กว่าจะมาถึงสนามประกวดวงโยธวาทิต

ฉัตรชัย ผู้ปฏิเวธ

เรื่องของวงโยธวาทิตเป็นเรื่องที่พูดกันได้ไม่รู้จักจบ เพราะกิจกรรมวงโยธวาทิตได้มีการเปลี่ยนแปลง พัฒนามาโดยตลอด ถ้าจะเขียนเรื่องวงโยธวาทิต แล้วไม่ได้เขียนเรื่องที่เกี่ยวกับการประกวดก็คงไม่ได้ การประกวดที่เกี่ยวข้องกับวงโยธ-วาทิตในประเทศไทย ในปัจจุบันมีหลายรายการ ทั้งที่จัดโดยภาครัฐฯ และจัดโดยเอกชน วัตถุประสงค์ของการจัดการประกวดแต่ละรายการก็ดูจะคล้ายๆกัน กล่าวโดยรวมก็คือสร้างคุณลักษณะอันพึงประสงค์ในเชิงดนตรี ให้เกิดกับเยาวชน แต่โดยลึกๆแล้วแต่ละรายการก็มีวัตถุประสงค์ของตนเองอยู่ซึ่งไม่อาจกล่าว หรือพิมพ์ลงในสูจิบัตรได้

รายการประกวดที่ผ่านมาล่าสุด (8-11 มกราคม 2546) คือการประกวดวงโยธวาทิตชิงถ้วยพระราชทานฯ ครั้งที่ 22 จัดโดยสำนักงานพัฒนาการกีฬาและนันทนาการ ร่วมกับธนาคารทหารไทย จำกัด รายการนี้เป็นรายการประกวดที่จัดการประกวดมาเป็นเวลายาวนานที่สุด ในประเทศไทย เริ่มจัดการประกวดครั้งแรกในปี พ.ศ.2524 มาถึงปัจจุบันก็ผ่านมาแล้ว 22 ปี ผู้เขียนได้เข้าไปชมการประกวดครั้งแรกในสมัยเรียนในชันมัธยมต้น ในสมัยนั้นเทียบกับปัจจุบันนี้ได้เห็นพัฒนาการของ วงโยธวาทิตเปลี่ยนไปมาก ทั้งรูปแบบการประกวด วงที่เข้าร่วมประกวด ผู้ชม กรรมการตัดสินการประกวด ฯลฯ หลายๆสิ่ง เปลี่ยนไปเห็นได้ชัด การประกวดในสมัยแรกๆนั้น เพลงที่ใช้ในการประกวดแปรขบวน ส่วนใหญ่จะเป็นเพลงมาร์ชทหาร กลองใหญ่(Bass Drum) จะมีเพียง 1-2 ใบ มีกลองเล็ก(Snare Drum) 5-10 ใบ รูปที่แปรขบวน(Display) ส่วนใหญ่จะเป็นรูปทรงเรขาคณิตต่างๆ โรงเรียนที่เข้าร่วมการประกวดในสมัยนั้นส่วนใหญ่จะได้รับการสอนจากทหารจากกองดุริยางค์ต่างๆ ผู้ชมส่วนใหญ่ยุคแรกๆของการประกวดส่วนใหญ่จะเป็นนักเรียนที่ครูดนตรีพามา หรือโรงเรียนที่เข้าร่วมประกวดเกณฑ์มาให้ร่วมเชียร์วงของตน แต่ในปัจจุบันเลี่ยนไปมากผู้ที่มาชมมีตั้งแต่เด็กเล็ก ไปจนถึงผู้สูงอายุ เป็นที่น่าสังเกตอย่างหนึ่งคือ ผู้ชมส่วนหนึ่งเป็นคนในวัยทำงาน ใช้เวลาเลิกงานในตอนเย็นมาร่วมชม หลายคนเคยเป็นนักเรียนวงโยธวาทิตมาก่อน

