ครูวงโยธวาทิต

ฉัตรชัย ผู้ปฏิเวธ

ครูผู้สอนวงโยธวาทิตในประเทศไทยมีอยู่ไม่ต่ำกว่า 200 คน ในแต่ละปีจะมีครูวงโยธวาทิตเพิ่มขึ้นอีกเป็นจำนวนไม่น้อย แต่ระบบของการสอบบรรจุครูไม่เอื้ออำนวยให้ครูดนตรีได้สอบบรรจุ รับราชการอย่างถ้วนหน้า ทั้งที่ตำแหน่งครูดนตรีเป็นที่ต้องการของหลายๆ สถานศึกษา ผู้บริหารโรงเรียนหลายแห่งแก้ปัญหาโดยรับครูวงโยธวาทิตในตำแหน่งลูกจ้างชั่วคราว ให้เงินเดือนตามวุฒิ หากจบปริญญาตรีก็เริมต้นที่ หกพันกว่าบาท เงินจำนวนนี้หากเป็นครูในกรุงเทพฯ คงอยู่ได้ลำบาก ค่าเช่าบ้าน ค่าอาหาร ค่ารถเมล์ ก็แทบไม่พอใช้แล้ว ครูวงโยธวาทิตเป็นหัวใจหลักของการพัฒนากิจกรรมวงโยธวาทิตของโรงเรียน คุณภาพ-ระดับความสามารถ

ของวงโยธวาทิต เป็นตัวสะท้อนให้เห็นถึงคุณภาพของครูผู้สอนได้อย่างดี ในแต่ละปีจะมีวงโยธวาทิตเกิดขึ้นใหม่ ความต้องการครูผู้สอนก็เพิ่มขึ้นด้วยโดยเฉพาะโรงเรียนในสังกัด ส.ช. (สำนักงานศึกษาเอกชน) ครูที่เพิ่งจบมาใหม่ๆ จะเป็นผู้มีอุดมการณ์สูง ทำงานเพื่อคุณภาพ และความถูกต้อง เรื่องเงินเดือนไม่มากก็อยู่ได้ ขอให้ได้ทำงานตามที่ตัวเองอยากทำก็พอ เรื่องที่จะเล่าต่อไปนี้เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริง แต่ขอใช้ชื่อสมมุติแทนตัวบุคคล

