นักเรียนวงโยธวาทิต

ฉัตรชัย ผุ้ปฏิเวธ

ครูครับ ผมขอลาออกจากวงโยธวาทิต ผมไม่สามารถเข้าร่วมกิจกรรมนี้ได้อีกแล้วครับ เพราะผมต้องไปทำงานที่ปั๊มน้ำมัน ในช่วงปิดเทอม ถ้าไม่ทำเปิดเทอมมาผมคงไม่มีเงินจ่ายค่าเทอมครับ” คำพูดของเด็กชายอนุชาทำให้ครูนิ่งไปชั่วครู่

เกิดคำถามในใจครูหลายคำถาม แต่ก็ไม่อาจหาตำตอบได้ในขณะนั้น ครูได้อนุญาติให้อนุชา หยุดการฝึกซ้อมในช่วงปิดภาคเรียนได้ แต่ไม่อนุญาติให้ลาออกจากวง เพราะครูเห็นว่าหากให้นักเรียนคนนี้ออกจากวงแล้วโอกาสที่นักเรียนจะไปทำในสิ่งที่ไม่ถูกต้องมีอยู่มาก และครูก็มั่นใจว่าหากนักเรียนได้อยู่ร่วมกิจกกรรมวงโยธวาทิตจนจบการศึกษาจะเป็นผลดีกับนักเรียนมากกว่า วงโยธวาทิต ในโรงเรียนต่างๆ จะประกอบไปด้วย สมาชิก(นักเรียน) ที่มีความแตกต่างกันในหลายๆด้าน ทั้งเรื่องลักษณะนิสัยส่วนตัว ความสามารถด้านการเรียนรู้ ฐานะทางบ้าน ฯลฯ ทำให้การอยู่ร่วมกันในวงเป็นการจำลองสภาพของสังคมจริงๆที่นักเรียนจะต้องเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกัน แต่ก่อนที่จะมาเป็นนักเรียนวงโยธวาทิตได้จะต้องผ่านการคัดเลือกในระดับหนึ่งเสียก่อน การคัดเลือกนักเรียนเข้าร่วมกิจกรรมนี้มีอยู่หลายวิธีการ ได้แก่

1. ใช้วิธีการสอบคัดเลือกนักเรียนความสามารถพิเศษ โรงเรียนในกรมสามัญศึกษาใช้วิธีนี้กับหลายๆกิจกรรมของโรงเรียน เช่นวงโยธวาทิต ดนตรีไทย นาฏศิลป์ กีฬา ศิลปะ เป็นต้น โดยจะรับนักเรียนความสามารถพิเศษ 5% ของจำนวนนักเรียนทั้งหมดที่สามารถรับได้ การได้รับนักเรียนประเภทนี้มีทั้งข้อดีและข้อเสีย ข้อดีคือ ได้นักเรียนที่มีความสามารถไม่ต้องมาเริ่มฝึกตั้งแต่ศูนย์ ข้อเสียก็คือได้นักเรียนเก่ง แต่พฤติกรรมไม่ดี ทำให้เกิดปัญหาตามมาภายหลัง เช่นได้ผ่านการคัดเลือกแล้ว แต่ไม่มาร่วมกิจกรรมของโรงเรียนตามความสามารถของตนที่สอบเข้ามา เด็กชายชาคริต เป็นตัวอย่างหนึ่งของนักเรียนความสามารถพิเศษที่ผ่านการคัดเลือกด้านวงโยธวาทิต ชาคริตไม่เข้าร่วมกิจกรรมของโรงเรียน จนครูต้องไปตามตัวมาฝึกซ้อม แต่ผลที่ได้รับก็คือชาคริตเล่นดนตรีอย่างไม่มีความสุข ขาดการฝึกซ้อมเป็นประจำ โกหกผู้ปกครองว่าที่กลับบ้านค่ำเพราะฝึกซ้อมวงโยธวาทิต แต่จริงๆแล้วหนีไปเล่นเกมหลังเลิกเรียน ผู้ปกครองกับครูก็เลยต้องปรึกษาหาวิธีการต่างๆ ให้นักเรียนเข้าร่วมกิจกรรมของโรงเรียนตามความสามารถของตน แต่ก็ไม่ประสบผลสำเร็จ สรุปแล้วก็คือวิธีการคัดเลือกนักเรียนที่มีความสามารถพิเศษอยู่แล้ว ครูผู้คัดเลือกนักเรียนจะต้องพิจารณา ในหลายๆด้านประกอบกันมิใช่เล่นดนตรีเก่งแต่เพียงอย่างเดียว คนเก่งแต่นิสัยไม่ดี ไม่ควรผ่านการคัดเลือก

