เมื่อครูวงโยฯต้อง….กับผู้บริหารโรงเรียน

ฉัตรชัย ผู้ปฏิเวธ

อาจารย์สมชายครับ ในปีนี้คณะกรรมการบริหารโรงเรียน นโยบายให้ส่งเสริมวิชาการโดยเฉพาะด้านคอมพิวเตอร์ จึงมีความจำเป็นต้องตัดงบประมาณของวงโยธวาทิต เงินที่อาจารย์ขอซื้อทูบา 1 ตัว คณะกรรมการฯพิจารณาแล้วเห็นว่าหากนำมาซื้อเครื่องคอมพิวเตอร์ให้นักเรียนใช้ สามารถซื้อได้ถึง 10 เครื่อง “ ผู้อำนวยการโรงเรียนพูดกับอาจารย์ผู้สอนวงโยธวาทิตแล้วก็เดินจากไป

ทูบา เป็นเครื่องดนตรีที่มีความสำคัญมาก และก็มีราคาค่อนข้างสูงหากเป็นเครื่องที่มีคุณภาพดีราคาพอๆกับรถยนต์คันหนี่งเลยทีเดียว เครื่องดนตรีในวงโยธวาทิตไม่มีชิ้นไหนที่ราคาถูก เครื่องที่มีขนาดเล็กที่สุดคือ Piccolo ราคายังพอๆกับจักรยานยนต์หนึ่งคัน ราคาเครื่องดนตรีวงโยธวาทิตทั้งวงรวมกันสามารถซื้อรถบัสปรับอากาศได้ ๑-๒ คัน ความจริงคิดเปรียบเทียบอย่างนี้ครูดนตรีหลายๆคนคงไม่เห็นด้วย แต่คนที่ไม่ใช่ครูดนตรี โดยเฉพาะนักบริหารทั้งหลายเขาต้องคิดถึงผลประโยชน์ที่ได้รับในการที่ต้องจ่ายเงินไป โดยเฉพาะผลประโยชน์ที่สามารถมองเห็นได้ทันที

ทำไมเครื่องดนตรีถึงมีราคาแพง ส่วนหนึ่งเป็นเพราะกลไกทางการตลาด อีกส่วนหนึ่งเป็นเพราะเครื่องดนตรีเป็นงานศิลปะประเภทหนึ่ง การประดิษฐ์เครื่องดนตรีแต่ละชิ้นต้องใช้ประสบการณ์ และความสามารถอย่างสูง และที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งคือเครื่องดนตรีที่ใช้ในวงโยธวาทิตเกือบทุกชิ้นไม่สามารถผลิตได้ในประเทศไทย ความจริงแล้วคนไทยก็สามารถทำได้แต่ยังไม่มีใครคิดจะทำก็เพราะเรื่องผลประโยชน์อีกนั่นแหละ ทำเครื่องดนตรีมาแล้วกลัวขายสู้ฝรั่งไม่ได้ เพราะคนไทยกันเองยังไม่เชื่อฝีมือกันเลย ความคิดเช่นนี้เกิดขึ้นกับหลายๆอย่าง ที่ต่างชาติทำไว้ขายคนไทย แต่คนไทยทำไว้ใช้เองไม่ได้ หวังไว้ว่าสักวันหนึ่งเราคงได้ขับรถเก๋งที่เป็นของคนไทยแท้ๆ ได้เป่า Saxophone ของคนไทย ที่มีคุณภาพไม่แพ้ของต่างชาติ

ไม่ใช่เฉพาะเครื่องดนตรีเท่านั้นที่มีราคาแพง อุปกรณ์ต่างๆที่ใช้ประกอบกับเครื่องดนตรี หรือที่เรียกว่าวัสดุสิ้นเปลืองก็มีราคาแพงเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นลิ้นปี่ ลิ้นแซ็ก ลิ้นโอโบ น้ำมันหยอดแตร หยอดปี่ ขี้ผึ้งทาข้อต่อ ฯลฯ บางคนสงสัยว่าทำไม ไม้ไผ่แผ่นบางๆ ขนาดนิ้วก้อย ราคาร้อยกว่าบาท กล่องหนึ่งมี ๑๐ อัน ราคาเป็นพัน ไม่ว่าเครื่องดนตรีหรืออุปกรณ์ที่ใช้ประกอบกับเครื่องดนตรีจะมีราคาแพงเท่าไร วงโยธวาทิตก็ยังคงมีความจำเป็นต้องใช้

