มองมุมลึก ประกวดวงโยธวาทิต ๒๕๔๗

ฉัตรชัย ผู้ปฏิเวธ

กว่า ๒๐ ปีแล้วที่ผู้เขียน ได้เข้า-ออกสนามกีฬาแห่งชาติ หรือที่คนทั่วไปมักเรียกว่าสนามศุภฯ น้อยคนนักจะเรียกชื่อเต็มว่าสนามศุภชลาศัย ในช่วงวันเด็กของทุกๆปีผู้เขียนมักจะแวะเวียนไปที่สนามกีฬาแห่งนี้เป็นประจำ ทุกครั้งที่เดินมาถึงประตูไก่ รู้สึกได้ว่าหัวใจเต้นแรง ความตื่นเต้นกลับมาเยือนอีกครั้ง เสียงดนตรีที่ดังออกมาจากสนามศุภฯ เสียงดนตรีที่ดังออกมาโดยไม่มีเครื่องเสียงช่วยขยาย เสียงดนตรีของวงดนตรีที่บรรเลงออกมาสดๆ เสียงดนตรีที่ดังมาจากนักดนตรีไม่ต่ำกว่า ๔๐ คน พร้อมใจกันบรรเลงออกมาด้วยความตั้งใจอย่างยิ่งที่จะสร้างความประทับใจให้กับผู้ฟังทุกคน เสียงดนตรีนี้ทำให้ผู้เขียนคิดย้อนกลับไปเมื่อสมัยที่ยังเป็นเด็ก เป็นนักเรียนวงโยธวาทิตคนหนึ่ง ที่มีความใฝ่ฝันว่าสักวันจะต้องมาเหยียบสนามศุภฯ และได้เป็นส่วนหนึ่งของการประกวดวงโยธวาทิตชิงถ้วยพระราชทานฯ ความฝันนี้มีส่วนทำให้ผู้เขียนได้มายืนอยู่ในจุดที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ จุดที่อยากจะเห็นพัฒนาการของวงโยธวาทิตของประเทศไทยอย่างยั่งยืน อยากเห็นวงโยธวาทิตเป็นวงดนตรีของทุกๆคน

การประกวดวงโยธวาทิตนักเรียน นิสิต นักศึกษา ชิงชนะเลิศแห่งประเทศไทย และชิงถ้วยพระราชทานฯ ซึ่งจัดโดยสำนักงานพัฒนาการกีฬาและนันทนาการ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ร่วมกับ ธนาคารทหารไทย จำกัด ในปีนี้(๒๕๔๗)เป็นปีที่ ๒๓ มีวงเข้าร่วมประกวดทั้งสิ้น ๔๐ วง แบ่งเป็นประเภท ก ๖ วง ประเภท ข ๑๐ วง และประเภท ค ๒๔ วง

ผลการประกวดเป็นดังนี้

วงโยธวาทิตโรงเรียนอรรถวิทย์พนิชยการ เป็นโรงเรียนอาชีวศึกษาหนึ่งในจำนวนหลายๆโรงเรียนอาชีวศึกษาที่มีวงโยธวาทิต ด้วยปัจจัยหลัก ได้แก่ ตัวนักเรียน ผู้ฝึกสอน ผู้บริหารโรงเรียน ผู้ให้การสนับสนุน ฯลฯ ซึ่งทุกคนให้การสนับสนุนในเรื่องของ วงโยธวาทิตอย่างเต็มที่ ทำให้วงโยธวาทิตประสบความสำเร็จในการประกวดทุกๆรายการ สร้างชื่อเสียงให้กับโรงเรียนเป็นอย่างยิ่ง บุคคลที่มี่ส่วนสำคัญอย่างมากคือผู้บริหาร ผู้มีวิสัยทัศน์ ในเรื่องของกิจกรรมวงโยธวาทิตเป็นอย่างดี ไม่แน่ในอนาคตเราอาจจะได้เห็น โรงเรียนดนตรีอรรถวิทย์พณิชยการ

โรงเรียนวินิตศึกษา จังหวัดลพบุรี และโรงเรียนอ่างทองปัทมโรจน์ จังหวัดอ่างทอง ทั้งสองโรงเรียนเป็นโรงเรียน ซึ่งวงโยธวาทิตมีพัฒนาการทางดนตรีอยู่ในเกณฑ์ที่ดี ก่อนที่จะได้แชมป์ในครั้งนี้ทั้งสองโรงเรียนได้ส่งวงเข้าร่วมประกวดมาแล้วหลายรายการ นักเรียนได้มีโอกาสทางดนตรีที่ดี ซึ่งครูผู้สอนเป็นผู้หาโอกาสให้นักเรียน

