5th Asian Symphonic Band and Wind Ensemble Competition 2003

ฉัตรชัย ผู้ปฏิเวธ

เวลาใกล้ค่ำวันที่ ๒๒ ตุลาคม ๒๕๔๖ ณ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ทุกๆคนในหอประชุมใหญ่ จิตใจจดจ่อกับการประกาศผลการประกวด วงดุริยางค์เครื่องเป่านานาชาติครั้งที่ ๕ ทันทีที่รู้ผลการประกวด น้ำตาแห่งความภาคภูมิใจ และความรู้สึกเสียใจพลาดหวังได้เกิดขึ้นพร้อมๆกัน ในการประกวดหรือการแข่งขันทุกๆรายการ ความรู้สึกสมหวังและผิดหวัง เป็นสิ่งที่ต้องเกิดขึ้นคู่กัน ไม่มีใครที่อยากจะแพ้ ไม่มีใครอยากเสียใจ ทุกๆคนเข้าร่วมการประกวดด้วยความหวัง

การประกวดวงดุริยางค์เครื่องเป่านานาชาติ จัดขึ้นโดย การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ร่วมกับวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นการประกวดชิงถ้วยพระราชาทาน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ และมีเงินรางวัลชนะเลิศสูงถึงหนึ่งล้านบาท เป็นการประกวดในรูปแบบคอนเสิร์ต ที่มีทั้งวงฯขนาดใหญ่ และวงฯเล็ก มีนักดนตรี ๕ คนก็เข้าร่วมประกวดได้แล้ว

ผลการประกวดวงฯใหญ่ ชนะเลิศ คือ โรงเรียนอรรถวิทย์พานิชยการ รองชนะเลิศได้แก่ โรงเรียนบดินทร์เดชา โรงเรียนราชวินิตบางแก้ว โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา และ Temasek Junior College ประเทศสิงคโปร์

ผลการประกวดวงฯเล็ก ชนะเลิศคือ วง The Golden Sound Clarinet รองชนะเลิศได้แก่ Bangkok Sax moo , MCGP Ensemble , Ratwinit Bangkaeo School Wind Ensenble และ Dr.Sax Ensemble

สิ่งที่เกิดขึ้นใหม่ในปีนี้คือ ในระหว่างการประกวดรอบแรก ที่ SCB Park ได้มีการจัดกิจกรรม Workshop สำหรับเครื่องดนตรีทุกชนิดที่มีอยู่ในวงดุริยางค์เครื่องเป่า โดยมีอาจารย์ผู้มีความสามารถจากสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และประเทศไทย เป็นผู้สอน กิจกรรมนี้ไม่ได้มีการประชาสัมพันธ์ให้บุคคลทั่วไปทราบล่วงหน้า คนที่มาร่วมส่วนใหญ่จะเป็นนักเรียนที่มาร่วมประกวดฯ และมาชมการประกวด หากมีการประชาสัมพันธ์ก่อนการประกวดน่าจะมีคนมาร่วม Workshop มากกว่านี้ ในครั้งนี้คนส่วนใหญ่ตั้งใจจะมาชมการประกวดมากกว่าเข้าร่วม Workshop คาดว่าในปีหน้าคงจะมี Workshop อีก นักเรียนหรืออาจารย์ที่สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดล่วงหน้าที่ฝ่ายกิจกรรมวิทยาลัยดุริยางคศิลป์

การประกวดวงดุริยางค์เครื่องเป่านานาชาติ ได้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในวงการวงโยธวาทิตในประเทศไทยเป็นอย่างมาก วงโยธวาทิตหลายๆวงได้เปลี่ยนสภาพกลายเป็น Symphonic band หรือ Wind Enesemble ความจริงแล้ววงโยธวาทิตเป็นได้ทั้ง Symphonic band และ Marching band เกือบทุกวงที่เข้าร่วมประกวดวงดุริยางค์เครื่องเป่านานาชาติ มาจาก Marching Band การเปลี่ยนรูปแบบจาก Marching band มาเป็น Symphonic band ไม่เป็นปัญหาสำหรับบางวงฯ แต่ในหลายๆวงฯที่เคยบรรเลงแต่ Marching มาเปลี่ยนเป็น Symphonic เลยคงไม่ใช่เรื่องง่ายโดยเฉพาะวงที่บรรเลงในสไตล์ มาร์ชชิ่งสมัยใหม่ โรงเรียนอรรถวิทย์ฯ โรงเรียนบดินทร์เดชา โรงเรียนราชวินิตบางแก้ว เป็นโรงเรียนที่เคยเข้าร่วมประกวด Marching และได้รับรางวัลชนะเลิศมาแล้วทุกวง โดยเฉพาะโรงเรียนอรรถวิทย์พานิชยการ ได้รับรางวัลชนะเลิศ Marching Band เมื่อต้นปี ปลายปีก็ได้รางวัลชนะเลิศ Symphonic band