ปัญหาเรื่องของงบประมาณสำหรับวงโยธวาทิตในโรงเรียนมัธยมศึกษา เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในหลายๆโรงเรียน ครูดนตรีหลายคนก็เป็นคนขี้เกรงใจ โรงเรียนมีงบให้น้อยก็ทำน้อย ไม่มีงบให้ก็ยังทำวงอยู่ได้เพราะใจรักจนบางครั้งเงินเดือนครูไม่พอใช้ และในที่สุดก็กลายเป็นครูผู้หมดไฟ เงินเป็นปัจจัยสำคัญสำหรับวงโยธวาทิต ทำอย่างไรให้ได้เงินตอบง่ายๆคือ ก็ต้องทำงานคนที่ไม่ทำเงินและอยู่ดีๆก็ได้เงินมา เงินนั้นมักจะอยู่ไม่ได้นาน เพราะไม่รู้จักวิธีหาเงิน และวิธีการใช้เงิน เหมือนกับสามล้อถูกล็อตเตอรี่ รางวัลที่ ๑ งานของวงโยธวาทิตเป็นอย่างไรได้เขียนไปแล้วใน เพลงดนตรี ฉบับที่ผ่านมา

สาเหตุหลักๆของการถูกลด หรือตัดงบประมาณมีดังนี้

๑. ไม่มีผลงานให้เห็น หลายๆวงฯที่ถูกลด – ตัดงบประมาณ ก็เพราะเหตุผลในข้อนี้ ส่วนหนึ่งก็เพราะครูวงโยฯ ขี้เกียจทำกิจกรรม เห็นแก่ตัว ทำงานเช้าชามเย็นชาม มาสาย กลับก่อนเวลา ไม่สอนนักเรียน ให้นักเรียนฝึกซ้อมกันเองไม่ดูแล ใครที่ไหนจะอยากให้การสนับสนุน หากครูผู้ควบคุมวงขยัน จัดกิจกรรมให้นักเรียนวงโยธวาทิตอย่างสม่ำเสมอ แล้วยังถูกตัดงบให้พิจารณาในข้อต่อไป

๒. ผลงานไม่น่าประทับใจ ครูวงโยฯบางคนขยันทำงาน ฝึกซ้อมตลอดปี แต่งานขาดคุณภาพไปออกงานที่ไหนใครๆก็ตำหนิ ทำไมเป่าเพี้ยนจังเลย! นักเรียนไม่มีระเบียบวินัยเลย! เล่นเพลงอะไรฟังไม่เห็นรู้เรื่องเลย! ไม่มีใครชื่นชมถูกว่าตลอด หากเป็นอย่างนี้ต้องกลับมาพิจารณาตนเอง ปรับเปลี่ยนวิธีการฝึกซ้อมใหม่ การเร่งให้นักเรียนเป่าเป็นเพลงได้เร็ว(เอาใจผู้บริหารโรงเรียน) โดยขาดการฝึกซ้อมพื้นฐานที่ดีซึ่งก่อให้เกิดผลเสียในระยะยาว หากครูทำวงให้มีคุณภาพไปร่วมกิจกรรมที่ไหน ใครๆก็ชื่นชม แล้วยังถูกลด หรือตัดงบประมาณอยู่อีก ให้พิจารณาข้อต่อไป

๓. ของบประมาณมากเกินไป ครูดนตรีใหม่ท่านหนึ่งได้รับมอบหมายให้ปรับปรุงวงโยธวาทิตที่มีอยู่แล้ว เนื่องจากอาจารย์คนเดิมย้ายไปที่อื่น ครูก็สำรวจถึงความจำเป็นว่าต้องส่งเครื่องใดซ่อม เสนอซื้อเครื่องใหม่ชิ้นใดบ้าง คิดคำนวณแล้วต้องใช้เงินประมาณห้าแสนบาท ในขณะที่โรงเรียนมีเงินให้ได้เพียงแค่ห้าหมื่นบาท ครูต้องปรับลดงบฯใหม่ หากว่าครูวงโยฯ ได้ทำเรื่องของบประมาณสำหรับวงโยธวาทิต โดยพิจารณาแล้วว่าจำเป็นจริงๆ และโรงเรียนสามารถอนุมัติให้ได้ในวงเงินที่เสนอ แต่ยังถูกตัด หรือลดงบประมาณอยู่อีก ให้พิจารณาในข้อต่อไป

