ความพยายามของกระทรวงศึกษาธิการ ในการส่งเสริมเรื่องของดนตรี

ฉัตรชัย ผู้ปฏิเวธ

ถ้าจะพูดถึงโรงเรียนกีฬา หลายคนต้องนึกถึงจังหวัดสุพรรณบุรี แต่หากจะพูดถึงโรงเรียนดนตรี หลายๆคนก็คงจะนึกถึงโรงเรียนดนตรีในเครือของบริษัทสยามดนตรียามาฮา กระทรวงศึกษาธิการมีสถาบันแห่งหนึ่งที่มุ่งเน้นในเรื่องของดนตรีโดยเฉพาะ “โรงเรียนมัธยมสังคีต” เป็นโรงเรียนที่มีการส่งเสริมเรื่องของดนตรีทั้งไทย และสากล ตามความมุ่งหมายของกระทรวงศึกษาธิการ ต้องการที่จะสนับสนุนนักเรียนที่มีความสามารถทางด้านดนตรีได้มีสถาบันที่จะทำการศึกษาเรียนรู้ โดยมีบุคลากรทางดนตรีที่มีความสามารถ และมีความพร้อมในเรื่องของอุปกรณ์เครื่องดนตรี ตลอดจนถึงเรื่องของสถานที่ฝึกซ้อม ผู้เขียนได้รู้จักอาจารย์ดนตรี รวมไปถึงนักเรียนที่สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนมัธยมสังคีต ได้มีโอกาสพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในเรื่องของดนตรีได้แง่คิดต่างๆน่าสนใจมาก ในครั้งนี้ไม่ได้มีความตั้งใจที่จะวิจารณ์โรงเรียนมัธยมสังคีต แต่ที่ตั้งใจจะเขียนคือเรื่องของกระทรวงศึกษาธิการ ที่มีความยายามจะสนับสนุนเรื่องของดนตรีอย่างผิดทาง

เป็นที่ทราบกันดีว่างานของกระทรวงศึกษาธิการเป็นงานสร้างชาติ อนาคตของประเทศชาติฝากไว้กับกระทรวงศึกษาธิการ นักเรียนในปัจจุบันอนาคตจะกลายเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพ เพราะกระบวนการศึกษาได้สร้างคุณลักษณะอันพึงประสงค์ ให้กับเด็กไทยทุกคน การศึกษาภาคบังคับ ๑๒ ปี เป็นเวลาเกือบ ๑ ใน ๕ ของอายุขัยเฉลี่ยของคนไทย เป็นเวลาที่นักเรียนจะต้องอยู่ในสถานศึกษา เป็นเวลาที่นักเรียนจะได้รับความรู้ ได้เรียนรู้ทุกๆอย่างตามที่ต้องการ ได้ฝึกการใช้ชีวิตในโรงเรียนซึ่งจำลองสภาพของสังคมจริงๆ ที่นักเรียนจะต้องพบ คนไทยทุกคนฝากความหวังไว้กับกระทรวงศึกษาธิการ งานของกระทรวงศึกษาธิการเป็นงานที่หนัก เพราะต้องรับผิดชอบเรื่องการศึกษาของคนไทยทั้งประเทศ การที่ต้องทำงานหนักไม่ใช่ข้ออ้างที่จะทำงานอย่างขาดคุณภาพ

กระทรวงศึกษาธิการ ที่มีความยายามจะสนับสนุนเรื่องของดนตรีอย่างผิดทาง เป็นเรื่องที่ไม่อาจปฏิเสธได้ กระทรวงศึกษาธิการเป็นเสมือนพ่อแม่ ผู้ให้กำเนิด โรงเรียนมัธยมสังคีต โดยมีความมุ่งหวังเกิดนักเรียนดนตรีที่มีคุณภาพ อาจถือได้ว่าเป็นโรงเรียนนำร่องในเรื่องของนักเรียนที่มีความสามารถเฉพาะทาง กระทรวงศึกษาทำตัวเหมือนพ่อแม่ที่ทำงานหนักหาเงินให้ลูกโดยไม่มีเวลาพูดคุยกับลูกเลย กระทรวงฯมีงบประมาณให้กับโรงเรียน แต่ในเรื่องของนโยบายการเรียนการสอน การทำกิจกรรม เพื่อมุ่งให้นักเรียนมีความเป็นเลิศทางดนตรี ไม่มีความชัดเจนเท่าที่ควร โรงเรียนก่อตั้งมากว่าสิบปีแล้ว อาจารย์ดนตรีบางคนยังไม่รู้จักโรงเรียนดนตรีของกระทรวงฯเลย มองย้อนกลับไปเห็นโรงเรียนมัธยมหลายๆโรงเรียนที่กระทรวงฯไม่เคยให้การสนับสนุนในเรื่องของดนตรีเลย แต่เป็นที่รู้จักว่าโรงเรียนเหล่านี้ นักเรียนมีความสามารถทางด้านดนตรี บางโรงเรียนนำวงดนตรีไปประกวดทำชื่อเสียงในระดับโลกมาแล้ว