หลายๆโรงเรียนที่เข้าร่วมประกวดฯ ในปีนี้มีพัฒนาการทางดนตรีที่ดีขึ้น เมื่อเทียบกับการบรรเลงในปีที่แล้ว สิ่งสำคัญที่สุดในการประกวดที่เกี่ยวข้องกับดนตรี คือเรื่องคุณภาพของเสียง วงฯที่เข้าประกวดหลายๆวง ควรให้ความสำคัญในเรื่องพื้นฐานทางดนตรีกับนักเรียนให้มากยิ่งขึ้น หลายวงเลือกเพลงที่เกินความสามารถของนักเรียนที่จะบรรเลงได้ดี เพราะนักเรียนไม่ได้มีการฝึกพื้นฐานอย่างถูกต้องและจริงจัง ปัจจัยสำคัญก็คือครูผู้สอน เป็นหน้าที่ของผู้สอนจะต้องวางรากฐานที่ดีให้กับนักเรียนวงโยธวาทิต หากครูขาดความรู้ ขาดประสบการณ์ก็ต้องแสวงหา การแสดงที่สวยงาม ยิ่งใหญ่อลังการ แต่บรรเลงไม่ดี ก็ไม่สมควรจะได้รางวัลใดๆ เพราะการประกวดดนตรีเรื่องของเสียงต้องมาอันดับแรก

๒๓ ปีที่ผ่านมากับการประกวดวงโยธวาทิตฯ มีหลายสิ่งหลายอย่างเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น เริ่มเป็นสากลขึ้น มีคำถามจากอาจารย์บางท่านว่าเมื่อไรการประกวดวงโยธวาทิตฯ จะโกอินเตอร์(Go to international) หมายถึงเป็นรายการประกวดในระดับนานาชาติ หรือระดับโลก ประเทศต่างๆในโลกสามารถนำวงฯเข้ามาร่วมประกวดได้! คำถามนี้มีคำตอบอยู่ในใจของหลายๆคนแล้วโดยเฉพาะคณะกรรมการผู้จัดการประกวดฯ ผู้เขียนมีโอกาสได้สนทนากับอดีตกรรมการในยุคแรกเริ่ม ซึ่งเป็นผู้มีส่วนในการร่างระเบียบการประกวดฯ ท่านได้พูดว่า “การประกวดวงโยธวาทิตฯ ไม่สามาถที่จะพัฒนาไปเป็นการประกวดในระดับนานาชาติได้ เพราะต้องบรรเลงเพลงไทย”

หากจำไม่ผิดในปี พ.ศ. ๒๕๓๒ ในประเทศไทยได้มีการจัดการประกวดวงโยธวาทิต บรรเลงเพลงไทย ชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ จัดประกวดรอบชิงชนะเลิศที่โรงละครแห่งชาติ สมเด็จพระเทพฯ เสด็จมาทอดพระเนตร และพระราชทานรางวัลแก่วงที่ชนะเลิศ ในระดับมัธยมโรงเรียนที่ชนะเลิศ คือโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย บรรเลงเพลงโหมโรงมะลิเลื้อย มาร์ชบริพัตร อีกเพลงหนึ่งจำไม่ได้ แต่คิดว่าเป็นเพลงเขมรชมดง โน้ตเพลงเหล่านี้ยังมีต้นฉบับอยู่ที่หอสมุดแห่งชาติ ท่าวาสุกรี พูดถึงวงโยธวาทิตโรงเรียนสาวกุหลาบ เป็นวงฯแนวอนุรักษ์นิยม ต่างๆจากวงโยธวาทิตทั่วไป ประกวดวงโยธวาทิตครั้งแรกก็ได้แชมป์(พ.ศ.๒๕๒๔ ในสมัยนั้นเรียกว่าวงดุริยางค์) ประกวดวงโยธวาทิตเพลงไทยครั้งแรก ก็ได้แชมป์ ผู้เขียนยังประทับใจกับเสียงยูโฟเนียม ที่ Solo ในช่วงรัวประลองเพลงโหมโรงมะลิเลื้อย และเสียง Solo Piccolo ในเพลงมาร์ชบริพัตร ของวงฯโรงเรียนสวนกุหลาบได้จนถึงทุกวันนี้