2. การคัดเลือกจากนักเรียนที่มีความสนใจในกิจกรรมวงโยธวาทิต วิธีการนี้เป็นวิธีที่นิยมใช้มากที่สุดในโรงเรียนต่างๆ นักเรียนที่เข้าเรียนใหม่ในชั้น ม.1 หลายคนไม่รู้จักวงโยธวาทิต สิ่งสำคัญคือต้องมีการประชาสัมพันธ์ ได้แก่ นำวงไปบรรเลงให้นักเรียนได้ชม ไม่จำเป็นจะต้องบรรเลงเพลงยากๆ หาเพลงง่ายๆที่ฟังแล้วรู้สึกดี สัก 4 –5 เพลงจัดคอนเสิร์ตเล็กๆ พร้อมกับรับสมัครนักเรียนใหม่ โรงเรียนที่ผู้เขียนเคยสอนอยู่ ในแต่ละปีจะมีนักเรียนสมัครเข้าร่วมกิจกรรมด้วยความสนใจ ปีละ เกือบร้อยคน แต่ด้วยความจำกัดในเรื่องของเครื่องดนตรี และผู้สอน จึงต้องมีกระบวนการคัดเลือกให้เหลือเฉพาะนักเรียนที่สามารถเป็นนักเรียนวงโยธวาทิตได้จริงๆเท่านั้น คำว่านักเรียนวงโยธวาทิตในที่นี้หมายถึงนักเรียนที่สามารถเข้าร่วมกิจกรรมได้ตลอดจนจบการศึกษา มาสามารถฝึกซ้อมได้ตามที่นัดหมาย มีพัฒนาการทางดนตรีในเกณฑ์ที่เหมาะสม สามารถพัฒนาตนให้อยู่ร่วมกับผู้อื่นได้ ต่อไปนี้เป็นตัวอย่างหนึ่งของวิธีการคัดเลือกนักเรียนเพื่อเข้าร่วมกิจกกรรมวงโยธวาทิต

หลังจากได้สมัครรับนักเรียนที่มีความสนใจแล้ว ก็ประชุมชี้แจงในเรื่องต่างๆที่จำเป็นให้นักเรียนทราบ ว่านักเรียนจะต้องปฏิบัติอย่างไร จะเริ่มฝึกซ้อมอย่างไร ผู้ที่มีโรคประจำตัวจะต้องทำอย่างไร หลังจากฟังคำชี้แจงเสร็จ จำนวนนักเรียนที่สมัครฯ ก็จะลดลงเพราะไม่สามารถฝึกซ้อมได้ตามที่กำหนด จากนักเรียนเกือบร้อยคน อาจเหลือเพียง 70 –80 คน นักเรียนหลายคนคิดว่า จะได้เล่นเครื่องดนตรีเลย บางคนก็ขอถอนตัว เพราะไม่รู้มาก่อนว่ากว่าจะได้จับเครื่องดนตรีจะต้องมีการเตรียมความพร้อมในหลายๆด้านเสียก่อน และที่สำคัญหลายๆโรงเรียนมีเครื่องดนตรีจำกัดหากให้นักเรียนปฏิบัติเครื่องดนตรี โดยไม่มีการเตรียมพร้อมที่ถูกต้องก่อน จะเกิดผลเสียมากกว่าดี

ในการฝึกซ้อมในระยะแรกเป็นการคัดเลือกนักเรียนไปในตัว ควรทำการฝึกในหลายๆด้าน ได้แก่

    1. การเตรียมความพร้อมของร่างกาย การเป็นนักเรียนวงโยธวาทิตจำเป็นจะต้องมีร่างกายแข็งแรงพอสมควร เพราะต้องเดินบรรเลง(บางงานอาจต้องวิ่งบรรเลง) เครื่องดนตรีหลายชิ้นไม่ใช่เบาๆ มีอยู่ครั้งหนึ่งงานเดินรณรงค์ ต่อด้านต้านยาเสพติดผู้เขียนต้องนำนักเรียนวงโยธวาทิต 40 คน เดินจากลานพระรูปทรงม้าไปสนามหลวง ผลปรากฏว่าไปถึงสนามหลวง เหลือสมาชิกอยู่ 20 คน ที่หายไปเพราะเป็นลม หมดแรงระหว่างทาง บางคนมีรถร่วมกตัญญู มารับไปส่งโรงพยาบาล แต่โชคดีนักเรียนไม่เป็นอะไรมาก ไม่อย่างนั้นผู้คุมวงฯต้องรับผิดชอบ หลังจากงานนั้นมา นักเรียนไม่มีใครเป็นลมหมดแรงอีกเลย เพราะได้ฝึกร่างกายให้พร้อมอยู่เสมอ นักเรียนวงโยธวาทิตจะต้องออกกำลังกายอยู่เป็นประจำ ทุกวันหลังการฝึกซ้อมวงโยธวาทิต อาจให้นักเรียนเล่นกีฬาอีก 20 – 30 นาที หรือมากกว่านั้น