กระทรวงฯทำอย่างนี้เหมือนกับรักลูกไม่ถูกทาง การจะจัดตั้งโรงเรียนที่มุ่งเน้นให้นักเรียนมีความสามารถเฉพาะทางเป็นความคิดที่ดี แต่ควรทำให้มีคุณภาพที่ดีด้วย ไม่ใช่ทำให้มีไว้เฉยๆ ผู้เขียน มิได้คิดที่จะตำหนิโรงเรียน แต่มีความตั้งใจอย่างยิ่งที่จะตำหนิกระทรวงฯ ควรจะกำหนดนโยบายให้ชัดเจนว่าจะให้เกิดสิ่งใดขึ้นบ้าง

สิ่งที่หลายๆคนอยากจะเห็นจากโรงเรียนดนตรีของกระทรวงศึกษาธิการ ได้แก่

  1. มุ่งพัฒนาให้นักเรียนมีความสามารถทางดนตรีอย่างจริงจัง

  2. มีกิจกรรมการเรียนการสอนที่เอื้อให้เด็กมีพัฒนาการทางดนตรีที่เหมาะสม

  3. มีครูดนตรีที่เพียงพอกับนักเรียน และครอบคลุมกับเครื่องดนตรีทุกชนิด และครูดนตรีต้องมีคุณภาพด้วย

  4. มีวงดนตรีที่มีคุณภาพ ทุกประเภท ทั้งวงดนตรีไทย Orchestra วงโยธวาทิต ฯลฯ ประจำโรงเรียน สามารถเข้าร่วมสนับสนุนกิจกรรมสำคัญในระดับประเทศได้

  5. เป็นโรงเรียนที่มีแหล่งข้อมูล เป็นที่ศึกษาดูงานของ อาจารย์ดนตรีทั่วประเทศ

  6. เป็นโรงเรียนตัวอย่างในการจัดการระบบการเรียนการสอนดนตรีที่มีคุณภาพ

  7. เป็นโรงเรียนที่จัดกิจกรรมทางดนตรีเพื่อการศึกษาอยู่เป็นประจำ

กระทรวงศึกษาธิการ เป็นหน่วยงานเดียวของประเทศไทยที่มีครุภัณฑ์เครื่องดนตรีมากที่สุดในประเทศไทยโดยเฉพาะเครื่องดนตรีสำหรับวงโยธวาทิต กระทรวงศึกษาธิการแทบจะไม่รู้ตัวด้วยซ้ำถ้าไม่มีคนมาบอก ก็เพราะว่าโรงเรียนต่างๆของกระทรวงฯจัดซื้อจัดหากันเองหลายๆโรงเรียนไม่ได้ใช้เงินของกระทรวงฯเลย ผู้อำนวยการโรงเรียนหลายท่านมองการณ์ไกล ในการจัดตั้งวงโยธวาทิต ซึ่งเป็นวงดนตรีอเนกประสงค์ ถ้ารองบประมาณจากกระทรวงฯ อีกร้อยปีวงก็คงยังไม่เกิด วงโยธวาทิตในโรงเรียนมัธยมมีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ น้อยโรงเรียนนักจะได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงฯโดยตรง แต่นั้นไม่ใช่ปัญหา

