โยธวาทิต สปิริตปิ๊ดปี้ เมโลดี้ติ๊ดชึ่ง

ฉัตรชัย ผู้ปฏิเวธ

ในช่วงนี้กระแสหนังแผ่นกำลังมาแรง (หนังแผ่นหมายถึงภาพยนต์ที่ทำขึ้นในรูปแบบ VCD ไม่ได้ฉายตามโรงภาพยนต์ทั่วๆไป) โดยเฉพาะหนังสำหรับผู้ใหญ่(ใจแตก) ออกมาเยอะมาก น้อยนักที่จะมีหนังเชิงสร้างสรรค์สังคม เรื่องที่ทำมาขายหากไม่น่าสนใจก็คงขายไม่ได้ เรื่องที่คนสนใจมากติดอับดับต้นๆคือเรื่องที่เกี่ยวกับ Sex ในสังคมไทยไม่ได้มีการสอนเรื่องนี้กันอย่างเปิดเผย ถือว่าเป็นเรื่องที่ต้องปกปิด เป็นเรื่องไม่ดี เป็นเรื่องน่าอาย ฯลฯ เมื่อมีการทำหนังแผ่นที่เกี่ยวข้องกับเรื่อง Sex ออกมาทำให้ขายดีเป็นเทน้ำเทท่า (ขายดีมาก)

โยธวาทิต สปิริตปิ๊ดปี้ เมโลดี้ติ๊ดชึ่ง เป็นหนังแผ่นที่ค่อนข้างจะสวนกระแส เป็นหนังแนวสร้างสรรค์สังคม หนังสำหรับทุกคนในครอบครัว ดูได้โดยไม่ต้องแอบดู ไม่ต้องแอบซื้อ ผู้เขียนไม่ได้มีส่วนได้ส่วนเสียกับหนังเรื่องนี้ แต่ที่เขียนถึงเพราะหนังเรื่องนี้สะท้อนภาพความเป็นจริงของสภาพวงโยธวาทิตในประเทศไทยได้เป็นอย่างดี อาจทำให้หลายๆคนที่ไม่เคยรู้จักวงโยธวาทิตได้รู้จักวงโยฯ มากขึ้น เรื่องย่อของ โยธวาทิต สปิริตปิ๊ดปี้ เมโลดี้ติ๊ดชึ่ง มีอยู่ว่า

โรงเรียนกีฬาบ้านโอ่ง จังหวัดราชบุรี มีความจำเป็นต้องก่อตั้งวงโยธวาทิต ตามความประสงค์ของนายอำเภอ ซึ่งมีความต้องการที่จะเอาใจผู้ว่าราชการจังหวัดที่ชื่นชอบวงโยธวาทิตเป็นอย่างมาก แต่การทำวงโยธวาทิตไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ครูพละต้องมารับหน้าที่สอนเพราะเคยมีประสบการณ์เคยเป่าทรัมเป็ตมาก่อน ปัญหาที่ครูพบคือ เรื่องของเครื่องดนตรี เรื่องการรับสมัครและคัดเลือกนักเรียนเพื่อเป็นสมาชิกของวง เรื่องการฝึกซ้อม ฯลฯ ครูสามารถแก้ปัญหาได้ในระดับหนึ่ง แต่วงฯน่าจะมีสภาพที่ดีกว่าที่เป็นอยู่ จึงต้องหาครูดนตรีจริงๆมาสอน ปัญหายังก็ยังไม่หมด เครื่องดนตรีที่เช่ามาต้องถูกยึดคืนเพราะโรงเรียนไม่มีงบประมาณพอที่จะซื้อเครื่องดนตรี เดือดร้อนถึงหลวงพ่อวัดประจำอำเภอ ต้องเข้ามาช่วยเหลือ และเพื่อให้ได้รับการสนับสนุนงบฯพัฒนาโรงเรียนจากจังหวัด จึงต้องส่งวงฯเข้าร่วมประกวดวงโยธวาทิตในระดับประเทศ เรื่องราวจะเป็นอย่างไรคงต้องไปหาแผ่นมาดูกันเอง จุดน่าสนใจของเรื่องอยู่ที่การทำวงโยธวาทิต หรือการทำงานใดๆก็แล้วแต่ จะต้องเจอกับปัญหาให้แก้ไขอยู่ตลอดเวลา หากไม่ยอมแพ้ง่ายๆ ค่อยๆแก้ปัญหาไปทีละจุดอย่างถูกต้อง สักวันจะต้องประสบความสำเร็จ

สภาพวงโยธวาทิตในประเทศไทยมีหลายเรื่องที่น่าเป็นห่วง เหมือนกับโรงเรียนกีฬาบ้านโอ่ง ได้แก่

