก็มีน้อยคนนักที่คิดจะไปเป็นมืออาชีพ คนไทยไม่กี่คนหรือแทบจะไม่มีเลยที่สามารถบอกได้ว่าตนเองมีอาชีพเป็นผู้อำนวยเพลง ทั้งที่ผู้อำนวยเพลงเป็นอาชีพที่มีรายได้ดี มีเกียรติ เป็นที่นับถือของนักดนตรี และบุคคลในวงการดนตรี

สำหรับครูวงโยธวาทิตส่วนใหญ่ถือได้ว่าเป็น ผู้อำนวยเพลงจำเป็น คำว่าจำเป็นหมายถึงต้องทำ ถึงจะอยากทำหรือไม่อยากทำก็ต้องทำเพราะเป็นความจำเป็น หลีกเลียงไม่ได้ ครูวงโยฯที่สำเร็จการศึกษาด้านดนตรีมาจะต้องผ่านการเรียนวิชา Conducting หรือการอำนวยเพลง ซึ่งผู้สอนในประเทศไทยส่วนใหญ่ก็ไม่ได้มีอาชีพผู้อำนวยเพลง ก็สอนตามแบบที่เคยถูกสอนมาอีกที การอำนวยเพลงเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ ผู้ที่จะสามารถเป็นผู้อำนวยเพลงที่ดีได้จะต้องมีความรู้ทางดนตรีที่ดี มีโสตประสาทที่ดี มีศิลปะในการเป็นผู้นำที่ดี ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะต้องใช้เวลาในการสั่งสมประสบการณ์ทางดนตรี เวลาเพียง ๑-๒ ปีไม่อาจสร้างผู้อำนวยเพลงระดับมืออาชีพได้

ในเมื่อมีความจำเป็นจะต้องทำแล้วก็ควรจะทำให้ดี สิ่งหนึ่งที่ต้องพบสำหรับผู้อำนวยเพลงจำเป็น คือโน้ตรวมหรือสกอร์เพลง(Music Score) ครูวงโยฯต้องอ่านสกอร์ได้ มองเห็นสกอร์แล้วต้องได้ยินเสียงทั้งแนวตั้ง และแนวนอน

คำว่าแนวตั้งในที่นี้หมายถึง เสียงประสาน(Harmony) ตั้งแต่สองแนวไปจนถึงคอร์ดหลายแนว ครูต้องสามารถฟังและจำแนกได้ว่าเป็นคอร์ดอะไร หากมีสองแนวต้องบอกได้ว่าเป็นขั้นคู่ใด นักเรียนเล่นผิดโน้ต หรือเพี้ยนหรือไม่

แนวนอนหมายถึง แนวทำนอง(Melody) ทั้งทำนองหลัก ทำนองรอง ครูควรที่จะสามรถร้องแนวทำนองต่างๆได้ หากนักเรียนบรรเลงไม่ถูกต้อง ก็สามารถบอกนักเรียนได้

การอ่านโน้ตทั้งแนวตั้งและแนวนอน หากเป็นสกอร์อย่างย่อ(Condense score) ก็จะคล้ายๆกับการอ่านโน้ตเปียโน Condense score หรือสกอร์อย่างย่อ จะมีประโยชน์ สำหรับคนที่ต้องการวิเคราะห์รูปแบบของการประสานเสียง (Harmony) แต่ไม่เหมาะสำหรับการปรับเพลงเพราะไม่ได้แยกเครื่องดนตรีให้เห็นชัดเจนว่าเครื่องมือใดกำลังบรรเลงแนวใด

Full score หรือสกอร์รวมเต็มวง เป็นที่นิยมมากกว่า ผู้อำนวยเพลงสามารถใช้ในการฝึกซ้อมได้ดีกว่าอย่างย่อ เพราะสามารถบอกได้ทันทีว่าเครื่องมือใดกำลังบรรเลงในแนวใดบ้าง

