มือปืน

ฉัตรชัย ผู้ปฏิเวธ

ไอ้ควาย ทำไมมึงเป่าแบบนี้ว่ะ ใครสอนมึงให้เป่าแบบนี้” สิ้นเสียงสบถแล้วครูขวดก็มานั่งลงข้างๆไอ้ฝืด ครูขวดเป็นอดีตนักเรียนวงโยธวาทิต ที่มีความรักความผูกพันกับวงโยฯ แทบจะเรียกได้ว่าชีวิตของครูขวดขาดวงโยฯไม่ได้ กว่าค่อนชีวิตของครูอยู่กับวงโยธวาทิตตลอด ส่วนไอ้ฝืดเป็นนักเรียนคลาริเนตที่อ่อนวัยวุฒิกว่าผม ไอ้ฝืดเป็นนักเรียนวงโยฯ ที่มีความขยัน มีความรับผิดชอบสูง อาจเป็นเพราะถูกครูขวดด่าอยู่เป็นประจำ

ครูขวดไม่เคยเรียกตัวเองว่าครู คำที่ใช้แทนครูก็คือ “กู” แรกๆที่ผมได้มาอยู่ในวง รู้สึกรับไม่ได้แต่พอนานๆไปก็รู้สึกชิน

ส่วนคำที่ครูใช้เรียกนักเรียนถ้าอารมณ์ดีก็จะเรียนกว่า “พวกเอ็ง” หรือ “พวกมึง” แต่ถ้าอารมณ์ไม่ดีแล้วก็มีหลายคำที่ครูนำมาใช้อย่างได้อารมณ์ ทั้งไอ้ควาย ไอ้เ... ไอ้สั... วันไหนที่นักเรียนในวงฯ ไม่ได้ยินคำด่าของครู วันนั้นคงจะนอนไม่หลับ

“พวกมึงรู้หรือเปล่าว่าสูบบุหรี่ มันไม่ดี โดยเฉพาะพวกมึง เป่าแตร เป่าแซ็ก พวกมึงจะตายไวขึ้น” พูดจบแล้วครูก็หยิบบุหรี่ยี่ห้อตองหนึ่งขึ้นมาคาบไว้แล้วพร้อมกับจุดไม้ขีด สูบลมเข้าอย่างสุนทรีย์ “อย่าให้กูรู้ว่าพวกมึงแอบไปสูบบุหรี่ หากจับได้โดนกูเตะแน่” นีไม่ใช่คำขู่เพราะครูเคยเตะนักเรียนติดฝาหนังมาแล้ว ไอ้ฝืดอีกนั่นแหละเป็นนักเรียนที่เคยโดนครูเตะสาเหตุก็เพราะแอบโดดเรียนมาซ้อมดนตรีในห้องวงโยธวาทิต ทันทีที่ครูพบไม่ทันได้พูดอะไรสักคำ ตัวไอ้ฝืดก็ไปกองติดผนังห้องแล้ว เรื่องนี้ไอ้ฝืดไม่เคยเล่าให้ใครฟังเพราะกลัวครูถูกไล่ออก ครูขวดเคยสอนวงโยธวาทิตมาแล้วหลายๆโรงเรียน ทั้งโรงเรียนสหศึกษา โรงเรียนชายล้วน โรงเรียนหญิงล้วน แม้กระทั้งโรงเรียนอนุบาล แต่ท้ายสุดครูก็ได้มาสอนโรงเรียนที่ครูเคยเป็นนักเรียนในชั้นมัธยมศึกษา ซึ่งเป็นโรงเรียนชายล้วน

ความดีของครูที่จะเป็นแบบอย่างที่ดีต่อนักเรียนแทบจะไม่มีให้เห็นเลย แต่ก็น่าแปลกที่นักเรียนวงโยฯทุกๆคนรักครู รักวงโยธวาทิต รักการฝึกซ้อมดนตรี รักที่จะมาอยู่ร่วมกัน ทำกิจกรรมร่วมกัน และทุกครั้งที่วงโยฯไปออกงาน ไปแสดงคอนเสิร์ต หรือไปร่วมประกวดรายการไหนๆ ก็ไม่เคยทำให้ผู้ชมผิดหวัง