ครูสมสิทธิ์ เป็นครูดนตรีสากลมีความถนัดเรื่องวงโยธวาทิต เพิ่งจบมาใหม่ๆ ก็สอบบรรจุได้ในโรงเรียนต่างจังหวัดอยู่ในเขตกันดาร ไม่มีน้ำประปา ไม่มีไฟฟ้า แต่มีเครื่องดนตรีให้ครูสมสิทธิ์ได้สอน เครื่องดนตรีดังกล่าวนี้คือขลุ่ยท่อพลาสติกสีฟ้า(ท่อน้ำประปา) จำนวน 30-40 เลา นักเรียนหลายคน รู้สึกดีใจที่มีครูดนตรีมาสอน ครูใหญ่ก็ดีใจเพราะตั้งแต่ตั้งโรงเรียนมา 30 ปีไม่เคยมีครูดนตรีจริงๆ เลย ที่ได้ครูดนตรีก็เพราะได้เป็นโรงเรียนขยายโอกาส(เปิดสอนชั้นประถมจนถึงมัธยมต้น) เพราะมีจำนวนนักเรียนถึงเกณฑ์ ด้วยความดีใจอาจารย์ใหญ่จึงไปหายืมเครื่องดนตรีมาจากที่ต่างๆ ได้ จะเข้ ซออู้ ซอด้วง และขิม อย่างละ 1 ชิ้น ครูสมสิทธิ์ต้องมาทำวงดนตรีไทยอย่างที่ไม่รู้ตัวมาก่อน แต่ด้วยวิญญาณของความเป็นครู ครูสมสิทธิ์ก็เดินทางเข้ากรุงเทพฯ ขอยืมเงินแม่(เพราะเงินเดือนยังไม่ออกต้องรอตกเบิกอีก 6 เดือน ) เพื่อซื้อตำรา-โน้ตเพลงดนตรีไทย รวมทั้งอุปกรณ์ ที่จำเป็นเช่น ฉิ่ง,ฉาบ สายขิม สายซอ ฯลฯ เวลาผ่านไป 3 เดือน วงดนตรีไทยประจำโรงเรียนได้เกิดขึ้นแล้ว สามารถบรรเลงร่วมกิจกรรมของโรงเรียนได้อย่างภูมิใจ ครูสมสิทธิ์ เป็นครูวงโยธวาทิต หากไม่ได้ทำวงโยธวาทิตก็รู้สึกไม่สบายใจ บังเอิญที่โรงเรียนมีกลองพาเหรดเก่าๆ อยู่ 4-5 ใบ เป็นกลองเทเนอร์ และกลองสแนร์ มีเบลไลล่าฟันหลอ(ตัวที่ตีหลุดหายไป) ครูก็เอามาซ่อม และเดินทางเข้ากรุงเทพ ขอเงินบริจาคจากพ่อ และเพื่อนๆ เพื่อซื้อเมโลเดี้ยน 2 ตัว และไม้ตีกลอง ไม้ตีเบลฯ เพื่อไปทำวงเมโลเดี้ยน ผ่านไป 1 เดือนกว่าๆ ก็เกิดวงเมโลเดี้ยนขึ้นทันออกงานกีฬาสีของโรงเรียนพอดี ครูสมสิทธ์มีความเจริญก้าวหน้าในอาชีพราชการครูเป็นอย่างดี ล่าสุดทราบว่าครูสมสิทธิ์ได้ทำวงโยธวาทิตตามที่ตนเองถนัดแล้ว

ครูสมชาติ เป็นครูวงโยธวาทิต สอบบรรจุได้ทำงานที่โรงเรียนขนาดใหญ่ ในกรุงเทพฯ ที่โรงเรียนมีความพร้อมในหลายๆด้าน ทั้งงบประมาณ สถานที่ และ นักเรียน มีเครื่องดนตรีวงโยธวาทิตครบทุกเครื่องมือ ครูสมชาติได้รับ เงินเดือนๆ ละ ห้าพันกว่าบาท ในแต่ละเดือน ครึ่งหนึ่งของเงินเดือนต้องไปจ่ายค่าเช้าบ้าน ส่วนที่เหลือเป็นค่ากิน – ค่ารถ บางเดือนติดลบเงินไม่พอใช้ ด้วยเหตุนี้ทำให้ต้องหางานพิเศษทำ ครูสมชาติ ตัดสินใจไปหางานเล่นดนตรีกลางคืน ได้งานประจำย่านฝั่งธนฯ โดยงานเริ่มตั้งแต่ 2 ทุ่มไปเลิกตอน เที่ยงคืน กว่าจะกลับถึงบ้าน กว่าจะได้นอนก็เกือบตี 2 เงินที่ได้จากงานกลางคืนมากกว่าเงินเดือนประจำถึง 3 เท่า ทำให้ครูสมชาติพอใจกับการทำงานพิเศษ จากที่เงินไม่พอใช้ก็มีเงินเหลือเก็บ ด้วยเหตุใดไม่ทราบครูสมชาติ เริ่มติดการพนันทำให้เงินที่เหลือเก็บไม่พอใช้ เสียการพนันจนหมดตัว คิดจะแก้มือ เลยแอบยืมเครื่องดนตรีของโรงเรียนไปจำนำ ถูกจับได้เลยถูกลงโทษตามระเบียบ วงโยธวาทิตของโรงเรียนก็เลยไม่พัฒนาเท่าทีควร

สิ่งที่อยากจะสะท้อนให้เห็นคือ ความพร้อมด้านวัตถุไม่สำคัญเท่ากับ ความพร้อมภายในของตัวครูเอง แม้ว่าจะมีปัจจัยภายนอกต่างๆ ที่ทำให้ครูทั้งสองคนแตกต่างกัน แต่หากครูมีมีหัวใจ มีวิญญาณของความเป็นครูแล้ว ย่อมสามารถสามารถทำตามอุดมการณ์ ตามความถูกต้องได้อย่างแน่นอน