    2. การฝึกการหายใจ นักเรียนทุกคนควรฝึก รวมถึงนักเรียนที่คิดว่าจะเล่นเครื่อง Percussion ด้วย เพราะการหายใจที่ถูกต้อง นอกจากจะเล่นเครื่องเป่าได้ดีแล้วยังทำให้สุภาพ และบุคลิกภาพดีด้วย และในบางกรณี ในภายหลังนักเรียน Percussion อาจเปลี่ยนเครื่องมือเป็นเครื่องเป่า จะได้ไม่ต้องฝึกหายใจใหม่ วิธีการฝึกการหายใจมีอยู่หลายวิธีการ ครูควรหาวิธีที่ปฏิบัติได้ง่ายเหมาะกับนักเรียน ทำอย่างไรให้นักเรียนควบคุมกระบังลม อวัยวะต่างๆที่ใช้ในการหายใจได้ถูกต้องเรื่องนี้ต้องพูดกันยาว การฝึกหายใจไม่ใช่จะทำให้ดีได้ภายในวันเดียว ต้องใช้เวลา บางคนเล่นเครื่องเป่ามานานยังหายใจไม่ถูกเลย ครูต้องให้ความสนใจกับนักเรียนเป็นพิเศษในเรื่องนี้

    3. การเตรียมความพร้อมในเรื่องของระเบียบวินัย ได้แก่ การฝึกระเบียบแถว ตั้งแต้ซ้ายหัน ขวาหัน ไปจนถึงการเดินในลักษณะต่างๆ การปฏิบัติตามคำสั่งของคทากร ในปัจจุบันวิธีการเดินมีหลากหลายแบบ ผู้ควบคุมการฝึกซ้อมต้องกำหนดให้ชัดเจนว่าจะเดินแบบใด และต้องปฏิบัติให้เหมือนกันทุกคน ท่าเดินที่ไม่ฝืนธรรมชาติจะเป็นท่าที่ทำให้บรรเลงดนตรีได้ดีที่สุด เรื่องของดนตรีควรมาเป็นอันดับแรก เรื่องของระเบียบวินัยเป็นสิ่งที่ช่วยเสริมให้ วงโยธวาทิตดูดีขึ้น

    4. การเตรียมความพร้อมในเรื่องทฤษฎีดนตรีสากลเบื้องต้น หากนักเรียนสามารถอ่านโน้ตได้ถูกเสียง ปฏิบัติได้ถูกจังหวะแล้ว จะทำให้การปฏิบัติเครื่องดนตรีเป็นไปได้เร็วขึ้น นักเรียนหลายคนไม่เคยฝึกอ่านโน้ตจะทำให้มีปัญหา เรื่อง Intonation เพราะเครื่องดนตรีประเภทเครื่องเป่า ไม่มีเครื่องใดที่เสียงจะตรงทุกตัวโน้ต

ในการเตรียมความพร้อมทั้ง 4 ข้อ จะนี้ทำให้จำนวนนักเรียนที่สมัครเข้าร่วมกิจกรรมวงโยธวาทิตลดลงอีก อาจกล่าวได้ว่านักเรียนที่ลดจำนวนลงไปคือนักเรียนที่ไม่ผ่านการคัดเลือก จาก 80 คน อาจเหลือไม่ถึง 30 –40 คน จากประสบการณ์ของผู้เขียน นักเรียนหญิงจะมีความอดทนมากกว่านักเรียนชาย นักเรียนที่มาขอถอนตัวส่วนมากจะเป็นนักเรียนชาย เพราะไม่สามารถทนต่อการฝึกซ้อมได้ ในการสมัครทีแรกเลยนักเรียนชายจะมีจำนวนมากว่านักเรียนหญิง แต่พอผ่านการคัดเลือกแล้วนักเรียนชายไม่ผ่านมากกว่านักเรียนหญิง แต่ในที่สุดก็จะได้สมาชิกในจำวนวนหญิง-ชาย เท่าๆกัน จึงเกิดความสมดุล ลักษณะเช่นนี้เกิดขึ้นในทุกๆปี การฝึกเตรียมความพร้อมทั้ง 4 ข้อที่กล่าวมานี้ใช้เวลา 3 –6 สัปดาห์