ในครั้งนี้จะเขียนถึงเรื่องของสกอร์หน้าแรก ก่อนที่จะมาถึงสกอร์หน้าแรก ความจริงแล้วต้องผ่านกระบวนการหลายอย่าง ครูวงโยฯ เป็นผู้คัดเลือกเพลงมาให้นักเรียนบรรเลงสิ่งที่ต้องคำนึงได้แก่ บทเพลงที่จะนำมาบรรเลงมีความยากง่ายเพียงใด ครูไม่ควรเลือกบทเพลงที่ง่ายเกินไป หรือยากมากเกินความสามารถของนักเรียน การเลือกบทเพลงที่ง่ายเกินไปนักเรียนจะไม่มีพัฒนาการทางดนตรีจะทำให้นักเรียนเบื่อได้ง่าย หากเลือกเพลงยากมากเกินไปนักเรียนก็บรรเลงไม่ได้ ครูควรเลือกเพลงที่มีความยากพอสมควรเพราะนักเรียนจะได้เรียนรู้เทคนิคใหม่ๆและรู้สึกตื่นเต้นกับบทเพลง สิ่งที่ยากทำให้เกิดความรู้สึกท้าทาย มีผลให้นักเรียนมีความกระตือรือร้น ที่จะทำการฝึกซ้อม ครูวงโยบางคนไม่เคยหาเพลงใหม่ๆมาให้นักเรียนได้เล่นเลยในที่สุดนักเรียนก็เบื่อ และไม่อยากเล่นดนตรีในวงโยฯอีกต่อไป

สิ่งที่ปรากฏอยู่ในสกอร์หน้าแรก เป็นสิ่งที่ครูต้องอธิบายให้นักเรียนเข้าใจ หรือตัวครูเองต้องมีความเข้าใจดีก่อนที่จะเริ่มการฝึกซ้อม หรือการบรรเลง ส่วนที่ควรรู้ได้แก่

- ชื่อเพลง เพลงส่วนใหญ่จะมีชื่อที่บอกความหมายของเพลง โดยเฉพาะเพลงที่เป็น Program music หมายถึงบทเพลงที่ต้องการให้ผู้ฟังรับรู้เรื่องราว หรือเห็นภาพ แต่ก็มีเพลงอีกประเภทที่เป็น Absolute music ชื่อของเพลงจะไม่ได้บอกให้รู้ความหมายของเพลงเลย นักดนตรีผู้ฟังต้องตีความกันเอง มีครูดนตรีท่านหนึ่ง นำเพลง The Firebird ของ Igor Stravinsky มาให้นักเรียนบรรเลงโดยไม่บอกที่มาที่ไปของเพลง ไม่อธิบายให้นักเรียนรู้ว่าชื่อเพลงมีความหมายอย่างไร นักเรียนบางคนก็ไปตีความหมายว่า เป็น ”นกย่าง” (พูดแล้วน้ำลายไหล) การที่ผู้บรรเลงไม่รู้ความหมายของชื่อเพลงเท่ากับไม่รู้จุดมุ่งหมายของผู้ประพันธ์เพลงอาจทำให้ตีความบทเพลงผิดพลาดได้ สิ่งหนึ่งที่สามารถทำให้เข้าใจความหมายของเพลงได้คือ Program notes หรือคำอธิบายเกี่ยวกับเพลง ผู้อำนวยเพลงสามารถพบ Program notes ได้ที่บริเวณปกของสกอร์ อาจจะปรากฏอยู่ที่ปกใน หรือปกหลัง จากเพลงตัวอย่างที่นำมาประกอบ “เพลงพระอาทิตย์ชิงดวง” ชื่อของเพลงเป็นความหมายแฝง ไม่ได้มีความหมายถึงพระอาทิตย์จริงๆ

