วงโยธวาทิตกับพัฒนาการดนตรีของเยาวชนไทย

ฉัตรชัย ผู้ปฏิเวธ

วงโยธวาทิต เป็นเรื่องที่น่าสนใจมากเรื่องหนึ่งในวงการดนตรีของประเทศไทย และเป็นที่ปฏิเสธไม่ได้ว่าวงโยธวาทิตมีผลอย่างมากต่อพัฒนาการดนตรีของเยาวชนไทย บทความต่อไปนี้เขียนจากประสบการณ์จริง ที่ได้สัมผัสกับวงโยธวาทิตร่วม 2 ทศวรรษ ตั้งแต่เป็นนักเรียนจนกระทั่งได้มาเป็นครูผู้สอน หลายครั้งที่ผู้เขียนรู้สึกหมดความหวังกับวงโยวาทิต แต่ในที่สุดก็ต้องกลับมาเกี่ยวข้องกับวงโยธวาทิตอีก บทความต่อไปนี้ไม่ได้มีความตั้งใจที่จะเขียนในเชิงวิชาการ เพราะอยากให้อ่านได้อย่างสบายใจ ไม่เคร่งเครียด แต่จะได้แง่คิดโดยไม่รู้ตัว

วงโยธวาทิตในประเทศไทยมีอยู่นับร้อยวง เท่าที่เคยสำรวจในกรุงเทพฯ มีไม่ต่ำกว่า 50 วง และทั่วประเทศเฉพาะโรงเรียนของกรมสามัญศึกษา มีวงโยธวาทิตอยู่ประมาณ 200 กว่าวง นี่ยังไม่รวมวงของโรงเรียนเอกชน และวงของทหารกองทัพต่างๆ ประมาณการคร่าวๆวงโยธวาทิตในประเทศไทยมีอยู่ไม่ต่ำกว่า 250 วง บางวงก็มีขนาดเล็ก 15-30 คน บางวงก็มีขนาดใหญ่ สมาชิกร่วม 100 คน เฉลี่ยแล้ววงส่วนใหญ่จะมีสมาชิกประมาณ 30-40 คน จากข้อมูลนี้ประมาณได้ว่ามีนักเรียนวงโยธวาทิตในประเทศไทยร่วม 10,000 คน ในปัจจุบัน (พ.ศ.2545) จำนวนวง และนักเรียนที่มากขนาดนี้ จึงก่อให้เกิดผลที่น่าสนใจในหลายด้าน เช่นด้านบุคคล ได้แก่ครูผู้สอนวงโยธวาทิต ผู้บริหารโรงเรียน ผู้ปกครองนักเรียน ตัวนักเรียนเอง มีความเกี่ยวข้องกันอย่างไรบ้าง ด้านผลประโยชน์ต่างๆ ทั้งทางด้านสังคม และเชิงพาณิช เพราะวงโยธวาทิตจะเกิดขึ้นได้ ต้องใช้เงินเป็นจำนวนไม่น้อย ในครั้งนี้จะขอเขียนเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับการพัฒนาการดนตรีของเยาวชนไทยที่มีความสัมพันธ์กับวงโยธวาทิต ส่วนในเรื่องอื่นๆหากมีโอกาสได้เขียน จะเขียนถึงในครั้งต่อๆไป