หลังการที่ผ่านกระบวนการคัดเลือกแล้ว นักเรียนที่ผ่านการคัดเลือกจะรู้สึกภูมิใจในตนเอง และจะเป็นผู้ที่มีความรักในกิจกรรมนี้ในระดับหนึ่ง ต่อจากนี้ไปนักเรียนจะได้สัมผัสกับชีวิตจริงในวงโยธวาทิต ในกระบวนการตั้งแต่เริ่มแรกบุคคลที่จะมาช่วยครูสอนได้อย่างดีที่สุดคือนักเรียนวงโยธวาทิต ที่ผ่านกระบวนการดังกล่าวมาแล้ว หรือที่นิยมเรียกว่า ”นักเรียนรุ่นพี่”

“นักเรียนรุ่นพี่” จะเกิดความสัมพันธ์ กับน้องใหม่ ที่กำลังจะกลายเป็น “นักเรียนรุ่นน้อง” ความสันพันธ์ดังกล่าวจะกลายเป็น พี่ดูแลน้อง เหมือนได้เกิดครอบครัวขึ้นอีกครอบครัวหนึ่ง มีครูผู้ควบคุมวงฯ คล้ายกับ พ่อ – แม่ ระบบของวงโยธวาทิตของโรงเรียนมัธยมศึกษาในประเทศไทย เป็นระบบที่เกิดขึ้นตามสภาพแวดล้อมวัฒนธรรม และความเป็นอยู่อย่างไทย นักเรียนมีความเคารพ กันตามลำดับอาวุโส น้องพบพี่ จะสวัสดีพี่ ให้ความเคารพพี่ พี่คอยสอน คอยดูแลน้อง ให้เป็นนักเรียนวงโยธวาทิตที่ดี ที่กล่าวมานี้จะไม่เกิดขึ้น หากครูผู้ควบคุมวง ไม่ดูแลนักเรียนอย่างใกล้ชิด และปล่อยให้นักเรียนดูแลกันเอง

ปัญหาหนึ่งที่พบอยู่เป็นประจำในวงโยธวาทิต คือนักเรียนรุ่นพี่เกิดไปชอบรุ่นน้อง หรือรุ่นน้องไปชอบรุ่นพี่ อยากเป็นแฟนกัน อยากใกล้ชิดกันมากเป็นพิเศษ เป็นเรื่องที่ห้ามไม่ได้ แต่สามารถดูแลได้ คำพูดของครู เป็นสิ่งที่นักเรียนให้ความเคารพ เชื่อฟังเสมอ หากครูมีความจริงใจให้นักเรียน นักเรียนที่มีความรู้สึกชอบกันไม่ใช่เรื่องผิดปกติ แต่สิ่งสำคัญที่ครูต้องแนะนำ คือการมีพฤติกรรมที่เหมาะสม การวางตัวให้เหมาะสมกับการเป็นรุ่นพี่ที่ดี นักเรียนในวัยนี้เป็นวัยที่มีพลัง หรือแรงขับสูง สามารถทำในสิ่งที่ไม่คาดฝันได้ตลอด หน้าที่หนึ่งของครูคือ นำพลัง นำแรงขับ ของนักเรียนมาใช้กับกิจกรรมวงโยธวาทิตให้เกิดประโยชน์สูงสุด

