วงโยธวาทิตไทยกับการประกวดดนตรีระดับโลก  World Music Contest(WMC)

เรียบเรียงจากบทสัมภาษณ์

อาจารย์ถวัลย์ชัย สวนมณฑา

อาจารย์ประยุทธ ชาญอักษร

วันที่ ๗–๓๑ กรกฎาคม ๒๕๔๘  ที่เมือง Kerkrade เป็นเมืองเล็กๆอยู่ทางตอนใต้ของประเทศเนเธอร์แลนด์ จะมีการประกวดวงวงโยธวาทิตระดับโลกขึ้น ชื่อของการประกวดคือ The 15th World Music Contest การประกวดจัดขึ้นทุกๆ ๔ ปี  เป็นรายการประกวดระดับนานาชาติที่วงโยธวาทิตไทยเข้าร่วมมากที่สุด เป็นรายการที่สามารถบอกให้รู้ถึงมาตรฐานของวงโยธวาทิตไทยเมื่อเทียบกับนานาชาติได้ดีเป็นอย่างยิ่ง 

ประวัติความเป็นมาของ WMC

ความคิดในการจัดการประกวดเริ่มขึ้นเมื่อปี พ.ศ.๒๔๙๒ (ค.ศ.๑๙๔๙) โดยเมือง Kerkrade ได้เชิญวงเครื่องเป่า ๒ วงมาแสดงคอนเสิร์ต ได้แก่ English Colliery Band และ The CarIton Main Frickley Colliery Band ซึ่งเป็นวงที่มาจากเมืองที่ทำเหมืองถ่านหิน และเมือง Kerkrade เองก็เป็นเหมืองที่ทำเหมืองเช่นกัน(ในขณะนั้น)ดนตรีเป็นกิจกรรมหนึ่งที่ชาวเหมืองให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่งว่างเว้นจากการทำเหมืองก็หยิบเครื่องดนตรีมาเล่นกัน จนมีความชำนาญรวมตัวกันเล่นเป็นวงได้   การแสดงคอนเสิร์ตในครั้งนั้นประสบความสำเร็จเป็นอย่างยิ่ง

จึงทำให้เกิดแนวความคิดที่จะจัดการประกวดในระดับนานาชาติ สำหรับวงเครื่องเป่าสมัครเล่น ไปจนถึงวงระดับมืออาชีพ รวมไปถึงวงออร์เครสตร้าด้วย    ความคิดนี้ได้รับความสนใจและการตอบรับสนับสนุนจากหลายประเทศ เพราะในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สองยุติลง  ดนตรีจะเป็นสิ่งที่ช่วยสร้างความสนานฉันท์ ให้กับประเทศต่างๆได้อย่างดียิ่ง     ตลอดระยะเวลาหลายปีที่ WMC จัดการประกวดขึ้น ได้ตั้งปนิธาณไว้ว่าการประกวดนี้จะเป็นการประกวดที่มุ่งเน้นเรื่องของมาตรฐานทางดนตรี และคุณภาพที่ดีที่สุดในระดับที่นานาชาติยอมรับ  ปัจจุบัน WMC ได้เป็นการประกวดวงโยธวาทิตระดับโลก ที่นานาชาติให้การยอมรับสูงสุด

วงโยธาทิตในประเทศไทยได้เข้าร่วมประกวด WMC ที่ผ่านมามีดังนี้ *

*(อาจารย์ประยุทธ ชาญอักษร อนุเคราะห์ข้อมูล)