ครั้งแรกที่ผู้เขียนได้เข้าร่วมเป็นสามชิกวงโยธวาทิต เหตุผลก็เพราะความจำเป็นต้องเลือกเรียน แทนวิชาฟุตบอลที่ไม่เปิดสอนในภาคเรียนที่ 2 ของชั้น ม.1 โรงเรียนของรัฐฯ แห่งหนึ่ง ไม่ได้เลือกเรียนเพราะรู้สึกชอบมาก่อนเลย แต่พอเริ่มได้เรียน ได้พบอาจารย์ผู้สอน ผู้มีความเสียสละเป็นอย่างยิ่ง ทำให้เกิดความประทับใจ และได้เข้าร่วมกิจกรรมวงโยธวาทิตจนจบชั้น ม.6 วงโยธวาทิตส่วนใหญ่จะมีจำนวนประชากร(สมาชิก)ในรูปแบบของ พิรามิดยอดแหลม สมาชิกที่อายุน้อยจะมีมาก สมาชิกที่อายุมากจะมีน้อย คือนักเรียนที่เข้ามาเป็นสมาชิกในชั้น ม.1 จะมีเป็นจำนวนมาก บางโรงเรียนเป็นร้อยคน แล้วจำนวนสมาชิกในวงก็จะลดลง เมื่อนักเรียนขึ้นชั้น ม.2,ม.3,ม.4,ม.5 และเมื่ออยู่ในชั้น ม.6 บางวง สมาชิกเหลือไม่ถึง 10 คน หรืออาจไม่เหลือเลยสักคน แต่ก็จะมีรุ่นน้องๆมาแทนพี่ๆที่ไม่สามารถอยู่ในวงได้ ด้วยเหตุผลนานาประการ แต่ถึงอย่างไรก็ตามจำนวนสมาชิกในวงก็ยังคงเดิมเพราะมีน้องรุ่นใหม่มาทดแทนพี่ที่ออกจากวงไป ทั้งนี้ต้องขึ้นอยู่กับครูผู้สอนที่จะต้องวางระบบและดูแลระบบที่ตนวางไว้เป็นอย่างดี เรื่องของระบบนี้น่าศึกษามาก

มีอยู่ครั้งหนึ่งผู้เขียนได้มีโอกาส ได้สนทนากับอาจารย์ดนตรีท่านหนึ่ง ท่านบอกว่าเขาจ้างเรามาเป็นครูสอนหนังสือ ไม่ได้จ้างมาสอนดนตรี คิดไปแล้วก็จริงอยู่ เพราะเท่าที่เห็นมา ครูวงโยธวาทิตส่วนใหญ่ทำวงด้วยใจรัก หากไม่รักคงทำไม่ได้ ครูดนตรีส่วนใหญ่ไม่ใช่ร่ำรวยมาจากไหน หลายคนต้องควักกระเป๋าตัวเอง เลี้ยงข้าวเด็ก หาซื้อแบบฝึกหัดโน้ตเพลงมาให้เด็กๆเล่น ฯลฯ เพราะโรงเรียนไม่มีงบประมาณให้ ครูหลายคนจึงอยู่ในสภาพที่หมดไฟ หลายโรงเรียนมีวง แต่ครูไม่สอน ไม่ทำวง เพราะเหตุผลนานาประการ เห็นแล้วรู้สึกเสียดายเครื่องดนตรี เสียดายโอกาสของนักเรียน ถ้ามีโอกาสจะเขียนเรื่องของครูผู้สอนวงโยธวาทิต ซึ่งมีอยู่หลายแบบ ตั้งแต่ดีมากๆ จนถึงแบบที่ไม่น่าเรียกว่าครู สาเหตุที่ผู้เขียนเลือกที่จะเรียนต่อในด้านดนตรี ก็เพราะได้ครูดี เดิมทีคิดจะเรียนต่อวิศวะฯ เพราะคิดว่าเงินเดือนเยอะดี แต่ในที่สุดก็ตัดสินใจเรียนเป็นครูดนตรีเพราะเลือกในสิ่งตนรัก มีคำพูดหนึ่งว่า “ครูเป็นวิศวกร ของสังคม” หลายๆท่านที่เป็นครูดนตรี ก็เหมือนกับวิศวกร ที่เป็นผู้สร้างนักเรียนดนตรีที่ดี เพื่อสังคมที่ดีด้วย วงโยธวาทิตกับพัฒนาการดนตรีของเยาวชนไทย เป็นเรื่องที่น่าสนใจเป็นอย่างมาก เราไม่อาจบอกได้ว่าการศึกษาวิชาดนตรีสากลในระบบการศึกษาภาคบังคับเป็นที่น่าพอใจเป็นอย่างยิ่ง นักเรียนบางคนเกลียดวิชาดนตรีเสียด้วยซ้ำ ผู้เขียนได้สนทนากับผู้ใหญ่ซึ่งสำเร็จการศึกษาตามระบบการศึกษาของไทย ได้ข้อสังเกต อย่างหนึ่งคือหลายคนที่เรียนจบมาแล้วไม่รู้ว่าได้ประโยชน์อะไรจากวิชาดนตรีสากล เพราะไม่เห็นถึงความสำคัญของวิชานี้ เลยส่งผลให้เมื่อมีลูก มีหลาน ก็ไม่อยากให้เรียนดนตรีเป็นจริง เป็นจัง เห็นดนตรีเป็นเพียงสิ่งบันเทิงเท่านั้น หาได้มีสาระอื่นๆไม่ เพราะครูหลายๆคนสอนเพียงให้เด็กอ่านโน้ตออก ร้องเพลงเป็น สอนให้จำ แต่ไม่ได้สอนให้คิด(สร้างสรรค์) ให้เข้าใจในความเป็นดนตรี เมื่อนักเรียนไม่เข้าใจเรื่องดนตรีอย่างถูกต้องแล้ว จึงเกิดผลเสียตามมาในหลายด้าน มีการเสพดนตรีเหมือนกับเสพยาเสพติด หลงมัวเมาอยู่ในอำนาจของดนตรี สถานบันเทิงต่างๆใช้ดนตรีเป็นสื่อทำให้คนอยากเข้าไปเที่ยว เกิดปัญหาตามมาอีกหลายอย่าง ฯลฯ