๔. ผู้บริหารไม่เห็นความสำคัญ ครูวงโยฯ บางคนชอบผู้บริหารประเภทนี้ เพราะคิดว่าดี “ฉันจะไม่ต้องเหนื่อยอีกต่อไปแล้ว รอผู้อำนวยการแบบนี้มานาน และแล้วฝันก็เป็นจริง ไม่ต้องทำวงโยฯแล้วสบายจริงๆ” คิดแบบนี้คงไม่ถูกนัก เพราะความเป็นจริงแล้ว ผู้บริหารโรงเรียนประเภทที่ไม่เห็นความสำคัญของวงโยธวาทิต มีอยู่ไม่มากนัก และก็มักจะเป็นผู้บริหารที่อยู่ไหนได้ไม่นานต้องย้ายไปเรื่อยๆ ครูวงโยฯอย่าได้คิดเลยว่าจะสบาย เพราะผู้บริหารแบบนี้จะไม่ยอมให้วงโยธวาทิตอยู่เฉยๆ กิจกรรมที่เคยทำจะต้องทำต่อไป ผู้อำนวยการจะพูดว่า “เพราะคุณคือครูผู้ควบคุมวงโยธวาทิตคุณต้องทำวงโยธวาทิต หรือคุณอยากจะไปสอนคหกรรม อยากจะเล่นดนตรีหรือ ไปทำอาหาร เรื่องของงบประมาณต้องขอลดลง เพราะโรงเรียนมีนโยบายส่งเสริม ความเป็นเลิศทางวิชาการ วงโยธวาทิตไม่เห็นจำเป็นต้องใช้เครื่องดนตรีราคาแพงเลย เครื่องจีนแดงถูกๆก็มีขาย พวกลิ้นปี ลิ้นแซ็กก็ซื้อยี่ห้อที่ราคาถูกๆ หรือไม่ก็ให้นักเรียนซื้อใช้เอง จะได้ประหยัดงบประมาณของโรงเรียน เครื่องดนตรีที่เสนอซื้อคงต้องรอไปก่อน เรื่องที่จะไปเข้าร่วมประกวดไม่ต้องพูดถึง วงฝีมือขนาดนี้ไปประกวดก็แพ้เขาอย่าไปเลย!”

หากต้องพบกับผู้บริหารประเภทที่ไม่เห็นความสำคัญของกิจกรรมวงโยธวาทิต แล้วครูจะทำอย่างไร! เพราะว่าไม่เห็นความสำคัญ ก็ต้องทำให้เห็นความสำคัญ คำว่าความสำคัญนี้หมายถึงประโยชน์ที่ได้รับ หรือมูลค่าที่เพิ่มขึ้น ผู้บริหารมักจะคิดถึงผลประโยชน์มาเป็นอันดับแรก คำว่าผลประโยชน์คนส่วนใหญ่มักจะนึกถึงเรื่องของเงินมาเป็นอันดับแรก แต่ในเรื่องของการศึกษาแล้วผลประโยชน์ หรือมูลค่าเพิ่มที่เกิดขึ้น คือการเรียนรู้ของนักเรียน การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของนักเรียน การเจริญงอกงามทางความคิดของนักเรียน การเติบโตของนักเรียนที่สร้างความสมดุลให้สมองทุกด้าน ครูวงโยธวาทิตต้องทำให้ผู้บริหารโรงเรียนเห็นแสงสว่าง เข้าใจถึงจุดมุ่งหมายของการศึกษาที่แท้จริง และเข้าใจถึงกิจกรรมวงโยธวาทิตอย่างถูกต้อง

ครูวงโยธวาทิตไม่อาจจะทำให้ผู้บริหารโรงเรียนเข้าใจเรื่องของวงโยธวาทิตได้ หากตัวครูเองยังหลงทาง ยังไม่รู้ว่าหัวใจสำคัญของกิจกรรมวงโยธวาทิตคืออะไร

เรื่องต่อไปนี้เป็นเรียงความที่เขียนขึ้นโดยอดีตนักเรียนวงโยธวาทิตคนหนึ่ง สิ่งที่จะได้อ่านต่อไปนี้อาจให้ข้อคิดอะไรได้บ้าง