จากสถิติครูผู้ทำผิดวินัย ในเรื่องพฤติกรรมของครูที่ไม่เหมาะสมกับเด็กนักเรียน โดยเฉพาะเรื่องครูหนุ่มกับนักเรียนสาวๆ ครูดนตรี-นาฏศิลป์ และครูพละ ติดอยู่ในอันดับต้นๆ มีข่าวขึ้นหน้าหนึ่งหนังสือพิมพ์หลายครั้ง เรื่องแบบนี้ครูดนตรีพึงระลึกไว้เสมอ อย่าได้เผลอตัว เผลอใจไปตามอารมณ์ จะได้ไม่ต้องมาเป็นทุกข์ในภายหลัง อย่าลืมว่าเราเป็นครู เป็นแม่พิมพ์ของชาติ ไม่ได้เป็นอย่างอื่น

โดยปกติแล้วภารกิจของครูวงโยธวาทิต ในแต่ละวันแทบจะไม่มีเวลาว่างไปทำเรื่องอื่นเลย นอกจากเรื่องการสอน และเรื่องของวงโยธวาทิต ต่อไปนี้เป็นตัวอย่างงานประจำวันของครูวงโยธวาทิตคนหนึ่ง

06.30 น. มาถึงโรงเรียน ฝึกทักษะพื้นฐานให้กับนักเรียนวงโยธวาทิต

07.30 น. นำวงโยธวาทิต บรรเลงเพลงชาติ เพลงโรงเรียน ในพิธีการหน้าสาธง

08.00 – 15.00 น. ทำการสอนในวิชาตามตารางสอน

15.00 – 18.00 น. ฝึกซ้อมวงโยธวาทิต (รายละเอียดแล้วแต่อาจารย์ผู้คุมวงจะกำหนด)

ตั้งแต่หกโมงเช้าจนถึงหกโมงเย็นครูวงโยธวาทิตต้องทำงานตลอด 12 ชั่วโมง จึงไม่น่าแปลกใจที่ครูดนตรีหลายๆคน ในหลายๆโรงเรียน มีความเจริญก้าวหน้าในอาชีพเป็นอย่างดี เพราะผู้บริหารเห็นว่าครูทุ่มเทให้กับงานจริงๆ

งานที่ครูวงโยธวาทิตทำเป็นงานที่โรงเรียนไม่ได้กำหนดให้ทำ ไม่ได้กำหนดให้ครูต้องมาแต่เช้าแล้วกลับเย็น แต่ครูต้องทำเพราะถ้าไม่ทำวงฯที่มีอยู่ก็ไม่พัฒนา บรรเลงไม่ได้ วงก็อยู่ไม่ได้ ครูผู้คุมวงก็ถูกตำหนิ

การฝึกซ้อมวงโยธวาทิตในเวลาเช้าก่อนเข้าเรียน และหลังเลิกเรียนทุกๆวัน ไม่น่าเบื่อหรือ! มีคำตอบอยู่สองอย่างคือ น่าเบื่อมาก หากครูไม่มีจุดมุ่งหมายในการฝึกซ้อม อีกคำตอบก็คือไม่น่าเบื่อเลยเพราะครูมีการวางแผนการฝึกซ้อมล่วงหน้ามีกิจกรรม มีงานให้วงได้บรรเลงอย่างสม่ำเสมอ และนักเรียนได้เห็นพัฒนาการของตนเองอย่างต่อเนื่อง การวางแผนล่วงหน้าจึงเป็นสิ่งจำเป็นยิ่ง เรื่องของการวางแผน หรือกำหนดกิจกรรมในรอบปีล่วงหน้าจะเขียนในครั้งต่อๆไปหากมีโอกาส ในหนึ่งปีมีกิจกรรมให้วงโยธวาทิตร่วมทุกเดือน ขึ้นอยู่กับครูว่าจะนำนักเรียนวงโยธวาทิตเข้าร่วมหรือไม่

