Intonation นั้นสำคัญไฉน

ฉัตรชัย ผู้ปฏิเวธ      
 

            ในการบรรเลงดนตรีร่วมกันตั้งแต่สองคนขึ้นไป สิ่งที่จำเป็นต้องทำเป็นอันดับแรกคือการเทียบเสียง(Tuning) ย้อนกลับไปเมื่อประมาณร้อยปีที่ผ่านมา เครื่องเทียบเสียง (Electronic Tuner) ยังไม่เกิดขึ้นในโลกนี้ เครื่องเทียบเสียงอย่างดีในตอนนั้นคือส้อมเสียง(Tuning fork) การเทียบต้องอาศัยหูของนักดนตรีใครหูไม่ดีเป็นนักดนตรีไม่ได้ ปัจจุบันนี้เทคโนโลยีเจริญก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็วเครื่องเทียบเสียงระบบดิจิตอล มีให้เลือกใช้มากมายหลายรุ่น หลายยี่ห้อ ตั้งแต่ราคาไม่กี่ร้อยจนไปถึงราคาหลายพันบาท ก่อนที่จะมีเครื่องเทียบเสียงแบบดิจิตอล เครื่องเทียบเสียงแบบอนาล็อกเกิดขึ้นก่อน อาจารย์วงโยธวาทิตรุ่นใหญ่(ลายคราม)หลายคนยังคงใช้เครื่องเทียบเสียงแบบอนาล็อกอยู่ เครื่องเทียบเสียงแบบนี้ จะมีเข็มบอกให้รู้ว่าเสียงตรงหรือเพี้ยนสูง-ต่ำไปกี่เซ็นต์  ขนาดของเครื่องค่อนข้างใหญ่ยิ่งถ้ารุ่นเก่าๆขนาดจะพอๆกับวิทยุทรานซิสเตอร์ เด็กวงโยฯรุ่นใหม่ๆคงจะคิดไม่ออกว่าใหญ่ขนาดไหนให้คิดถึงกล่องใส่ฟลู้ท  ปัจจุบันเครื่องเทียบเสียงมีขนาดเล็กกว่าซองบุหรี่ นอกจากใช้เทียบเสียงแล้วยังมีเครื่องเคาะจังหวะในตัวอีกด้วย ผู้เขียนได้ไปเดินเล่นแถวเวิ้งนาครเกษม(เวิ้งนครเกษม) ได้เห็นเครื่องเทียบเทียบหลากหลายรุ่นราคาถูกสุดตอนนี้ประมาณเครื่องละ ๖๐๐-๘๐๐ บาท ส่วนใหญ่เป็นของทำจากจีนและไต้หวัน เครื่องเทียบเสียงระบบดิจิตอลจะใช้จอ LCD แทนมิเตอร์ที่มีเข็มบอกระดับเสียงแบบเก่า ข้อดีของเครื่องเทียบเสียงดิจิตอลก็คือประหยัดแบตเตอร์รี่ แบตฯก้อนเดียวอยู่ได้เป็นเดือน ความเจริญของเทคโนโลยีไม่เพียงนำความสะดวกสบายมาให้กับนักดนตรีเพียงอย่างเดียว ยังนำความเสื่อมมาให้กับนักดนตรีอีกด้วย เครื่องเทียบเสียงเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้นักดนตรีหลายๆคนขาดทักษะในการฟัง นักดนตรีไม่สามารถบอกได้ว่าเสียงที่ตนเองได้ยินเป็นเสียงเดียวกันหรือเปล่า เพี้ยนต่ำหรือเพี้ยนสูงกันแน่  เครื่องเทียบเสียงถูกนำมาใช้แทนหูของนักดนตรีหลายๆคน จนนักดนตรีกลายเป็น”นักดนตรีหูบอด”

            Intonation เป็นสิ่งสำคัญยิ่งในวงโยธวาทิต เพราะในวงโยฯเครื่องดนตรีเกือบทั้งวงเป็นเครื่องดนตรีที่เพี้ยน ธรรมชาติของเครื่องเป่าทั้งเครื่องเป่าลมไม้ (Woodwind) และเครื่องเป่าทองเหลือง (Brass) ไม่มีเครื่องดนตรีชิ้นใดที่จะสามารถเป่าเสียงได้ตรงทุกตัวโน้ต ในการประกวดรายการต่างๆสิ่งที่คณะกรรมการให้ความสำคัญเป็นอันดับต้นๆก็คือเรื่อง Intonation วงใดเป่าเพี้ยนก็ยากที่จะได้ผ่านเข้ารอบในการประกวดรายการต่างๆ เราจะแก้ปัญหานี้ได้อย่างไร เครื่องเทียบเสียงสามารถแก้ปัญหานี้ได้หรือไม่  ปัจจัยใดบ้างที่มีผลต่อ Intonation