“ วันนี้เป็นอีกวันหนึ่งที่ฉันรู้สึกตื่นเต้นมาก ที่จะได้ร่วมกับวงโยธวาทิตไปบรรเลงรับเสด็จฯ พระเทพฯ ที่พระที่นั่งวิมานเมฆ เครื่องดนตรีที่ฉันเล่นคือปี่คลาริเนต ฉันเป่าแนวสองไม่ใช่ทำนองหลัก หากเป่าคนเดียวจะฟังไม่เป็นเพลงต้องเป่าพร้อมๆกันทั้งวง แม้ว่าฉันจะเป่าทำนองประสานฟังไม่เป็นเพลง แต่ฉันก็ภูมิใจเพราะครูบอกว่าเสียงประสานทำให้เพลงมีความไพเราะยิ่งขึ้น หากขาดเสียงประสานที่ดี เพลงจะฟังไม่ไพเราะเลย วันนี้เพลงที่ต้องใช้บรรเลง คือเพลงมหาชัย และเพลงมหาฤกษ์ ใกล้เวลาจะเสด็จฯมาถึงแล้ว พวกเราต้องเข้าแถวเตรียมบรรเลงเพลงรับเสด็จ ก่อนที่จะเสด็จฯมาถึง ไม่ต่ำกว่า ๑๕ นาที พวกเราทุกคนยืนนิ่ง แสงแดดที่ส่องมาไม่ทำให้ฉันและเพื่อนๆ รู้สึกร้อน เพราะพวกเราได้ถูกฝึกมาอย่างนักแล้ว ในวันนี้ไม่มีใครเป็นลมทุกคนยืนนิ่งเตรียมบรรเลงเพลงมหาชัย และแล้วเวลาที่รอคอยก็มาถึง เราเริ่มบรรเลงเพลงก่อนที่จะเห็นรถพระที่นั่งมาถึง เพราะมีนายตำรวจให้สัญญาณกับคุณครูให้เริ่มบรรเลง ในขณะที่บรรเลงฉันไม่ได้ยินเสียงตัวเองเป่าแต่ฉันได้ยินเสียงของทั้งวงบรรเลงพร้อมกันออกมาเป็นเพลงที่ไพเราะมาก บรรเลงไปจนเกือบจบเพลงรถยนต์พระที่นั่งก็มาจอดสนิทอยู่ที่หน้าวงของเรา เป็นครั้งแรกในชีวิตที่ฉันจะได้เห็น พระเทพฯ จริงๆ ความรู้สึกในตอนนี้ทั้งตื่นเต้น และตื้นตัน เพลงจบแล้วแต่ความรู้สึกของฉันยังคงตื่นเต้นอยู่ เพลงที่สองที่ต้องบรรเลงคือเพลงมหาฤกษ์ ตอน พระเทพฯ ทรงตัดโบว์ เปิดงาน …………

………แล้วเวลาส่งเสด็จกลับก็มาถึง ครูบอกว่าจะเริ่มบรรเลงเพลงตอนล้อรถหมุน ให้ทุกคนดูที่ครูให้สัญญาณ ไม่ต้องดูที่ล้อรถ ระหว่างที่เสด็จฯ มาที่รถ สิ่งที่ฉันไม่คาดฝันมาก่อนก็เกิดขึ้น พระเทพฯ ตรัสถามครูว่า “วงนี้โรงเรียนอะไร! บรรเลงให้ฟังสักเพลงได้ไหม” ครูได้สั่งให้พวกเราบรรเลงเพลงที่สามารถบรรเลงได้ดีที่สุดในขณะนั้น เพลงที่เราบรรเลงคือเพลงพระราชนิพนธ์มาร์ชราชวัลลภ เมื่อเราบรรเลงจบเพลง สิ่งที่เกิดขึ้นฉันจะจดจำไปตลอดชีวิตเลย พระเทพ ทรงตรัสว่า “บรรเลงได้ไพเราะดี” และพวกเราก็ได้บรรเลงเพลงมหาชัยอีกครั้งในการส่งเสด็จกลับ

วันนี้เป็นวันที่ฉันภูมิใจมาก ดนตรีที่ฉันบรรเลงแม้จะฟังแล้วไม่ค่อยเพราะสักเท่าไร แต่บรรเลงพร้อมกับเพื่อนๆแล้วฟังออกมาเป็นเพลงที่เพราะมาก ความภูมิใจของฉันก็ฉันได้ทำให้คนอื่นมีความสุข มันทำให้ฉันมีความสุขมากจริงๆ”
Hosted by www.Geocities.ws

1