การจัดประกวดวงโยธวาทิตนั่งบรรเลงเพลงไทยจัดขึ้นเป็นครั้งแรกและครั้งเดียว จากนั้นมาก็ยังไม่มีทีท่าว่าจะจัดขึ้นอีก เป็นน่าเสียดายอย่างยิ่ง การที่วงโยธวาทิตบรรเลงพลงไทยในโรงละครแห่งชาติในครั้งนั้น ทำให้ได้สัมผัส ความงดงามของเพลงไทยในสไตล์วงโยฯ ได้อย่างดียิ่ง ต่างจากการนั่งฟังเพลงไทยในสนามศุภฯ เป็นอย่างมาก การประกวดวงโยธวาทิตประเภท ก และ ข ในช่วงที่บรรเลงเพลงไทย ในที่นั่งคนดูจะวุ่นวายมาก เดินไปเดินมาพูดคุยกันเสียงดัง โดยเฉพาะในรอบชิงชนะเลิศ ทำให้คนที่ตั้งใจฟังเสียสมาธิ และอาจรวมไปถึงกรรมการผู้ให้คะแนนด้วย แสดงให้เห็นว่าผู้ชมหลายคนไม่ได้มีความซาบซึ้งกับการบรรเลงเพลงไทยในการประกวดวงโยธวาทิตเลย

ขอกลับมาเรื่องเดิม การประกวดวงโยธวาทิต ที่มีแนวโน้มจะ Go-inter ได้มากที่สุดคือ การประกวดวงโยธวาทิตประเภท ค ซึ่งแต่เดิมเป็นการประกวดที่มีระเบียบไม่ต่างจากประเภท ก และ ข มากนัก ต่างกันตรงที่ ประเภท ค เป็นวงหญิงล้วน ในสมัยก่อนคงมีความเชื่อว่านักเรียนหญิงไม่สามารถเล่นดนตรีได้เทียบเท่านักเรียนชาย เลยสงวนถ้วย ค ให้เป็นของวงหญิงล้วนเท่านั้น ในภายหลังความเชื่อนี้เริ่มเปลี่ยนไป ในปี พ.ศ. ๒๕๔๔ วงโยธวาทิตหญิงล้วน โรงเรียนเซนต์โยเซพคอนแวนต์ ได้แชมป์ ถ้วย ก และ วงโยธวาทิตโรงเรียนพระแม่มารีสาทร ซึ่งเป็นวงนักเรียนหญิงทั้งวงเช่นกัน ได้แชมป์ ถ้วย ข

การประกวดประเภท ค ในปัจจุบัน เป็นการประกวด วงฯนักเรียนหญิง หรือชายหญิงผสม ไม่มีการนั่งบรรเลง มีแต่ Marching กับ Display ไม่ต้องมีเครื่องดนตรีขอบสนาม (อาจารย์บางท่านเรียกว่าเฟอร์นิเจอร์) ผู้บรรเลง ๔๐ - ๔๕ คน ผู้แสดงประกอบไม่เกิน ๑๕ คน คทากร ๑ คน ผู้ช่วยคทากร ๑ คน

จากการประกวดที่ได้ชม อาจสรุปได้ว่า คทากร หมายถึงนักเรียนซึ่งไม่ได้เล่นเครื่องดนตรี แต่มีหน้าที่เป็นผู้นำวงฯ ในขณะเดิน Marching เข้ามาในสนามเพื่อเริ่มต้นการแปรขบวน แต่พอเริ่มการแปรขบวน (Display) ผู้นำวงคือผู้อำนวยเพลงซึ่งไปยืนบนแท่นให้สัญญาณทางดนตรีแก่นักดนตรีทั้งวง คทากรกลายไปเป็นส่วนหนึ่งของผู้แสดงประกอบ เพราะในการแปรขบวนสมัยใหม่การเคลื่อนแถว ไม่เหมือนกับการแปรขบวนแบบเก่าที่นักดนตรีทุกคนสามารถมองเห็น และปฏิบัติตามคำสั่งของคทากรได้ทุกคน จึงต้องอาศัยผู้อำนวยเพลงที่มายืนบนแท่นหน้าวง ในที่นี้ผู้อำนวยเพลงน่าจะหมายผู้ช่วยคทากร ตามระเบียบของการประกวด ระเบียบการประกวดฯหลายๆ ข้อยังคงเป็นที่สงสัยสำหรับหลายๆคน ที่เข้าร่วมประกวด และคนที่กำลังคิดจะเข้าร่วมประกวด