๑. ครูผู้สอน หรือผู้ควบคุมวง มีอยู่หลายโรงเรียนที่ครูผู้ควบคุมวงไม่ใช่ครูดนตรี มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องหาครูผู้มีความรู้ในเรื่องวงโยธวาทิตจริงๆมาช่วยสอน ไม่เช่นนั้นวงจะมีพัฒนาการที่ช้า และไม่นานอาจต้องยุบวง การหาครูดนตรีมาช่วยสอนต้องคัดเลือกให้ดี คนเล่นดนตรีเก่งอาจจะสอนไม่เป็น ครูพละ(ไพโรจน์ ใจสิงห์)ในหนังเคยเป่าทรัมเป็ตมาก่อน แต่ไม่เคยสอนหรือทำวงโยธวาทิตเลย แต่ด้วยความอดทนบวกกับความพยายามที่จะแก้ปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้น ทำให้สามารถก่อตั้งวงขึ้นได้ ในช่วงกลางเรื่องครูพละรู้สึกว่าสภาพของวงกำลังแย่จึงไปปรึกษา หลวงตาที่วัดประจำอำเภอ หลวงตาได้แนะนำลูกศิษย์ที่เป็นครูดนตรี (สมพร ปรีดามาโนช) ที่มีความสามารถ ในช่วงแรกที่ครูดนตรีมาสอน นักเรียนซึ่งเป็นนักกีฬาส่วนใหญ่ยังไม่ยอมรับ แต่ในที่สุดด้วยความสามารถของครูก็สามารถทำให้นักเรียนกลับมารวมวงกันได้อีกครั้ง ครูพละก็ยังเป็นผู้ดูแลวงอยู่เหมือนกับเป็นผู้จัดการวงฯ ส่วนหน้าที่สอนเป็นหน้าที่ของครูดนตรี วงโยธวาทิตในปัจจุบันมีความจำเป็นที่จะต้องมีผู้ที่ทำหน้าที่คล้ายผู้จัดการวง เพราะจะทำให้ครูดนตรีทำการสอนนักเรียนวงโยธวาทิตได้อย่างเต็มที่ ไม่ต้องคอยกังวลกับเรื่องการบริหารการจัดการ แต่ส่วนใหญ่ที่เป็นอยู่ครูดนตรีทำคนเดียวเบ็ดเสร็จ(ทำทุกอย่างไม่ต้องมีใครมาช่วย) จึงเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้วงมีพัฒนาการไม่ดีเท่าที่ควร

๒. นักเรียนที่จะมาเป็นสมาชิกวงโยธวาทิต ก่อนที่จะมีครูดนตรีจริงๆมาสอน ในช่วงต้นเรื่องครูพละต้องรับสมัครนักเรียนเข้าร่วมกิจกรรมวงโยธวาทิต นักเรียนหลายคนยังไม่รู้จักวงโยฯ จึงไม่ได้รับความสนใจเท่าที่ควร ครูพละจึงคิดหาวิธีการจะทำให้นักเรียนสนใจสมัครร่วมกิจกรรมวงโยฯ ครูได้ให้ลูกสาวซึ่งเป็นคนหน้าตาน่ารัก มาช่วยรับสมัคร ได้ผลเกินคาดมีนักเรียนมาสมัครกันเป็นจำนวนมาก ทำให้สามารถเริ่มก่อตั้งวงได้ วิธีการอย่างนี้ไม่ถูกต้องนัก ถือว่าเป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า แต่บางทีอาจเป็นการสร้างปัญหาในอนาคตได้ ผู้เขียนเคยมีประสบการณ์รับสมัครนักเรียนเข้าร่วมวงฯ นักเรียนบางคนอยากเข้าร่วมวงฯ เพราะรู้สึกปิ๊งใครบางคนที่อยู่ในวง จึงสมัครเข้าร่วมวงฯต่อมาทำให้เกิดปัญหาเพราะนักเรียนไม่คิดจะมาเล่นดนตรีแต่ที่สมัครเข้ามาเพราะอยากจะมีแฟน

๓. ผู้ให้การสนับสนุน ครูพละต้องก่อตั้งวง เริ่มต้นจากที่ไม่มีอะไรเลย ผู้สนับสนุนคนแรกที่มีบทบาทมากในหนังคือ นายอำเภอ แต่นายอำเภอก็สนับสนุนในเชิงนโยบาย ไม่ได้มีงบประมาณให้ (ความจริงแล้วนายอำเภออยากทำงานเอาใจผู้ว่าราชการจังหวัด) ผู้สนับสนุนคนต่อมาคือผู้อำนวยการโรงเรียน พยายามที่จะช่วยเหลือครูพละที่จะตั้งวง จึงได้ติดต่อหาเช่าเครื่องดนตรีวงโยธวาทิต เพราะโรงเรียนไม่มีงบประมาณพ่อที่จะซื้อเครื่องดนตรีได้ ในที่สุดเงินโรงเรียนก็หมดไม่มีพอสำหรับจ่ายค่าเช่า ครูพละเป็นคนธรรมะธรรมโม เมื่อมีปัญหาจึงเข้าวัดไปปรึกษาหลวงตา หลวงตาจึงกลายเป็นผู้สนับสนุนวงอีกคน และในที่สุดผู้ที่ให้การสนับสนุนก็คือทุกๆคนในชุมชน ในอำเภอ เพราะวงโยธวาทิตเป็นวงดนตรีของชุมชน เรื่องที่หลวงตาให้การสนับสนุนวงโยธวาทิตไม่ใช่มีเฉพาะในหนังเรื่องจริงก็มี บางโรงเรียนวงโยธวาทิตก่อตั้งขึ้นได้เพราะวัดมีส่วนช่วย วงอยู่ได้เพราะวัด