พ.ศ.๒๕๒๔     วงโยธวาทิตโรงเรียนวัดสุทธิวราราม

พ.ศ.๒๕๒๘     วงโยธวาทิตโรงเรียนมงฟอร์ตวิทยาลัย

พ.ศ.๒๕๓๒     วงโยธวาทิตโรงเรียนราชสีมาวิทยาลัย ร่วมกับโรงเรียนสุรนารี

พ.ศ.๒๕๓๖     วงโยธวาทิตโรงเรียนวัดสุทธิวราราม ร่วมกับโรงเรียนสุรนารี

                        วงโยธวาทิตโรงเรียนราชวินิตบางแก้ว

พ.ศ.๒๕๔๐     วงโยธวาทิตโรงเรียนหอวัง

                        วงโยธวาทิตโรงเรียนสุรนารี

                        วงโยธวาทิตโรงเรียนเซนต์ดอมิมิค

                        วงโยธวาทิตโรงเรียนอัสสัมชัญศรีราชา

                        วงโยธวาทิตโรงเรียนเบญจมราชูทิศ

พ.ศ.๒๕๔๔     วงโยธวาทิตโรงเรียนเซนต์ปอล

                        วงโยธวาทิตโรงเรียนสุรนารี

                        วงโยธวาทิตโรงเรียนวัฒโนทัยพายัพ

                        วงโยธวาทิตโรงเรียนเซนโยเชพคอนแวนต์

                        วงโยธวาทิตโรงเรียนสุรศักดิ์มนตรี

                        วงโยธวาทิตโรงเรียนเบญจมราชูทิศ

                        วงโยธวาทิตโรงเรียนมัธยมสังคีต

การเตรียมตัวเพื่อเข้ารวมประกวด WMC

            ผู้เขียนได้มีโอกาสพบกับอาจารย์สองท่านที่มีประสบการณ์ในการนำนักเรียนเรียนไปร่วมประกวด WMC มาแล้ว ได้แก่ อาจารย์ถวัลย์ชัย  สวนมณฑา ผู้ควบคุมวงโยธวาทิตโรงเรียนราชวินิตบางแก้ว และอาจารย์ประยุทธ ชาญอักษร ผู้ควบคุมวงโยธวาทิตโรงเรียนหอวัง  ทั้งสองท่านได้เล่าถึงภาพรวมและให้ข้อมูลในการเตรียมตัวและเข้าเรวมประกวด WMC ดังนี้

อาจารย์ถวัลชัย  สวนมณฑา ผู้ควบคุมวงโยธวาทิตโรงเรียนราชวินิตบางแก้ว

  โรงเรียนราชวินิตบางแก้วได้รับรางวัลชนะเลิศถ้วยพระราชทานพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ การประกวดวงโยทวาทิตแห่งประเทศไทย ในเดือนมกราคม ๒๕๓๖ กลุ่มผู้ฝึกซ้อมจึงได้ประชุมกัน หนึ่งในผู้ฝึกสอนคืออาจารย์ประณต เลิศมีมงคลชัย ซึ่งเป็นผู้มีประสบการณ์ไปประกวด WMC ในสมัยที่เรียนอยู่ที่มงฟอร์ตเป็นกำลังสำคัญ  ทุกคนมีความเห็นว่าควรจะเข้าร่วมประกวด WMC ครั้งที่ ๑๒ เพื่อสร้างประสบกาณ์ทางดนตรีที่ดีให้กับนักเรียนในระดับโลก  ปัญหาแรกก็คือการประกวด WMC ได้หมดเขตรับสมัครไปแล้ว  แต่ก็ลองติดต่อว่าผู้จัดว่าจะยินดีให้เข้าร่วมประกวดได้หรือไม่ ในตอนนั้นอินเตอร์เน็ต ยังไม่แพร่หลายจะติดต่อก็ต้องจดหมาย หรือส่งแฟกซ์ ผลปรากฎว่าผู้จัด WMC ยินดีเชิญเข้าร่วมประกวดในฐานะแชมป์ประเทศไทย

ปัญหาสำคัญที่สุดในตอนนั้นคือเรื่องของงบประมาณซึ่งต้องใช้เงินหลายล้านบาท   อาจารย์ถวัลชัย เล่าว่าได้วางแผนการหาเงินไว้สามขั้นตอนดังนี้ ๑.ขอการสนับสนุนจาก ส.ส.  ๒.จัดคอนเสิร์ตหาเงิน ๓.เด็กนักเรียนออกค่าใช้จ่ายในการเดินทาง  แผนการขั้นแรกก็ดำเนินการทันที ทั้งผู้อำนวยการอาจารย์ผู้คุมวง เข้าไปพบ ส.ส.วัฒนา อัศวเหม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสมุทรปราการ ได้รับการสนับสนุนงบประมาณทั้งหมด ๓.๘ ล้านบาท แผนสองและสามเลยไม่ได้ใช้ เรื่องของงบประมาณจึงหมดปัญหา