ระบบการเรียนการสอนของโรงเรียนมัธยมศึกษา ในประเทศไทย ก่อให้เกิดผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของนักเรียน โดยเฉพาะนักเรียนในเมืองใหญ่ๆ นักเรียนเกือบทุกคนต้องเรียนพิเศษ หลังเลิกเรียน สถานที่ๆนักเรียนจะต้องรีบไปคือโรงเรียนกวดวิชา บางคนไปเรียนพิเศษกว่าจะเลิกเกือบสองทุ่ม ธุรกิจโรงเรียนกวดวิชา เป็นธุรกิจที่สร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำ นักเรียนหลายคนต้องไปจ่ายเงินเพื่อไปนั่งฟัง นั่งดู VDO สอนแทนคน กิจกรรมต่างๆที่นักเรียนควรจะได้ทำหลังจากเลิกเรียนแล้วควรเป็นกิจกกรรมที่เสริมสร้างคุณภาพชีวิตมากกว่า ปัญหาที่พบในวงโยธวาทิตก็คือนักเรียนหลายคนติดเรียนพิเศษ ไม่สามารถมาทำการฝึกซ้อมได้ตามปกติ ปัญหานี้สามารถแก้ไขได้ในระดับหนึ่ง เช่นกำหนดวันที่ให้นักเรียนที่ต้องการเรียนพิเศษ ให้ไปเรียนพร้อมๆกัน อาจเป็นวันอังคารกับพฤหัสฯ และในวันจันทร์ พุธ ศุกร์ ทำการฝึกซ้อมวงโยธวาทิต วิธีนี้เป็นการแก้ที่ปลายเหตุ หากจะแก้ที่ต้นเหตุ ต้องไปเปลี่ยนระบบวิธีการสอบเข้ามหาวิทยาลัยที่มุ่งเน้นในเรื่องของคะแนนมากที่สุด

เป็นนักเรียนวงโยธวาทิตไม่จำเป็นจะต้อง เรียนต่อหรือทำงานในสาขาที่เกี่ยวข้องกับดนตรีโดยตรง ผู้เขียนมีเพื่อนๆ ที่เป็นนักเรียนวงโยธวาทิตด้วยกัน เรียนจบมาแล้วไปทำงานหลากหลายอาชีพ ธเนศ ตีกลองใหญ่ ปัจจุบัน อยู่บริษัทคอมพิวเตอร์ บุญรัตน์ ตีเบล ปัจจุบันเป็นอาจารย์ที่วิทยาลัยปิโตเคมี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กุลเชษฐ์ ตีกลองเล็ก ปัจจุบัน เป็น นายพันตำรวจ อยู่หน่วย 191 บรรณศิริ เป่าซูซ่าโฟน ไปเป็น อาจารย์ทหารในกองทัพบก ฯลฯ ชีวิตของการเป็นนักเรียนวงโยธวาทิตให้อะไรมากกว่าที่คิด เพื่อนคนหนึ่งของผู้เขียนบอกว่า ถ้ามีลูกจะสนับสนุนให้ได้ร่วมกิจกรรมนี้

หลังจากที่นักเรียนได้เป็น “นักเรียนรุ่นน้อง” แล้วจะได้ทำการคัดเลือกเครื่องดนตรี ให้มีความเหมาะสมกับตัวนักเรียนเอง ครูบางคนให้นักเรียนเลือกเครื่องที่ตนเองชอบมา 5 อันดับ แล้วครูจะคัดเลือกเครื่องดนตรี ที่มีความจำเป็นต้องใช้ในวง และเหมาะกับนักเรียน เครื่องดนตรีที่นักเรียนมักไม่ใคร่อยากเล่นได้แก่ ซูซ่าโฟน ทูบา กลองใหญ่ เครื่องดนตรีที่นักเรียนส่วนใหญ่อยากเล่นได้แก่ Flute Saxophone และ Trumpet นักเรียนบางคนลงทุนซื้อเครื่องดนตรีมาเองก็มี ครูจำเป็นต้องอธิบายถึงความสำคัญของเครื่องดนตรีทุกชิ้นให้นักเรียนเข้าใจ และครูต้องอธิบายได้ด้วยว่าที่เลือกเครื่องดนตรีให้นักเรียนแต่ละคนใช้วิธีการอย่างไร การเลือกเครื่องดนตรีที่ไม่เหมาะสมให้กับนักเรียนก่อให้เกิดผลเสีย คือนักเรียนไม่สามารถปฏิบัติเครื่องมือชิ้นนั้นได้ดี เกิดความท้อแท้ แล้วในที่สุดก็จะเลิกเล่นดนตรี และอาจเกลียดดนตรีไปตลอดชีวิต