อุณหภูมิที่เปลี่ยนมีผลต่อ Intonation อย่างไร

บ่อยครั้งที่นักดนตรีเทียบเสียงตรงกันทุกเครื่องแต่พอบรรเลงได้สักพักเสียงไม่ตรงกันแล้ว  อุณหภูมิเป็นปัจจัยสำคัญยิ่งที่ทำให้เสียงของเครื่องดนตรีเปลี่ยนไป   อากาศเย็น(อุณหภูมิต่ำ)คลื่นเสียงจะเดินทางได้ช้า แต่ถ้าอากาศร้อน(อุณหภูมิสูงขึ้น)คลื่นเสียงจะเดินทางได้เร็ว   ถ้าคลื่นเสียงเคลื่อนที่ช้าความถี่ของคลื่นก็จะน้อยเสียงก็จะต่ำ ถ้าเสียงเคลื่อนที่เร็วความถี่ของคลื่นก็จะมากเสียงก็จะสูง   สมมุติว่าเราเทียบเสียงที่อุณหภูมิปกติ  A=๔๔๐ หากอุณหภูมิของเครื่องดนตรีสูงขึ้นเพียง๑องศาเซลเซียส เสียงอาจเพี้ยนสูงได้ถึง ๑๐ เซ็นต์ (เซ็นต์เป็นการแบ่งระยะห่างของเสียงดนตรีแต่ละตัวโน้ตแบ่งออกเป็น ๑๐๐ ส่วนเท่าๆกัน) ในทางตรงกันข้ามหากอุณหภูมิของเครื่องดนตรีลดต่ำลง เสียงก็จะเพี้ยนต่ำลงด้วย ยกเว้นเครื่องดนตรีพวก Mallet (Marimba, Xylophone, Vibraphone, Bell) หากอุณหภูมิสูงขึ้นเสียงจะต่ำลง เพราะมวลของโลหะขยายใหญ่ขึ้นเสียงเสียงจึงต่ำลง สาเหตุที่เป็นอย่างนี้ก็เพราะว่าเสียงของเครื่องดนตรีประเภทเครื่องเป่าเกิดจากการสั่นของอากาศ แต่เครื่องกระทบเสียงเกิดจากการสั่นของตัวโลหะ  เครื่องดนตรีประเภท Mallet มีนำมาขายในประเทศไทยหลายเครื่องจะตั้ง A ไว้ที่ ๔๔๒  

เมื่ออุณหภูมิเปลี่ยนไปเครื่องเป่าที่มีขนาดใหญ่ Intonation จะเปลี่ยนไปมากกว่าเครื่องดนตรีขนาดเล็ก นักดนตรีเทียบเสียงที่อุณหภูมิปกติตั้ง A=๔๔๐ ขณะที่บรรเลงอุณหภูมิสูงขึ้นเป็น ๘๒ องศาฟาเรนไฮ คลาริเนตบีแฟล็ตเสียงจะสูงขึ้น ๔.๓ เซ็นต์  ทรัมเป็ตสูงขึ้น ๖.๒ เซ็นต์ ทรอมโบนสูงขึ้น ๖.๙ เซ็นต์  เฟร้นฮอร์นสูงขึ้น ๗.๘ เซ็นต์  ยูโฟเนียมสูงขึ้น ๙.๒ เซ็นต์  และทูบาจะสูงขึ้นถึง ๑๔.๒ เซ็นต์