กว่าจะมาถึงสนามประกวดวงโยธวาทิต เป็นเรื่องที่จะเขียนในครั้งนี้ ที่เขียนหัวข้ออย่างนี้ เพราะได้สัมผัสถึงความยากลำบากในการที่จะมาถึงสนามประกวดฯ มาแล้ว คำว่า”มาถึง”ในที่นี้หมายถึงการนำวงโยธวาทิตมาเข้าร่วมประกวด

และประสบกับความสำเร็จตามที่ตั้งจุดมุ่งหมายไว้ การประสบความสำเร็จคงไม่ใช่ได้รับรางวัลชนะเลิศเพียงอย่างเดียว ถ้าหมายความอย่างนี้ วงที่ไม่ได้รับรางวัลชนะเลิศก็ถือว่าล้มเหลว ประกวด 20 วง ล้มเหลว 19 วง คงให้ความรู้สึกไม่ใคร่ดีเท่าไร

คำว่าประสบความสำเร็จควรจะหมายถึง การได้เข้าร่วมกิจกรรมและได้แสดงเต็มความสามารถตามที่ฝึกซ้อมเอาไว้ ส่วนเรื่องจะได้รางวัลอะไรนั้นขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง ถ้าแต่ละวงทำได้เต็มที่เต็มความสามารถ ก็ถือได้ว่าประสบความสำเร็จ ไม่ควรต้องมาเสียใจกับผลการประกวด

กว่าจะมาถึงสนามประกวดฯ หากมาชมการประกวดฯ คงไม่ใช่เรื่องยากเท่าไร หน้าสนามกีฬาก็มีรถไฟฟ้ามาถึงเดินทางก็สะดวกสบาย ค่าเข้าชมก็ไม่ต้องเสีย แต่ที่ยากกว่าการมาชมการประกวด ก็คือการเข้าร่วมการประกวดฯ เด็กนักเรียนวงโยธวาทิตหลายคนใฝ่ฝันที่จะได้เข้าร่วมการประกวด เพราะครูได้พามาชมแล้วรู้สึกประทับใจ ครูหลายคนก็อยากทำวงประกวดฯ ผู้บริหารโรงเรียนหลายๆคน ก็อยากส่งวงโยธวาทิตเข้าประกวดฯ แต่กว่าที่วงโยธวาทิตจะได้ร่วมการประกวดนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายๆเลย

ในการเข้าร่วมการประกวดวงโยธวาทิต คงไม่มีวงฯใดอยากได้เหรียญทองแดง อย่างน้อยก็ควรจะได้เหรียญเงินขึ้นไปจนถึงรางวัลชนะเลิศ ดั้งนั้นจึงควรมีการเตรียมการในการเข้าร่วมการประกวดเป็นอย่างดี สำหรับวงที่เพิ่งเริ่มก่อตั้งขึ้นเป็นปีแรกนั้นโดยเฉพาะวงที่เริ่มจากศูนย์ การเตรียมนักเรียนให้พร้อมอาจใช้เวลา 2-3 ปี หมายถึงครูต้องมีโครงการในระยะยาว เริ่มต้นในการเตรียมสิ่งที่จำเป็นยิ่ง คือต้องมีโครงการที่สามารถทำให้เกิดเป็นรูปธรรม โครงการเขียนโดยใคร! เริ่มแรกเลยครูผู้สอนควรเป็นผู้เขียน เพราะผู้สอนเป็นผู้ที่รู้ดีว่าจะเริ่มต้นอย่างไร ต้องการอะไรบ้าง ใช้งบประมาณเท่าไร ในปัจจุบันนี้ นักเรียนก็สามารถเขียนโครงการได้แล้วโดยเฉพาะโรงเรียนที่มีวงโยธวาทิตในรูปแบบของชมรม โดยประธานชมรม(นักเรียน) เป็นผู้เสนอโครงการ และอาจารย์ที่ปรึกษาชมรมเป็นผู้ตรวจสอบความถูกต้องเหมาะสม แล้วเสนอโครงการ ถ้าได้รับการอนุมัติก็ดำเนินการตามแผนได้เลย แต่โครงการที่ไม่ผ่านส่วนใหญ่จะมีปัญหาด้านงบประมาณ เพราะในการประกวดต้องใช้เงินค่อนข้างมาก ถ้าโครงการไม่ผ่านแต่ครูอยากทำก็เสนอโครงการใหม่แต่ลดงบประมาณลง ในส่วนที่ขาดครูผู้สอนก็ต้องไปหาเอาเอง (มีอยู่บางโรงเรียนครูผู้สอนใช้วิธีนี้ เข้าร่วมประกวดเป็นประจำแต่ไม่เคยใช้งบของโรงเรียนเลย)