ครูขวดได้เคยทำวงโยธวาทิตเข้าร่วมประกวดมาหลายรายการแล้ว ครูเคยพูดให้นักเรียนในวงฯว่า “กูเบื่อแล้ว ประกวดวงโย ขี้เกียจทำ พวกมึงเหนื่อย กูก็เหนื่อย ส่วนไอ้คนที่ได้หน้า ไม่เห็นมันจะเหนื่อยตรงไหน ปีนี้กูจะส่งวงฯประกวด เป็นครั้งสุดท้ายแล้ว สงสารพวกมึงไม่อยากเห็นพวกมึงเหนื่อยอีก” ครูพูดจบไอ้ฝืดก็ถามกลับทันที “ครูครับวงเราตอนนี้มีนักเรียนแค่สามสิบกว่าคน จะไปประกวดได้ยังไงครับ”

“พวกมึงไม่ต้องกังวลเป็นหน้าที่ของกู หน้าที่ของมึงคือตั้งใจซ้อมให้ดีที่สุด” ครูพูดจบแล้วก็เดินไปหยิบแบบฝึกหัดสำหรับซ้อมรวมวงส่งให้ พร้อมกับมอบหมายให้ไอ้ฝืดทำหน้าที่ดูแลการฝึกซ้อม ช่วงนี้ครูไม่อยู่ดูนักเรียนซ้อม ไอ้ฝืดถือได้ว่าเป็นศิษย์เอกของครูก็ว่าได้ ทุกๆอย่างที่ครูสอน ไอ้ฝืดทำได้หมด ทั้งเรื่องของดนตรี และเรื่องการบริหารจัดการวง ตั้งแต่นัดหมายการฝึกซ้อม ติดตามคนที่ขาดซ้อม เป็นผู้ช่วยควบคุมวง จัดโน้ตเพลง ลอกโน้ตเพลง เขียนสกอร์เพลง ดูแลความสะอาดห้อง เปิด-ปิดห้องซ้อม ทำทุกอย่าง จนครูไว้ใจได้