นอกจากครูวงโยธวาทิตจะต้องทำงานวันละ 12 ชั่วโมงแล้ว ยังต้องแบ่งเวลาส่วนหนึ่งในการไปศึกษาหาความรู้ เพิ่มเติมเพราะเรื่องที่เกียวข้องกับวงโยธวาทิตเป็นเรื่องที่ศึกษาได้ไม่รู้จบ หากมีการจัด Work shop ที่ไหน ครูไปร่วมได้ก็ควรไป

บางคนได้อ่านมาถึงจุดนี้แล้วอาจคิดว่าเป็นครูวงโยฯ นี้ต้องลำบากแน่ๆเลยไม่เป็นดีกว่า หากมีความคิดเช่นนี้ถือว่าคิดผิด ไม่มีงานใดหรืออาชีพใดที่ทำสบายๆแล้วจะประสบผลสำเร็จ ถ้ารักสบายจะลำบากไปตลอดชีวิต แต่หากยอมทำงานหนักตั้งแต่ตอนนี้ ในภายภาคหน้าก็จะสบาย (ต้องทำงานด้วยสมองด้วย) คำว่าภายภาคหน้ามิได้หมายความว่าบั้นปลายชีวิต หรือวัยชรา หรือหมายถึงชาติหน้า ในที่นี้หมายถึงทุกครั้งที่ทำงานแต่ละอย่างเสร็จสิ้น เมื่อครูทำงานเสร็จในแต่ละวันกลับถึงบ้านก็สบายใจแล้ว เพราะได้ทำงานเต็มหน้าที่เต็มความสามารถ ในวันที่ผ่านมา งานที่ใช้ความคิดมักได้ค่าตอบแทนสูงกว่างานที่ใช้แรงกาย แต่คนที่ใช้แต่ความคิดเพียงอย่างเดียวจะเป็นคนที่ทำงานไม่เป็น ครูวงโยธวาทิตต้องใช้ทั้งสองอย่างจึงจะประสบผลสำเร็จในงานของตน

ปัญหาที่ครูวงโยธวาทิตจะได้พบ มีอยู่หลายอย่าง ทั้งเรื่องของคน เรื่องของเครื่องดนตรี เรื่องของเงิน(งบประมาณ) เป็นต้น เรื่องที่เป็นปัญหาหลัก คือเรื่องของคน ได้แก่

    1. ปัญหาส่วนตัว เรื่องของตนเองเป็นปัญหาแรกที่ครูต้องแก้ไขให้ได้ก่อนที่จะไปแก้ปัญหาของคนอื่นๆ ลองตรวจสอบตัวเองดูว่า ตัวครูเองมีสิ่งใดบ้างที่ต้องแก้ไข เช่น ครูเป็นตัวอย่างที่ดีแก่นักเรียนหรือไม่ มีหนี้สินมากจนไม่มีเวลาสอนวงโยฯ ต้องไปหาเงินพิเศษใช้หนี้หรือไม่ (ปัญหาหนี้สินทำให้ครูต้องผิดวินัยมาหลายคนแล้ว) กล่าวโดยสรุปก็คือ ตรวจดูว่าเรามีลักษณะเป็นครูที่ดีแล้วหรือยัง

    2. ปัญหากับผู้บริหาร โดยปกติผู้บริหารโรงเรียนมักจะเปลี่ยนไปตามวาระ บางคนให้การสนับสนุนวงโยฯดี บางคนก็เฉยๆ แต่บางคนไม่เห็นความสำคัญของวงโยธวาทิต ผู้บริหารประเภทหลังสุดนี้ทำให้ครูดนตรีหมดไฟมาแล้วหลายราย เลิกทำวงโยฯไปเลยก็มี ข้อแนะนำก็คือทำกิจกรรมวงโยธวาทิต ให้เสมอต้นเสมอปลาย ไม่ต้องไปหวังอะไรจากผู้บริหาร คิดไว้เสมอว่าเราทำเพื่อนักเรียน ไม่ใช่เพื่อคนอื่น แล้วเราจะสบายใจ