งบประมาณที่จำเป็นต้องใช้ในการประกวดได้แก่

    1. ค่าใช้จ่ายในเรื่องของเครื่องดนตรีอุปกรณ์ดนตรี ครูผู้สอนจำต้องสำรวจถึงความจำเป็นในเครื่องดนตรีที่ใช้ในการประกวด บางเครื่องอาจต้องเสนอซื้อ บางเครื่องต้องเสนอซ่อม ล้วนต้องใช้เงินทั้งสิ้น เครื่องดนตรีบางเครื่องซ่อมมาแล้วก็ยังใช้การได้ไม่ดี ก็ควรจะเสนอซื้อใหม่เลยดีกว่า ในกรณีที่ต้องการประหยัดงบฯในส่วนนี้ วิธีที่ทำกันมากก็คือขอยืมเครื่องดนตรีจากโรงเรียนอื่นที่รู้จักคุ้นเคยกัน แต่โดยความเป็นจริงแล้วไม่มีโรงเรียนไหนหรอกที่อยากให้คนอื่นมายืมเครื่องของตนเองไป เพราะกว่าได้มาไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ในสมัยที่ผู้เขียนสอนอยู่ในโรงเรียนมัธยม มีหลายครั้งที่โรงเรียนอื่นมายืมเครื่อง ถ้าไม่สนิทกันจริงๆก็ไม่ให้ยืม ยกเว้นจะมีคำสั่งจากเบื้องบน

    2. ค่าใช้จ่ายด้านการฝึกทักษะดนตรี บางคนมองข้ามความสำคัญในด้านนี้ ผลก็คือนักเรียนไม่มีพื้นฐานที่ดี บรรเลงออกมาก็ฟังไม่ดี ค่าใช้จ่ายในด้านนี้ได้แก่ ค่าตำราแบบฝึกหัด ทั้งการฝึกเดี่ยวไปจนถึงฝึกพร้อมกันเป็นวง หรือเป็นกลุ่มเครื่องมือ ค่าจ้างคนมาสอนในกลุ่มเครื่องมือที่ครูไม่ชำนาญเช่นครูบางคนอาจไม่ชำนาญในกลุ่มเครื่องดนตรี Percussion ก็ต้องหาคนมาช่วยสอน และก็ต้องมีค่าตอบแทนด้วย หากต้องการลดงบ-ประมาณในส่วนนี้ก็ทำได้โดย ไปขอยืมแบบฝึกหรือตำราต่างๆ จากโรงเรียนอื่นมาถ่ายเอกสาร ในด้านผู้สอนเฉพาะเครื่องก็ให้นักเรียนที่เป็นหัวหน้ากลุ่มเครื่องดนตรีไปเรียนกับอาจารย์พิเศษตัวต่อตัวแล้วกลับบมาสอนในกลุ่มของตน หรือไม่เช่นนั้นครูผู้สอนก็ต้องไปศึกษาเพิ่มเติมในส่วนที่ไม่รู้เพื่อที่จะมาสอนนักเรียนเอง

    3. ค่าใช้จ่ายในการฝึกทักษะการแปรขบวน และการแสดงประกอบ ได้แก่ค่าจ้างคนเขียนโค้ดแปรขบวน ค่าจ้างผู้ฝึกซ้อม โดยจะต้องมีการวางแผน วาง Concept รูปแบบของการแสดงให้ชัดเจน ก่อนที่จะแปรขบวนได้ก็ต้องฝึกท่าทักษะในการเดินให้ชำนาญก่อน ครูที่สามารถเขียนโค้ดเองได้ก็จะประหยัดไปได้อีก ในเร็วๆนี้ที่วิทยาลัยดุริ-ยางคศิลป์ก็จะจัดอบรม การเขียนโค้ดแปรขบวน แต่ยังไม่กำหนดว่าจะจัดเมื่อไร