- ชื่อผู้ประพันธ์ จะปรากฏมุมบนขวาของสกอร์เพลงหน้าแรก เป็นสิ่งสำคัญอีกสิ่งหนึ่งที่ผู้อำนวยเพลงควรจะมีความรู้ ชื่อผู้ประพันธ์ทำให้รู้ถึงยุคเพลงได้ถูกประพันธ์ขึ้น รู้ถึงรูปแบบ สไตล์ของเพลง เพราะผู้ประพันธ์แต่ละคนจะมีเทคนิคในการประพันธ์ที่เป็นเอกลักษณ์ของตนเอง ถ้าผู้อำนวยเพลงสามารถอธิบายให้นักดนตรีรู้จักประวัติของผู้ประพันธ์ จะทำให้นักดนตรีมีความสนใจในบทเพลงมากขึ้น จากเพลงตัวอย่างที่นำมาประกอบ บทเพลงพระอาทิตย์ชิงดวง ประพันธ์โดยครูมีแขก หรือพระประดิษฐ์ไพเราะ (มี ดุริยางกูร) บรมครูดนตรีไทย สมัยต้นกรุงรัตนโกสิน

- ชื่อผู้เรียบเรียงเสียงประสาน จะปรากฏอยู่ใต้ชื่อผู้ประพันธ์เพลง หลายๆบทเพลงสำหรับ Symphonic band ได้มีการนำบทเพลงคลาสสิกมาเรียบเรียงเสียงประสานใหม่ จากเดิมบทเพลงประพันธ์ไว้สำหรับ Orchestra มาทำเป็น Symphonic จะต้องมีการเปลี่ยนเครื่องดนตรีจากเครื่องสายมาเป็นเครื่องเป่า ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่จะทำให้ไพเราะได้ง่ายๆ หรือผู้ประพันธ์อาจประพันธ์ทำนองเพลงไว้เพียงอย่างเดียว การที่จะนำมาให้วงเครื่องเป่าบรรเลงจะต้องพึ่งพาบุคคลสำคัญอีกคนหนึ่งคือ นักเรียบเรียงเสียงประสาน (Arranger) นักเรียบเรียงเสียงประสานมีความสำคัญไม่แพ้นักประพันธ์ บทเพลงที่ไพเราะหากเรียบเรียงเสียงประสานไม่ดีแล้วก็ไม่น่าฟังเลย ในทางกลับกันบทเพลงที่ทำนองธรรมดาอาจจะฟังน่าสนใจเพราะการเรียบเรียงเสียงประสานที่ดี ผู้อำนวยเพลงควรรู้จักผู้เรียบเรียงเสียงประสานจากงานเพลงของแต่ละคน เช่น Alfred Reed , Paul Lavender , Larry Clark , Robert W. Smith , Frank Bencriscutto , Frederrick Fennell นักเรียบเรียงเสียงประสานคนไทยสำหรับ Symphonic band ได้แก่ พระเจนดุริยางค์ อาจารย์อารี สุขะเกศ อาจารย์วิจิตร์ จิตรังสรรค์ อาจารย์ประทีป สุพรรณโรจน์ เป็นต้น การรู้จักสไตล์ของนักเรียนเรียงเสียงประสานทำให้ผู้อำนวยเพลงสามารถปรับเพลงได้ดียิ่งขึ้น

- Duration จะปรากฏอยู่บริเวณมุมบนขวาของสกอร์ หน้าแรก หมายถึงความยาวของเพลง มีหน่วยเป็นนาที ตามด้วยวินาที เช่น Duration – 3.40 บทเพลงนี้มีความยาว 3 นาที 40 วินาที เวลาที่กำหนดนี้มีความสำคัญในการจัดโปรแกรมการแสดง รวมไปถึงใช้ตรวจสอบว่าผู้อำนวยเพลงบรรเลงในอัตราจังหวะเร็วหรือช้าเกินไป โดยปกติแล้ว Duration จะกำหนดไว้คร่าวๆเช่น 3.40 หากบรรเลงได้ 3.30-3.50 ก็ยังถือว่าใช้ได้ไม่น่าเกลียด แต่หากบรรเลงเหลือ 2 นาที หรือยืดออกเป็น 4 นาที แสดงว่าผู้อำนวยเพลงตีความบทเพลงไม่เป็นไปตามที่ผู้ประพันธ์คิดไว้ Duration จะไม่ปรากฏให้เห็นในโน้ตแยกเครื่องดนตรี(Part)