    3. ปัญหากับเพื่อนร่วมงาน หมายถึงครู รวมถึงเจ้าหน้าที่จนไปถึงภารโรงทุกคน ครูวงโยธวาทิตมีความจำเป็นต้องพึ่งพาอาศัยบุคลากรทุกคน จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ครูต้องสร้างไมตรีที่ดีกับทุกๆคน เป็นสิ่งที่ทำได้ไม่ยากเพียงแค่ครูตั้งใจทำงานตามหน้าที่ให้ดีที่สุด ให้ความเคารพความคิดเห็นของคนอื่น ไม่ทำให้ผู้อื่นเดือดร้อน มีความจริงใจ หากทำได้ปัญหาก็ไม่มี ถึงจะมีก็แก้ไขได้ไม่ยาก

    4. ปัญหากับผู้ปกครองนักเรียน ครูกับผู้ปกครองนักเรียน โดยปกติแล้วถ้าครูไม่มีปัญหากับนักเรียน หรือนักเรียนไม่มีปัญหากับครู ผู้ปกครองก็ไม่มีปัญหา ครูวงโยธวาทิต มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องทำความรู้จักผู้ปกครองนักเรียน เพราะเป็นผู้ให้การสนับสนุนวงได้อย่างดี บางครั้งให้การสนับสนุนมากกว่าผู้บริหารเสียอีก

    5. ปัญหากับนักเรียนวงโยธวาทิต เป็นเรื่องที่ใกล้ตัวมาก มีความสำคัญรองจากข้อหนึ่ง ปัญหาในข้อนี้สามารถนำมาเขียนได้เป็นหัวข้อใหญ่ได้อีกหัวข้อเลยทีเดียว ตั้งแต่การคัดเลือกตัวนักเรียน ไปจนถึงทำอย่างไรให้นักเรียนเป็นคนที่มีคุณภาพ ในข้อนี้ขอสรุปไว้สั้นๆก็คือนักเรียนที่มาร่วมกิจกรรมวงโยธวาทิต เป็นนักเรียนที่ต้องการเล่นดนตรี ต้องการมีเพื่อนที่ดี ต้องการพัฒนาตนเองทั้งในด้านความสามารถด้านดนตรี และการอยู่ร่วมกันในสังคม เมื่อนักเรียนมีความต้องการดังนี้แล้ว ก็ไม่ใช่เรื่องยากที่ครูจะแก้ปัญหาที่เกิดกับเด็ก เพราะนักเรียนมักจะเชื่อครูเสมอ หากครูเป็นแบบอย่างที่ดีกับเขา

ก่อนเขียนบทความนี้ผู้เขียนได้เป็นกรรมการในการสอบเข้าที่วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ในกลุ่มของเครื่องเป่า Brass นักเรียนที่มาสอบมีทั้งระดับ เตรียมอุดม และระดับปริญญาตรี มีนักเรียนเป่าทรัมเป็ต ประมาณ 4 – 5 คน ผลการสอบนักเรียนที่มาสอบเข้าชั้นเตรียมอุดมปฏิบัติได้ดีกว่าชั้นปริญญาตรีนักเรียนที่สอบเข้าเรียนชั้นปริญญาตรีหลายคนพื้นฐานไม่ดีทั้งๆที่มาจากโรงเรียนในกรุงเทพฯ เด็กนักเรียนที่จบ ม.3 เป่าได้ดีกว่า ม.6 เสียอีก