    4. ค่าใช้จ่ายเรื่องเสื้อผ้า อุปกรณ์ประกอบการแต่งกาย ในสมัยแรกของการประกวดสามารถใช้ชุดลูกเสือได้ เคยเห็นบางวงแต่งชุด ร.ด. ก็มี แต่ในปัจจุบันการแต่งกายมีหลากหลายรูปแบบ หลายวงได้รับอิทธิพลจากการประกวด DCI. ก็ตัดชุดเหมือนกันหลายวง ค่าใช้จ่ายในการตัดชุด แต่ละครั้งเป็นเงินนับแสนบาท หากต้องการประหยัดงบประมาณส่วนนี้ ครูก็ต้องออกแบบเองแล้วก็หาคนจ้างตัดเอง ในการประกวดปีนี้เห็นโรงเรียนศึกษาสงเคราะห์ แม่ฮ่องสอน แต่งชุดดูน่ารักดี แต่ไม่ต้องลงทุนมาก

    5. ค่าใช้จ่ายในเรื่องของบทเพลงที่ใช้ในการประกวด เพลงที่ใช้บรรเลงสำหรับวงโยธวาทิต มีตัวแทนจำหน่ายหลายแห่ง บางวงก็สั่งซื้อจากจ่างประเทศโดยตรง บางวงก็จ้างฝรั่งเขียน หรือจ้างญี่ปุ่นเขียน คนไทยก็มีจ้างเขียนเหมือนกัน หากต้องการประหยัดงบประมาณในด้านนี้ ก็ทำได้โดยเขียนเพลงเอง แต่การเขียนเพลงเองก็ไม่ใช่เรื่องง่ายนัก ผู้เขียนต้องมีความคิดสร้างสรรค์ ต้องเข้าใจในเรื่องของการประพันธ์เพลงพอสมควร

    6. ค่าใช้จ่ายด้านสวัสดิการให้นักเรียนที่ร่วมประกวดในการฝึกซ้อม ในการเข้าค่ายเพื่อเตรียมประกวดฯ นอกจากการเตรียมเรื่องของสถานที่ฝึกคอนเสิร์ต ฝึกแยกกลุ่ม ฝึกแปรขบวน ที่นอน ที่อาบน้ำ ฯลฯ สิ่งที่สำคัญมากที่สุดสิ่งหนึ่งก็คือเรื่องของอาหาร หากนักเรียนกินอิ่ม นอนหลับ การซ้อมก็มีประสิทธิภาพ หากต้องการประหยัดงบประมาณค่าอาหารสมารถทำได้หลายวิธี เช่น ขอการสนับสนุนจากผู้ปกครองนักเรียน หากโรงเรียนอยู่ใกล้วัดก็อาจจะขอการสนับสนุนจากเจ้าอาวาสก็ได้ (มีบางโรงเรียนเคยใช้วิธีนี้มาแล้ว)

    7. ค่าใช้จ่ายอื่นๆ เช่นค่าตอบแทนวิทยากร,ค่าพาหนะ,ค่ารักษาพยาบาล เป็นต้น

หลังจากเสนอโครงการผ่านแล้ว ก็แต่งตั้งคณะทำงานซึ่งมีความจำเป็นมาก หากครูผู้สอนทำงานคนเดียวแล้วจะต้องเหนื่อยมาก แถมอาจถูกด่าตามมาอีก(ในสมัยก่อนครูผู้สอนวงโยธวาทิตมักทำวงคนเดียวโดยมีนักเรียนเป็นผู้ช่วย) การตั้งคณะกรรมการทำงานมีข้อดีมากกว่าข้อเสีย ที่สำคัญต้องมีการแบ่งงานให้เหมาะสมกับครูแต่ละคนที่เป็นกรรมการ และมีการประชุมกันให้เข้าใจในหน้าที่ของแต่ละฝ่าย และอย่าลืมว่าครูผู้สอนวงโยธวาทิตควรจะเป็นผู้ประสานในส่วนต่างๆ เพื่อให้การทำงานเป็นไปอย่างราบรื่น