ครูขวดเคยเล่าให้นักเรียนฟังว่า สมัยที่ครูยังเป็นนักเรียนวงโยฯ เครื่องดนตรีที่ครูเล่นคือแซ็กโซโฟน ตั้งแต่ชั้น ม.๑ ถึง ม.๖ ครูได้ไปชมการประกวดวงโยธวาทิตทุกปี และมีความคิดว่าต้องมีสักวันที่ตัวเองจะได้ร่วมประกวดให้ได้ ครูเป็นนักเรียนที่ขยันมาก แบบฝึกหัดที่มีอยู่ทุกเล่มซ้อมจนหมด ในสมัยนั้นโน้ตเพลง แบบฝึกหัดก็หายาก มีร้านขายโน้ตอยู่ร้านหนึ่งตรงข้ามไปรษณีย์กลาง สมัยเด็กครูแวะเวียนไปเป็นประจำเพื่อหาซื้อโน้ตเพลง แบบฝึกหัดมาฝึกเป่า จนกระทั่งครูเรียนชั้น ม.๖ วงโยฯของโรงเรียนก็ยังไม่ได้ประกวด เพราะในตอนนั้นโรงเรียนไม่มีนโยบายให้การสนับสนุนในด้านนี้อย่างจริงจัง มีวงโยฯไว้ใช้งาน เป็นหน้าเป็นตาของโรงเรียนเท่านั้น ครูได้เข้าศึกษาต่อทางด้านดนตรีในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ ความฝันของครูยังไม่สิ้นหวัง ครูได้มีโอกาสไปคลุกคลีกับวงโยธวาทิตวงหนึ่ง ซึ่งโรงเรียนให้การสนับสนุนดีพอสมควร และวงโยธวาทิตวงนี้ก็มีโครงการที่จะเข้าร่วมประกวดฯด้วย ครูเป็นนักศึกษาปีหนึ่งแต่ต้องมาตัดผมทรงนักเรียนหัวเกรียน ต้องมากินมานอนใช้ชีวิตอยู่กับนักเรียนมัธยมชายล้วน ต้องมาใส่ชุดนักเรียนกางเกงขาสั้น ทำทุกอย่างเพื่อที่จะได้เป็นสมาชิกของวงนี้ สิ่งที่ครูทำไปหลายๆคนอาจเห็นเป็นเรื่องไร้สาระ ไม่มีประโยชน์ แต่ครูไม่ได้มองอย่างนั้น ประสบการณ์ชีวิตในครั้งนี้ครูบอกว่า มันไม่สามารถแลกได้ด้วยเงิน มันต้องทุ่มเททั้งตัวและหัวใจ จากสภาพของนักศึกษาปีหนึ่งในตอนนี้กลายเป็นนักเรียนมัธยมศึกษาไปแล้ว ในตอนเช้าก็ไปเรียนทีมหาวิทยาลัย เรียนเสร็จก็รีบกลับมาฝึกซ้อมรวมกับเด็กที่โรงเรียน ซ้อมเสร็จก็นอนค้างที่โรงเรียนกินอยู่กับนักเรียนไปเลย ครูคนอื่นๆในโรงเรียนที่ไม่ใช่ครูวงโยฯ ไม่มีใครรู้เลยว่า ครูขวดไม่ใช่นักเรียนที่นี่ จุดมุ่งหมายของครูขวดก็คือขอให้ได้มีโอกาสเข้าร่วมประกวดวงโยธวาทิตสักครั้ง แล้ววันประกวดก็มาถึงเครื่องแบบวงโยธวาทิตทำให้แยกไม่ออกว่าใครเป็นใคร ครูขวดได้มีโอกาสลงสนามประกวดฯเป็นครั้งแรกในชีวิต และคงเป็นครั้งสุดท้ายด้วย ในฐานะ “มือปืน” ความฝันของครูขวดเป็นจริงแล้ว ในขณะที่ยังมีนักเรียนวงโยธวาทิต อีกหลายคนที่อยากจะมีโอกาสสักครั้งในชีวิตเข้าร่วมการประกวดแต่ไม่อาจสร้างฝันให้เป็นจริงได้ “ถึงกูจะเป็นมือปืน แต่ปืนของกูก็ไม่ได้ทำร้ายใคร ปืนของกูทำให้คนมีความสุขหรือว่ามึงจะเถียง” เป็นประโยคปิดท้ายเรื่องที่ครูเล่าให้ฟัง ผมไม่เคยลืมประโยคนี้เลย

ช่วงสอง-สามสัปดาห์ ที่ผ่านมาครูไม่เคยอยู่คุมเด็กนักเรียนฝึกซ้อม ปล่อยเป็นหน้าที่ของไอ้ฝืด คนที่ครูไว้วางใจ แบบฝึกหัดรวมวงที่ครูให้ฝึก นักเรียนฝึกจนเกือบจะจบเล่มแล้ว ครูก็ยังไม่กลับมาดูการฝึกซ้อม ไม่มีใครรู้ใครรู้ว่าครูหายไปไหน ไปทำอะไรแล้วจะกลับมาเมื่อไหร่ นักเรียนหลายคนเริ่มมีคำถาม “พี่ฝืด ครูหายไปไหน เมือไหร่จะกลับมาดูพวกเราฝึกซ้อม แบบฝึกหัดที่ให้ฝึกฉันเป่าจนจบเล่มแล้ว เมื่อไหร่จะได้เป่าเพลงสักที” ไอ้ฝืดยืนนิ่งไม่รู้จะตอบคำถามนักเรียนรุ่นน้องอย่างไร ยังคงมีคำถามอีก “เราจะประกวดฯอยู่แล้ว เพลงก็ยังไม่ได้ซ้อม ทั้งวงมีอยู่แค่สามสิบคนจะไปประกวดได้หรือ”