มีนักเรียนทรัมเป็ต 2 คน เป่าได้ดี น่าประทับใจมาก สอบเข้าชั้นเตรียมอุดม มาจากโรงเรียนเบญจะมะมหาราช จังหวัดอุบลราชธานี สิ่งนี้สะท้อนให้เห็นว่าครูผู้สอนได้วางพื้นฐานที่ถูกต้องกับนักเรียน และคอยเอาใจใส่ดูแลการฝึกซ้อมนักเรียนอย่างสม่ำเสมอ ไม่ปล่อยให้นักเรียนฝึกเองอย่างผิดๆ จะมาแก้ไขทีหลังบางทีอาจสายเกินไป ครูผู้สอนบางคนเขียนจดหมายรับรองนักเรียนที่มาสอบ ว่าสามารถปฏิบัติเครื่องดนตรีได้อยู่ในเกณฑ์ดี แต่เวลานักเรียนมาสอบปฏิบัติได้ไม่ดี ไม่ควรจะได้รับพิจารณาให้สอบผ่าน ครูผู้สอนที่เขียนหนังสือรับรองให้นักเรียนในการไปสอบปฏิบัติดนตรีควรพิจารณาให้ดี เพราะหากนักเรียนทำได้ไม่ดีตามที่รับรอง ในอนาคตครูไปรับรองนักเรียนคนอื่นๆ ก็จะไม่มีใครเชื่อถือ ในประเทศไทยมีครูวงโยธวาทิตที่เก่งอยู่หลายคน บางคนสอนอยู่ในโรงเรียนเล็กๆในต่างจังหวัด ไม่มีใครเคยรู้จักมาก่อน จนกระทั่งลูกศิษย์มาสอบเข้าเรียนในระดับอุดมศึกษา สามารถปฏิบัติได้ดีเยี่ยม ทำให้ต้องค้นหาว่าใครเป็นผู้สอน!ครูที่สอนนักเรียนวงโยธวาทิต ไม่จำเป็นจะต้องเล่นดนตรีเก่งเสมอไป คนเล่นดนตรีเก่งแต่สอนไม่เป็นมีอยู่เป็นจำนวนมาก เพราะขาดหัวใจของการเป็นครู ผู้เขียนรู้จักครูอยู่ท่านหนึ่ง สอนลูกศิษย์ได้ดีหลายคน ท่านใช้วิธีการสอนแบบ ไม่สอน อ่านดูแล้วอาจรู้สึกแปลกๆ วิธีการสอนแบบไม่ต้องสอน หรือสอนแบบไม่สอน คือทำอย่างไรก็ได้ให้นักเรียนได้เกิดการเรียนรู้โดยตนเอง ครูมีหน้าที่สร้างสิ่งเร้า และจัดการกระบวนการต่างๆให้พร้อม ครูคอยดูแลนักเรียนอยู่ห่างๆเท่านั้น วิธีการสอนแบบนี้นักเรียนจะได้รับความอย่างมีความสุข เพราะได้ทำในสิ่งที่ตนเองอยากทำ ไม่ได้ถูกบังคับให้ทำ วิธีการนี้ไม่สามารถใช้ได้กับเด็กทุกคน เพราะเด็กหลายๆคนได้ถูกปลูกฝังให้ทำตามคำบอกของครูจนเคยชินไปแล้ว

ครูวงโยธวาทิตแต่ละคนมีบุคลิกภาพแตกต่างกัน บางคนก็ดุมาก บางคนก็ใจดีมาก บางคนก็บางครั้งก็ดุบางครั้งก็ใจดี ฯลฯ ไม่ว่าจะมีลักษณะแบบไหนแต่ละคนก็มีวิธีการ เทคนิคการสอนของตนเอง ครูควรมีลักษณะของตนเอง ไม่ต้องทำตัวให้เด็กชอบ หรือทำให้เด็กเกลียด สิ่งสำคัญคือทำอย่างไรให้เด็กเป็นคนที่สังคมต้องการ โดยใช้กลยุทธของครู ในแบบที่ครูเป็น งานของครูเป็นงานที่หนัก แต่ผลตอบแทนก็เกินคุ้ม ผลตอบแทนนี้มิใช่เงินบำนาญ ในวัยเกษียณ ผลตอบแทนนั้นคือความสุขที่ครูได้ทำงานเพื่อสร้างคน สร้างสังคมที่ดี สร้างโลกนี้ให้น่าอยู่ ตลอดเวลาที่ครูได้สอนศิษย์

๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑

Hosted by www.Geocities.ws

1