แต่งตั้งคณะทำงานแล้ว ก็ดำเนินการฝึกซ้อม โดยกำหนดตารางการฝึกซ้อม ให้ชัดเจนว่าจะซ้อมกี่วัน หยุดวันใดบ้าง ในแต่ละวันจะทำการฝึกซ้อมอะไรบ้าง เพื่อที่จะแจ้งให้ผู้ปกครองนักเรียนทราบ และควรเชิญผู้ปกครองนักเรียนวงโยธวาทิตมาร่วมประชุมเพื่อชี้แจงเรื่องการประกวด พร้อมทั้งขอการสนับสนุนด้วย โดยปกติแล้วผู้ปกครองอยากให้นักเรียนได้ร่วมกิจกรรมของโรงเรียนอยู่แล้ว โดยเฉพาะกิจกรรมที่ได้มีการแสดงออก ได้มีการประกวด

โดยปกติแล้วการเริ่มต้นฝึกซ้อมเพื่อเตรียมเข้าร่วมการประกวดฯ ควรจะเริ่มหลังการสอบปลายภาคเรียนที่ 2 ประมาณเดือนมีนาคม ช่วงนี้ครูจะต้องทำคะแนน เขียนสมุดพก ตรวจข้อสอบ ฯลฯ จึงมีความจำเป็นต้องกำหนดไว้ก่อนว่าจะให้นักเรียนทำอะไรบ้าง ในช่วงปิดภาคเรียนเป็นเวลาที่ดีที่สุดที่จะเริ่มฝึกซ้อมพื้นฐานที่ถูกต้องให้นักเรียน การฝึกพื้นฐานไม่ใช่สิ่งน่าเบื่อ แต่เป็นสิ่งจำเป็น ครูต้องทำให้นักเรียนตระหนักถึงความสำคัญในการฝึกทักษะในการปฏิบัติเครื่องดนตรี ในเรื่องของพื้นฐานที่สำคัญ เช่นการฝึกหายใจสำหรับเครื่องเป่า ถือเป็นเรื่องสำคัญมาก หากหายใจไม่ถูกแล้ว นอกจากจะเป่าได้ไม่ดี แล้วยังมีผลต่อบุคลิกภาพ รวมถึงสุขภาพด้วย เคยได้สนทนากับอาจารย์หลายท่านที่ทำวงประกวดฯ ท่านบอกว่าเพลงคอนเสิร์ตที่ใช้ประกวด ซ้อมก่อนประกวดเพียงสัปดาห์เดียว เวลาก่อนหน้านั้นเป็นการฝึกซ้อมพื้นฐานทั้งหมด หากพื้นฐานดีแล้วจะเป่าโน้ตอย่างไรก็ฟังไพเราะ

ในปัจจุบัน โรงเรียนที่ไม่มีครูดนตรี แต่ผู้บริหารอยากทำวงโยธวาทิต เพื่อส่งเข้าประกวดฯ ก็สามารถทำได้ เพราะมีทีมสำหรับทำวงโยธวาทิตอยู่หลายทีม ที่เรียกเป็นทีม ก็เพราะว่าเป็นกลุ่มของนักดนตรีวงโยธวาทิตที่รวมตัวกันโดยในกลุ่มจะมี หัวหน้าทีม กลุ่ม Staff ในเครื่องมือต่างๆ ได้แก่กลุ่ม Woodwind , Brass และ Percussion มีคนออกแบบการแปรขบวน ออกแบบการแสดงประกอบ การสอนเป็นกลุ่มแบบนี้เรียกว่า Team Teaching ค่าใช้จ่ายอาจเป็นการเหมาจ่าย หรือให้เป็นรายเดือนแล้วแต่จะทำสัญญาตกลงกัน ข้อดีในการใช้วิธีนี้คือ เกิดวงขึ้นได้ในเวลาไม่นานนัก นักเรียนได้มีคนสอนที่ชำนาญในแต่ละเครื่องมือจริงๆ สามารถเข้าร่วมประกวดได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะผู้สอนแต่ละคนมีประสบการณ์ในการทำวงฯประกวดมามาก แต่ข้อเสียก็มี ได้แก่ ต้องใช้งบประมาณค่อนข้างมาก ในการจ้างทีมสำหรับทำวงโยธวาทิต และหากการประกวดสิ้นสุดแล้วไม่มีการทำสัญญาต่อ วงที่เคยมีอยู่ก็ต้องยุบไป