            ในการซ้อม marching และ Display ไม่เป็นเรื่องที่น่าห่วงเพราะนักเรียนซ้อมมาตลอด ตั้งแต่ก่อนการประกวดในประเทศไทย เพลง Marching ได้อาจารย์อารี สุขะเกศ เขียนเพลงมาร์ชประชาธิปไตยให้ สร้างความประทับใจกับผู้ชมเป็นอย่างยิ่งเพราะหลายๆวงใช้เพลงมาร์ชของ J.P. Sousa แต่วงจากประเทศไทยใช้เพลงที่แต่งเองทั้งทำนองและเสียงประสานน่าฟังเป็นอย่างยิ่ง

 เรื่องของคอนเสิร์ตเป็นเรื่องที่น่าห่วงเป็นอย่างมาก เพราะต้องเล่นเพลงบังคับหนึ่งเพลงในครั้งนั้นผู้ประกวด Concert Division 2 กำหนดให้เล่นเพลง Division of Fight ซึ่งกว่าทางวงจะได้โน้ตเพลงก็เหลือเวลาซ้อมเพียงหนึ่งเดือน เพราะต้องสั่งซื้อโน้ตเองกว่าจะส่งมาก็ใช้เวลาพอสมควร  เครื่องดนตรี Percussion concert ก็ยังไม่มีต้องใช้วิธีติดต่อเช่าเพราะถ้าจะซื้อคงไม่ทันการประกวด Oboe กับ Bassoon ก็ต้องสั่งซื้อในช่วงที่รอเครื่องดนตรีก็ส่งนักเรียนไปซ้อมกับครู Oboe, Bassoon  ในสมัยนั้นเรื่องของ concert band ในประเทศไทยยังไม่พัฒนาเท่าที่ควร แต่วงได้รับเชิญให้เข้าประกวดทั้งสามประเภทคือ Marching, Display และ Concert ในส่วนของคอนเสิร์ตไม่คิดว่าจะได้รางวัลเพราะมาตรฐานของ WMC สูงมาก

ไม่มีปัญหากับการเรียนของนักเรียน เพราะการฝึกซ้อมอยู่ในช่างปิดภาคเรียน ระหว่างเดือนมีนาคม ถึงมิถุนายน ๔ เดือนเพียงพอสำหรับการเตรียมตัวประกวด  ผู้ปกครองนักเรียนให้การสนับสนุนเป็นอย่างดี นักเรียนที่เล่นอยู่ในวงเป็นนักเรียนที่โรงเรียนราชวินิตบางแก้วรวมกับศิษย์เก่าไม่มือปืน ทุกคนรักกันเหมือนพี่เหมือนน้อง การจัดการเป็นเรื่องสำคัญมากแต่ประสบการในการทำวงโยฯมาหลายปี ทำให้อาจารย์ถวัลย์ชัย แกปัญหาต่างๆได้อย่างดี

  ในเรื่องของค่าใช้จ่าย ค่าเดินทางถือว่าเป็นค่าใช้จ่ายที่มากที่สุด รองลงมาคือเรื่องการการกินอยู่การเข้าค่ายฝึกซ้อม และค่าเครื่องดนตรีที่ต้องซื้อเพิ่มเติมรวมไปถึงค่าเช่าเครื่องดนตรี  ค่าใช้จ่ายส่วนหนึ่งที่อาจารย์ถวัลย์ชัยบอกว่าจำเป็นต้องมี คือการศึกษาดูงานสำหรับครู หรือการทัศนศึกษาสำหรับนักเรียน หรืออาจจะเรียกว่าการไปเที่ยวสำหรับคณะผู้ติดตาม  กำหนดการประจำวันคือเช้าเที่ยวบ่ายซ้อม อาจารย์เน้นว่าถ้าจะไปซ้อมเพื่อแข่งอย่างเดียวจะไม่ได้อะไรกลับไปเลย วงที่จะมาแข่งต้องพร้อมตั้งแต่อยู่ที่เมืองไทยแล้ว เรื่องของการไปเทียวเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง เราต้องไปดูเขาเล่นคอนเสิร์ต ต้องไปเห็นวิธีการเรียนการสอนการฝึกซ้อมดนตรีของเขา เพื่อที่จะนำความรู้มาพัฒนาตัวเราเอง