ปัจจุบันนี้มีรายการประกวดที่เกี่ยวข้องกับวงโยธวาทิตรายการใหญ่ๆ อยู่ ๓ รายการได้แก่

  1. การประกวดวงดุริยางค์เครื่องเป่านานาชาติ จัดโดย การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ร่วมกับวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล

  2. การประกวดวงโยธวาทิตนักเรียน นิสิต นักศึกษา ชิงถ้วยพระราชทานฯ แห่งประเทศไทย จัดโดย สำนักงานพัฒนาการกีฬาและนันทนาการ ร่วมกับธนาคารทหารไทย

  3. การประกวดวงโยธวาทิตชิงชนะเลิศแห่งประเทศไทย จัดโดย บริษัทสยามดนตรียามาฮา

การประกวดประกวดวงโยธวาทิตนักเรียน นิสิต นักศึกษา ชิงถ้วยพระราชทานฯ แห่งประเทศไทย เป็นการประกวดฯ ที่จัดมาแล้ว ๒๐ กว่าปี เป็นการประกวดที่มีทั้ง คอนเสิร์ต มาร์ชชิ่ง และ แปรขบวน เป็นการประกวดที่รวมทุกๆอย่างที่วงโยธวาทิตสามารถทำได้ อาจารย์ผู้ควบคุมวงหลายๆคนไม่ใคร่เห็นด้วยกับการประกวดคอนเสิร์ตกลางแจ้ง แต่ก็ไม่สามารถทำอะไรได้ ต่อมาบริษัทสยามดนตรียามาฮาได้จัดการประกวดวงโยธวาทิต โดยไม่ต้องมีการบรรเลงคอนเสิร์ต ไม่ต้องเดินมาร์ชชิ่ง ประกวดการแปรขบวนกันอย่างเดียว หลายๆโรงเรียนให้ความสนใจส่งวงฯเข้าร่วมประกวดเป็นจำนวนมาก และในปีถัดมา บริษัทสยามดนตรียามาฮา ก็ได้จัดการประกวดวงคอนเสิร์ตแบนด์ เป็นการประกวดแต่คอนเสิร์ตเพียงอย่างเดียว แต่จัดได้ไม่กี่ปี การประกวดวงคอนเสิร์ตแบนด์ ก็หยุดจัด ในปี พ.ศ. ๒๕๔๒ การประกวดวงดุริยางค์เครื่องเป่านานาชาติ ได้จัดขึ้นเป็นแรก

การประกวดวงดุริยางค์เครื่องเป่านานาชาติ ได้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของวงโยธวาทิตในประเทศไทยที่ดีขึ้น ในหลายด้านได้แก่

 

  1. คุณภาพการบรรเลงของวงฯดีขึ้น จากวงโยธวาทิตที่เคยเป็นแต่ Marching Band มากลายเป็น Symphonic Band ซึ่งเป็นวงดนตรีที่เน้นเรื่องการฟังจริงๆ ทำให้ทั้งครูผู้ควบคุมวงฯ และนักเรียนต้องให้ความสำคัญเรื่องของการบรรเลงมากขึ้น จากที่เคยบรรเลงดัง กับดังมาก ต้องเปลี่ยนมาเป็น เบาที่สุดไปจนถึงดังที่สุด จากที่ไม่เคยสนใจเรื่อง articulations เรื่องเทคนิคการออกเสียง เรื่องความสมดุลของเสียง Intonation, Harmony, Conducting และเรื่องอื่นๆอีกมากมาย ครูกับนักเรียนวงโยธวาทิตจะได้เรียนรู้มากยิ่งขึ้นจากการบรรเลงเพลงประเภท Symphonic Band