๔. เครื่องดนตรี การที่จะได้เครื่องดนตรีวงโยธวาทิตมาก่อตั้งวงไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เพราะเครื่องดนตรีแต่ละชิ้นราคาค่อนข้างแพง ความจริงแล้วการเช่าเครื่องดนตรีวงโยฯในประเทศไทยยังไม่ใคร่มี หรืออาจมีแต่น้อยมาก แต่ในบางประเทศการเช่าเครื่องดนตรีถือว่าเป็นเรื่องปกติ ในประเทศไทยที่เคยพบส่วนใหญ่จะเป็นการให้เครดิตกันมากกว่า ร้านค้ามีความมั่นใจในโรงเรียนซึ่งเป็นหน่วยงานราชการไม่โกงใครง่ายๆ มั่นใจในตัวผู้อำนวยการโรงเรียน และมั่นใจครูผู้สอน จึงยอมให้เอาเครื่องดนตรีมาใช้ก่อนแล้วค่อยจ่ายทีหลัง ในเรื่องครูพละมั่นใจว่าจะได้การสนับสนุนจากจังหวัดจึงเอาเครื่องดนตรีมาใช้ก่อน แต่เรื่องก็ไม่ได้ง่ายอย่างที่คิดไว้

๕. สถานที่สำหรับฝึกซ้อม ในเรื่องปัญหาก็คือเวลาที่วงโยธวาทิตฝึกซ้อม ทุกคนในโรงเรียนจะรำคาญมาก ไม่สามารถทนได้ เพราะเสียงก็ดัง เป่าก็ยังไม่เป็นเพลง ครูพละจึงต้องคิดหาวิธีการฝึกซ้อมแบบไม่ใช้เสียง ความจริงแล้วเป็นไปได้ยากที่จะซ้อมแบบเงียบๆ แต่ในหนังต้องการที่จะสื่อความหมายว่าก่อนที่จะลงมือฝึกซ้อม ควรเตรียมร่างกาย เตรียมสภาพจิตใจให้พร้อมก่อนที่จะปฏิบัติเครื่องดนตรีจริงๆ ในช่วงเวลาที่ไม่สามารถซ้อมเสียงดังได้ก็ฝึกร่างกาย ฝึกอ่านโน้ต ปฏิบัติตามจังหวะ ฝึกสมาธิ ฯลฯ เมื่อสามารถทำเสียงดังได้แล้ว จะได้ดังอย่างมีคุณภาพ มีจุดมุ่งหมาย ครูวงโยธวาทิตหลายๆคนให้นักเรียนปฏิบัติเครื่องดนตรีเลย โดยไม่มีการเตรียมความพร้อมเลย เป่าเท่าไรก็ฟังไม่เป็นเพลง นักเรียนเรียนจบยังไม่รู้ความหมายของดนตรีเลย สถานที่ฝึกซ้อมเป็นปัญหาสำหรับหลายๆโรงเรียนโดยเฉพาะโรงเรียนในกรุงเทพฯ ห้องซ้อมดนตรีมีความจำเป็น มีอยู่โรงเรียนหนึ่งเพิ่งได้ห้องซ้อมวงโยธวาทิตใหม่ เป็นห้องแอร์ปรับอากาศ เก็บเสียงเป็นอย่างดี ปรากฏว่าเวลาซ้อมไม่ว่าจะรวมวง ซ้อมแยกกลุ่ม หรือซ้อมคนเดียว(ต่างคนต่างซ้อม) ทุกๆคนไม่ยอมไปไหนซ้อมรวมกันอยู่ในห้อง เสียงดังฟังไม่รู้ว่าเป็นเสียงเครื่องดนตรีอะไรบ้าง การซ้อมแบบนี้มีประโยชน์น้อยมาก เพราะนักเรียนจะไม่มีสมาธิ ไม่สามารถฟังเสียงที่ตนเองเป่าได้ชัดเจน ฯลฯ