ปัญหาไม่ได้อยู่ที่ขาดการสนับสนุนงบประมาณจากกระทรวงฯ แต่ปัญหาอยู่ที่กระทรวงศึกษาธิการ ไม่เคยให้ความสนใจกับเรื่องวิชาการดนตรี หรือกิจกรรมดนตรีอย่างถูกต้อง และจริงจัง ที่เขียนมานี้ไม่ใช่การกล่าวหากันอย่างลอยๆ กระทรวงฯตั้งมาร้อยกว่าปี หากการเรียนการสอนวิชาดนตรีตามหลักสูตรการศึกษาประสบความสำเร็จ ประเทศของเราคงมีวงดนตรีที่มีคุณภาพนับไม่ถ้วน ดนตรีจะกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตคนไทยไปแล้ว และดนตรีจะมีส่วนลดปัญหาสังคมต่างๆ ไม่ใช่ดนตรีมีส่วนในการสร้างปัญหาอย่างที่เป็นอยู่ เพราะการศึกษาที่ผ่านมาไม่ได้ทำให้เราเข้าใจถึงปรัชญาของดนตรี คนไทยมากกว่าครึ่งคิดว่าดนตรีเป็นเพียงสิ่งสร้างความบันเทิงเท่านั้น หาได้มีประโยชน์อย่างอื่นไม่ ผู้ใหญ่หลายๆคนในกระทรวงศึกษาธิการก็คงมีความคิดเช่นนี้เหมือนกัน เพราะได้ผ่านกระบวนการศึกษามาแบบเดียวกันผู้เขียนได้รับมอบหมายจากบรรณาธิการ ให้เขียนเรื่องวงโยธวาทิต เรื่องที่เขียนมาตั้งแต่ต้นถือเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับวงโยธวาทิตโดยตรง กิจกรรมวงโยธวาทิตในอดีตที่ผ่านมาได้สร้างบุคลากรทางดนตรีที่มีความสามารถหลายๆคน บุคคลเหล่านั้นได้ผ่านกระบวนการเรียนรู้เรื่องของดนตรีจากกระบวนการในการเข้าร่วมกิจกรรมวงโยธวาทิต ไม่ใช่การเรียนดนตรีในชั้นเรียน สิ่งนี้สะท้อนให้เห็นว่ากระบวนการเรียนในชั้นเรียนอย่างเดียวไม่เพียงพอที่จะทำให้นักเรียนมีความเข้าใจในวิชาการต่างๆจนสามารถนำไปใช้ได้จริง กิจกรรมวงโยธวาทิตที่สามารถสร้างคนดนตรีให้มีคุณภาพ ไม่ใช่จะเกิดได้กับทุกโรงเรียน เพราะแต่ละโรงเรียนมีมาตรฐานในการจัดการที่ต่างกัน บางโรงเรียนมีวงโยฯ แต่ไม่มีคนสอน ก็ไม่มีประโยชน์ บางโรงเรียนมีวงโยธวาทิต มีคนสอนแต่ไม่มีการจัดการที่ดีก็ยากที่จะทำให้เกิดการเรียนรู้เรื่องของดนตรีอย่างครบวงจรได้ เรื่องของมาตรฐานวงโยธวาทิตเป็นเรื่องที่ควรมีการพูดคุยกันให้ชัดเจน ตราบใดที่ยังไม่มีหน่วยงานใดเข้ามาดูแลเรื่องของวงโยธวาทิตอย่างจริงจัง คำว่ามาตรฐานวงโยธวาทิตก็คงจะยังไม่เกิด เพราะไม่รู้จะมีมาตรฐานไปทำไม ไม่มีคนตรวจสอบ ไม่มีการประเมิน ไม่มีการให้การสนับสนุน แนะนำ ไม่เห็นจะมีอะไรเลย! วงโยธวาทิตในประเทศไทยถึงไปไหนไม่ได้ไกล บางวงเคยเจริญรุ่งเรืองสูงสุดแล้ว ปัจจุบันสภาพวงฯไม่ต่างกับแตรวงชาวบ้าน เรื่องมาตรฐานวงโยธวาทิตคงจะได้เขียนกันอีกในเรื่องของรายละเอียด เมื่อมีคนหรือหน่วยงานใดที่คิดจะเข้ามาดูแลเรื่องของวงโยธวาทิตอย่างจริงจัง

ผู้เขียนได้เสนอแนวความคิดในการจัดการเรื่องของวงโยธวาทิตโดยความรับผิดชอบของกระทรวงศึกษาธิการไปแล้ว ในสองตอนที่ผ่านมา และก็มีความมั่นใจว่าข้าราชการระดับสูงในกระทรวงฯคงไม่ให้ความสนใจ คิดว่าเป็นเรื่องเล็กๆน้อยๆ หรืออาจไม่ได้คิดอะไรเลย ครูดนตรีที่ได้อ่านบทความที่ผ่านมาบางคนก็เห็นด้วย บางคนก็ไม่เห็นด้วย บางคนอาจมีความคิดที่ดีกว่า แต่โดยธรรมชาตินิสัยของคนไทยแล้ว ชอบทำตัวแบบ “เฉยไว้ก็ดีเอง” ก็เลยไม่แสดงความคิดเห็นใดๆ การที่กระทรวงศึกษาธิการไม่สามารถทำให้การเรียนการสอนดนตรีในชั้นเรียนประสบความสำเร็จ จึงก่อให้เกิดโรงเรียนพิเศษสอนดนตรีขึ้นมากมาย โดยเก็บค่าเรียนเป็นเงินค่อนข้างมากเพราะเป็นเรื่องของธุรกิจ การดำเนินงานต้องมีกำไร ไม่เช่นนั้นก็อยู่ไม่ได้ ผลที่ตามมาก็คือคนที่ได้เรียนดนตรีคือคนที่มีเงิน มีฐานะค่อนข้างดี คนฐานะปานกลาง ไปถึงยากจนหมดสิทธิ์ที่จะคิดเรียนดนตรี จะได้เรียนดนตรีก็เพียงในชั้นเรียน บางโรงเรียนมีชุมนุมดนตรี หรือกิจกรรมดนตรี ถือได้ว่าเป็นโอกาสดีของนักเรียน