ผลการประกวด WMC วงโยธวาทิตโรงเรียนราชวิตบางแก้วได้รับวางวัลเหรียญทองประเภท Show Band(Display) และ Marching และได้รับรางวัลคะแนนสูงสุดประจำวัน ในส่วนของ Concert ได้รับรางวัลเหรียญเงิน

สุดท้ายอาจารย์ถวัลย์ชัย ได้ให้ข้อคิดไว้ว่า “การทำวงโยธวาทิตต้องทำให้วงสามารถยืนได้ด้วยขาของตนเอง เรื่องที่ไม่รู้ต้องไปหาความรู้เพิ่มเติม วงที่จะไปประกวดระดับโลกควรผ่านการประกวดระดับประเทศมาแล้ว และต้องมีความพร้อมในทุกๆด้าน ทั้งบุคลากร เครื่องดนตรี งบประมาณ ต้องมีแนวความคิดที่ชัดเจน ควรคิดว่าจะได้อะไรกลับมาบ้าง อย่าซ้อมอย่างเดียว ต้องไปดูประเทศเขาเอาสิ่งที่ดีมาพัฒนาตัวเรา”  อาจารย์ยังทิ้งท้ายว่า “ถ้าจะให้ดีรัฐบาลควรให้การสันบสนุนวงที่ชนะเลิศประเทศไทยให้ได้ไปประกวดระดับโลกที่ WMC”

 อาจารย์ประยุทธ ชาญอักษร ผู้ควบคุมวงโยธวาทิตโรงเรียนหอวัง

  ปี พ.ศ. ๒๕๓๒ อาจารย์ประยุทธ ได้ร่วมประกวด WMC กับโรงเรียนราชสีมาวิทยาลัย ในฐานะนักเรียน

 ปี พ.ศ.๒๕๔๐ ไปร่วมประกวดในฐานะผู้ควบคุมวงโยธวาทิตโรงเรียนหอวัง

ประสบการณ์ไปประกวด WMC ของอาจารย์ประยุทธ มีดังนี้ปีที่ไปประกวดกับวงฯราชสีมาวิทยาลัย อาจารย์วิทวัส กลีหมื่นไวย เป็นผู้คุมวง ในสมัยนั้นการติดต่อสื่อการกับผู้จัดการประกวดค่อนข้างลำบากกว่าจะรู้ข้อมูลต่างๆบางทีต้องใช้เวลาเป็นเดือน ต้องเดินทางไปกลับโคราชกับกรุงเทพฯหลายครั้งเพื่อดำเนินการด้านเอกสารต่างๆทั้งแปลระเบียบการประกวด ส่งใบสมัครและส่งเอกสารต่างๆ การฝึกซ้อมยังไม่มีรูปแบบการวางแผนที่ชัดเจน สื่อต่างๆในการศึกษาเรื่องของวงโยธวาทิตหาได้ยาก สิ่งที่ต้องเตรียมสำหรับการประกวดได้แก่ จัดรูปแบบการแสดง เพลงที่ใช้ประกวดก็ต้องนำมาเรียบเรียงเองสำหรับ การประกวดประเภท Show Band โดยอาจารย์ขวัญ พงษ์ดนตรี เป็นคนทำเพลง จัดหาบุคลากรมาช่วยสอน วงราชสีมาวิทยาลัยได้เข้าร่วมประกวดทั้งสามประเภทคือ Marching band, Show band และ Concert band งบประมาณในตอนนั้น(พ.ศ.๒๕๓๒)ประมาณ ๓ ล้านบาท ได้รับการสนับสนุนจากสมาคมศิษย์เก่าส่วนหนึ่ง  ผลการประกวด ได้เหรียญทองประเภท Marching band, Show band ได้เหรียญเงินประเภท Concert band