การฝึกเป่า Mouthpiece เป็นพื้นฐานที่สำคัญยิ่ง ครูจะปล่อยให้นักเรียนฝึกกันเองไม่ได้ การวางรูปปาก การจรด Mouthpiece กับปาก การใช้ลมในการเป่า การควบคุมลม ควบคุมเสียง หากครูไม่ดูแล มาแก้เอาทีหลังจะเป็นเรื่องยาก นักเรียนหลายคนพื้นฐานในเรื่องนี้ไม่ดี ไปสอบเข้ามหาวิทยาลัย ก็จะมีปัญหา เพราะในระดับอุดมศึกษา จะไม่มีเวลามาแก้ไขพื้นฐานที่ไม่ถูกต้อง กว่าที่นักเรียนจะได้ปฏิบัติเครื่องดนตรี กว่าจะเป่าเป็นเพลงที่น่าฟัง ต้องใช้เวลา ต้องใช้ความอดทน ซ้อมทุกเช้า-กลางวัน-เย็น ในช่วงเปิดเทอม ช่วงปิดเทอมก็ซ้อมตั้งแต่เช้าถึงเย็น ซ้อมจนกระทั่งรู้สึกว่าเครื่องดนตรีเป็นส่วนหนึ่งของร่างกาย

ในปัจจุบันหลายโรงเรียนมีกิจกรรมวงโยธวาทิต ในรูปแบบของชมรม บริหารงานโดยนักเรียนกันเองมีครูเป็นที่ปรึกษา กิจกรรมในรูปแบบนี้มีข้อดีอยู่หลายอย่าง ได้แก่ฝึกให้นักเรียนทำงานกันจริงๆ มีการแต่งตั้งกรรมการฝ่ายต่างๆ แบ่งหน้าที่กันทำในส่วนต่างๆ เช่น มีฝ่ายดูแลเรื่องโน้ตเพลง ฝ่ายเสื้อผ้า ฝ่ายดูแลเครื่องดนตรี มีการประชุมแผนวาน เขียนโครงการต่างๆ เช่นโครงการจัดการแสดงคอนเสิร์ต โครงการเข้าร่วมการประกวด ฯลฯ ในช่วงแรกๆ นักเรียนอาจทำผิดๆ ถูกๆ ครูที่ปรึกษาต้องให้คำแนะนำ ครูไม่ควรบอกให้ทำเสียหมดทุกอย่างนักเรียนจะไม่เกิดความคิดสร้างสรรค์ และครูก็ไม่ควรปล่อยให้นักเรียนคิดทำเองเสียหมดทุกอย่างเพราะเด็กก็ยังเป็นเด็ก ประสบการณ์ชีวิตยังไม่มากเท่าครู บางครั้งอาจทำผิดพลาดโดยไม่รู้ตัว เด็กนักเรียนไทยมีข้อเสียอยู่อย่างหนึ่ง คือ ขาดความคิดสร้างสรรค์ ผู้เขียนเคยทดลองให้ประธานวงโยธวาทิต(นักเรียน) คิดโครงการที่จะทำในปีการศึกษาต่อไป ว่าอยากให้วงโยธวาทิตเข้าร่วมกิจกรรม จัดการแสดง หรือเข้าร่วมประกวด โดยให้นักเรียนดูตัวอย่าง ปรากฏว่านักเรียนไปลอกโครงการเดิมมาทั้งหมด ไม่ได้คิดอะไรใหม่ๆขึ้นมาเลย การศึกษาในระบบใหม่คงจะช่วยสร้างเด็กไทยให้เป็นผู้มีความคิดสร้างสรรค์ขึ้นมาบ้าง ไม่ใช่ต้องให้ครูบอกให้ทำอยู่ตลอดเวลา

เด็กชายอนุชา เป็นนักเรียนที่มีฐานะทางบ้านยากจน ต้องอาศัยอยู่กับหลวงตา ทุกเช้าต้องติดตามหลองตาออกบิณฑบาต เสร็จแล้วจึงมาโรงเรียน อนุชาได้ผ่านกระบวนการของการเป็นนักเรียนวงโยธวาทิต ตั้งแต่เป็นนักเรียนรุ่นน้อง จนกลายเป็นรุ่นพี่ ด้วยความเป็นเด็กฉลาดหัวไว ทำให้เล่นเทเนอร์ แซ็กโซโฟน ได้อยู่ในเกณฑ์ดี เป็นที่รักของพี่ๆน้องๆ อนุชาเรียนจบชั้น ม.3 ต้องหยุดเล่นดนตรี ไปเรียนต่อสายอาชีพ เป็นที่เสียดายของทุกๆ คน แต่ครูยังหวังว่า อนุชาจะได้นำสิ่งที่ได้เรียนรู้ ของชีวิตช่วงหนึ่งในกิจกรรมวงโยธวาทิต มาใช้ในชีวิตจริง ดนตรีไม่สามารถเล่นให้ดีได้ภายในวันเดียว ชีวิตที่ประสบความสำเร็จไม่อาจเกิดขึ้นได้ในช่วงข้ามคืน

๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑

Hosted by www.Geocities.ws

1