- Tempo จะปรากฏอยู่บริเวณเหนือบรรทัดห้าเส้นใกล้กับกุญแจประจำหลักในหน้าแรกของสกอร์เพลง หมายถึงอัตราความเร็วของบทเพลง ใน Conductor score บางบทเพลงจะกำหนดความเร็วของตัวโน้ตไว้เลย เช่น ตัวดำเท่ากับ 132 คือใน 1นาที่ต้องสามารถเคาะตัวดำได้ 132 ตัว หรือใช้เมโทรนอมตั้งความเร็วที่ 132 คำศัพท์ที่ผู้อำนวยเพลงควรรู้เกี่ยวกับ Tempo ได้แก่ Largo, Larghetto, Lento, Adagio, Andante, Andantino, Moderato, Allegro ,Allegretto, Presto และ Prestissimo

- Staff name ในสกอร์หน้าแรกจะเขียนเป็นชื่อเต็ม ในหน้าต่อไปจะเป็นชื่อย่อ เช่น Clarinet จะเป็น Cls. ประโยชน์ของ Staff name จะบอกให้ทราบว่าโน้ตในแต่ละบรรทัดเป็นของเครื่องดนตรีชนิดใด ในสกอร์หน้าแรกจะปรากฏชื่อเครื่องดนตรีทุกชิ้นที่ใช้บรรเลง โดยเฉพาะกลุ่ม Percussion สกอร์หน้าแรกจะบอกให้ทราบทันทีว่าต้องใช้เครื่อง Percussion อะไรบ้าง

- Copyright จะปรากฎอยู่ในส่วนสกอร์หน้าแรกบริเวณด้านล่างของบรรทัดห้าเส้น Copyright หมายถึงการสงวนลิขสิทธิ์ ในส่วนนี้จะบอกให้รู้ว่าใครเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ จัดพิมพ์โน้ตที่ไหน ประเทศใด ประโยชน์ของส่วนนี้ก็คือ แจ้งให้คนอื่นๆที่ไม่ได้ซื้อโน้ตห้ามทำสำเนาโดยไม่ได้รับอนุญาต มิฉะนั้นจะถือว่าละเมิดลิขสิทธิ์

ในส่วนอื่นๆหากมีโอกาสคงได้เขียนเพิ่มเติม ในเรื่องของเครื่องหมาย คำศัพท์ต่างๆที่ควรทราบ การวิเคราะห์สกอร์ ฯลฯ ในส่วนหน้าแรกของสกอร์ตามที่ได้กล่าวข้างต้นถือว่าเป็นสิ่งสำคัญยิ่ง ครูวงโยธวาทิตซึ่งเป็นผู้อำนวยเพลงจำเป็นต้องรู้ ไม่ควรมองข้ามในส่วนนี้ การใส่ใจสนใจในรายละเอียดต่างๆทั้งเรื่องเล็กๆน้อยๆไปจนถึงเรื่องใหญ่ๆ จะทำให้เป็นคนละเอียดรอบครอบ สิ่งนี้คือปัจจัยหนึ่งของผู้อำนวยเพลงที่ดี

@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@

เอกสารอ้างอิง

ฉัตรชัย ผู้ปฏิเวธ. (๒๕๔๖). โน้ตเพลงพระอาทิตย์ชิงดวงสำหรับวงดุริยางค์เครื่องเป่าวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล

Apel Willi. The Harvard Brief Dictionary of Music. Washington Square Press 1960

Hosted by www.Geocities.ws

1