ระหว่างที่นั่งชมการประกวดผู้เขียนได้มีโอกาส สนทนากับอาจารย์จากหลายๆโรงเรียนที่มาชมการประกวดฯ หลายคนให้ความสนใจที่จะส่งวงเข้าร่วมประกวด ประเภท ค เพราะโรงเรียนส่วนใหญ่ไม่มีเครื่องคอนเสิร์ต ไม่มีเครื่องดนตรีขอบสนาม มีนักเรียนในวงฯไม่มากนัก มีงบประมาณที่จำกัด ภาพสะท้อนที่เห็นได้ชัดคือ ใน ๒ ปีที่ผ่านมา การประกวดประเภท ค ได้รับความสนใจอย่างมาก ในปีนี้มีถึง ๒๔ วง

สิ่งหนึ่งที่เปลี่ยนไปจากในอดีตคือ วงโยธวาทิตไทยในปัจจุบัน ได้รับอิทธิพลจากวงฯในอเมริกาเป็นอย่างมาก หากจำไม่ผิดผู้ที่นำ Multiple Bass Drums มาใช้ในการประกวดวงแรกคือ โรงเรียนมงฟอร์ตวิทยาลัย ในครั้งนั้นบรรเลงเพลง Smoke On The Water ต่อจากนั้นมาหลายวงก็เริ่มเปลี่ยนแปลงมาเป็นวงโยธวาทิตสไตล์อเมริกัน Percussions มีบทบาทสำคัญอย่างมาก จึงเกิดผลตามมาจนถึงปัจจุบัน ครูดนตรีรุ่นใหญ่ที่คุ้นเคยกับเพลงมาร์ช ของ J.P. Sousa ใช้กลองใหญ่ กลองเทเนอร์ กลองสแนร์ อย่างละใบ ก็บรรเลงเป็นเพลงได้ ต้องมาเรียนรู้เรื่องของ Percussions marching สมัยใหม่ ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายนัก หลายคนถึงกับถอดใจ ตั้งวงโยธวาทิตแบบอนุรักษ์ บางวงเปลี่ยนไปเล่นคอนเสิร์ตอย่างเดียวไม่สนใจเพลง Marching ใหม่ๆเลย ผู้ที่มีความชำนาญเรื่อง Percussion marching ในเมืองไทยแทบจะนับคนได้ หากเป็นไปได้น่าจะมีการจัดอบรม Percussions marching อย่างต่อเนื่อง วงโยธวาทิต สไตล์อเมริกันสมัยใหม่ เหมาะสำหรับการแปรขบวน มากกว่า Marching งาน ๕ ธันวามหาราช ในทุกปีวงที่เดินนำหน้าขบวนต่างๆจะถูกข้อร้องให้ บรรเลงเพลงมาร์ชที่เป็นมาร์ชจริงๆ โดยเฉพาะวงที่เดินนำหน้ากระทรวงกลาโหม ซึ่งจัดให้ทหารมาเดินตามวงโยธวาทิต หากบรรเลงเพลงสมัยใหม่ ทหารจะเดินตามไม่ได้เลย เพราะฟังจังหวะไม่ออก

การประกวดเริ่มตั้งแต่วันที่ ๖ – ๑๐ มกราคม ๒๕๔๗ ผู้เขียนได้พบคนในแวดวง วงโยธวาทิตหลายคน ซึ่งคุ้นหน้า คุ้นตากันดี ในหนึ่งปีก็จะได้พบกันก็ในงานนี้แหละ เสียงสะท้อนจากครู จากนักเรียน รวมไปถึงผู้เข้าชมการประกวด หลายความเห็นน่าที่จะนำมาเสนอ หลายเสียงเป็นเพียงเสียงบ่นไปตามอารมณ์ ที่จะกล่าวถึงต่อไปนี้เป็นเพียงความคิดเป็นส่วนหนึ่งของบุคคลในวงการวงโยธวาทิต ที่ผู้เขียนได้มีโอกาสสนทนาด้วย บางความคิดเห็นอาจมีคำตอบในตัวเอง

ในการประกวดปีหน้า(พ.ศ.๒๕๔๘) เราอาจได้เห็นการประกวดวงโยธวาทิตนานาชาติ เกิดขึ้นในประเทศไทย ที่กล่าวแบบนี้หลายคนคงจะคิดว่าฝันกลางวัน เป็นไปไม่ได้ Impossible อย่าลืมว่าหลายๆสิ่งเริ่มจากความฝัน หลายๆความฝันก็มีวันที่จะเป็นจริงได้ หวังไว้ว่าสักวันฝันคงเป็นจริง

๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑

Hosted by www.Geocities.ws

1