.....ผ่านไปหนึ่งเดือนเต็ม วันนี้ครูขวดนัดซ้อมรวมวง เก้าอี้นักดนตรีพร้อม ที่ตั้งโน้ตเพลงถูกจัดไว้หกสิบตัว เกือบเต็มห้องซ้อม เครื่อง Percussion concert ที่ครูไปยืมมาจากที่อื่นหลายชิ้น ทั้ง Timpani Marimba Vibraphone Gong ฯลฯ ถูกจัดวางอย่างเป็นระเบียบ “ที่ครูหายไปคงไปติดต่อขอยืมเครื่องดนตรีนี่เอง “ ไอ้ฝืดคิดในใจ แต่ก็อดแปลกใจไม่ได้ที่ครูให้จัดเก้าอี้ถึงหกสิบตัว

หลังเลิกเรียนนักเรียนวงโยธวาทิตทุกคนรีบมาห้องซ้อม ตามที่ครูนัดไว้ ทันทีที่ไปถึงห้องซ้อมไอ้ฝืด รู้สึกประหลาดใจ ทำไมห้องวงโยฯ มีคนมามากมาย วันนี้มีงานอะไร? เขามาทำอะไรกัน? หน้าตาคุ้นๆนะ? แล้วไอ้ฝืดก็ได้คำตอบ คนที่มารวมกันในวันนี้ไม่ใช่ใครที่ไหน เป็นศิษย์ครูขวดทั้งนั้น วันนี้เป็นวันรวมศิษย์เก่าวงโยธวาทิต แต่ไม่ใช่งานสังสรรค์ ทุกๆคนที่มารวมกันในวันนี้มีจุดประสงค์เดียวกันคือมาเล่นดนตรี

ทุกๆคนเข้านั่งประจำที่ในวง ผมได้นั่งข้างๆไอ้ฝืด ครูแจกโน้ตเพลงที่พวกเราไม่เคยบรรเลงมาก่อนให้กับนักดนตรี ทุกคนได้โน้ตเรียบร้อยแล้ว ครูให้ไอ้ฝืดมาทำหน้าที่นำวงวอร์ม เป่าสเกล ขั้นคู่ ฯลฯ และทำการเทียบเสียงเสร็จแล้ว ครูก็ทำหน้าที่ผู้อำนวยเพลง เป็นครั้งแรกที่นักเรียนได้เห็นโน้ตเพลงนี้ แต่ทุกคนก็บรรเลงได้อย่างไพเราะ โน้ตในเพลงไม่มีส่วนไหนที่ยากกว่าแบบฝึกหัดที่ครูให้นักเรียนฝึกก่อนหน้านี้เลย นักเรียนหลายคนคงเข้าใจแล้วว่าทำไมต้องฝึกแบบฝึกหัดมากๆ ก่อนที่จะฝึกเพลง แบบฝึกหัดก็เหมือนกับครูของเราคนหนึ่ง ในแบบฝึกหัดจะรวบรวมเทคนิค ปัญหาต่างๆที่จะต้องพบในบทเพลง หากนักเรียนสามารถฝึกแบบฝึกหัดจนจบ ได้อย่างถูกต้อง ละเอียด ไม่ข้ามขั้น ก็เหมือนกับได้ผ่านปัญหามาแล้ว พอเจอกับปัญหาใหม่ๆ เจอบทเพลงใหม่ๆก็สามารถแก้ปัญหาได้ สามารถบรรเลงได้ นักเรียนทุกคนฝึกซ้อมดนตรีอย่างมีความสุข เพราะสามารถบรรเลงบทเพลงที่ครูให้โน้ตเพลงมาได้ทุกเพลง เหลือเพียงแต่การปรับรายละเอียด การฝึกซ้อมคิวเพลงให้ถูกต้อง