กลับมาที่เรื่องของวงโยธวาทิต กิจกรรมวงโยธวาทิตในโรงเรียนมัธยมศึกษาถือได้ว่าเป็นกิจกรรมนอกระบบการเรียนการสอน ที่ทำให้นักเรียนได้เรียนรู้และเข้าใจวิชาดนตรีอย่างถูกต้อง เพราะดนตรีเป็นวิชาที่ต้องอาศัยทักษะทั้ง ด้านทฤษฎี และการปฏิบัติจริง การปฏิบัติจริงนั้นไม่ใช่เพียงแค่ปฏิบัติในเครื่องมือของตนเองเท่านั้น แต่รวมหมายถึงการเข้าไปร่วมในกิจกรรมต่างๆ ของวงโยธวาทิต เช่น งานกีฬาสี งานแห่เทียนพรรษา งานนำขบวนต่างๆ ฯลฯ กว่าที่นักเรียนแต่ละคนจะได้เข้าร่วมบรรเลงในวง จะต้องผ่านการฝึกมาในระดับหนึ่ง ซึ่งนักเรียนจะได้เรียนรู้เรื่องต่างๆมากมาย ทั้งเรื่องดนตรี และเรื่องการอยู่ร่วมกัน การทำงานร่วมกัน เมื่อครูวางระบบดีแล้วแทบไม้ต้องเหนื่อยเลยเพราะนักเรียนในวง จะทำงานตามหน้าที่ของตนเอง ซึ่งระบบในโยธวาทิตในประเทศไทย ก็ต่างจากระบบของประเทศอื่นด้วย ตามที่ผู้เขียนได้เคยพบมา

สิ่งสำคัญคือครูผู้สอนวงโยธวาทิต จะต้องจัดการกับปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้นอย่างจริงจัง ไม่ยอมแพ้ง่ายๆ หัวใจหลักของการทำวงโยธวาทิตคือครูผู้สอน มีอยู่โรงเรียนหนึ่งในกรุงเทพฯ ผู้บริหารพร้อมให้การสนับสนุน มีงบประมาณมาก นักเรียนก็มีความสามารถด้านดนตรี แต่ครูผู้สอนไม่อยากทำวง เพราะรู้ว่าทำวงโยธวาทิตแล้วต้องเหนื่อย แถมยังไม่ได้เงิน บางครั้งก็ต้องจ่ายเอง ความรับผิดชอบต้องเพิ่มขึ้น กลับบ้านก็ดึก ฯลฯ คิดได้อย่างนี้เลยไม่ทำวง ผู้บริหารก็ทำอะไรไม่ได้ เพราะครูไม่เอา ครูผู้สอนจึงถือเป็นปัจจัยแรกที่จำทำให้เกิดวงขึ้นได้หรือไม่