จากการที่เคยไปร่วมประกวด WMC ทำให้อาจารย์ประยุทธ รู้ถึงวิธีการแก้ไขปัญหากต่างๆของวงโยฯได้เป็นอย่างดี  เมื่อได้มาเป็นอาจารย์วงโยธวาทิตโรงเรียนหอวัง จนสามารถนำวงได้แชมป์ประเทศไทย รางวัลถ้วยพระราชทานสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ   ในปี พ.ศ.๒๕๔๐ อาจารย์ได้ตัดสินใจจะส่งวงเข้าร่วมประกวด WMC ครั้งที่ ๑๓ ทำโครงการตั้งงบประมาณ ๔ ล้านบาท ผู้อำนวยการโรงเรียนคือ ผอ.สมพงษ์ ธรรมอุปกรณ์ ก็ยังไม่ได้ตอบตกลงหรือปฏิเสธ แต่ในที่สุด ผอ.ก็หาเงินให้กับวงได้จากหลายๆองค์กรเช่นการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ให้งบปี Amazing Thailand แต่มีข้อแม้ให้วงต้องประชาสัมพันธ์งาน Amazing Thailand ให้ด้วย ปตท. บริษัทสยามดนตรียามาฮ่าก็ให้การสนับสนุนส่วนหนึ่ง

จากการคำนวนเวลาฝึกซ้อมแล้วหากให้นักเรียนเรียนไปด้วยซ้อมไปด้วยจะไม่ทันการประกวดจึงต้องขอให้นักเรียนหยุดเรียน ๓ เดือน โดยโรงเรียนจะจัดสอนพิเศษให้หลังจากนักเรียนเดินทางกลับจากการประกวดแล้ว โดยโรงเรียนออกค่าใช้จ่ายในการให้ครูมาสอนเป็นกรณีพิเศษ ปัญหาที่เกิดขึ้นคือเรื่องของนักเรียนและผู้ปกครองบางคน ที่ไม่อยากให้ลูกเล่นดนตรีในวงโยธวาทิต เพราะเด็กส่วนหนึ่งต้องเตรียมตัวสอบเข้ามหาวิทยาลัย นักเรียนจำนวนหนึ่งจึงขอลาออกจากวง  ผู้อำนวยการได้พยายามช่วยแก้ปัญหาดังกล่าวโดยให้โรงเรียนรับนักเรียนโควต้าความสามารถพิเศษสำหรับวงโยธวาทิตถึง ๒๐ คน ซึ่งนักเรียนที่ผ่านการคัดเลือกถือได้ว่าเป็นนักเรียนที่มีพื้นฐานทางดนตรีค่อนข้างดีอยู่แล้ว ทำให้ไม่ต้องมาเริ่มต้นที่ศูนย์เวลา ๓ เดือนก็สามารถเล่นรวมกับนักเรียนในวงได้ ผู้ฝึกสอนส่วนหนึ่งเป็นศิษย์เก่า อีกส่วนเป็นบุคลากรที่มีความรู้สามารถในเรื่องวงโยธวาทิตเป็นอย่างดีทั้งคนไทยและอาจารย์จากต่างประเทศ อาจารย์ประยุทธบอกว่างบประมาณที่ควรมีส่วนหนึ่งคือ ค่าบุคลากรไม่ควรต่ำกว่า ๓๐% ของงบประมาณทั้งหมด  ค่าใช้จ่ายที่มากที่สุดคือค่าเก็บตัวเข้าค่าย ค่าเครื่องดนตรีและอุปกรณ์ต่างๆ ค่าเดินทาง และค่าใช้จ่ายอื่นๆตามลำดับ