หลังเลิกการฝึกซ้อมรวมวง ไอ้ฝืดได้เดินมาหาผม แล้วถามว่า “พี่เป็นนักเรียนรุ่นไหนครับ ไม่เคยเห็นพี่มาก่อนเลย รุ่นพี่คนอื่นๆผมจำได้หมด ทำไมไม่คุ้นหน้าที่เลย” ผมตอบคำถามสั้นๆเพื่อให้ไอ้ฝืดหายสงสัย “พี่เป็นมือปืน”

๕๕๕๕๕๕๕๕๕๕๕๕๕๕๕๕๕๕๕๕๕๕๕๕๕๕๕๕๕๕๕๕๕๕๕๕๕๕๕๕๕

พินิจท้ายเรื่อง

มือปืน ในที่นี้ไม่ใช่อาชญากร ในแวดวงโยธวาทิต มือปืน หมายถึงผู้ที่เข้ามาร่วมเล่นดนตรีในวง โดยที่ตัวเองไม่ได้เป็นสมาชิกที่อยู่ในวง แต่มาร่วมเล่นด้วยเพราะใจรัก เพราะอยากเล่นดนตรี โดยไม่ได้หวังผลตอบแทนอื่นใด นอกจากประสบการณ์ทางดนตรี ที่มือปืนแต่ละคนล้วนแสวงหา มือปืน กับมือปืนรับจ้าง มีความหมายต่างกัน ในวงการวงโยธวาทิต ส่วนใหญ่จะไม่มีมือปืนรับจ้าง มือปืนรับจ้างเป็นพวกที่ต้องการค่าตอบแทน ส่วน”มือปืน” คือพวกที่ต้องการประสบการณ์ ทางดนตรี

สาเหตุที่สำคัญที่ทำให้เกิดมือปืนคือ ในประเทศไทยมีวงโยธวาทิตอยู่เป็นจำนวนมาก ในแต่ละปีจะมีนักเรียนวงโยฯ ส่วนหนึ่งที่สำเร็จการศึกษา แต่ยังอยากเล่นดนตรีอยู่ จึงต้องหาวงฯที่เปิดโอกาสให้คนที่ไม่ใช่สมาชิกของวงมาร่วมเล่นด้วย วงที่ต้องการมือปืน ส่วนหนึ่งเป็นวงที่ต้องการเข้าร่วมการประกวดฯ แต่มีจำนวนสมาชิกของวงฯไม่เพียงพอ นักเรียนในวงยังมีประสบการณ์ทางดนตรีน้อย มือปืนจึงเป็นที่ต้องการ ในปัจจุบันการประกวดบางรายการได้อนุญาตให้สมาชิกในวงที่เข้าประกวด ไม่จำเป็นต้องเป็นนักเรียนในสถาบันเดียวกัน จะเป็นศิษย์เก่าหรือใครก็ได้ มือปืนจึงมีโอกาสมากขึ้น

แม้ว่าการประกวดหลายๆรายการจะเข้มงวด ในเรื่องระเบียบของการประกวด ไม่อนุญาตให้วงที่เข้าร่วมประกวดมี “มือปืน” แต่ในความเป็นจริงการตรวจสอบเพียงดูหลักฐานกับหน้าตาผู้เข้าประกวด ก็ไม่สามารถตรวจสอบได้ว่าเป็นมือปืนหรือไม่

ถึงเวลาแล้วหรือยัง …ที่การประกวดทุกๆรายการจะเปิดกว้างขึ้นอีกสักนิด เพื่อให้โอกาสกับ มือปืนทั้งหลายไม่ต้องมาหลบๆซ่อนๆ นักเรียนวงโยฯหลายคนที่เรียนจบชั้นมัธยมแล้วแต่ยังอยากเล่นดนตรีจะได้มีโอกาสเล่นดนตรีต่อไปอีก

@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@

Hosted by www.Geocities.ws

1