ผู้บริหารส่วนใหญ่เห็นความสำคัญของกิจกรรมวงโยธวาทิต แต่หลายคนยังไม่เข้าใจเกี่ยวกับวงโยธวาทิต เพราะคิดเพียงว่าเป็นหน้าตาของโรงเรียน หากมีการประกวดเข้าร่วมและได้รับรางวัลก็เป็นการสร้างชื่อเสียงกับสถาบัน มีงานประจำจังหวัด งานประจำอำเภอก็จะได้ไปบรรเลงนำขบวน เป็นที่ชื่นชอบของนายอำเภอ ผู้ว่า ผู้หลัก ผู้ใหญ่ ซึ่งจริงๆแล้วเหล่านี้คือผลปลายทางของกิจกรรมวงโยธวาทิตเท่านั้น ครูผู้สอนวงโยธวาทิตควรทำให้ผู้บริหารเข้าใจว่ากว่าจะเป็นวงได้ ต้องดำเนินการอย่างไรบ้าง หากครูผู้สอนไม่พยายามทำให้ผู้บริหารเข้าใจ ผู้บริหารก็จะไม่พยายามเข้าใจ แล้วคนที่เหนื่อยที่สุดก็คือครูผู้สอนนั่นเอง และในไม่ช้าก็จะเกิดครูดนตรีผู้หมดไฟเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งคน

พูดถึงครูดนตรีผู้หมดไฟ ผู้เขียนได้พบกับครูดนตรีท่านหนึ่ง ครั้งแรกที่พบท่านนอนหลับฟุบกับโต๊ะทำงาน ในห้องดนตรี คิดว่าครูคงเหนื่อยกับการสอน วันหลังไปพบอีกท่านก็ยังนอนหลับฟุบกับโต๊ะทำงานในเวลาราชการ ภายหลังจึงได้ทราบว่าครูท่านนั้นต้องไปทำงานเล่นตรีกลางคืน แต่ก่อนหน้านี้ครูท่านนี้ได้เคยทำวงโยธวาทิตเข้าร่วมประกวดหลายครั้ง และได้รับรางวัลเป็นที่น่าพอใจ หลังจากนั้นก็ไม่ได้เข้าร่วมประกวดอีก รู้สึกเสียดายเครื่องดนตรีดีๆหลายชิ้นที่ไม่มีคนเล่น เพราะไม่มีคนสอน ไม่ทราบสาเหตุแน่ชัดว่าทำไมไม่ทำวงต่อ มาทราบว่าไม่นานมานี้ท่านได้รับยกย่องเป็นครูแม่แบบ แสดงว่าท่านเลือกทางเดินถูกแล้ว! ถ้าไม่อยากเห็นครูหมดไฟ ผู้บริหารควรหมั่นเติมถ่าน ระวังไฟจะมอดเสียก่อน เติมถ่านภายหลังก็สายไปเสียแล้ว อย่าลืมว่าทั้งผู้บริหาร และครูผู้สอน ต่างก็มีหน้าที่เหมือนกัน คือสร้างสรรค์คน เพื่อสร้างสรรค์สังคม

ขอเขียนถึงการประกวดวงโยธวาทิต สักนิด ความจริงแล้วเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ต้องเขียนกันยาว แต่ในหัวข้อที่เขียนในครั้งนี้ มีความสัมพันธ์กับการประกวดวงโยธวาทิตอยู่บ้าง ในปัจจุบันการประกวดวงโยธวาทิตมีอยู่หลายรายการ โดยมีวัตถุประสงค์ต่างๆกัน แต่โดยรวมแล้วตามสูจิบัตรที่แจกสรุปได้ว่า การประกวดวงโยธวาทิตมีวัตถุประสงค์ สร้างลักษณะอันพึงประสงค์ให้เกิดกับเยาวชน การประกวดต่างๆนี้มีประโยชน์อย่างยิ่งต่อการพัฒนาการทางดนตรีทางด้านวงโยธวาทิตของประเทศไทย แต่ด้วยความไม่เข้าใจถึงวัตถุประสงค์ของการจัดการประกวด จึงทำให้เกิดผลเสียตามมา บางโรงเรียนเข้าร่วมการประกวดโดยปลูกฝังให้นักเรียนต้องได้รับชัยชนะเท่านั้น มีการฝึกซ้อมอย่างหนักทุ่มงบประมาณเต็มที่ จ้างคนมาสอนพิเศษโดยเฉพาะ เมื่อผลการประกวดออกมาไม่ประสบผลสำเร็จก็ต้องยุบวงไป เพราะไม่จ้างคนมาสอนต่อ ถ้ามีความคิดเช่นนี้ควรเปลี่ยนแนวคิดใหม่ อยากเห็นภาพที่เมื่อการประกวดเสร็จสิ้น หลังจากประกาศผลการประกวดแล้ว มีแต่น้ำตาแห่งความปลาบปลื้ม ทุกๆวงได้รู้จักกัน ได้บรรเลงเพลงๆเดียวกัน มีความรักความผูกพันธ์ มีความภูมิใจที่ได้เข้าร่วมประกวดด้วยกัน ได้พบเพื่อนใหม่ ได้รับประสบการณ์ชีวิตที่น่าประทับใจอย่างยิ่ง