            ปัจจัยที่ทำให้อุณหภูมิของเครื่องดนตรีเปลี่ยนไปได้แก่ลมที่ผู้เล่นเครื่องดนตรีเป่า และอุณหภูมิของร่างกายที่ถ่ายทอดให้เครื่องดนตรีผ่านทางมือของผู้บรรเลง ให้นักเรียนเทียบเสียงที่ A=๔๔๐ อุณหภูมิของลมที่เป่ารวมกับมือที่จับเครื่องดนตรีมีผลให้เครื่องที่เทียบเสียงตรงแล้วเพียนสูงขึ้น ฟลู้ทอาจเพี้ยนสูงขึ้นถึง ๑๔ เซ็นต์  คลาริเนตสูงขึ้น ๑๐ เซ็นต์ บาสซูนสูงขึ้น ๑๔ เซ็นต์  เฟร้นฮอร์น ๑๒ เซ็นต์

            วิธีการแก้ปัญหานี้ก็คือนักเรียนดนตรีที่เล่นเครื่องเป่าจะต้องมีการอบอุ่นเครื่อง(เป่าลมเข้าเครื่องดนตรี)ซึ่งเรามักจะเรียกว่าการ Warm up เครื่องดนตรีที่มีขนาดใหญ่จะใช้เวลา Warm up มากกว่าเครื่องที่มีขนาดเล็ก ทูบาอาจต้องใช้เวลาในการ Warm up ๑๐-๒๐ นาที จนกว่าเสียงจะนิ่งเพราะอุณหภูมิของเครื่องดนตรีไม่เปลี่ยน 

การเป่าเสียงดัง-เบา มีผลทำให้ Intonation เปลี่ยนไป

ฟลู้ทและเครื่อง Brass ทั้งหลายเสียงจะเพี้ยนสูงขึ้นหากเป่าในลักษณะจากเบาไปหาดัง (Crescendo) ฟลู้ท ปิคโคโล ทูบา และเฟร้นฮอร์นอาจเพี้ยนสูงถึง ๑๗-๓๐ เซ็นต์

โอโบ บาสซูน เครื่องดนตรีลิ้นคู่(Double Reed)ทั้งหลาย เสียงจะเพี้ยนต่ำ หากเป่าในลักษณะจากเบาไปหาดัง (Crescendo)   การฝึกเป่าจากเบาไปหาดัง (Crescendo)  และจากดังไปหาเบา (Decrescendo) โดยใช้เครื่องเทียบเสียงช่วยฝึกสามารถช่วยให้นักเรียนสามารถรักษา Intonation ได้เป็นอย่างดี เครื่อง Brass อาจใช้ริมฝีปากช่วยในการปรับระดับเสียง ฟลู้ทอาจใช้การเคลื่อนที่ของขากรรไกรตรงไปข้างหน้าเมื่อต้องการให้เสียงสูงขึ้น ในทางตรงกันข้ามการเคลื่อนขากรรไกรเข้าหาตัวช่วยให้เสียงต่ำลงได้  เครื่องดนตรีลิ้นเดี่ยว(คลาริเนต, แซ็กโซโฟน) หากต้องการให้เสียงต่ำลงในขณะเล่น Crescendo ทำได้โดยเคลื่อนฟันล่างลงแต่มุมปากยังคงสภาพเดิม   หากบรรเลง Decrescendo ทำปากให้ผ่อนคลาย (Relaxed) จะช่วยให้เสียงที่เพี้ยนสูงลดลงได้

เครื่องดนตรีประเภทเครื่อง Brass กับ Intonation

เมื่อเทียบเสียงเครื่อง Brass ตรงแล้ว เวลาเราเป่าโดยใช้นิ้วกดที่วาล์วตั้งแต่ ๒ นิ้วขึ้นไป Intonation จะเปลี่ยนไป (สาเหตุมาจากเสียงของเครื่อง Braas มาจากอนุกรมฮาร์โมนิก ซึ่งเสียงในอนุกรมนี้มีอยู่หลายเสียงที่ไม่ตรงกับระบบเสียงแบบแบ่งเท่า) เครื่อง Brass จะมีท่อสไลด์ต่อจากวาล์วที่ ๓ เพื่อช่วยในการปรับเสียงที่เพี้ยนสูงในขณะที่ใช้นิ้ว ๑-๓ หรือ ๑-๒-๓ ให้ต่ำลงโดยเลื่อนสไลด์วาล์วที่ ๓ ออก   เสียงที่ใช้นิ้ว ๒-๓ มักจะเพี้ยนต่ำ   นิ้ว ๑-๒ มักจะเพี้ยนสูง สามารถใช้ท่อสไลด์วาล์วที่ ๑ ช่วยได้โดยเลื่อนท่อออกขณะใช้นิ้ว ๑-๒      นิ้ว ๑-๓ จะเพี้ยนสูงเล็กน้อย ใช้นิ้ว ๑-๒-๓ จะเพี้ยนมากกว่า    ทูบา และยูโฟเนียมที่มี ๔ วาล์ว นิ้ว ๔จะใช้แทนนิ้ว ๑-๓    นิ้ว ๒-๔ จะใช้แทนนิ้ว ๑-๒-๓ 