๖. การจัดการ ในหนังครูพละถือได้ว่าเป็นนักจัดการที่ดีคนหนึ่ง สามารถที่จะแก้ปัญหาต่างๆได้ ตั้งแต่เรื่องรับสมัครนักเรียน วิธีการฝึกซ้อม จัดหาเครื่องดนตรี หาครูดนตรีมาสอน ฯลฯ การจัดการเรื่องวงโยธวาทิตเป็นเรื่องที่สามารถเขียนเป็นหนังสือได้หนึ่งเล่ม หรือมากกว่านั้น มีตำราภาษาอังกฤษแล้วหลายเล่ม ขายที่อเมริกา อาจารย์หลายคนคงได้อ่านแล้ว จะเห็นได้ว่าไม่มีทฤษฎีใดๆ ที่จะสามารถนำมาใช้ได้โดยไม่มีการประยุกต์ดัดแปลงให้เหมะสมกับสภาพเป็นจริง ตำราบางเล่มบอกว่าการสอนวงโยธวาทิตจะต้องเป็น Team Teaching หมายถึงครูคนเดียวไม่สามารถจะสอนวงโยธวาทิตได้ดี จะต้องหาคนมาช่วยสอนตามประเภทของเครื่องดนตรี ในความเป็นจริงวงโยธวาทิตในเมืองไทย ที่ไม่ได้เข้าประกวดน้อยวงนักที่จะมีคนสอนเป็นทีม เพราะครูดนตรีคนเดียว บางโรงเรียนยังไม่มีเงินจ้างเลย ตำราบางหลายเล่มเน้นเรื่องของการฝึก Intonation การเป่าให้ตรงระดับเสียงไม่เพี้ยน ปัญหานี้เป็นปัญหาใหญ่สำหรับหลายๆโรงเรียน เพราะเครื่องดนตรีที่มีอยู่หมดสภาพที่จะเป่าได้ หรือไม่มีใครสามารถเป่าให้ถูกเสียงได้ ปัญหานี้ครูผู้สอนต้องหาวิธีการจัดการ ปล่อยไว้จะทำให้เกิดผลเสียกับนักเรียน นักเรียนอาจจะจำเสียงดนตรีที่เพี้ยนไปตลอดชีวิต เรื่องของการจัดการคือ การเตรียมการสำหรับปัญหาที่จะเกิดขึ้น หากมีปัญหาก็สามารถแก้ไขได้อย่างทันการ

๗. จุดมุ่งหมายที่ชัดเจนในกิจกรรมวงโยธวาทิต วงโยธวาทิตโรงเรียนกีฬาบ้านโอ่งได้ก่อตั้งขึ้น ในตอนแรกมีจุดมุ่งหมายที่จะเอาใจผู้ใหญ่ ซึ่งมีบทบาทต่อโรงเรียน ต่อครู และต่อนักเรียน เพื่อที่จะได้งบประมาณมาช่วยโรงเรียน เพราะอุปกรณ์กีฬาของโรงเรียนหมดสภาพ ต่อมาวงฯมีการพัฒนาที่ดีขึ้นจึงมีจุดมุ่งหมายเข้าร่วมประกวดในระดับประเทศ จากวงดนตรีเฉพาะกิจ กลายเป็นวงโยธวาทิตประจำโรงเรียน ประจำอำเภอ ประจำจังหวัด ในตอนท้ายของเรื่องนักเรียนในวงฯยังมีความหวังที่จะก้าวไปในระดับโลกต่อไป วงโยธวาทิตที่ยังขาดจุดมุ่งหมายที่ชัดเจน ไม่นานวงก็จะหมดสภาพไม่สามารถอยู่ได้

ผู้สร้างหนังแผ่นเรื่องนี้ ทำการบ้านมาดีพอสมควร แต่ด้วยงบประมาณที่จำกัด บางจุดที่ต้องการจะสื่อกับผู้ชมอาจไม่ชัดเจนเท่าที่ควร ใครที่จะดูหนังเรื่องนี้แล้วคาดหวังว่าจะได้เห็นในฉากประกวดวงโยธวาทิตที่ยิ่งใหญ่ การบรรเลงที่ประทับใจ เหมือนได้ชมการประกวดที่สนามกีฬาแห่งชาติอาจจะผิดหวัง แต่ถ้าจะดูเพื่อให้เกิดแนวความคิดที่จะนำมากปรับปรุงแก้ไข พัฒนาวงโยธวาทิตในประเทศไทยหนังเรื่องนี้อาจสะท้อนในบางมุมได้

ขอยืมคำคมในหนังมาปิดท้ายในครั้งนี้ “ครูไม่ได้คิดว่าพวกเธอทำได้...แต่ครูรู้ว่าพวกเธอทำได้” “I do not think that you can do it…but I know you can do it”

@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@

Hosted by www.Geocities.ws

1