กระบวนการเรียนรู้ในกิจกรรมวงโยธวาทิต ก่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์ในวิชาดนตรีสากล หมายความว่านักเรียนที่ได้เข้าร่วมในกิจกรรมวงโยธวาทิต จะผ่านขั้นตอนกระบวนการต่างๆในการฝึกเครื่องดนตรีไปพร้อมกันเรียนรู้เรื่องทฤษฎี ซึ่งต่างจากการเรียนวิชาดนตรีสากลในชั้นเรียน ที่มีข้อจำกัดเรื่องเวลา จำนวนนักเรียนที่มากเกินไป สื่อการเรียนรู้ อุปกรณ์เครื่องดนตรี ฯลฯ ในวงโยธวาทิตหลายๆวง ครูจะมอบหมายหน้าที่ให้นักเรียนที่เป็นรุ่นพี่ ทำการสอนแบบตัวต่อตัวกับนักเรียนรุ่นน้อง หรือบางทีอาจสอนเป็นกลุ่ม วิธีการนี้มีทั้งข้อดีและข้อเสีย ข้อดีก็คือครูเหนื่อยน้อยลง นักเรียนได้มีปฏิสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน นักเรียนได้เรียนรู้ถึงกระบวนการในทำงานร่วมกัน ฯลฯ ในส่วนของข้อเสียคือ หากครูไม่ดูแล ไม่แนะนำการสอนของนักเรียนรุ่นพี่ที่มาช่วยสอนรุ่นน้อง อาจเกิดการสอนที่ไม่ถูกต้อง นักเรียนได้เรียนในสิ่งที่ผิด นักเรียนจะเชื่อรุ่นพี่มากกว่าครู ในการมอบหมายให้นักเรียนช่วยสอนนั้นจึงควรมีการวางแผน กำหนดหัวข้อให้ชัดเจนว่าจะสอนในเรื่องใด ใช้วิธีการอย่างไร ครูควรสังเกตว่านักเรียนคนใดสอนเป็น เพราะนักเรียนบางคนเล่นดนตรีเก่งแต่สอนไม่เป็นก็มี มีนักเรียนวงโยวาทิตโรงเรียนหนึ่งครูได้มอบหมายให้นักเรียนปกครองดูแลกันเองโดยให้อิสระกับนักเรียนค่อนข้างมาก ผลก็คือนักเรียนจัดกฎระเบียบของวงเอง เหมือนกับได้เกิดลัทธิขึ้นใหม่ มีพิธีการต่างๆในการเข้าร่วมเป็นสมาชิกของวง มีบทลงโทษโดยวิธีพิสดารต่างๆ ผลที่ตามมาก็คือไม่มีพัฒนาการทางดนตรีเท่าที่ควร

วงโยธวาทิตในโรงเรียนต่างๆ กว่า 250 วงในประเทศไทย จะมีอยู่เพียงไม่กี่วงที่มีความพร้อมในทุกๆด้าน ทั้งครูผู้สอน เครื่องดนตรี งบประมาณ เรื่องบประมาณประจำปีของวงโยธวาทิต เป็นสิ่งที่มีความสำคัญมาก หากโรงเรียนไม่มีให้วงก็อยู่ไม่ได้ ในหนึ่งปีวงโยธวาทิตจะต้องมีค่าใช้จ่ายหลายอย่างได้แก่ ค่าวัสดุสิ้นเปลือง เช่น น้ำมันหยอดแตร น้ำมันข้อต่อ ลิ้นปี่ ขี้ผึ้งทาข้อต่อ อุปกรณ์ทำความสะอาด ฯลฯ ค่าซ่อมเครื่องดนตรีประจำปี (ครูบางคนซ่อมเองได้) ค่าแบบฝึกหัด ตำรา โน้ตเพลงใหม่ๆ ค่าอาจารย์พิเศษ(มีบางโรงเรียน) ค่าสอนล่วงเวลา(ส่วนใหญ่ไม่มี) และค่าใช้จ่ายอื่นๆอีกมากมาย โรงเรียนที่มีวงขนาดกลาง(40-50คน) ในปีหนึ่งควรจะมีงบประมาณสำหรับวงโยธวาทิตไม่ต่ำกว่า ปีละ 50,000 บาท (พ.ศ.2545)