เงิน เป็นปัจจัยที่มีความสำคัญมาก ในการทำวงโยธวาทิตเข้าร่วมประกวด แต่มีครูบางคนสามารถแก้ปัญหาเรื่องนี้ได้ มีโรงเรียนของกรมสามัญศึกษาโรงเรียนหนึ่งย่านฝั่งธนบุรี โรงเรียนไม่มีงบให้วงโยธวาทิต แต่ครูก็สามารถนำวงโยธวาทิตเข้าร่วมประกวดได้หลายครั้ง แสดงให้เห็นว่ายังมีปัจจัยที่สำคัญกว่าเงิน นั้นคือความเสียสละของครู หากครูเป็นผู้นำที่ดีแล้ว เด็กนักเรียนก็พร้อมที่จะทำตาม ผู้ปกครองก็ยินดีให้ความช่วยเหลือ นอกจากเสียสละแล้วครูยังต้องอนทน และมีเทคนิคการสอนที่ดีด้วย การเข้าร่วมประกวดฯ แม้จะไม่ได้รางวัลชนะเลิศ แต่ได้เข้าร่วมกิจกรรมก็ถือว่าประสบความสำเร็จในระดับหนึ่งแล้ว

ในระหว่างการฝึกซ้อม ครูจะพบกับปัญหาต่างๆอยู่เป็นประจำ หน้าที่ของครูก็คือต้องแก้ปัญหาอย่างถูกวิธี ปัญหาที่พบได้แก่ การไม่มาฝึกซ้อมของนักเรียน การทะเลาะกันในกลุ่มผู้ฝึกสอน พฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมของนักเรียน บางวงฯมีทั้งนักเรียนชาย และนักเรียนหญิง ในการเข้าค่ายควรมีครูสตรี มาดูแลนักเรียนด้วย รายละเอียดต่างๆในการทำวงโยธวาทิตเพื่อเข้าร่วมประกวดมีอยู่มาก หากไม่ทำอะไรเลยก็คงไม่มีปัญหา แต่ถ้าได้พบกับปัญหา สิ่งที่จะได้ก็คือรู้จักการแก้ปัญหา

กว่าจะมาถึงสนามประกวดวงโยธวาทิต แต่ละโรงเรียน แต่ละสถาบันก็มีเทคนิควิธีการต่างๆกัน แต่สิ่งที่ทุกคนที่จะเข้ามาในสนามประกวดฯ ควรต้องมีเหมือนกันคือ มีความมุ่งมั่น อดทน สามัคคี และมีน้ำใจนักกีฬา หลังการประกวดเสร็จสิ้นแล้วทุกๆคน ทุกๆสถาบัน มีความรักกันเหมือนพี่เหมือนน้อง มีแต่รอยยิ้ม และน้ำตาแห่งความปลาบปลื้ม ที่ทุกๆคนได้ประสบความสำเร็จ ได้มาถึงสนามประกวดฯ ได้เข้าร่วมการประกวดฯ และได้แสดงในสิ่งที่ตนฝึกฝนมาด้วยความมุ่งมั่น สิ่งนี้มีค่ามากกว่ารางวัลใดๆทั้งสิ้น

$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$

Hosted by www.Geocities.ws

1