สมัยที่ผู้เขียนเรียนในชั้นประถม ได้เรียนในโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมานคร กระทรวงมหาดไทย ผู้เขียนได้เข้าร่วมกิจกรรมดนตรีตลอดจนจบชั้น ป.๖ ได้เข้าศึกษาชั้นมัธยมในโรงเรียนมัธยมสังกัดทบวงมหาวิทยาลัย ก็ได้ร่วมกิจกรรมวงโยธวาทิต จนจบชั้น ม.๖ การศึกษาขั้นพื้นฐาน ๑๒ ปี ผู้เขียนไม่ได้เรียนในโรงเรียนใน สังกัดของกระทรวงศึกษาธิการเลย จนกระทั่งได้เข้าศึกษาในชั้นอุดมศึกษาที่วิทยาลัยครูแห่งหนึ่ง ที่มีชื่อเสียงในการสร้างครูดนตรีในประเทศไทย เป็นสถาบันการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการแห่งแรกที่ผู้เขียนได้สัมผัส เกิดคำถามในใจว่าวิทยาลัยครูที่ผู้เขียนเรียนอยู่น่าจะมีสภาพที่ดีกว่านี้ สถานที่อบรมครูดนตรีของประเทศไทยควรจะได้รับการสนับสนุนมากกว่านี้ ทั้งในเรื่องบุคลากร เครื่องดนตรี สื่อการเรียนการสอน ฯลฯ เมื่อศึกษาจบได้รับปริญญาบัตรครุศาสตร์บัณฑิต ความรู้สึกในตอนนั้นเห็นว่าในเมืองไทยเรื่องของดนตรีเป็นสิ่งที่คนส่วนใหญ่ไม่เห็นความสำคัญ จึงไปสมัครงานบริษัทเอกชนที่ไม่เกี่ยวกับดนตรีเลย บังเอิญช่วงนั้นมีการสมัครสอบคัดเลือกครูดนตรีเพื่อบรรจุเข้ารับราชการ ก็ไปสมัครไว้ด้วย ผลปรากฏว่าสอบบรรจุได้ที่ ๑ ได้บรรจุทันที งานบริษัทเอกชนก็เรียกตัว ปรึกษาผู้ใหญ่แล้วเห็นว่าเลือกรับราชการดีกว่าจึงเลือกที่จะเป็นครูตามที่ได้เรียนมาโดยตรง ผู้เขียนได้รับราชการเป็นครูดนตรีในสังกัดสำนักงานการประถมศึกษาแห่งชาติ และโอนมาอยู่กรมสามัญศึกษา เป็นเวลาร่วม ๑๐ ปี

ตลอดระยะเวลาที่ได้เรียน และทำงานในสถาบันของกระทรวงศึกษาธิการ สังเกตได้ว่ารัฐมนตรีวาการกระทรวงศึกษาธิการอายุค่อนข้างสั้น หมายถึงเปลี่ยนรัฐมนตรีบ่อยมากน้อยคนนักที่จะสามารถอยู่ได้ครบวาระ ดั้งนั้นผู้ที่จะมาเป็นรัฐมนตรีกระทรวงนี้จะต้องคิดไวทำไว ไม่เช่นนั้นแล้วก็จะไม่ได้ทำอะไรเลย เผลอนิดเดียวเปลี่ยนรัฐมนตรีเสียแล้ว ไปถามครูบางคนว่าท่านรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการเป็นใคร ยังตอบผิดๆถูก ครูบางคนตอบว่า “จะไปสนใจทำไมว่าเป็นใครมาแป๊ปเดียว เดี๋ยวก็ไปแล้ว ไม่เห็นจะมีอะไรดีขึ้นเลย”

ทีเขียนมาตั้งแต่ต้นไม่ได้มีความมุ่งหวังให้กระทรวงศึกษาธิการ เข้ามาดูแลในเรื่องของดนตรี หรือวงโยธวาทิต เป็นพิเศษแต่อย่างใด แต่อยากจะบอกให้รู้ว่าสิ่งที่กล่าวมานี้เป็นเรื่องที่ไม่ควรปล่อยให้เป็นไปตามยถากรรม สิ่งใดที่ทำแล้วเกิดประโยชน์ต่อการศึกษา ต่อประเทศชาติบ้านเมือง ก็ควรต้องทำ อย่าเห็นเป็นเรื่องเล็กน้อย นี่เป็นเพียงหนึ่งเสียงสะท้อนจากครูดนตรี ครูวงโยธวาทิตที่อยากเห็นพัฒนาการทางการศึกษาดนตรีที่ดี อยากเห็นดนตรีที่ช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนไทยให้ดีขึ้น

 

๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑

Hosted by www.Geocities.ws

1