ยังไม่รวมค่าเครื่องดนตรีที่จำเป็นต้องซื้อในทุกๆ 5-10 ปี (งบประมาณนี้ประมาณการจากวงที่เคยทำมา) หากจะลองคิดเล่นๆว่าทุกโรงเรียนของกรมสามัญศึกษาที่มีวงโยธวาทิต ได้งบประมาณสนับสนุนวง ปีละ 50,000 บาท จะต้องใช้เงินทั้งสิ้นประมาณ 12 ล้านบาท ในความเป็นจริงนั้นมีวงโยธวาทิตไม่มากนักที่จะได้งบฯประจำปีถึงปีละ 50,000 บาท เพราะโรงเรียนไม่มีให้ ผลก็คือเครื่องดนตรีก็เก่า เงินก็ไม่มีซ่อม วัสดุ-อุปกรณ์ต่างๆ ที่จำเป็นก็ไม่มีเงินซื้อ ในที่สุดเครื่องดนตรีที่มีอยู่ ก็ใช้ไม่ได้ วงก็อยู่ไม่ได้ งบประมาณ 12 ล้านบาทนี้ หากกรมสามัญฯ จะช่วยให้วงโยธวาทิต 250 วง ของโรงเรียนในกรมสามัญอยู่ได้ก็จะเป็นสิ่งที่ดียิ่งโดยเฉพาะโรงเรียนที่มีงบประมาณจำกัดหลายๆโรงเรียนในต่างจังหวัด เคยทราบมาว่ากรมฯเคยให้งบประมาณทางด้านดนตรีสากลกับโรงเรียนหนึ่งหลายล้านบาทติดต่อกันหลายปี โรงเรียนอื่นอีกหลายๆโรงเรียนมีสภาพของ วงโยธวาทิตน่าเป็นห่วงจริงๆ ก็คงอยากได้งบประมาณในส่วนนี้บ้าง ปีละ12 ล้านบาท เป็นจำนวนเงินที่ไม่มากนักเมื่อคำนึงถึงผลที่ตอบกลับมา หากไม่เชื่อลองตั้งกรรมการศึกษาเรื่องนี้ดู ผู้เขียนเคยนำวงโยธวาทิตไปบรรเลงที่กระทรวงศึกษาธิการได้พบกับรัฐมนตรี และอธิบดีกรมสามัญฯ (พ.ศ.2544)ทั้งรัฐมนตรีและอธิบดีให้ความชื่นชมกับวงโยธวาทิตเป็นอย่างมาก แสดงว่าท่านก็เห็นความสำคัญของกิจกรรมนี้ ก็หวังว่าหากเห็นความสำคัญแล้วก็น่าจะช่วยสนับสนุนด้วย

ภาพสะท้อนหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่าวงโยธวาทิตมีผลต่อพัฒนาการดนตรีของไทยเป็นอย่างมาก ก็คือนักเรียนที่เรียนต่อในสถาบันอุดมศึกษา จำนวนมากมาจากวงโยธวาทิต รวมทั้งอาจารย์ดนตรีที่สอนในโรงเรียนมัธยมด้วย มหาวิทยาลัยของรัฐฯ มีข้อจำกัดในเรื่องของจำนวนที่รับ บางแห่งมีโครงการจะทำวง Symphony Orchestra นักเรียนที่เล่นเครื่องสายก็จะได้เปรียบนักเรียนที่มาจากวงโยธวาทิตในการสอบเข้า แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับความสามารถของนักเรียนด้วย ผู้เขียนเคยมีเพื่อนคนหนึ่งเล่นกีตาร์ อยากสอบเข้ามหาวิทยาลัย เลยเปลี่ยนมาฝึกไวโอลิน เป็นเวลา 1 ปี อีกคนหนึ่งเป่าฟลู้ทมาร่วม 10 ปี ปรากฏว่าคนที่เล่นไวโอลิน 1 ปี สอบเข้าคณะดนตรีได้ ส่วนคนเป่าฟลู้ทไปเลือกเรียนทางด้านอื่น และ มาทราบภายหลังว่าคนที่เป่าฟลู้ท เรียนจบแล้วก็ไปทำงานในบริษัทหนึ่งเงินเดือนค่อนข้างดี และในวันหยุดก็ยังไปสอนฟลู้ทเป็นงานอดิเรกอีกด้วย ส่วนเพื่อนคนที่เล่นไวโอลินไม่ทราบข่าวอีกเลย