เครื่องดนตรีทรัมเป็ต ปกติถ้าเป่าโน้ตตัว D5 (คาบเส้นที่๔) มักจะเพี้ยนต่ำ ใช้นิ้ว ๑-๓ ช่วยจะทำให้เสียงตรงขึ้น  หากเป่าโน้ตตัว E5 (ในช่องที่๔ของบรรทัดห้าเส้น) ใช้นิ้ว ๑-๒ จะดีกว่าไม่กดนิ้วเลย

เครื่องดนตรีประเภทเครื่อง Woodwindกับ Intonation

ช่วงเสียงต่ำของฟลู้ทมักจะเพี้ยนต่ำ ช่วงเสียงสูงมักจะเพี้ยนสูง ถ้าฟลู้ทเสียงเพี้ยนสิ่งแรกที่ต้องตรวจดูคือคอร์ก บริเวณด้านในส่วน head joint ว่าอยู่ถูกตำแหน่งหรือไม่ และตรวจดูความสูงของคีย์ต่างๆว่าปกติดีหรือเปล่า  เทียบเสียง A5 หรือ Bb5 เพื่อที่จะปรับเสียงที่ต่ำกว่า C5 (โน้ตในช่องที่๓ของบรรทัดห้าเส้น)ใช้มือขวากดคีย์หรือกดคีย์ C#4 ดึงขากรรไกรล่างเข้าหาตัวใช้ลมให้มากขึ้น อย่าหมุน headjoint อย่าเลื่อนริมฝีปากลง จะช่วยแก้ปัญหาเสียงที่ต่ำลง

การเป่าช่วงเสียงต่ำของ Clarinet ริมฝีปากล่างควรผ่อนคลาย ใช้ลมให้เต็ม (Breath support) คางเรียบ มุมปากกระชับควบคุมลมได้ มุม(องศา)การจับเครื่องดนตรีมีผลต่อระดับเสียงด้วย แนะนำให้ตั้งเสียงที่  Barrel กับเสียง F4 หรือ G4 (โน้ตตัวซอลเหนือโดกลาง) ตั้งเสียงที่ Middle joint กับเสียง C4 และ G5(โน้ตโดกลาง และซอลบนเส้นที่ห้าของบรรทัดห้าเส้น)  ตั้งเสียงส่วน Bell ตรงกับเสียง B4 หากไม่สามารถตั้งเสียงได้ตรงควรส่งเครื่องให้ช่างผู้ชำนาญตรวจดู ความสูงของคีย์ เสริมคอร์กใต้คีย์ A4 และ G#   ปัญหาในการตั้งเสียง C6(โดสูงคาบเส้นน้อยที่สองเหนือบรรทัดห้าเส้น)  นิ้วชี้มือซ้ายควรจะอยู่ใกล้กับ Tone hole หลายๆเสียงที่มีนิ้วแทนให้เลือกใช้ควรเลือกให้นิ้วที่เพี้ยนน้อยที่สุด

ปกติแล้วช่วงเสียงต่ำของอัลโตแซ็กโซโฟนมักจะเพี้ยนต่ำ อัลโต และ บาริโทนแซ็ก ให้เทียบเสียง F#5 (ของแต่ละเครื่อง) เทเนอร์แซ็กให้เทียบเสียง B4 แซ็กโซโฟนเป็นเครื่องดนตรีที่สามารถปรับระดับเสียง (Bend pitches) ได้ง่าย การวางรูปปาก(Embouchure) ต่างจากคลาริเนต เพราะมุม(องศา)ในการจับเครื่องดนตรีต่างกัน คางควรเคลื่อนลงเพื่อเฉลี่ยแรงกดรอบกำพวด (Mouthpiece) ให้เท่ากันทุกด้าน คล้ายๆกับการเอายางวงไปรัดรอบกำพวด