            บริษัทสยามดนตรียามาฮ่า ได้ส่งอาจารย์ Max ผู้ชำนาญการวงโยธวาทิตจากญี่ปุ่น มาช่วยในเรื่องของการออกแบบ Display และวิธีการจัดการฝึกซ้อม วิธีการคิดของอาจารย์ Max คิดตารางการซ้อมเป็นนาที มีการกำหนดจุดมุ่งหมายที่ชัดเจนในการซ้อมแต่ละครั้งต้องได้อะไรบ้าง  ในระหว่างการฝึกซ้อมบางครั้งในกลุ่มผู้ฝึกสอนก็มีความคิดเป็นไม่ตรงกันบ้างแต่ในที่สุดทุกๆอย่างก็ลงตัววงโยธวาทิตโรงเรียนหอวังมีความพร้อมตั้งแต่ก่อนออกเดินทางไปประกวด WMC ผลการประกวด The 13th World Music Contest วงโยธวาทิตโรงเรียนหอวังได้รับเหรียญทองการประกวด Marching band และ Show band และได้รางวัลคะแนนสูงสุดประจำวัน  และจากคะแนนในการประกวดทั้งหมดจากวงโยธวาทิตนับร้อยวง วงโยธวาทิตโรงเรียนหอวังสามารถทำคะแนนได้สูงถึงอันดับที่ ๔ ซึ่งเป็นอันดับสูงสุดที่ยังไม่มีวงโยธวาทิตของไทยทำได้มาก่อน คะแนนที่ ๑-๓ เป็นของประเทศเนเธอร์แลนด์

วงที่ได้คะแนนที่ ๑-๓ รูปแบบการแปรขบวนเป็นสไตล์ยุโรป แต่วงจากประเทศไทยส่วนใหญ่จะเป็นรูปแบบของอเมริกา ในการประกวด WMC ให้ความสำคัญกับเรื่องของเสียงมากกว่ารูปที่เห็น

ประเทศไทยสามารถจัดการประกวดวงโยธวาทิตระดับนานาชาติได้หรือไม่

อาจารย์ถวัลย์ชัย ให้ความเห็นสั้นๆว่า “ทำได้ถ้าหน่วยงานที่ทำเรื่องประกวดอยู่แล้ว ร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของดนตรีเรื่องของวงโยธวาทิต ก็น่าจะทำได้ไม่ยาก” อาจารย์ประยุทธ ให้ความเห็นว่า“เคยได้พูดกับคุณเสรี วังไพจิตร อดีตผู้ว่าการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ท่านบอกว่าที่เนเธอแลนด์จัดประกวดได้เงินเข้าประเทศมากมายประเทศไทยก็ควรจะจัดบ้าง ประเทศไทยมีศักยภาพที่สามารถทำได้ ถ้าหลายๆฝ่ายร่วมมือกันอย่างที่ญี่ปุ่นครูวงโยธวาทิตรวมตัวกันเป็นสมาคมครูวงโยฯสามารถทำกิจกรรมการประกวดได้หลากหลาย ถ้าประเทศไทยทำได้จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง”

            บทความข้างต้นเป็นเพียงส่วนหนึ่งของการสนทนากับอาจารย์ถวัลย์ชัย สวนมณฑา และอาจารย์ประยุทธชาญอักษร ยังมีรายละเอียดอีกมากในการเตรียมตัวเข้าร่วมการประกวด WMC ที่ไม่อาจบรรยายได้หมด ในส่วนรายระเอียดของผู้จัดการประกวดสามารถเข้าไปดูรายละเอียดได้ที่  www.wmc.ml

           ปิดท้ายขออ้างคำพูดของอาจารย์ถวัลย์ชัย ที่อาจให้แง่คิดที่ดีสำหรับหลายคน “ถ้าจะไปซ้อมเพื่อแข่งอย่างเดียวจะไม่ได้อะไรกลับไปเลย วงที่จะมาแข่งต้องพร้อมตั้งแต่อยู่ที่เมืองไทยแล้วเรื่องของการไปเทียวเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งเราต้องไปดูเขาเล่นคอนเสิร์ต ต้องไปเห็นวิธีการเรียนการสอนการฝึกซ้อมดนตรีของเขา เพื่อที่จะนำความรู้มาพัฒนาตัวเราเอง”

 

Hosted by www.Geocities.ws

1