  2. มีวง Symphonic band เพิ่มขึ้น ในอดีตที่ผ่านมาวงโยธวาทิตส่วนใหญ่จะมีแต่งานเดินบรรเลง หรือบรรเลงเปิดงานต่างๆ การประกวดวงดุริยางค์เครื่องเป่านานาชาติ มีส่วนทำให้เกิดวง Symphonic Band มากขึ้น ในการประกวดฯครั้งที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่า มีคนให้ความสนใจเป็นอย่างยิ่ง วันแรกของการประกวดฯ ที่นั่งในหอประชุมมหิศร ไม่เพียงพอกับคนที่มาชมการประกวด และในวันประกวดรอบชิงชนะเลิศ หอประชุมใหญ่ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทยไม่มีที่เหลือให้นั่ง ในแต่ละปีที่จัดการประกวดจะมีวงฯใหม่ๆเข้าร่วมประกวดทุกปี ในปีนี้ได้แก่วงจากโรงเรียนอรรถวิทย์พานิชยการ โรงเรียนศรียาภัย โรงเรียนนิรมลชุมพร โรงเรียนเซนต์โยเซฟคอนแวนต์ รวมไปถึงวง Wind Ensemble อีกจำนวนหลายวงซึ่งเป็นวงจากประเทศไทยรวมทั้งหมดกว่า ๔๐ วง

  3. มีกิจกรรมทางดนตรีมากขึ้น เมื่อเกิดวงประเภทคอนเสิร์ตแบนด์มากขึ้น ก็ย่อมจะมีการแสดงคอนเสิร์ตวงเครื่องเป่ามากขึ้น หากมีวงฯที่มีความสามารถบรรเลงคอนเสิร์ตได้แล้ว แต่ไม่มีการจัดการแสดง วงก็อยู่ไม่ได้ วงฯส่วนใหญ่ ที่เข้าร่วมการประกวดวงดุริยางค์เครื่องเป่านานาชาติ ไม่ใช่วงเฉพาะกิจที่รวมตัวกันมาเพื่อการประกวดอย่างเดียว พอประกวดเสร็จสิ้นก็แยกย้ายกันไป ไม่มีวงให้เห็นอีก วงส่วนใหญ่ที่เข้าร่วมประกวดมักจะเป็นนักเรียน นักศึกษา ในสถาบันเดียวกัน อาจจะมีนักดนตรีประเภทมือปืนรับจ้างบ้างแต่ก็เป็นจำนวนไม่มากนัก (จะเรียกว่ามือปืนรับจ้างก็คงไม่ถูกนักเพราะส่วนใหญ่จะมาเล่นเองโดยสมัครใจ เพราะอยากเล่นดนตรี) โอกาสต่อๆไปอาจได้เขียนเรื่องมือปืน เพราะผู้เขียนก็เคยเป็นมือปืนมาแล้ว ในเมื่อไม่ใช่วงฯเฉพาะกิจ เมื่อประกวดเสร็จวงก็ยังคงอยู่ และพร้อมที่จะบรรเลงได้ตลอดเวลา เป็นหน้าที่ของผู้ควบคุมวงควรที่จะต้องจัดการ จัดกิจกรรมการแสดงคอนเสิร์ตเพื่อให้วงฯมีพัฒนาการที่ดี ไม่ใช่พอประกวดเสร็จได้รางวัลแล้ว ก็ยุบวง หากเป็นอย่างนี้อย่ามาประกวดเลยจะดีกว่า!

  4. วงโยธวาทิตมีบทบาทต่อสังคมมากขึ้น เมื่อมีการจัดการแสดงคอนเสิร์ตโดยวงโยธวาทิตมากยิ่งขึ้น วงโยธวาทิตก็จะไม่เป็นเพียงวงนำขบวนพาเหรด หรือบรรเลงเปิดงานเท่านั้น วงโยธวาทิตจะบรรเลงได้ตั้งแต่ เพลงแตรวง ไปจนถึงซิมโฟนี เป็นวงสารพัดประโยชน์ เป็นวงดนตรีของชุมชน และมีส่วนในการสร้างวัฒนธรรมทางดนตรีที่ดีให้กับคนไทยด้วย ในการประกวดวงดุริยางค์เครื่องเป่านานาชาติ ที่ผ่านมาสังเกตได้ว่าเด็กไทย ให้ความสนใจในการฟังเพลงประเภทคอนเสิร์ตแบนด์มากยิ่งขึ้น ทั้งนี้เป็นเพราะวงที่บรรเลงมีคุณภาพมากขึ้น