โน้ตช่วงเสียงต่ำของโอโบ มักจะเพี้ยนต่ำ และช่วงเสียงสูงมักจะเพี้ยนสูง  รูปปาก (Embouchure) ที่บีบรัดจนเกินไปเป็นสาเหตุของการเพี้ยนสูง นักโอโบมืออาชีพมักจะทำลิ้นที่สร้างเสียงได้คงที่ ไม่ก่อให้เกิดปัญหาเรื่อง Intonation มุมในการจับเครื่องดนตรีควรจะอยู่ระหว่าง ๓๐-๔๕ องศา ถ้ามุมกว้างเกินอาจทำให้เสียงเพี้ยนสูง  การอมลิ้นลึกมากเกินไปทำให้เสียงเพี้ยนสูงเช่นกัน

            เครื่องดนตรีประเภทเครื่องเป่าแต่ละชนิดมีเทคนิคมากมายต่างเครื่องต่างแบบ ไม่อาจบรรยายได้หมด ถ้าอยากรู้ว่าเครื่องใดมีเทคนิคในการปฏิบัติอย่างไรให้ไม่มีปัญหาเรื่อง Intonation จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องศึกษาโดยตรงกับผู้ชำนาญการในเครื่องดนตรีตรีชนิดนั้นๆ   ที่กล่าวมนตั้งแต่ต้นยังไม่ได้กล่าวถึงการแก้ปัญหาเรื่อง Intonation อย่างถูกจุดหรือตรงจุด สาเหตุของปัญหานี้อยู่ที่นักดนตรีหรือนักเรียนดนตรี มากกว่าเครื่องดนตรี เครื่องเพี้ยนยังซ่อมได้แต่คนเพี้ยนนี้ซ่อมยาก ยิ่งถ้าเป็นคนที่ได้รับฟังเสียงที่ผิดๆมาตลอดยิ่งแก้ยาก แต่ก็ไม่มีคำว่าสายสำหรับคนที่มีความพยายาม 

คำว่าคนเพี้ยนในที่นี้ผู้เขียนมิได้หมายถึงคนบ้า คนเสียสติ แต่หลายถึงคนที่ไม่มีเสียงในใจ คนที่ไม่มีความจำของระดับเสียงที่ถูกต้อง หลายๆคนร้องเพลงไม่เคยถูกคีย์  บางคนร้องเพลงขึ้นต้นตรงคีย์ แต่พอไปถึงกลางเพลงกลับเปลี่ยนคีย์ทั้งที่ดนตรียังคงบรรเลงคีย์เดิม

            ทำไมนักเรียนดนตรีในวงโยธวาทิต ครูดนตรีในโรงเรียน หรือนักดนตรีในประเทศไทย หลายคนมีปัญหาเรื่อง Intonation ถ้าจะว่ากันตรงๆก็คือ ระบบการเรียนการสอนดนตรีของประเทศไทยล้มเหลว ทักษะการฟัง การอ่านโน้ต การร้องเพลง รวมไปถึงกระบวนการสร้างคนให้ซาบซึ้งเรื่องเห็นประโยชน์ของดนตรีและศิลปะ แขนงต่างๆไม่ได้เกิดขึ้นกับนักเรียนในชั้นเรียน

            หากครูวงโยไม่อยากให้นักเรียนของตนเองเล่นดนตรีเพี้ยน เป่าไม่ตรงเสียง ครูต้องเริ่มฝึกให้เด็กมีทักษะในเรื่อง Ear training ทั้งฝึกฟังฝึกอ่านและฝึกร้อง ถ้านักเรียนยังร้องเพลงเพี้ยนอยู่ ก็ยากที่จะปฏิบัติเครื่องเป่าได้ถูกต้องไม่เพี้ยน เครื่องเทียบเสียงเปรียบเสมือนดาบสองคมใช้เป็นก็มีประโยชน์ หากใช้ไม่ถูกต้องไม่นานคนใช้ก็จะกลายเป็น “นักดนตรีหูบอด”

๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑

เอกสารอ้างอิง

-          Chandler, Jame H., “Intonation: A Source of Information for the University Wind Ensemble Conductor” D.M.A. dissertation, Ball State University, 1981.

-          Galofao, Robert J. Improving Intonation in Band and Orchestra Performance; Meredith Music Publication 1996.

-          Jurrens, James, Tuning the Band and Rising Pitch Consciousness, RBC Publications 1977.

Hosted by www.Geocities.ws

1