ลักษณะการเรียนรู้ของนักเรียนในวงโยธวาทิต จะแตกต่างกับการเรียนดนตรีประเภทอื่นๆ ซึ่งมีทั้งข้อดีและไม่ดี ข้อไม่ดีได้แก่ นักเรียนวงโยธวาทิตถูกฝึกให้ทำงานกันเป็นทีม ทำอะไรก็ต้องพร้อมกัน จึงมีผลทำให้ขาดความสามารถในการแสดงเดี่ยว เวลาไปสอบ หรือแสดงเดี่ยวที่ไหนมักจะประหม่า ทำได้ไม่ดี ข้อต่อไป นักเรียนบางโรงเรียนได้ฝึกเฉพาะเพลง

มาร์ช เพลงที่ใช้แปรขบวน เพลงที่ใช้ในงานต่างๆของโรงเรียน ไม่เคยฝึกเพลงคลาสสิกเลย เพลงก็ไม่เคยฟัง เวลาไปสอบเป่าเพลงคลาสสิกก็กลายเป็นเพลงมาร์ชไปหมด ข้อต่อไปนักเรียนบางคนถูกปลูกฝังให้มีความเชื่อที่ผิด ในการปฏิบัติจากวิธีการเรียนที่พี่สอนน้อง เช่นลักษณะการวางปาก การจับเครื่องดนตรี โดยที่ครูไม่ได้แก้ไข พอนักเรียนมาเรียนในมหาวิทยาลัยก็แก้ยาก เพราะฝึกมาจนชินแล้ว ข้อเสียข้อต่อไปคือนักเรียนขาดความคิดสร้างสรรค์ เพราะถูกบอกให้ทำอยู่ตลอด ที่กล่าวถึงข้อเสียหลายๆข้อ ก็เพื่อให้ครูผู้สอนได้คิดหาทางแก้ไข เพราะครูทุกคนก็อยากเห็นนักเรียนจบการศึกษาไปแล้วเป็นคนที่มีคุณภาพ เป็นที่ต้องการของสังคม

กิจกรรมวงโยธวาทิตจะยังอยู่คู่สังคมไทยไปอีกนานเท่านาน พัฒนาการทางดนตรีของเยาวชนไทยจำนวนไม่น้อยที่อยู่ในวงโยธวาทิตจะเป็นอย่างไร! ลำพังครูดนตรีตัวเล็กๆทำได้แค่เพียงทุ่มแรงกาย แรงใจ ที่มีอยู่อย่างเต็มความสามารถ หากปราศจากกำลังใจ จากผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทุกๆคน ขาดการสนับสนุนจากหน่วยงานของรัฐ ผู้ให้กำเนิดวงโยธวาทิตในโรงเรียนต่างๆ ก็เหมือนลูกที่ขาดพ่อ ขาดแม่ ผู้ที่ให้กำเนิดแต่ไม่ยอมเลี้ยงดู ย่อมจะเจริญเติบโตอย่างไร้ทิศทาง ไม่ต่างกับเด็กเร่ร่อนที่ต้องหากินเองไปวันๆ พัฒนาการทางดนตรีที่ดีของเยาวชนไทย ก่อให้เกิดคนที่มีคุณภาพ มีลักษณะอันพึงประสงค์ต่อสังคม กิจกรรมวงโยธวาทิตก่อให้เกิดพัฒนาการทางดนตรีที่ดีต่อเยาวชนไทย

 

$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$$

Hosted by www.Geocities.ws

1