  5. ทัศนคติของคนทั่วไปเกี่ยวกับวงโยธวาทิตดีขึ้น มีนักเรียนวงโยธวาทิตหลายคนมาบ่นกับผู้เขียนว่า ทำไมหลายๆคนชอบดูถูกวงโยธวาทิต ไม่ใคร่ให้ความสนใจอย่างจริงจัง ส่วนหนึ่งเป็นอย่างนั้นจริงๆ เพราะในหลายปีที่ผ่านมาวงโยธวาทิตหลายๆวง ไม่มีพัฒนาการที่ดี เป็นวงที่เอาไว้ใช้งาน อาจารย์ผู้ควบคุมวงไม่มีความคิดที่จะพัฒนาวง สภาพของวงแย่มาก ใครที่ไหนจะมาชื่นชมบรรเลงก็เพี้ยน นักเรียนอ่านโน้ตไม่ออก ตั้งวงมาสิบปี บรรเลงอยู่แค่ ๖ เพลง (เพลงชาติ,สรรเสริญ,สดุดี,มหาฤกษ์,กราวกีฬา,สามัคคีชุมนุม) การประกวดวงดุริยางค์เครื่องเป่านานาชาติ ทำให้ทัศนคติของคนทั่วไปกับวงโยธวาทิตดีขึ้น เราได้ฟังวงดุริยางค์เครื่องเป่าบรรเลงได้อย่างยอดเยี่ยมไม่แพ้ต่างชาติ ในทุกๆปีมีพัฒนาการที่ดีอย่างเห็นได้ชัด วงโยธวาทิตสามารถบรรเลงบทเพลงได้หลากหลายรูปแบบสร้างความประทับใจแก่ผู้ฟังเป็นอย่างยิ่ง

จะเข้าร่วมประกวดวงดุริยางค์เครื่องเป่านานาชาติต้องเตรียมตัวอย่างไร

การประกวดแบ่งเป็น ๒ ประเภท ได้แก่ Symphonic band และ Wind Ensemble นักดนตรีอายุไม่เกิน ๒๕ ปี ติดต่อรับใบสมัครได้ตั้งแต่ช่วงเปิดภาคเรียนที่ ๑ ประมาณเดือนมิถุนายน ค่าสมัคร ๑,๐๐๐ บาท สำหรับ Symphonic band เตรียมเพลงเลือกอิสระหนึ่งเพลง เพลงประจำชาติหนึ่งเพลง เพลงพระราชนิพนธ์มีให้เลือกหนึ่งเพลง เวลาบรรเลงรวมจัดวง ๓๐ นาที สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมที่ฝ่ายกิจกรรม วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล โทรศัพท์ ๐-๒๘๐๐-๒๕๒๕ ต่อ ๑๐๖-๙

โรงเรียนที่ยังไม่เคยร่วมประกวดเลยสิ่งสำคัญคือเรื่องของพื้นฐาน หากนักเรียนมีพื้นฐานดีแล้วก็ไม่ยากที่จะบรรเลงได้ไพเราะ ยังไม่สายหากจะเริ่มต้นในตอนนี้ เริ่มต้นที่จะแก้ไขในสิ่งที่ปฏิบัติมาผิดๆ เริ่มต้นที่จะฝึกพื้นฐานตั้งแต่การหายใจที่ถูกต้อง(สำคัญมาก) ท่าทางการจับเครื่องดนตรี การวางปาก การควบคุมคุณภาพของเสียง เทคนิคลมลิ้น เทคนิคการบรรเลงรวมวง ฯลฯ เริ่มต้นที่ครูผู้สอนต้องวางแผนทำโครงการ และลงมือตั้งแต่ตอนนี้ รอให้ถึงวันปิดภาคเรียนอาจจะสายเกินไป หากยังไม่พร้อมที่จะลงประกวดวงใหญ่ ก็สามารถส่งวงเล็กได้ (๕-๒๙ คน) หากยังไม่พร้อมที่จะส่งทั้งวงเล็ก และวงใหญ่ สิ่งที่ควรทำก็คือนำนักเรียนมาชมการประกวด เพราะจะเป็นการสร้างประสบการณ์ทางดนตรีที่มีค่าต่อนักเรียนอย่างยิ่ง

ในการประกวดวงดุริยางค์เครื่องเป่านานาชาติครั้งที่ ๖ ในปีหน้า (๒๕๔๗) เราคงได้เห็นวงดุริยางค์เครื่องเป่าเกิดขึ้นอีกหลายวง และอีกไม่นานผู้เขียนมีความหวังว่าเราจะมีวงฯเครื่องเป่าไม่ว่าจะเป็นวงเล็กหรือวงใหญ่ เป็นวงฯที่มีส่วนทำให้สังคมไทยน่าอยู่ยิ่งขึ้น ไปวิ่งออกกำลังกายที่สวนสาธารณะก็ได้ยินวง Sax Quartet ยืนรอรถเมล์ที่อนุสาวรีย์ฯก็ได้ฟังวง Brass Quintet ทุกวันหยุดสุดสัปดาห์มีฟรีคอนเสิร์ตวงเครื่องเป่าให้ฟัง และทุกๆวงฯเป็นวงที่มีคุณภาพเหมือนกับที่ได้ชมในการประกวด!

@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@

Hosted by www.Geocities.ws

1